eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

สะเอียบ ประณามกรมชล ใช้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเครื่องมือผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้น

1 กันยายน 2552

      

มหิดล อ้างไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือกรมชล หวังให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ขณะที่ชาวบ้านอ้างว่าเคยมีบทเรียนจากกรมชลประทานและบริษัทที่ปรึกษาอย่างบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ หลอกมาแล้วและย้ำว่าห้ามบริษัทปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด เข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด หากเข้าไปจะไม่รับรองความปลอดภัย

          วันที่ 1 กันยายน 2552 เวลา 09.00-12.00 น. ที่ห้องประชุม อำเภอสอง จังหวัดแพร่ กรมชลระทานได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยมหิดล จัดประชุมกรอบแนวทางการศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการลุ่มน้ำยม โดยใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะแบบบูรณาการ โดยมีทีมคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล นำทีมโดย รศ.ดร.อรพิน เอี่ยมศิริ , รศ.ดร.สุวลักษณ์ สาธุมนัสพันธุ์ ฯลฯ ได้จัดเวทีชี้แจงกรอบการทำงานของโครงการฯ ให้กับชาวบ้าน เพื่อให้ชาวบ้านอำเภอสอง ได้สะท้อนความคิดเห็นต่อการจัดกระบวนการการศึกษาวิเคราะห์ระบบการจัดการลุ่มน้ำยม โดยมีผู้นำชาวบ้านในเขตอำเภอสองกว่าร้อยคนเข้าร่วมรับฟัง

          รศ.ดร.สุวลักษณ์ สาธุมนัสพันธุ์ ได้ชี้ให้เห็นว่าลุ่มน้ำยมมีปัญหาทั้งน้ำท่วมน้ำแล้ง มายาวนาน อีก 20 ปีข้างหน้าปัญหาจะรุนแรงขึ้นจะแก้ปัญหาอย่างไร คนลุ่มน้ำยมต้องช่วยกันคิดเสนอทางออก หากไม่มานั่งปรึกษาหารือกันก็จะทำให้ไม่มีทางออก ส่วนข้อเสนอแนะนั้นจะมีอีกคณะหนึ่งมารับข้อเสนอจากชาวบ้านเพื่อนำไปสู่การเสนอทางเลือกทางออกในการจัดการน้ำ เพื่อเสนอต่อฝ่ายนโยบายในการตัดสินใจต่อไป “ในครั้งนี้เราจะไม่มีการกล่าวถึงเขื่อนแก่งเสือเต้น เราจะหารือเฉพาะการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในการวางกรอบการศึกษาเท่านั้น” รศ.ดร.สุวลักษณ์ กล่าว

          นายเอก ใจตรง กำนันตำบลเตาปูน กล่าวว่า “เรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น ศึกษากันมา 20-30 ปี แล้ว ไม่เกิดประโยชน์ต่อชาวบ้านแต่อย่างไร ผมอยากเสนอให้สร้างอ่างขนาดเล็กกั้นลำน้ำสาขาของลำน้ำยม เพื่อคนในพื้นที่จะได้ประโยชน์ที่แท้จริง อย่างอ่างแม่สองที่บ้านผมได้น้ำได้ทำการเกษตรจริง แล้วยังเผือแผ่ไปถึงอำเภอร้องกวาง อันนี้คนเมืองสองรู้ดี ถึงอ่างแตกมาก็ไมน่ากลัวเพราะไม่ใหญ่มาก” นายเอกกล่าว

          นางมุกดา ปินตรารินทร์ กำนันตำบลหัวเมือง อำเภอสอง จังหวัดแพร่ กล่าวว่า “เห็นด้วยกับกำนันเอก เพราะที่ผ่านมาเรามัวสนใจแต่เขื่อนแก่งเสือเต้น ที่มีผลกระทบสูงทำลายป่าสักทองธรรมชาติของจังหวัดเราและของคนทั้งประเทศ จนไม่สามาสรถสร้างได้ เราควรหันมาสร้างอ่างเก็บน้ำในระดับชุมชน ให้ชุมชนมีส่วนร่วมดูแลรักษา และใช้น้ำตามความต้องการของชุมชนจริงๆ ไม่ไช่ให้นายช่างชลระทานเป็นคนกำหนด” นางมุกดากล่าว

          นายพันศักดิ์ บัวลอย ชาวบ้านดอนชัยสักทอง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ แสดงความเป็นห่วงว่ามหาวิทยาลัยมหิดลจะตกเป็นเครื่องมือของกรมชล เพราะที่ผ่านมากรมชลได้ใช้วิธีการแบบนี้มาศึกษาหลอกชาวบ้าน จนได้ข้อสรุปว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น “ยี่สิบปีที่ผ่านมาทุกมหาวิทยาลัย ได้เข้ามาศึกษาเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นไว้หมดแล้ว ทำไมกรมชลไม่ยอมรับ ต้องมาศึกษาใหม่อีก เช่น จุฬาฯ ศึกษาแล้วเห็นว่าพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นพื้นที่ป่าสักทองธรรมชาติทีสมบูรณ์ควรค่าแก่การเก็บรักษาไว้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ศึกษาแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนก็ศึกษาแล้วเห็นว่าไม่ควรสร้าง”  นายพันศักดิ์ กล่าว

          นายชาติชาย ธรรมโม เยาวชนตะกอนยม ต.สะเอียบ กล่าวว่า “สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานของราชการได้ทำการศึกษาวิจัยแล้วเห็นว่าโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน ที่สำคัญธนาคารโลกก็ไม่สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างแล้ว เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมมหาศาลและไม่คุ้มทุน ส่วนเรื่องป้องกันน้ำท่วมนั้น FAO หรือ องค์การอาหารและการเกษตรโลก ได้ศึกษาแล้วเห็นว่าป้องกันน้ำท่วมได้เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ น้ำท่วมหนึ่งเมตรช่วยลดลงได้แค่ 8 เซนติเมตร ทำมกรมชลไม่ยอมรับ ยังหาทางมาศึกษาใหม่อีก หรืออยากกินงบ 12,000 ล้าน กับไม้สักทองกว่าสี่หมื่นไร่” นายชาติชาย กล่าว

          นายสวัสดิ์ กองคำ กำนันตำบลบ้านหนุน อ.สอง จ.แพร่ กล่าวสรุปว่า “เราเสียเวลากับการศึกษาเขื่อนแก่งเสือเต้นมานานพอแล้ว เราควรจะเริ่มมาดูความเป็นจริง ที่แก้ปัญหาได้ คือโครงการขนาดเล็ก ที่ชาวบ้านเห็นด้วยและควรลงมือทำ อย่ามัวแต่ทะเลาะกัน ไม่ได้แก้ปัญหา” นายสวัสดิ์ กล่าว

          เป็นที่น่าสังเกตว่า กำนันเส็ง ขวัญยืน และ อดีตกำนันชุม สะเอียบคง ไม่เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ จากการสอบถาชาวบ้าน ทราบว่าชาวบ้านได้มีมติให้ชาวบ้านตำบลสะเอียบ เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย เพื่อเห็นแก่หน้านักวิชาการมหาวิทยาลัยมหิดล แต่นับจากนี้ไปชาวบ้านตำบลสะเอียบจะไม่ยอมรับการศึกษาหรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ต่อไปอีกแล้ว เพราะทราบมาว่า มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นตัวกลางนำพาบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด เข้ามาทำการศึกษาในพื้นที่การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งชาวบ้านเคยมีบทเรียนจากบริษัทปัญญานี้มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ที่มาหลอกชาวบ้านให้ลงชื่อทะเบียนการประชุมและนำไปสรุปว่าชาวบ้านเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และได้ย้ำว่านับต่อแต่นี้ชาวบ้านห้ามบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด เข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด หากเข้าไปจะไม่รับรองความปลอดภัย

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา