eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

"สมัคร"ขอเจ้าคุณพ่อเอ็นจีโอปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นวันสิ่งแวดล้อมโลก

กรุงเทพธุรกิจ  5 มิถุนายน พ.ศ. 2551
http://www.bangkokbiznews.com/2008/06/05/news_264265.php

"สมัคร"ขอเจ้าคุญพ่อเอ็นจีโอ ปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นอ้างช่วยโลกร้อน ฉลองวันสิ่งแวดล้อมโลก "อนงค์วรรณ"เด้งรับลูกเตรียมเรียกประชุมขานรับสัปดาห์หน้า

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ :     กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) จัดวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิ.ย.ของทุกปี ภายใต้คำขวัญที่องค์การสหประชาชาติกำหนดว่า CO2 Kick the Habit! Towards a Low Carbon Economy หรือ "ลดวิกฤติโลกร้อน เปลี่ยนพฤติกรรม ปรับ แนวคิด สู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ" โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 2,000 คน

     นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี  กล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงานตอนหนึ่งว่า จากที่อ่านคำแปลถ้าเป็นตนเองจะใช้ว่า ลดวิกฤติโลกร้อน เลิกใช้ CO2 ไปเลย ตนเห็นด้วยกับการรณรงค์เรื่องโลกร้อน เพราะนักวิทยาศาสตร์ที่บอกว่าน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ก็เห็นว่าเป็นความจริง ขณะที่ล่าสุดนายสมิทธ ธรรมสโรช ที่ปรึกษาศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ออกมาบอกว่าอีก 3-4 เดือนข้างหน้าน้ำทะเลจะสูงขึ้นจนมาท่วมกทม.เพราะมีพายุลูกใหญ่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาสของโลก ซึ่งตนก็รับฟังท่านเพราะท่านเก่ง แต่ที่ติดตามจากอุตุนิยมวิทยาตอนนี้ยังปกติดีอยู่ แต่ก็ไมได้ละเลยคำเตือนของนายสมิทธ 

     อย่างไรก็ตาม  ในทางตรงข้ามทั่วโลกกำลังรณรงค์ลดคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของโลกร้อน แต่ชาติที่เจริญอย่างสหรัฐอเมริกา และจีนก็ยังไม่ร่วมมือไม่ลงนามในอนุสัญญาเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และไทยเองก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นชาติที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเป็นอันดับ 31 ของโลกและอันดับ 4 ของกลุ่มอาเซียน แม้แต่ชาวนาที่ทำนาก็ยังโดนจัดอันดับว่าเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 23% ส่วนป่าไม้ 17% และภาคอุตสาหกรรม 50% นั่น แสดงว่าประเทศไทยเจริญมากแล้ว 

     นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการที่จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น ก็เห็นด้วยอย่างมาก แต่มีอีกวิธีหนึ่งที่ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาก ก็คือการสร้างเขื่อน เพราะนอกจากคอยรับน้ำในช่วงหน้าฝน แก้น้ำท่วมแล้ว ช่วยพื้นที่การเกษตร และนำพลังน้ำไปผลิตกระแสไฟฟ้า โดยไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเฉพาะเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิตติ์ ที่สร้างขึ้นในอดีตไม่ถูกกระแสต่อต้านเหมือนตอนนี้ เพราะสมัยนั้นเอ็นจีโอยังไม่เกิด แต่ในยุคนี้การสร้างเขื่อนทำยาก เพราะพ่อคุณเอ็นจีโอทั้งหลายออกมาประท้วง ทำให้เขื่อนในลุ่มแม่น้ำยม หรือแก่งเสือเต้นนั้นยังเกิดไม่ได้ เพราะอ้างว่ามีป่าสักทอง 50,000 ไร่ที่สมบูรณ์ และมีนกยูง 3 ตัว ซึ่งถ้านกยูงยังโง่อยู่ก็ไม่ควรเป็นนกยูง ส่วนป่าสักตอนนี้ก็เอาไปปลูกเป็นบ้านเรือนกันหมดแล้ว

     "ที่ผ่านมาพอน้ำท่วมพื้นที่สุโขทัยที พวกคุณหญิง คุณนายก็ออกไปแจกข้าวของ ซึ่งคุณอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทส.และเป็นคนสุโขทัย น้ำท่วมทีก็ต้องคอยไปนั่งเฝ้าสะพานว่าระดับน้ำจะล้นตลิ่งหรือเปล่า แต่พอแล้ง ชาวบ้านก็ต้องหาน้ำกัน เป็นแบบนี้มา 30 ปีแล้ว แต่ตอนนี้จะผลักดันให้มีเขื่อนในน้ำยมให้สำเร็จ เพื่อแก้ปัญหาด้านการเกษตร น้ำท่วม และนำมาผลิตไฟฟ้า นับเป็นการช่วยให้พื้นที่ 32 จังหวัดภาคกลางได้ประโยชน์ด้วย" นายสมัคร กล่าว

     นอกจากนี้ยังได้พูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะลาวที่มีการสร้างเขื่อนน้ำงึม เขื่อนน้ำเทิน 2 และ 3 ทำให้เขามีน้ำเหลือใช้ และยังเผื่อแผ่มาถึงเพื่อนบ้านด้วย ซึ่งตอนนี้ประกาศได้ความมั่นคงของลาวก็คือความมั่นคงของไทยด้วย เนื่องจากลาวไม่มีเอ็นจีโอเลยไม่ถูกต้านเรื่องการก่อสร้างเขื่อนเหมือนของไทย 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ นายสมัคร ยังกล่าวอย่างอารมณ์ขันว่า สำหรับการณรงค์ให้ใช้ถุงผ้าเป็นเรื่องดี แต่คงเอาไปใส่แกงไม่ได้ ครั้นจะเอากล่องพลาสติกไปใส่ก็ไม่ได้อีก ก็คิดว่าคงหิ้วหม้อไปตลาดด้วย  ทำให้เรียกเสียงหัวเราะจากคนที่เข้าร่วมประชุมถึงแนวคิดนี้

     ด้านนางอนงค์วรรณ กล่าวว่า  ทางทส.จะเรียกประชุมผู้บริหารเรื่องการสร้างเขื่อนในลุ่มน้ำยมตามที่นายกรัฐมนตรี ได้พูดครั้งนี้อย่างเร่งด่วน ซึ่งตนคิดว่าการสร้างเขื่อนในแม่น้ำยมมีความจำเป็นสำหรับประชาชนมาก เพราะที่ผ่านมาในช่วงฤดูน้ำหลากน้ำจะท่วมหนักทุกปี และส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ดังนั้นถ้ามีการสร้างเขื่อนจะทำให้เก็บกักน้ำ ให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติได้

     อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังยืนยันไม่ได้ว่าจะผลักดันให้สำเร็จในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ลุ่มน้ำยมมีการศึกษมาแล้ว 30 ปี และได้รับการต่อต้านจากกลุ่มเอ็นจีโอที่ไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด แต่สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันเชื่อว่ากระแสการต่อต้านน่าจะน้อยลง เพราะเห็นความจำเป็นของเขื่อนมากขึ้น

     "ในการประชุมผู้บริหารทส.สัปดาห์หน้าจะมีการหยิบยกการสร้างเขื่อนที่ลุ่มแม่นำยม กลับมาหารือเพื่อศึกษาผลดีผลเสีย เพราะได้ศึกษาเรื่องพื้นที่ และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นเอาไว้แล้ว อย่างไรก็ตาม  หากมีการตัดสินใจสร้างเขื่อน ซึ่งไม่ได้กำหนดระยะเวลาว่าต้องสร้างเมื่อไหร่ก็ต้องพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ด้วย" นางอนงค์วรรณ กล่าว 

     ส่วนนายหาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  กล่าวถึงกรณีนายสมัคร อ้างว่าสร้างเขื่อนจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากเพราะจะมีพลังงานน้ำไปผลิตกระแสไฟฟ้าได้นั้น เป็นการรู้ข้อมูลเพียงมิติเดียวเท่านั้น และไม่ได้รู้จริงทำให้อธิบายประโยชน์ของเขื่อนแบบคนที่รู้ข้อมูลมาไม่ครบ ซึ่งหากจะบอกว่าเขื่อนลดก๊าซได้จริง  เนื่องจากในระหว่างที่สร้างเขื่อนก็ต้องตัดต้นไม้จำนวนมาก   และระหว่างที่เก็บน้ำก็มีการปล่อยก๊าซมีเทนที่มาทับถมเป็นตะกอนในเขื่อนเช่นกัน

     อย่างไรก็ตาม ตรงนี้อาจไม่ใช่ประเด็นใหญ่เท่ากับการประกาศว่าผู้ที่คัดค้านโครงการคือคุณพ่อเอ็นจีโอ เพราะสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้สนใจที่จะเอาเครือข่ายเอ็นจีโอหรือชาวบ้านที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นพันธมิตรในการทำงานเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า และการสร้างความตระหนักอย่างแท้จริง ทั้งนี้อยากเชิญนายกสมัคร ไปดูพื้นที่ให้เห็นกับตาอีกสักครั้งว่าป่าสักที่เหลือน้อย เหลือนกยูงที่มี 3 ตัวจริงหรือไม่

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา