eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 
“วิกฤติน้ำ” ? โลกไม่ได้ขาดน้ำ แต่ขาดการจัดการที่ดี

อาทิตย์ ธาราคำ
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บรรยายภาพ: ระบบเหมืองฝาย ตัวอย่างหนึ่งของการจัดการน้ำขนาดเล็กโดยชุมชนที่มีต้นทุนต่ำ โดยไม่ต้องพึ่งพาการลงทุนหรือเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

          ทุกวันนี้ประชาชนโลกต่างก็เข้าใจกันว่าโลกเรากำลังอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำ ผู้คนมากมายกำลังไม่มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ แต่แท้จริงแล้วปัญหาหลักที่โลกกำลังเผชิญคือ การจัดการน้ำที่ผิดพลาด โดยการจัดการแบบรวมศูนย์ด้วยโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น เขื่อน การผันน้ำ และระบบชลประทานขนาดใหญ่ ที่ไม่กระจายการจัดการสู่ท้องถิ่นที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์ นิเวศ และสังคม แตกต่างกันไป แม่น้ำสายใหญ่ๆ ทั่วโลกซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญของระบบนิเวศถูกกั้นด้วยเขื่อนขนาดใหญ่ และน้ำมากมายถูกนำมาใช้ในระบบชลประทานและระบบน้ำประปาที่ไม่มีประสิทธิภาพและไม่เป็นธรรม มีน้ำรั่วไหล และถูกนำมาใช้อย่างฟุ่มเฟือย

          การจัดการที่ผิดพลาดนี้ทำให้ประชาชนกว่าหนึ่งพันล้านคนไม่มีน้ำสะอาดใช้ และกว่าอีกสองพันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงสุขอนามัยที่ดีเพียงพอ นักวิเคราะห์น้ำชาวอเมริกันคนหนึ่งประมาณไว้ว่าหากไม่มีการปรับปรุงบริการน้ำและสุขอนามัยตั้งแต่ระดับรากฐาน ภายในอีก ๒๐ ปี จะมีผู้คนกว่า ๑๓๕ ล้านคนต้องเสียชีวิตเนื่องจากโรคที่เกี่ยวกับน้ำ

           สภาน้ำโลก (World Water Council) ธนาคารโลก และสภาบันการเงินระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาอื่นๆ ต่างก็ส่งเสริมโครงการพัฒนาน้ำขนาดใหญ่ และการลงทุน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหา “วิกฤติน้ำ” แต่นี่เป็นวิธีการแก้ไขที่ยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น และบดบังวิธีการแก้ไขที่แท้จริง ซึ่งเป็นวิธีการที่ไม่ต้องลงทุนมาก และมีอยู่แล้ว

           คณะกรรมาธิการน้ำโลก (World Commission on Water) ได้มีรายงานการคาดการณ์เกี่ยวกับน้ำขึ้นมาว่า ความต้องการน้ำกำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ แม่น้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำต่างก็ถูกทำลายไป ซึ่งทำให้ผู้คนกว่าสี่พันล้านคนจะต้องอยู่ในภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรงภายในปี ๒๐๒๕ และจำนวนประชากรที่กำลังเพิ่มมากขึ้นจะต้องพึ่งพาน้ำจากระบบชลประทานและบริการน้ำประปาขนาดใหญ่ที่จะมีการสร้างมากขึ้น

           มายาภาพที่สร้างให้คนทั้งโลกเห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำซึ่งจะแก้ไขได้โดยการลงทุนก่อสร้างขนาดใหญ่เท่านั้น เป็นข้อสรุปที่ทำให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาใช้เป็นเครื่องมืออ้างว่ารัฐบาลของ ประเทศกำลังพัฒนาไม่สามารถลงทุนจำนวนมหาศาลได้ จึงต้องเปิดโอกาสให้นักลงทุนเอกชนเข้ามาดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหา

วิกฤติของการจัดการที่ผิดพลาด

           ปัญหาที่ผู้คนทั่วโลกกว่าหนึ่งพันล้านคนไม่สามารถเข้าถึงน้ำสะอาดอย่างเพียงพอไม่ใช้เพราะว่ามีน้ำน้อยเกินไป แต่เป็นเพราะความล้มเหลวในการจัดหาน้ำให้แก่ประชาชน หากมีการจัดการที่ดีกว่านี้ ปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับความต้องการพื้นฐานก็จะลดลง เพราะปริมาณน้ำที่นำมาใช้ในโลกทุกวันนี้เพียงแค่ ๑ เปอร์เซ็นต์ก็มีปริมาณมากเพียงพอในการแก้ปัญหาพื้นฐานของประชาชนทั่วโลก ซึ่งต้องการใช้น้ำประมาณ ๔๐ ลิตรต่อวันเท่านั้น

           ระบบชลประทานขนาดใหญ่และนโยบายการเกษตรก็เป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาการจัดการน้ำ แม้ว่าทุกวันนี้กว่า ๒ ใน ๓ ของน้ำทั่วโลกที่มาจากแม่น้ำ ทะเลสาบ และแหล่งน้ำอื่นถูกนำมาใช้ในระบบชลประทาน แต่ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลเหล่านี้ก็ยังไม่เพียงพอต่อการใช้น้ำในการเกษตร เนื่องจากนโยบายการเกษตรที่ผิดพลาดที่ส่งเสริมให้ปลูกพืชที่ต้องการน้ำสูง หรือที่เรียกว่า “พืชหิวน้ำ” เช่น อ้อย และฝ้าย ในพื้นที่แห้งแล้ง นอกจากนี้ยังพบว่าระบบชลประทานหลายแห่งไม่สามารถส่งน้ำได้ตามที่วางแผนไว้ และก่อให้เกิดปัญหาดินเค็ม

           ปัญหาการบริโภคน้ำฟุ่มเฟือยและการรั่วไหลของระบบน้ำประปาในเมืองนับเป็นอีกสาเหตุของการสูญเสียน้ำ ปริมาณน้ำกว่า ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคทั่วโลกต้องสูญเสียไปเนื่องจากการรั่วไหลและการขโมยน้ำไปใช้ ดังเช่น เมื่อปี ๒๕๔๓ รัฐเซลังงอ ประเทศมาเลเซียต้องสูญเสียน้ำวันละกว่าหนึ่งพันล้านลิตร เนื่องจากการรั่วไหลและถูกขโมย ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่เพียงพอสำหรับความต้องการพื้นฐานของคนถึง ๒๕ ล้านคน

ความล้มเหลวของการจัดการน้ำโดยภาคเอกชน

           กว่าหนึ่งทศวรรษแล้วที่ธนาคารโลก และหน่วยงานเพื่อการพัฒนาอื่นๆ ได้กระตือรือร้นส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาเป็นผู้ดำเนินการจัดส่งน้ำเพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำในเขตเมือง แต่จนถึงขณะนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าวิธีการดังกล่าวล้มเหลว เนื่องจากการแปรรูปกิจการน้ำให้จัดการและควบคุมโดยภาคเอกชนเพิ่มค่าใช้จ่ายให้ผู้บริโภค รวมทั้งบรรษัทน้ำข้ามชาติก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีปัญหาหนี้สิน

           ทางออกของปัญหาการจัดส่งน้ำจึงไม่ได้อยู่ที่การแปรรูปกิจการน้ำให้เป็นของภาคเอกชน แต่ควรอยู่ที่การกำหนดนโยบายของรัฐ โดยสนับสนุนองค์กรที่มีความเป็นสาธารณะที่ดูแลทรัพยากร (รวมถึงองค์กรของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ) ซึ่งให้ผลคุ้มค่ากว่า แต่เนื่องจากที่ผ่านมาองค์กรของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่ดูแลเรื่องน้ำมักดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีความรับผิดชอบ และไม่ครอบคลุมความต้องการของคนจน รวมทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม องค์กรของรัฐและรัฐวิสาหกิจจึงจำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กร โดยเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากยิ่งขึ้น การปรับปรุงดังกล่าวพบว่าทำได้จริง มีหลักฐานยืนยันว่าองค์กรที่มีความเป็นสาธารณะดังกล่าวหลายแห่งสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ การแก้ปัญหาการจัดการทรัพยากรโดยอาศัยการมีส่วนร่วมของสาธารณะ จะช่วยให้การปรับปรุงองค์กรของรัฐและรัฐวิสาหกกิจดำเนินการไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           การแปรรูปกิจการน้ำให้เอกชนเข้ามาจัดการและควบคุมในทุกกรณีไม่สามารถแก้ไขปัญหาของผู้คนส่วนใหญ่ที่ยังขาดแคลนน้ำได้ เนื่องจากประชาชนกว่า ๔ ใน ๕ ของผู้ที่ไม่มีน้ำใช้อย่างพอเพียงเป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตชนบท และบรรษัทข้ามชาติที่ทำกิจการน้ำมักไม่สนใจที่จะลงทุนในระบบน้ำดื่มในพื้นที่ห่างไกลเขตเมือง เพราะบริษัทไม่สามารถทำกำไรจากคนจนและผู้คนที่อาศัยในเขตชนบทได้

ระบบการจัดการน้ำที่ไม่รวมศูนย์ ทางออกที่ยั่งยืนของการจัดการน้ำ

           การแก้ไขปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นมีหลายแนวทางด้วยกัน ทางออกหนึ่งที่มีความเป็นไปได้สูงคือการปรับปรุงระบบชลประทานเดิมที่มีอยู่ซึ่งสามารถช่วยให้ประหยัดน้ำได้มากขึ้น เพราะหากเราลดการใช้น้ำจากระบบชลประทานที่มีอยู่ในปัจจุบันลงเพียง ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เราก็จะมีน้ำเพิ่มขึ้นอีก ๑ เท่าสำหรับใช้ในครัวเรือนทั่วโลก วิธีการลดการใช้น้ำในระบบชลประทาน เช่น สำหรับเขตแห้งแล้งขาดแคลนน้ำควรเปลี่ยนจากการปลูกพืชหิวน้ำ มาปลูกพืชชนิดอื่นที่ต้องการน้ำน้อย ลดการใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง หรือเปลี่ยนมาใช้ระบบรักษาน้ำ เช่น ติดตั้งระบบน้ำหยด ซี่งสามารถช่วยประหยัดน้ำลงได้ถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของปริมาณน้ำสำหรับเกษตรกรรมที่ใช้กันอยู่ทุกวันนี้

           ส่วนการแก้ปัญหาโดยการจัดการด้านความต้องการ และด้านผู้บริโภค สามารถลดการใช้น้ำในเขตเมือง โดยใช้เงินทุนเพียงเสี้ยวเดียวของทุนที่ใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างขนาดใหญ่ขึ้นมาใหม่ เช่น อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ มาส่งเสริมให้ครัวเรือนหันมาใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำ ผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมลดปริมาณน้ำเสียลง หรือกำหนดราคาน้ำในอัตราก้าวหน้า ให้ผู้ที่ใช้น้ำมากจ่ายมากกว่าผู้ที่ต้องการใช้น้ำน้อย

           นอกจากนี้การยกระดับและปรับปรุงระบบจ่ายน้ำก็สามารถช่วยลดปริมาณการสูญเสียน้ำที่รั่วไหลและถูกขโมย รวมทั้งทางเลือกอื่นๆ เช่น บำบัดน้ำเสียมาใช้ประโยชน์ กักเก็บน้ำฝน ก็จะช่วยช่วยเพิ่มปริมาณน้ำโดยไม่ต้องก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่ใช้ทุนมหาศาล

           ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการจัดการน้ำที่เป็นธรรมและครอบคลุมถึงคนจน คือการจัดการน้ำขนาดเล็กแบบไม่รวมศูนย์ อาทิ ระบบเหมืองฝายขนาดเล็กที่จัดการโดยชุมชน ระบบกักเก็บน้ำฝน และการเพิ่มน้ำใต้ดิน เพราะล้วนแต่ใช้งบประมาณในการลงทุนต่ำ และเหมาะสมสำหรับการจัดหาน้ำให้ประชาชนในชนบท ซึ่งต้องการน้ำสำหรับการเกษตร สัตว์เลี้ยง และใช้ในครัวเรือน

           เนื่องจากระบบการจัดการน้ำขนาดเล็กเหล่านี้สามารถดำเนินการได้โดยชุมชน องค์กรจากภายนอกจึงไม่สามารถเข้าไปหาผลประโยชน์ทั้งทางการเงินและการเมืองได้ นี่จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแทบไม่ได้มีแนวคิดส่งเสริมแนวทางการจัดการน้ำแบบนี้เลย

ผลิตอาหารให้แก่ประชาชนที่หิวโหย ข้ออ้างเพื่อลงการทุนขนาดใหญ่

           องค์กรที่ดำเนินการเกี่ยวกับน้ำมักจะอ้างเสมอว่าสาเหตุที่ต้องสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ เพราะโลกต้องการน้ำสำหรับระบบชลประทาน เพื่อผลิตอาหารมาเลี้ยงผู้คนที่กำลังหิวโหย แต่หากพิจารณาปัญหาความอกอยากอย่างถ่อแท้จะพบว่า ภาวะความอดอยากไม่ได้เกิดเพราะโลกนี้ขาดแคลนอาหาร เราผลิตอาหารได้มากเกินต้องการด้วยซ้ำ แต่ผู้คนอีกหลายร้อยล้านคนยังคงอดอยากเนื่องจากมีฐานะยากจนเกินกว่าจะซื้ออาหารได้ ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ ประเทศอินเดียสามารถผลิตอาหารจำพวกข้าวและถั่วได้มากมาย ในโกดังมีอาหารดังกล่าวปริมาณหนึ่งในสี่ของอาหารทั้งโลก แต่มากกว่าครึ่งหนึ่งของเด็กในประเทศอินเดียกลับมีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน

           ประสบการณ์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นแล้วว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ไม่ช่วยแก้ปัญหาความอดอยาก เทคโนโลยีที่ใช้ทุนสูงนี้อาจให้ผลผลิตสูง (อย่างน้อยก็ในช่วงระยะสั้น) แต่ผู้ที่ได้ผลประโยชน์คือเกษตรกรรายใหญ่ที่มีที่ดินและทุนจำนวนมาก และเกษตรกรรายย่อยที่บังเอิญมีที่ทำกินอยู่ในเขตชลประทานซึ่งมีอยู่จำกัด แต่ชาวนาส่วนใหญ่ก็ยังคงยากจนและไม่สามารถผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงตัวเองได้เช่นเดิม

           วิธีแก้ปัญหานี้จึงไม่ใช่การสร้างเขื่อน แต่อยู่ที่การกำหนดนโยบายปฏิรูปที่ดิน ส่งเสริมวิธีการเกษตรพื้นบ้าน ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับระบบนิเวศ รวมทั้งเน้นการผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงคนในท้องถิ่นมากกว่าเน้นการส่งออก

           เราจะเห็นได้ว่าปัญหาเรื่องน้ำของโลกสามารถแก้ไขได้โดยใช้เงินทุนไม่สูง สิ่งที่สำคัญคือผู้กำหนดนโยบายของประเทศต้องมองปัญหาน้ำของประเทศตนเองอย่างเข้าใจถึงต้นเหตุของปัญหา และประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาต้องช่วยกันโน้มน้าวให้รัฐบาลหยุดฟังและหยุดรับเงินจากกลุ่ม สถาบันการเงินระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา ที่กำลังพยายามผลักดันให้เกิดการแปรรูปกิจการน้ำให้เป็นเอกชน และการลงทุนขนาดใหญ่ เช่น เขื่อนขนาดใหญ่ ระบบชลประทานแบบรวมศูนย์ และการผันน้ำ โดยอ้างว่าเพื่อแก้ไข “วิกฤติขาดแคลนน้ำ” ที่กลุ่มตนเองได้สร้างขึ้นมาเพื่อสร้างความชอบธรรมแก่การลงทุนราคาแพง ซึ่งหมายถึงผลประโยชน์ขององค์กรและบริษัทของตนเองนั่นเอง

หมายเหตุ: ข้อมูลส่วนหนึ่งจาก International Rivers Network

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา