eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

จดหมายเปิดผนึก
ถึง พี่น้องประชาชนทุกท่าน
เหตุผลที่ไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
และแนวทางการจัดการลุ่มน้ำยม เพื่อแก้ไขปัญหา น้ำแล้ง น้ำท่วม

                ทุกฤดูแล้ง ทุกฤดูฝน ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ต้องออกมาต่อต้าน คัดค้าน โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นมานานนับสิบปี เนื่องจากว่าเป็นช่วงที่รัฐบาล และกรมชลประทาน ได้โอกาสในการผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยอ้างว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น จะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมได้ ทั้งที่มีผลการศึกษาจากหลายหน่วยงานได้ข้อสรุปแล้วว่า โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมได้ อาทิ

1. ผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์

2. ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน

3. ผลการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก

4. การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ

5. ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

6. ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

7. ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่

8. ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น

พื้นที่อ่างเก็บน้ำของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น จะกระทบต่อผืนป่าสักทองธรรมชาติผืนสุดท้ายของประเทศไทย ซึ่งมีไม้สักทองขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น กว่า 40,000 ไร่ ริมแม่น้ำยม ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยม   จ.แพร่ โดยกรมชลประทานอ้างว่าพื้นที่ที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่มีสภาพป่าแล้ว ขณะที่ชาวบ้านตำบลสะเอียบต้องเชิญชวนสื่อมวลชนไปพิสูจน์สภาพป่าสักทองเป็นประจำทุกปี

พิธี บวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ เป็นประเพณีที่ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จัดเป็นกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการร่วมกันอนุรักษ์ป่าสักทองและขอขมาต่อแม่น้ำยม อีกทั้งเป็นการประกาศจุดยืนในการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นมาโดยตลอด

                หากแต่ป่าสักทองธรรมชาติผืนนี้ กลับเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักแสวงประโยชน์ ที่ไม่ได้คำนึงถึงอนาคตของรุ่นลูกรุ่นหลาน นอกจากงบประมาณที่จะมาพร้อมกับโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น กว่า 12,000 ล้านบาท ยังมีไม้สักทองอีกกว่า 40,000 ไร่ ซึ่งมูลค่าไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท จึงไม่แปลกที่โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นเสมือนผีที่ถูกปลุกให้ฟื้นคืนชีพมาตลอดทุกยุคทุกสมัย

แนวทางในการแก้ไขปัญหา ภัยแล้ง น้ำท่วม ลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

การจัดการน้ำแบบบูรณาการ ลุ่มน้ำยมทั้งระบบ ได้มีการศึกษาและวางแผนโดยกรมทรัพยากรน้ำกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ได้ผลสรุปออกมาแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็สามารถบริหารจัดการน้ำได้ ซึ่งในแผนนี้ใช้งบประมาณน้อยกว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก แต่ระบบราชการไทย ถือประเพณีไม่ขัดขวางผลประโยชน์ของหน่วยงานราชการด้วยกัน แผนการจัดการลุ่มน้ำยมทั้งระบบของกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงไม่ได้ดำเนินการให้เป็นจริง การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน มองภาพรวมการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ลุ่มน้ำยมได้ แต่ทำไมไม่เลือก

1. การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน

2. การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน การสร้างเครือข่ายทางน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังนอกเขตชุมชน ซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว หากแต่บางจังหวัด บางพื้นที่ที่ยังติดขัดเรื่องงบประมาณในการดำเนินการ เพราะผู้แทนราษฎรในพื้นที่นั้นๆ ไม่มีศักยภาพในการดึงงบประมาณมาดำเนินการ ตรงข้ามกับพื้นที่ที่มีผู้แทนราษฎร มีรัฐมนตรี การดำเนินการแล้วเสร็จลุล่วงไปหลายโครงการ แต่ก็ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะสามารถแก้ไขปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วมได้ เพราะโครงการต่างๆ ยังไม่ครบตามแผนที่วางไว้ทั้งระบบ

3. การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับห้วยหนองคลองบึง  การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด

4. การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม

5. การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมาตลอดจนถึงกรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำ ที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งปริมาณมากกว่าความจุของโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเสียอีก

6. การซ่อมบำรุง ปรับปรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้ว ปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนา และส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ ระบบชลประทานเหล่านี้ล้วนแต่มีประสิทธิภาพต่ำ กล่าวคือ ประสิทธิภาพเฉลี่ยระบบชลประทานของกรมชลประทานมีเพียง 35% ส่วนระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้ามีประสิทธิภาพเฉลี่ย 57% ขณะที่ประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วโลกเฉลี่ย 64% การจัดการด้วย DSM โดยการซ่อมบำรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้ใช้น้ำ การให้ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำจะสามารถทำให้เหลือน้ำจำนวนมาก เฉพาะระบบของกรมชลประทานถ้าใช้ระบบ DSM จะเหลือน้ำถึง 101 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณในการอุปโภคบริโภคของคนในลุ่มแม่น้ำยมถึง 7.6 ล้านคน

7. การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยม สามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น

8. การพัฒนาระบบประปา การขาดแคลนน้ำในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ความต้องการน้ำมีสูง ไม่ได้เกิดจาก การขาดน้ำดิบเท่านั้น แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น เมืองสุโขทัยขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้ง เพราะระบบการผลิตน้ำประปามีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง การขยายระบบการผลิตน้ำประปาจะสามารถช่วยในการขาดแคลนน้ำอุปโภค–บริโภค ในเมืองใหญ่ได้ อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น

ทางเลือกในการจัดการน้ำที่ดำเนินการศึกษาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก เสนอโครงการแก้ไขปัญหาภัยน้ำท่วมแบบเบ็ดเสร็จ 19 แบบ คือ 1.ปลูกป่าป้องกันน้ำท่วม 2. เกษตรแนวระดับป้องกันน้ำท่วม 3.อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน 4.ป้องกันไฟและแนวซับน้ำ 5.พื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อป้องกันภัยน้ำท่วมบนที่สูง 6.คลองเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน 7.ชลประทานแนวระดับป้องกันน้ำท่วม 8.ศูนย์อพยพเพื่อบรรเทาภัยน้ำท่วมหมู่บ้าน 9.ตุ่มน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม 10.ถนนเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วม 11.สะพานและทางระบายน้ำเฉลิมพระเกียรติ 12.อ่างเก็บน้ำหน้าเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม 13.แนวคันดินป้องกันเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม 14.พื้นที่กักเก็บน้ำชั่วคราวป้องกันน้ำท่วม 15.ฝายพิเศษป้องภัยน้ำท่วม 16.ระบบเตือนภัยธรรมชาติสู่ภูมิภาค 17.โครงการศึกษาเพื่อการป้องภัยธรรมชาติ 18.ความร่วมมือกองทัพบกในการขุดคลอง คู อ่างเก็บน้ำ แนวคันดิน 19.ความร่วมมือตำรวจตระเวนชายแดน ให้ความรู้แก่ประชาชน

ขอแสดงความนับถือ
คณะกรรมการชาวบ้านอนุรักษ์ป่าสักทองธรรมชาติ กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา