eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

จาก “ ผีบุญ ” สู่ “ งานวิจัยไทบ้าน ” ว่าด้วยการเคลื่อนไหวทางสังคมของคนอีสาน

โดย... อนุชิต สิงห์สุวรรณ
นิสิตฝึกงาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก(ช่วงกรกฎาคม-ตุลาคม)แม่น้ำทุกสายในอีสานจะเอ่อล้นท่วมสองฝั่งน้ำเกิดเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่เวิ้งว้างกินบริเวณกว้าง แต่พอถึงฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติกลับเหือดแห้งเผย ให้เห็นก้อนกรวดที่อยู่ใต้ผืนน้ำเป็นเวลานาน เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่าดินในภูมิภาคแห่งนี้ไม่สามารถกักเก็บน้ำตามธรรมชาติได้ดีพอ สภาพดังกล่าวอีสานจึงถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่แห้งแล้ง

หากเป็นการผลิตเพื่อยังชีพของคนในชุมชน ความเป็นพื้นที่แห้งแล้งไม่เป็นอุปสรรคแม้แต่น้อย ทุกคนคงเคยได้ยินว่า “ ...คนอีสานหากินตั้งแต่บนพื้นฟ้ายันพื้นดิน... ” ซึ่งคำพูดดังกล่าวไม่ไกลจากความเป็นจริงเลย คนอีสานรู้จักปรับตัวให้เข้ากับสภาพธรรมชาติโดยรู้จัก “ ...หาอยู่ หากิน … ” ตามธรรมชาติในแต่ละฤดูกาล มันเป็นเช่นนี้มาช้านานแล้ว

แต่ถ้าเป็นการผลิตเพื่อให้ได้ส่วนเกิน เพื่อตอบสนองระบบตลาด สภาพธรรมชาติเช่นนี้เป็นปัญหาในการผลิตอย่างมาก ความทุกข์ยากของชาวบ้านในท้องถิ่นจะเกิดขึ้นเมื่อเผชิญกับการขูดรีดจากภายนอก เมื่อการขูดรีดหนักหน่วงเข้าก็นำไปสู่การไม่พอใจ และรุกฮือขึ้นเคลื่อนไหวต่อต้านอำนาจแห่งความอยุติธรรม

บนเส้นทางประวัติศาสตร์สังคมอีสานหากผู้เขียนจะกล่าวว่าเป็นประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้ของผู้คน ในท้องถิ่นเพื่อดำรงวิถีการผลิตของตนเองก็คงไม่ผิดนัก ตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์เมื่ออำนาจจากภายนอกได้คืบคลานเข้าครอบงำภูมิภาคแห่งนี้ การต่อสู้เคลื่อนไหวของคนพื้นถิ่นก็มักจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ

“ ผีบุญ ” การเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบเก่าของชาวอีสาน

การเคลื่อนไหวทางสังคมของคนอีสานในอดีตเป็นที่รู้จักกันดีในนามของ “ ขบถผีบุญ ” ขบวนการนี้เกิดขึ้นจากความเชื่อในทางพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธต่างเชื่อว่า พระศาสนาจะสิ้นเมื่ออายุ ๕ , ๐๐๐ ปี เมื่อถึงคราวนั้น เหตุการณ์เลวร้ายจะเกิดขึ้นในสังคม เกิดมีผู้คนวิกลจริต ศีลธรรมจรรยาเสื่อมทราม อาณาประชาราษฎรอยู่ไม่เป็นสุขอันเกิดจากการปกครองของทรราช สภาพสังคมเช่นนี้จะเป็นปกติสุขได้ก็ด้วยการเกิดของผู้มีบุญ หรือพระศรีอาริยเมตไตรย พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๕ ในภัทรกัลป์นี้

จากความเชื่อดังกล่าว เมื่อชาวบ้านอีสานทุกข์ร้อน จึงมักมีผู้อ้างตัวว่าเป็นผู้มีบุญ หรือวีรบุรุษในประวัติศาสตร์อยู่เสมอ โดยหัวหน้าจะปลุกระดมให้ชาวบ้านเข้าร่วมขบวนการด้วยการใช้กลอนลำที่มีเนื้อหาปลุกสำนึกร่วม ทางประวัติศาสตร์เพื่อให้ชาวบ้านนึกถึงความสุขสบายของสังคมในอดีตที่อยู่ใต้การปกครองของเวียงจัน หรือใช้บทสวดพระมาลัยที่มีกล่าวถึงการลงมาเกิดของพระศรีอาริย์ที่จะทำให้เกิด ความสมบูรณ์พูลสุขกับสังคมมนุษย์

ด้วยแรงปรารถนาที่จะหลุดพ้น ชาวบ้านจึงเข้าร่วมขบวนการผีบุญ และได้ทำการตอบโต้กับอำนาจจากภายนอกโดยการโจมตีศูนย์กลางทางการเมือง หรือทำลายเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ดังจะเห็นได้จาก ขบถผีบุญครั้งสำคัญในภาคอีสานซึ่งเกิดขึ้นภายหลังการปฎิรูปการปกครองหัวเมืองของรัชกาลที่ 5 ในช่วงพ.ศ.2443-2445 ฯลฯ

อย่างไรก็ดีถึงแม้ว่าบนเส้นทางการต่อสู้ที่ผ่านมาจะมี “ ผีบุญ ” เกิดขึ้นหลายครั้ง และทุกครั้งก็ถูกปราบปรามโดยอำนาจทางการทหารของรัฐเสียจนราบคาบ แต่การต่อสู้กับอำนาจความ

อยุติธรรมของคนอีสานยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ตราบใดที่อำนาจจากภายนอกยังคงคุกคามวิถีชีวิตของพวกเขาอยู่เช่นนี้

“ งานวิจัยไทบ้าน ” การเคลื่อนไหวรูปแบบใหม่ของชาวอีสาน

การเคลื่อนไหวทางสังคมรูปแบบใหม่ แตกต่างจากการเคลื่อนไหวรูปแบบเก่าอย่างสิ้นเชิง ไม่มีการอ้างตนว่าเป็นผู้มีบุญดังเช่นแต่ก่อน ไม่มีการหยิบอาวุธขึ้นมาประหัตประหารโค่นล้มอำนาจที่มากจากภายนอก แต่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อโอกาสในการมีส่วนร่วมกำหนดนโยบายหรือโครงการพัฒนาชนบทที่ส่งผลกระทบ ต่อสภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตชุมชน โดยเฉพาะในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมานั้น การเคลื่อนไหวมีประเด็นสำคัญอยู่ที่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

การเคลื่อนไหวทางสังคมแบบใหม่นี้มีหลายรูปแบบ ยกตัวอย่างเช่น การชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิและการแก้ไขปัญหาของสัมมชาคนจน หรือการยืนหยัดยังชีพตามวิถีทางแห่งตนในการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติของศูนย์อินทร์แปลง อ.กุดบาก จ.สกลนคร หรือหมู่บ้านซำผักหนาม อ.ภูผาม่าน จ.ขอนแก่น ฯลฯ

และหนึ่งในการเคลื่อนไหวที่สำคัญ คือ “ งานวิจัยไทบ้าน ”

งานวิจัยไทบ้าน คือ งานวิจัยที่ศึกษาองค์ความรู้ของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ วิถีการผลิต และระบบนิเวศวัฒนธรรมของชาวบ้าน โดยลักษณะสำคัญของงานวิจัยประเภทนี้ คือ ชาวบ้านเป็นผู้ทำวิจัยเองตลอดทั้งกระบวนการวิจัย

พื้นที่ที่เกิดมีงานวิจัยไทบ้านส่วนใหญ่ คือ พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาของรัฐ อาทิเช่น งานวิจัยไทบ้านราษีไศลเป็นการศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล เมื่อปี พ.ศ.2536 , งานวิจัยไทบ้านปากมูนเป็นการศึกษาเปรียบเทียบวิถีชีวิต ระบบนิเวศก่อนการสร้างเขื่อน ระหว่างที่เขื่อนกักเก็บน้ำ และภายหลังจากการที่รัฐให้เปิดประตูเขื่อนเพื่อให้แม่น้ำไหลเป็นปกติตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน ฯลฯ นอกจากนี้มีเรื่องน่าสนใจอยู่ว่าพื้นที่ใดที่มีความเสี่ยงต่อการพัฒนาของรัฐ พื้นที่นั้นชาวบ้านจะลุกขึ้นมาทำวิจัยเอง

การที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาทำวิจัยเองนั้นมีความหมายอย่างยิ่ง เพราะในอดีตงานวิจัยกระทำโดยนักวิชาการซึ่งเป็น “ คนนอก ” การที่คนนอกจะเข้าใจคนในเป็นเรื่องยาก เมื่องานวิจัยออกมาไม่ตรงกับความเป็นจริงก็นำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด ทำให้การพัฒนาส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้าน

ด้วยเหตุดังกล่าวชาวบ้านจึงต้องทำวิจัยเอง ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ข้อมูลในงานวิจัยไทบ้านเป็นข้อมูลที่ชาวบ้านต้องการให้ใช้ในการตัดสินใจเชิงนโยบาย ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เพื่อให้การพัฒนานั้นสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชน

เจตจำนงอันแน่วแน่นี้ปรากฎอยู่ในคำกล่าวของชาวบ้านปากมูนว่า

 

“…เราเป็นเจ้าของปัญหา เป็นคนที่ได้รับผลกระทบ ทรัพยากรของเรา ชีวิตของเราถูกทำลายเมื่อเปิดเขื่อน ปลากลับมา ธรรมชาติกลับมา ชีวิตเราก็กลับมาด้วย ทำยังไงให้คนอื่นได้เห็น ได้เชื่อในสิ่งที่เราอยาก

จะบอก ก็เลยคิดว่าต้องจดบันทึก ต้องรวบรวมไว้เป็นหลักฐาน แต่ถ้าให้คนอื่นมาทำ ก็กลัวเขาจะทำได้ไม่ถูกต้องครบถ้วน เพราะคนในเมืองเขาไม่เข้าใจวิถีชีวิตอย่างเรา ไม่รู้เรื่องปลา เรื่องแก่ง เรื่องแม่น้ำเหมือนเรา ก็ต้องมาถามเราอยู่ดี ก็เลยคิดว่าทำเองดีกว่า…” i

 

ในส่วนของสำนึกทางประวัติศาสตร์ในงานวิจัยไทบ้านนี้ มิได้ให้ความสำคัญกับวีระบุรุษในประวัติศาสตร์เหมือนกับการเคลื่อนไหวแบบเก่า แต่หากเป็นเรื่องราวของผู้คนส่วนใหญ่ในสังคม เป็นต้นว่า เรื่องของภูมิปัญญาในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต ระบบนิเวศวัฒนธรรม ซึ่งหมายความว่าประวัติศาสตร์ในงานวิจัยไทบ้านเป็นสำนึกประวัติศาสตร์แบบมวลชน

การที่ชาวบ้านมีสำนึกประวัติศาสตร์แบบมวลชนเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่าในความคิดของชาวบ้านต่างเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ หรือ “ มวลชน ” สามารถดำเนินการเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ดังจะเห็นได้จากการที่ชาวบ้านได้ร่วมมือกันทำวิจัย เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงกระบวนการพัฒนาให้ชาวบ้านซึ่งเป็นมวลชนได้เข้าไปมีส่วนร่วม สิ่งเหล่านี้บอกกับเราว่าเมล็ดพันธุ์แห่งประชาธิปไตยเริ่มแตกหน่อในหมู่มวลชนระดับรากหญ้าแล้ว

“ สื่อ ” เครื่องมือในสร้างพื้นที่ทางสังคมของการเคลื่อนไหวแบบใหม่

ในสภาพสังคมปัจจุบันสื่อมีอิทธิพลต่อความคิด ความเชื่อ โลกทัศน์ของคนในสังคมเป็นอย่างมาก การที่สื่อมีอิทธิพลเช่นนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า วัฒนธรรมการเรียนรู้ของสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงจากมุขปาฐะ มาเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการอ่าน-เขียน หนังสือหรืองานเขียนจึงเป็นสื่อเข้ากับสภาพสังคมได้ดี แต่อย่างไรก็ดีการพูด-ฟัง อันเป็นวัฒนธรรมแบบเดิมก็ยังมีอิทธิพลอยู่เช่นกัน ดังจะเห็นได้จาก โทรทัศน์ วิทยุ และการท่องเว็บ

ด้วยวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านเช่นนี้ สื่อจึงกลายมาเป็นเครื่องมือที่กลุ่มการเคลื่อนไหวใช้สร้างพื้นที่ทางสังคมให้กับตนเอง จากยุคของขบถผีบุญที่ได้ฟังบทสวดพระมาลัย และกลอนลำ มาสู่การได้ดู ได้ฟังโทรทัศน์ เว็บไซด์ วีซีดี และได้อ่านจากหนังสือในยุคของการเคลื่อนไหวแบบใหม่

ในส่วนของงานวิจัยไทบ้านนั้น ก็ได้ใช้สื่อในการสร้างพื้นที่ทางสังคมเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จาก การทำหนังสือวิจัยเผยแพร่ต่อสาธารณะชนเรื่อง แม่มูนการกลับมาของคนหาปลาซึ่งจัดทำขึ้นโดยไทบ้านปากมูน , งานวิจัยป่าทามราษีไศล ทำขึ้นโดยชาวบ้านป่าทามราษีไศล นิเวศวิทยา และประวัติศาสตร์ป่าบุ่ง ป่าทามในลุ่มแม่น้ำสงครามตอนล่างของชาวบ้านลุ่มน้ำสงคราม และการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซด์ขององค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้การทำข่าวของบรรดาสื่อมวลชน ทั้งในระดับท้องถิ่น และในระดับประเทศก็ทำให้งานวิจัยไทบ้านเป็นที่รับรู้ในพื้นที่สาธารณะมากขึ้น

การที่สื่อเชื่อมโยงกันเช่นนี้ทำให้อาณาบริเวณของการเคลื่อนไหวไม่จำกัดขอบเขต เฉพาะพื้นที่ที่ถูกอำนาจรัฐกดขี่ข่มเหงเหมือนในอดีต แต่ขยายขอบเขตไปในพื้นที่สาธารณะของคนในสังคม เมื่อความจริงปรากฎในพื้นที่สาธารณะ การเคลื่อนไหวทางการเมืองของภาคประชาชนเพื่อสร้างอำนาจการต่อรองกับรัฐก็เกิดขึ้น อันนำมาสู่การทำให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความสนใจกับการพัฒนาที่ให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่น

ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่างานวิจัยไทบ้าน ทำให้สังคมมีพื้นที่ให้ชาวบ้านซึ่งเป็นผู้คนตัวเล็กๆได้มีสิทธิ มีเสียงแสดงความต้องการกำหนดเจตจำนงของตนเอง บนเส้นทางวิถีชีวิตของตน

________________________________________

   i. อ้างใน ปากมูนการกลับมาของคนหาปลา . งานวิจัยไทบ้านปากมูน

บรรณานุกรม

   ปากมูนการกลับมาของคนหาปลา โดยไทบ้านของชาวบ้านปากมูน

   งานวิจัยไทบ้านป่าทามราษีไศล โดยไทบ้านป่าทามราษีไศล

   นิเวศวิทยา และประวัติศาสตร์ ป่าบุ่งป่าทาม ลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง โดยไทบ้านลุ่มแม่น้ำสงครามตอนล่าง

    ชัยอนันท์ สมุทวานิช. แนวคิดทางการเมือง การปกครองไทยโบราณ . คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2517.

     ธิดา สาระยา. ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ที่สัมพันธ์กับสังคมมนุษย์ . สำนักพิมพ์เมืองโบราณ : กรุงเทพฯ.2539.

    ฉัตรทิพย์ นาถสุภา. วัฒนธรรมไทยกับขบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม . สำนักพิมพ์จุฬาลงกรรมหาวิทยาลัย : กรุงเทพฯ. 2538.

    และคำอ้างอิงที่ไม่อาจลืมได้คือ จิตสำนึกความเป็นลูกอีสานที่ได้รับจากพ่อ แม่ พี่ น้อง และคำสอนของครูอาจารย์ในรั้วมหาวิทยาลัย

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา