eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ขอเขื่อนดีๆ สักที่ มีไหม? อินไซด์จากเวทีโลกว่าด้วยเขื่อน

เพียรพร ดีเทศน์    เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้   ตีพิมพ์ใน  A Day Weekly

เฉียวหลี่กำลังเก็บขยะจากกองขยะกองโตอยู่ในเมือง วันนี้เก็บขวดได้ ๒ ถุง คงพอขายซื้อข้าวประทังชีวิตตัวเอง เมียและลูกอีก ๒ คนได้รอดไปอีกวัน เฉียวหลี่เคยเป็นชาวนาปลูกข้าวได้มากมายอยู่ริมน้ำโขงในประเทศจีน แต่ ๑๐ ปีที่แล้วมีคนเข้ามาสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้า บ้านและไร่นา จมหายไปใต้น้ำ ญาติมิตรในหมู่บ้านพลัดพรากไปตามที่ต่างๆ ที่ดินผืนเล็กที่จัดสรรให้ใหม่โดยผู้สร้างเขื่อนมันไม่ให้ผลผลิตอะไรได้เลย เขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากเข้าเมืองมาเก็บขยะขาย อนาคตของลูกทั้งสองหรือ? อย่าถามเลย ทุกคืนยามหลับตาลง เขาเองก็ไม่เห็นอะไรในวันพรุ่งนี้...

เฉียวหลี่ไม่ใช่เพียงคนเดียวที่เผชิญชะตากรรมนี้ ยังมีผู้คนอีกกว่า ๔๐-๘๐ ล้านคนที่ถูกอพยพแก่เขื่อนที่ก่อสร้างทั่วโลก หากเทียบกับประชากรโลกปัจจุบันแล้ว กล่าวได้ว่า ทุกๆ ๑๐๐ คนบนโลก ๑ คนในนั้นคือผู้ที่ถูกอพยพจากการสร้างเขื่อน

                               

ผลกระทบร้ายแรงของเขื่อนที่เกิดขึ้นทั่วโลกนำไปสู่การประชุมนานาชาติครั้งแรกของผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน เมื่อปี ๒๕๔๐ ที่เมืองคูริทิบา ประเทศบราซิล จากการประชุมครั้งนั้น ความจำเป็นและจริยธรรมของการสร้างเขื่อน ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนากระแสหลัก ก็ถูกตั้งคำถามและกลายมาเป็นประเด็นที่ท้าทายอุตสาหกรรมเขื่อนและผู้สนับสนุนเขื่อน กว่าสิบปีที่ผ่านมาขบวนการผู้เดือดร้อนจากเขื่อนเติบโตขึ้นด้วยความร่วมมือของขบวนการประชาชนระดับรากหญ้าและ องค์กรพัฒนาเอกชนจากทั้งประเทศร่ำรวยและประเทศยากจน ร่วมกันรณรงค์ท้าทายอุตสาหกรรมเขื่อน รัฐบาล และสถาบันการเงินผู้สนับสนุนการสร้างเขื่อน ให้หันกลับมาทบทวนเรื่องเขื่อนอย่างจริงจัง

หลังจากการประชุมครั้งแรก ความพยายามของขบวนการผู้เดือดร้อนจากเขื่อนก็เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม คณะกรรมการเขื่อนโลก (World Commission on Dams) ได้ถูกตั้งขึ้นโดยการสนับสนุนหลักจากธนาคารโลก สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมเขื่อน และชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อน เพื่อศึกษาการดำเนินงานและผลกระทบจากเขื่อนทั่วโลกในทุกแง่มุมอย่างตรงไปตรงมา รายงาน “เขื่อนกับการพัฒนา กรอบคิดใหม่ในการตัดสินใจ” ของคณะกรรมการเขื่อนโลกเป็นบทวิพากษ์ที่สำคัญต่อการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ในบทสรุปของรายงาน ที่ออกมาเมื่อปลายปี ๒๕๔๓ ระบุว่า

“ เขื่อนได้สร้างประโยชน์ที่สำคัญและจำเป็นมากมายต่อการพัฒนามนุษย์ และประโยชน์ที่ได้นั้นก็มีมากมาย

ในหลายกรณีพบว่า ผลประโยชน์เหล่านี้ต้องแลกมาด้วยการสูญเสียทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเกินกว่าจะรับได้ ด้วยผู้คนที่ต้องถูกอพยพโยกย้าย ด้วยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนที่อยู่ท้ายน้ำ ด้วยภาษีของประชาชน และด้วยสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ

...มีการตั้งคำถามถึงความไม่เป็นธรรมในการแบ่งปันผลประโยชน์ และความคุ้มค่าของเขื่อนเพื่อสนองความต้องการในการพัฒนาน้ำและพลังงาน เมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆ ”

คณะกรรมการเขื่อนโลกได้มีข้อเสนอแนะเป็นกรอบกระบวนการตัดสินใจที่เป็นประชาธิปไตย มีความโปร่งใส และมีความรับผิดชอบ เพื่อมิให้เกิดปัญหาเดิมๆ กับเขื่อนที่จะสร้างใหม่ รวมทั้งกลับไปเยียวยาแก้ไขปัญหาจากเขื่อนที่สร้างแล้ว โดยในบางกรณีอาจรวมไปถึงการยกเลิกการใช้เขื่อน โดยพิจารณามิติสังคมสิ่งแวดล้อมเท่าเทียมกันกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและเทคนิค

หลังจากคณะกรรมการเขื่อนโลกเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว องค์กรภาคประชาชนได้ผลักดันให้องค์กรสิ่งแวดล้อมของสหประชาชาติ (UNEP) ก่อ ตั้งโครงการเขื่อนกับการ พัฒนา (Dams and Development Project) เพื่อสืบสานงานเผยแพร่ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลกแก่ประเทศต่างๆ โดยมีสมัชชาเขื่อนกับการพัฒนา (Dams and Development Forum) ประกอบด้วย ผู้เกี่ยวข้องกับประเด็นเขื่อนทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเขื่อน ธนาคารเพื่อการพัฒนา องค์กรพัฒนาเอกชน และผู้เดือดร้อนจากเขื่อน ซึ่งมีสมัชชาคนจนของประเทศไทยเป็นสมาชิกด้วย

และในเวทีเขื่อนกับการพัฒนานี่เอง คือสังเวียนที่ผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านเขื่อนต้องขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด

ล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน การประชุมสมัชชาเขื่อนกับการพัฒนาครั้งที่ ๓ ก็ได้ถูกจัดขึ้นที่ประเทศเคนยา โดยก่อนหน้านั้นเป็น การประชุมเชิงปฏิบัติการ ๓ หัวข้อหลักเกี่ยวกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลก คือ การประเมินทางเลือกอย่างรอบด้าน (Comprehensive Option Assessment) การพิจารณาเขื่อนที่มีอยู่แล้ว (Addressing Existing Dams) และการปฏิบัติตามข้อกำหนด (Ensuring Compliance)

เขื่อนคือยาวิเศษ?

ที่ผ่านมาฝ่ายสนับสนุนเขื่อนมักจะทำให้สังคมเข้าใจว่า เขื่อนคือยาวิเศษที่แก้ปัญหาได้สารพัด ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง หรือผลิตไฟฟ้า มายาคตินี้ทำให้มองข้ามทางเลือกอื่นๆ ที่ดีกว่า ถูกกว่า และสร้างปัญหาน้อยกว่า อาทิ ระบบไฟฟ้าที่ไม่รวมศูนย์ มีโรงไฟฟ้าเล็กๆ ในชุมชนแต่ละแห่ง ซึ่งอาจมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ หรือพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ ระบบการจัดการน้ำในชุมชนที่ไม่ต้องมีเขื่อนหรือโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่

หนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดคือการจัดการความต้องการ (Demand-Side Management) โดยรัฐต้องมีมาตรการประหยัดพลังงานและน้ำอย่างเป็นระบบเพื่อไม่ต้องหาแหล่งพลังงานและน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งรัฐบาลอาจช่วยลดราคาเครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดไฟลงเพื่อให้ประชาชนเลิกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟมาก หรือการเก็บค่าน้ำค่าไฟในอัตราก้าวหน้า ครอบครัวใช้น้อยก็จ่ายน้อย แต่โรงอาบอบนวดหรือโรงงานที่ใช้น้ำไฟเปลืองก็ต้องจ่ายมากกว่า

เหล่านี้เป็นทางเลือกเพื่อให้เกิดการประเมินทางเลือกเพื่อสนองความต้องการน้ำและพลังงานอย่างแท้จริง ไม่ใช่คิดว่าจะสร้างเขื่อนก่อนแล้วค่อยหาเหตุผลตามมาว่าทำไมต้องสร้าง อย่างที่เป็นมาตลอด

เขื่อนที่มี ดีพอแล้วหรือ?

ที่มาที่ไปหัวข้อการประชุม การพิจาณาเขื่อนที่มีอยู่แล้ว ก็คือ ที่ผ่านมานักสร้างเขื่อนมักเสนอโครงการเขื่อนใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา โดยมิได้พูดถึงเขื่อนที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้พยายามเพิ่มประสิทธิภาพเขื่อนเก่าเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่ต้องมีโครงการใหม่ ไม่เคยพูดถึงเขื่อนเก่าที่สร้างปัญหาทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคมมากมาย คณะกรรมการเขื่อนโลกจึงมีข้อเสนอที่อาจแปลเป็นภาษชาวบ้านได้ว่า “กลับไปดูแลเขื่อนเก่าซะก่อน แล้วค่อยคิดสร้างเขื่อนใหม่”

การประชุมหัวข้อนี้เน้นที่การเพิ่มประสิทธิภาพเขื่อนที่มีอยู่ ทบทวนและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งนำไปเป็นบทเรียนในการวางแผนโครงการใหม่

ระหว่างการประชุมได้มีการนำเสนอกรณีศึกษาที่น่าสนใจมากมาย อาทิ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพเขื่อนในแคนาดา โดยบริษัทที่ปรึกษาเสนอให้ติดตั้งเครื่องปั่นไฟเพิ่ม โดยมีผลกระทบน้อย และยกระดับประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนใหม่ให้สิ้นเปลืองงบประมาณและธรรมชาติสิ่งแวดล้อม

ทางประเทศ ไทย สมัชชาคนจนได้นำเสนอแนวคิดการยกเลิกเขื่อน (Dam Decommissioning) โดยยกกรณีเขื่อนปากมูลเพื่อฟื้นฟูแม่น้ำมูนและชุมชนลูกแม่มูน ซึ่งผลการศึกษาที่มีอยู่มากมายได้ชี้ให้เห็นตรงกันว่า เขื่อนปากมูลได้ทำลายระบบนิเวศซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะคือระบบนิเวศแบบแก่งที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยและลุ่มน้ำโขง สร้างปัญหาให้กับชาวบ้านคนหาปลากว่า ๖,๐๐๐ ครัวเรือน ใน ๖๕ หมู่บ้าน เขื่อนปิดกั้นปากแม่น้ำทำให้ไม่มีปลาจากน้ำโขงอพยพขึ้นมาเลี้ยงชีวิตที่พึ่งพาลำน้ำ ส่วนไฟฟ้าและผลประโยชน์อื่นที่ได้จากเขื่อนก็น้อยนิดไม่คุ้มกันไม่ว่าจะเปรียบเทียบอย่างไร

นอกจากนี้ ทางสมัชชาคนจนยังได้นำเสนอการใช้ความรู้ท้องถิ่น ในการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยนำเสนองานวิจัยไทบ้านปากมูน ซึ่งชาวบ้านปากมูนผู้รู้เรื่องปลาและแม่น้ำ ศึกษาการฟื้นคืนของแม่น้ำมูนและชุมชนในช่วงการทดลองเปิดเขื่อนเมื่อปี ๒๕๔๕-๒๕๔๖ซึ่งพบว่าช่วงเปิดเขื่อนดังกล่าวมีพันธุ์ปลาธรรมชาติอพยพขึ้นมาจากแม่น้ำโขงสู่แม่มูนถึง ๑๒๙ ชนิด และการอพยพของปลากินเวลาเกือบตลอดทั้งปี ส่งผลให้ชุมชนปากมูนได้กลับมาจับปลากันอีกครั้ง วิถีชีวิตชุมชนหาปลาก็ได้ฟื้นคืนมาเมื่อสายน้ำได้ไหลอย่างอิสระ

ผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายส่วนเห็นด้วยกับการใช้ความรู้ท้องถิ่น และความรู้แขนงอื่นๆ ที่หลากหลายประกอบกันในการศึกษาผลกระทบจากเขื่อนอย่างรอบด้าน มิใช่ใช้เฉพาะความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียว อย่างที่เป็นมา

ทางเจ้าหน้าที่จากกระทรวงทรัพยากรน้ำประเทศจีน ซึ่งมีเขื่อนขนาดใหญ่ถึงกว่า ๒๒,๐๐๐ แห่ง หรือราวครึ่งหนึ่งของเขื่อนทีมีอยู่ทั่วโลก รวมถึงเขื่อนสามผา หรือเขื่อนทรีกอร์เจส ซึ่งอพยพประชาชนกว่า ๑.๙ ล้านคน ได้นำเสนอเรื่องมาตรการใหม่ของจีนในการรักษาความปลอดภัยของเขื่อน ระบบเตือนภัยในกรณีปล่อยน้ำฉุกเฉินเมื่อน้ำล้นเขื่อน หรือเขื่อนพัง เพราะที่ผ่านมามีรายงานข่าวเล็ดรอดออกมาให้โลกภายนอกได้รับรู้กันอยู่บ่อยครั้งถึงมหันตภัยเขื่อนพังในประเทศจีน ที่คร่าชีวิตชาวบ้านไปหลายหมื่นคน มาตรการใหม่นี้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยแก่เขื่อนและประชาชนมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงโศกนาฏกรรมมิให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

ผู้เข้าร่วมประชุมจากทางฝ่ายชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนได้เสนอว่างบประมาณรักษาความปลอดภัย ของเขื่อนต้องรวมอยู่ในงบประมาณก่อสร้างเขื่อนด้วยตั้งแต่แรก เป็นข้อที่จำเป็นต้องรับผิดชอบโดยเจ้าของเขื่อน

อีกประเด็นที่หยิบยกมาพูดกันในที่ประชุมคือ การต่อสัญญาใช้งานเขื่อน (Dam Re-licensing) เพราะเขื่อนก็เหมือนทุกสิ่งในโลกที่มีวันหมดอายุ การกำหนดระยะเวลาใช้งานเขื่อนและต้องต่ออายุสัญญา เป็นโอกาสให้เจ้าของเขื่อนและรัฐได้ประเมินว่าเขื่อนมีประสิทธิภาพอยู่หรือไม่ หรือมีผลกระทบอะไรร้ายแรงหรือเปล่า หากใช่ ก็ต้องแก้ปัญหาก่อนต่อสัญญา หรือหากปัญหาที่เกิดจากเขื่อนนั้นมีมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับ ก็อาจมีการยกเลิกใช้เขื่อน เพื่อปลดปล่อยแม่น้ำให้เป็นอิสระและฟื้นฟูธรรมชาติ

ในอเมริกา สัญญาการใช้เขื่อน เป็นมาตรการที่ได้ปฏิบัติกันมาแล้วหลายปี ซึ่งองค์กรพัฒนาเอกชนและชาวบ้านในประเทศยากจน ก็พยายามให้มีสัญญาใช้เขื่อนกับประเทศตนเองบ้าง เพราะที่ผ่านมา เขื่อนสร้างแล้วสร้างเลย มิเคยมีการประเมินว่าต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินการอย่างไร

อีกหัวข้อที่มีการแลกเปลี่ยนกันคือ เขื่อนบนแม่น้ำนานาชาติ ในกรณีที่ประเทศมหาอำนาจด้านบนสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำ แต่ผลกระทบได้ลามลงไปถึงประเทศเล็กๆ ท้ายน้ำ ดังเช่น กรณีเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีน ซึ่งการกักเก็บน้ำและปั่นไฟของเขื่อนทำให้ระดับน้ำขึ้นลงผิดธรรมชาติ ระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ถูกทำลาย ชุมชนหาปลาท้ายน้ำต้องเดือดร้อนนับตั้งแต่ชายแดนพม่า-ไทย-ลาว ลงไปจนถึงทะเลสาบเขมร แต่ชาวบ้านเหล่านี้กลับไม่ถูกนับรวมว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อน เขื่อนเดิมที่มีอยู่ ๒ แห่งก็ไม่มีการแก้ไขปัญหา ไม่มีการศึกษาผลกระทบทั้งลุ่มน้ำ และเขื่อนใหม่ๆ อีกหลายแห่งก็กำลังดำเนินการก่อสร้างเพื่อกั้นแม่น้ำเพิ่มอีก

ทำยังไงให้มีเขื่อนดีๆ

ระหว่างการประชุมสมัชชาเขื่อนโลก ทางฝ่ายองค์กรพัฒนาเอกชนและชาวบ้านได้รายงานว่างานเผยแพร่ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลกให้แก่รัฐบาลประเทศต่างๆ และหน่วยงายสนับสนุนการพัฒนา เพื่อให้เกิดกฎหมายข้อบังคับปฏิบัติเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปัญหาเดิมๆ อีก

ประเทศที่มีความก้าวหน้ามากที่สุดประเทศหนึ่งคือ เยอรมัน ซึ่งเป็นนักสร้างเขื่อนที่สำคัญอันดับต้นๆ ของโลก กระทรวงเศรษฐกิจและความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมันได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาข้อเสนอแนะของ คณะกรรมการเขื่อนโลก เพื่อให้เขื่อนสัญชาติเยอรมันที่บริษัทของตนไปสร้างในประเทศยากจนเป็นเขื่อนที่ดี สร้างประโยชน์แก่ประชาชนอย่างแท้จริง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิของผู้เดือดร้อน แต่ก็ไม่น่าแปลกใจที่บริษัทต่างๆ ยังไม่ เต็มใจ รับข้อบังคับนี้ ทำให้คณะทำงานก็ยังคงทำงานเพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย

ส่วนในประเทศไทย มีการแปลรายงานฯ ฉบับย่อเป็นภาษาไทย และมีคณะทำงานจากฝ่ายต่างๆ ทั้งรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกันพิจารณาว่ามีข้อเสนอแนะใดที่ควรมาปรับใช้กับกฎหมายข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับโครงการเขื่อนของประเทศไทยบ้าง แต่เมื่อรัฐมนตรีที่รับผิดชอบคือ คุณประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา งานที่ทำมาทั้งหมดก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ไม่มีใครรู้ว่าความหวังที่ไทยจะมีกฎหมายน้ำและเขื่อนที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม จะยังเป็นไปได้อยู่หรือไม่

..........................................

พะตีโพดา ชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงกำลังเก็บถั่วในแปลงที่ปลูกไว้บนหาดทรายริมฝั่งน้ำสาละวิน จ. แม่ฮ่องสอน ถั่วและผักต่างๆ ที่ปลูกริมน้ำยามฤดูน้ำลดเหล่านี้เป็นอาหารของครอบครัวตลอดที่เก็บไว้กินตลอดปี นอกจากนี้พะตียังมีไร่หมุนเวียนบนดอย มีอาหารจากป่า และมีปลามากมายในแม่น้ำไว้กินและขายเป็นรายได้บ้าง

พะตีได้ยินผู้ใหญ่บ้านบอกว่าเขาจะมาสร้างเขื่อนที่นี่ พะตีอยู่ในหมู่บ้านชายแดน ฟังภาษาไทยไม่ค่อยเข้าใจ ไม่รู้ว่าเขื่อนคืออะไร

หากประเทศไทยนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลกมาใช้ ชาวบ้านสาละวินจะได้รับข้อมูลโครงการและผลกระทบอย่างรอบด้าน ข้อมูลจะเป็นภาษากะเหรี่ยงที่ชุมชนเข้าใจได้ และเขื่อนจะสร้างได้ก็ต่อเมื่อชุมชนเห็นชอบแล้วเท่านั้น ทั้งนี้ต้องมีการทำการศึกษาผลกระทบครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำ เพราะสาละวินเป็นแม่น้ำนานาชาติ ใช้ร่วมกันระหว่างจีน พม่า และไทย และที่สำคัญคือ มีการประเมินก่อนว่า เขื่อนนี้จำเป็นต้องสร้างจริงๆ หรือไม่

แต่เท่าที่เป็นอยู่วันนี้ พะตีได้ยินแต่ว่าถ้าเขาสร้างเขื่อน ชาวบ้านต้องย้ายไปอยู่ที่อื่น ไม่เคยมีใครมาถามว่าชาวบ้านจะยอมให้เขามาสร้างเขื่อนหรือไม่

พะตีบอกว่า “ถ้ากั้นน้ำ น้ำท่วมบ้าน ไร่นา ป่า จมหายไปหมด ถึงตัวเราไม่ตาย ใจเราก็ตายไปแล้ว พี่น้องจะอยู่อย่างไร ลูกหลานจะอยู่อย่างไร”

-------------------------------------------------------------------------------------

ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลก

แนวทางสำหรับอนาคต–บนฐานคิดว่าด้วย “สิทธิและความเสี่ยง”

คณะกรรมการฯ ได้เสนอแนวทางใหม่ในการตัดสินใจ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานของการยอมรับสิทธิและประเมินความเสี่ยงของผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย หมายถึงว่าผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายที่อาจถูกละเมิดสิทธิหรือถูกยัดเยียดให้ได้รับความเสี่ยงจากโครงการโดยไม่สมัครใจ ต้องร่วมอยู่ในกระบวนการตัดสินใจในโครงการพัฒนา โดยเชื่อว่าแนวทางนี้จะทำให้เกิดแนวทางที่มีประสิทธิภาพในการกำหนดว่าใครเป็นผู้ที่มีความชอบธรรมในการเข้าร่วมเจรจา และประเด็นอะไรบ้างที่ต้องรวมอยู่ในวาระการเจรจา โดยคณะกรรมการเขื่อนโลกได้กำหนดขั้นตอนเชิงยุทธศาสตร์ ๗ ประการเพื่อเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาแนวใหม่ดังต่อไปนี้

•  การได้รับการยอมรับจากสาธารณะ

จะสร้างเขื่อนไม่ได้หากไม่ได้รับ “การยอมรับที่สามารถแสดงให้เห็นได้ชัดเจน” จากผู้ได้รับผลกระทบ และไม่ได้รับการเห็นชอบจากกลุ่มชนพื้นถิ่นและชนเผ่าที่ได้รับผลกระทบ การตัดสินในการดำเนินโครงการที่จะมีผลกระทบต่อชนพื้นถิ่นและชนเผ่า ต้องกระทำโดยผ่านการเห็นชอบ โดยต้องได้รับข้อมูลที่เป็นอิสระ ล่วงหน้า โดยผ่านการเจรจาตกลงซึ่งมีข้อผูกพันทางกฎหมาย

๒) การประเมินทางเลือกอย่างรอบด้าน

ก่อนที่จะตัดสินใจสร้างเขื่อน ต้องมีการประเมินความต้องการด้านน้ำ อาหาร และพลังงานที่โปร่งใสและมีส่วนร่วมของประชาชน และควรพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว ควรให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกแก่การพัฒนาแหล่งน้ำ ระบบชลประทาน และระบบพลังงานที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและยั่งยืน นอกจากนี้ ควรให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเท่าเทียมกันกับด้านเทคนิคและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ทั้งในระหว่างกระบวนการการประเมินทางเลือก ตลอดขั้นตอนการวางแผน ระหว่างการก่อสร้าง และการดำเนินโครงการ

๓) ข้อพิจาณาสำหรับเขื่อนที่มีอยู่แล้ว

มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องหาโอกาสฟื้นฟูและยกระดับเขื่อนที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควรมีการจ่ายค่าชดเชยย้อนหลังให้แก่ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนที่สร้างไปแล้ว การใช้เขื่อนควรได้รับการปรับเปลี่ยนเพื่อลดปัญหาผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เขื่อนทุกเขื่อนควรมีใบอนุมัติการใช้งานที่กำหนดอายุการใช้งานของเขื่อน และขั้นตอนการต่อใบอนุมัติการใช้งานควรเป็นโอกาสที่จะมีการทบทวนการดำเนินโครงการและผลกระทบอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการใช้งานโครงการ หรือแม้กระทั่งการยกเลิกการใช้เขื่อน

๔) สร้างความยั่งยืนให้แก่แม่น้ำและวิถีชีวิต

การประเมินทางเลือกและการตัดสินใจในการพัฒนาแม่น้ำควรพยายามเลี่ยงผลกระทบต่างๆ รวมทั้งพยายามลดผลกระทบและแก้ไขผลเสียที่จะเกิดกับระบบแม่น้ำ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจสร้างเขื่อนควรมีการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานที่น่าเชื่อถือได้ รวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศ รวมทั้งประเด็นทางสังคมและสุขภาพ เพื่อนำมาวิเคราะห์ในการพิจารณาว่าเขื่อนและโครงการพัฒนาอื่นๆ มีผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างไร เขื่อนควรจะให้ปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมที่จะรักษาสมดุลของระบบนิเวศและวิถีชีวิต

๕) การรับรองระบบกรรมสิทธิ์ และแบ่งปันผลประโยชน์

ผู้ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากเขื่อนควรเป็นผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากเขื่อนเป็นกลุ่ม

แรก ผู้ที่เสียประโยชน์เหล่านี้รวมถึงผู้ที่ถูกอพยพโยกย้าย ผู้ที่อยู่เหนือเขื่อนหรือท้ายเขื่อน ผู้ที่อาศัยอยู่รอบบริเวณอ่างเก็บน้ำหลังเขื่อนและผู้ที่ที่ดินต้องสูญเสียจากการจัดสรรที่ทำกินใหม่ คนเหล่านี้ควรมีส่วนร่วมในการกำหนดเลือก จัดสรร และแจกจ่ายผลประโยชน์ การเจรจาต่อรองกับผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้ควรนำไปสู่ข้อตกลงร่วมกัน และมีมาตรการแก้ไขปัญหาโดยมีผลบังคับตามกฎหมาย รวมทั้งจัดหาโครงการพัฒนาเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของผู้ได้รับผลกระทบ

•  มาตรการที่ทำให้เกิดการปฎิบัติตามข้อกำหนด

สถาบันการเงินและผู้สนับสนุนโครงการต้องกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการพัฒนาทรัพยากรน้ำและพลังงาน ก่อนที่จะเริ่มโครงการต้องมีการกำหนดแผนสำหรับการปฏิบัติตามข้อกำหนดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ที่มีลักษณะเป็นทั้งแรงจูงใจและการลงโทษ และควรมีมาตรการเพื่อยุติการทุจริต

๗) แม่น้ำเพื่อสันติภาพ การพัฒนา และความมั่นคง

ควรมีการกำหนดมาตรการขึ้นมาสำหรับประเทศต่างๆ เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งและนำไปสู่ความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับแม่น้ำนานาชาติ ประเทศที่ใช้แม่น้ำร่วมกันควรพัฒนาขีดความสามารถที่จะระงับโครงการบนแม่น้ำดังกล่าวโดยอาศัยคณะทำงานที่เป็นอิสระ หรือมีกลไกอื่นๆ เพื่อระงับข้อพิพาท ข้อกำหนดของคณะกรรมการเขื่อนโลกควรจะบรรจุรวมอยู่ในนโยบายแห่งชาติว่าด้วยน้ำ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และส่งเสริมความร่วมมือในการใช้ลุ่มน้ำร่วมกัน

------------------------

เอกสารอ้างอิง

  • เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, คู่มือประชาชน กรอบคิดใหม่ในการตัดสินใจโครงการขนาดใหญ่, เชียงใหม่ ๒๕๔๖
  • World Commission on Dams (2000), Dams and Development: A New Framework for Decision-Making, An Overview .
  • www.unep-dams.org

ค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม

แปลจาก World Commission on Dams (2000), Dams and Development: A New Framework for Decision-Making, An Overview .

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา