eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แม่เรียมกับชีวิตที่ถูกสูบ... ที่ลำตะคอง

อาทิตย์ ธาราคำ
มติชน รายวัน
   คอลัมน์ คติชน  24 กค 48

 

สายลมเย็นพัดมาจากชายป่า ในกระท่อมไม้ไผ่บนเขายายเที่ยง แม่เรียม ทองแก้ว ไอเบาๆ พลางจัดหาหมอนมุ้งให้แขกที่มาเยือน

แม้อากาศจะเย็น แต่ค่ำนี้ที่ชายเขากลับอบอุ่นด้วยพี่น้องคนจนจากทั่วสารทิศที่เดินทางมาร่วมงานทอดผ้าป่า ระดมทุนช่วยเหลือชาวบ้านที่เจ็บป่วยจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จ. นครราชสีมา

“ อยู่หัวเขาลมพัดแรง ดึกๆ ยิ่งหนาว ฉันว่าเข้าไปพักที่บ้านฉันดีกว่าไหม?” ขณะที่ตัวเองสุขภาพอ่อนแอ แต่แม่เรียมยังเป็นห่วงเป็นใยเมื่อเห็นหลายๆ คนหาผ้ากระชับคลุมกายนั่งล้อมวงกันรอบกองไฟ

แม่เรียม คือหนึ่งในแกนนำชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ทั้งที่บ้านอยู่บนเขาชายป่า อากาศเย็นสบาย แต่ในวัยสี่สิบเศษ เธอกลับเป็นโรคภูมิแพ้และอีกสารพัดโรคร้ายที่เกิดจากการได้รับฝุ่นสารเคมีอย่างรุนแรง

“ เมื่อก่อนเราเลี้ยงวัวนม ปลูกผัก หาของป่า มีความสุขกันประสาชาวบ้าน มีทั้งพุทธทั้งมุสลิมไม่เคยมีปัญหา พี่น้องทุกคนแข็งแรง ช่วยกันทำสวน ขุดมัน ไม่เคยอดอยาก” แม่เรียมย้อนความหลัง

แต่เมื่อ ๙ ปีก่อน กฟผ. เข้ามาทำก่อสร้างโรงไฟฟ้าฯ ซึ่งขุดอ่างเก็บน้ำขนาดมหึมากว่า ๒๐๐ ไร่ บนเขายายเที่ยง และเจาะอุโมงค์ส่งน้ำผ่านภูเขาเพื่อสูบน้ำจากอ่างลำตะคองขึ้นมาและปล่อยลงไปปั่นไฟ

การระเบิดอุโมงค์และสร้างอ่างเปลี่ยนแปลงชีวิตของแม่เรียมและชาวบ้านทุกคนที่นี่ ตลอดไป...

“ มันระเบิดทุกวัน เที่ยงกับหกโมงเย็น ไม่มีวันหยุดเกือบ ๓ ปีเต็ม” แม่เรียมเล่า “ ระเบิดทีนึงบ้านสะเทือน ฝุ่นควันลอยขึ้นฟ้า คลุ้งลงมาเต็มบ้าน เต็มสวน ลมไปถึงไหนตกที่นั่น เหม็นมาก ต้องหาผ้ามาปิดจมูก คนมีลูกเล็กๆ ต้องเอาผ้าคลุมเปลไว้”

หลังจากเริ่มมีการระเบิด ชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หายใจติดขัด ผิวหนังพุพอง เป็นไข้ ตาฝ้าฟาง และอาการเจ็บป่วยอื่นๆ ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของทุกชีวิตบนเขาแห่งนี้

อาการ “ หายใจไม่อิ่ม” เป็นโรคที่แทบทุกคนให้การเหมือนๆ กัน “ นั่งๆ อยู่บางทีเหมือนลืมหายใจ ต้องสูดลมเข้าไปเยอะๆ ทำอะไรก็เหนื่อยง่าย ทำงานแทบไม่ไหว จะให้ไม่ป่วยได้ยังไง สูดฝุ่นเข้าไปสามปีเต็ม กินก็กินน้ำฝนจากหลังคาผสมฝุ่น อาบก็อาบน้ำฝุ่นนี่แหละ มันมีสารพิษอะไรบ้างก็ไม่รู้ ขนาดต้นไม้ยังตาย คนโดนจะเหลืออะไร” พ่อโต เสริมด้วยน้ำเสียงเบาๆ

เช่นเดียวกับครอบครัวอื่นๆ ที่นี่ ทุกคนในบ้านเจ็บป่วยออดๆ แอดๆ เข้าออกโรงพยาบาลกันตลอด “ ตอนนั้นเราก็คิดไม่ถึงเลยว่าเป็นเพราะฝุ่นระเบิด ไปหาหมอ บอกหมอว่าบ้านอยู่ที่เขายายเที่ยงที่กฟผ. มาทำอ่าง หมอก็เงียบไม่ว่าอะไร ให้ยากินประทังไปวันๆ จนตายไป เหมือนกันทุกคน” โต๊ะ ผู้เสียสามีไปตั้งแต่ช่วงเริ่มก่อสร้างโครงการ กล่าวเสริม

โรคร้ายที่มาเยือนทุกคนในหมู่บ้านอย่างถ้วนหน้า ทำให้ชาวบ้านเข้าใจได้ในที่สุดว่าเป็นเพราะฝุ่นจากการระเบิด จึงรวมตัวกันยื่นหนังสือเรียกร้องทางจังหวัดให้มาตรวจสอบ แต่นั่นก็เป็นเวลาที่การระเบิดเจาะอุโมงค์เสร็จสิ้นไปแล้ว

“ พอยื่นหนังสือ ทางการเขาก็มาตรวจ เขาบอกว่าเราเจ็บป่วยธรรมดา มันจะธรรมดาได้ยังไง เป็นเหมือนกันพร้อมๆ กันทั้งหมู่บ้าน กินยาไม่ได้ขาดมาจนทุกวันนี้ กลายเป็นคนขี้โรคกันหมด” พ่อโตว่า

 

หลังจากลุกขึ้นสู้ด้วยตัวเอง ชาวบ้านก็เข้าร่วมการต่อสู้เรียกร้อง ความเป็นธรรมจากรัฐ ร่วมขบวนกับสมัชชาคนจน จนมีคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ปัจจุบันผ่านไปแล้ว ๓ ปี คณะกรรมการก็ยังไม่สามารถดำเนินการตรวจสอบได้อย่างเป็นรูปธรรม ขณะที่ชีวิตชาวบ้านเหมือนตกอยู่ในนรกทั้งเป็น เจ็บป่วย ไร้อาชีพ มีหนี้สิน และภาระการรักษาตัวที่ไม่มีวี่แววว่าจะจบสิ้น

ชาวบ้านหมู่ ๖ ต.คลองไผ่ ซึ่งอยู่ใกล้โครงการที่สุด แทบเรียกได้ว่าสูญสิ้นทุกอย่าง เนื่องจากที่ดินถูกเวนคืนเพื่อสร้างอ่าง พื้นที่ไร่สวนจึงอันตรธานหายไปแลกด้วยค่าชดเชยอันน้อยนิด ชาวบ้านอยู่ในที่ดินผืนเล็กๆ ไม่มีไร่นา ไม่มีเรี่ยวแรงทำงาน ได้แต่ไพหญ้าคาขาย เพื่อแลกมากับเศษเงินเลี้ยงครอบครัว “ ต้องเหมารถกันไปเกี่ยวหญ้าถึงเขาใหญ่ ไพขายได้กำไรบาทสองบาท แต่ก็ต้องทำ ไม่งั้นก็ไม่มีอะไรจะกิน อนาถใจเหลือเกินลูกเอ๊ย... มันมาทำลายเราทุกอย่าง” พ่อบัวพูดอย่างคนปลง

ส่วนหมู่ ๑๐ ที่อยู่ไกลออกไปราว ๑ กิโลเมตร แม้ยังมีที่ดินทำกิน ก็ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่ในฐานะที่ดีกว่า “ ช่วงระเบิดฝุ่นลงข้าวโพดไม่ออกฝักเลย ฉันไปเงินกูเถ้าแก่มาใส่ปุ๋ยก็ยังไม่ดี ปีต่อไปก็กู้อีก มันล่มหมด หนี้ทับ ดอกเบี้ยบาน ถึงตอนนี้ก็ปลูกอะไรไม่ขึ้น ดินมันเสียแล้ว” แม่ใส ผู้มีอาการเจ็บหน้าอกค่อยๆ อธิบายให้เราฟัง พลางสานไม้กวาดซึ่งกลายเป็นอาชีพหลักปัจจุบันของเธอ “ ลูกฉันต้องออกไปรับจ้างในเมือง ทิ้งหลานไว้ให้เลี้ยง นานๆ ก็ส่งค่านมมาให้ ฉันก็มีแต่ค่าขายไม้กวาดนี่แหละ”

..........................................

โรงไฟฟ้าราคากว่า ๒ หมื่นล้านบาทนี้ได้เงินกู้จากธนาคารโลก และธนาคารแห่งญี่ปุ่นเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ชาวบ้านได้พยายามส่งจดหมายและเข้าเจรจา เพื่อให้แหล่งทุนรับผิดชอบโครงการที่ตนเองสนับสนุน แต่คำตอบจากทั้งสองธนาคารคือความว่างเปล่า กับคำอธิบายว่า เจ้าของโครงการ คือ กฟผ. ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

แม้จะไร้การเหลียวแลจากเจ้าของโครงการ แต่วันนี้พี่น้องเครือข่ายสมัชชาคนจนก็มาร่วมกันทอดผ้าป่าระดมทุนช่วยชาวบ้านที่เจ็บป่วยแต่ไม่มีเงินรักษาตัว เพื่อแสดงความห่วงใยดูแลกันตามมีตามเกิด เป็นกำลังใจให้ชาวบ้านเขายายเที่ยงต่อสู้เพื่อทำความจริงให้ปรากฏ

“ ชาวบ้านทยอยตายไปทีละคนสองคน ถึงไม่มีหวังแต่เราก็ยังสู้ สู้ทั้งที่เจ็บนี่แหละ เราอยากให้คนใหญ่คนโตเขาได้เห็นว่าชีวิตพวกเราเจ็บปวดยังไงเพราะโครงการของเขา เผื่อวันข้างหน้าเขาจะได้ไม่ต้องไปทำกับคนอื่นแบบนี้อีก ฉันไม่อยากให้ใครต้องเจอแบบพวกเราอีกแล้ว " แม่เรียมหยิบชายผ้าคลุมผมขึ้นซับน้ำตา

-----------------------------------

หมายเหตุ ร่วมสมทบทุนค่ารักษาพยาบาลแก่ชาวบ้านได้ที่

บัญชี “ กองทุนฟื้นฟูสุขภาพผู้ถูกผลกระทบจากโรงไฟฟ้าสูบกลับลำตะคอง”

ธนาคารนครหลวงไทย สาขาปากช่อง

เลขที่บัญชี 3 86 2 087 85 7

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา