eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ศูนย์ประสานงานสมัชชาเหมืองฝายลุ่มน้ำภาคเหนือ
๗๘ หมู่ ๑๐ ถ.สุเทพ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ๕๐๒๐๐

วันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๑

เรื่อง      ขอให้ยกเลิกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ

เรียน     นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เมื่อย้อนหลังกลับไปเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ คือบ่วงกรรมจากวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ต้องอาศัยเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศอย่างมหาศาล เพื่อนำมาพยุงฐานะทางการเงินและเศรษฐกิจการคลังของประเทศไม่ให้ล่มจม ซึ่งมาพร้อมกับเงื่อนไขการปรับโครงสร้างทางกฎหมายและนโยบายมากมายในประเทศไทย เงื่อนไขหนึ่งของเงินที่ได้มาจากธนาคารโลกและธนาคารพัฒนาเอเชีย(ADB) คือ รัฐบาลไทยต้องสร้างกลไกของภาครัฐในการควบคุมการใช้น้ำของเกษตรกร ในที่นี้รวมถึงการออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการจัดสรรน้ำและเก็บค่าน้ำจากเกษตรกร จากแนวคิดการปรับโครงสร้างทางกฎหมายและความพยายามที่จะเก็บค่าน้ำจากเกษตรกร ด้วยการมองวิธีใช้น้ำของเกษตรกรไม่เกิดผลกำไรและสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ จึงจะแบ่งประเภทการใช้น้ำเป็น ๓ ประเภท กำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้น้ำ และติดตั้งเครื่องมือวัดปริมาณน้ำ(มิเตอร์)ในไร่นาของชาวบ้านเกษตรกรให้เกิดการเก็บเงินค่าน้ำตามที่เกษตรกรใช้ไปกับ พืชผลทางการเกษตรในแต่ละฤดูกาล

ตามเงื่อนไขดังกล่าวที่รัฐบาลหลายสมัยพยายามผลักดันให้เกิดพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ทำให้เกิดการคัดค้านการออกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำของกลุ่มเกษตรกรทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง การคัดค้านที่เข้มข้นมากที่สุดคือเมื่อครั้งที่มีการประชุมประจำปี สภาผู้ว่าการธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เมื่อพฤษภาคม ๒๕๔๒ ที่จังหวัดเชียงใหม่ และการผลักดันพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำของภาครัฐยังไม่ได้ยุติแต่อย่างใดจนมาถึงปัจจุบันนี้

ในภาคของเกษตรกรทั่วประเทศตระหนักดีว่าหากพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำเกิดขึ้นจริงจะเป็นการเพิ่มภาระทางการเงิน ให้กับเกษตรกรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะทำลายการใช้น้ำในรูปแบบจารีตประเพณีท้องถิ่น และที่สำคัญจะเปลี่ยนสถานะของน้ำจากเดิมเป็นสมบัติสาธารณะให้กลายเป็นของรัฐโดยสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้เกษตรกรทั่วประเทศขอประกาศคัดค้านไม่เอาพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำโดยเด็ดขาด

เหตุผลที่ไม่เอาพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ

๑. เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน กลุ่มกิจการใช้น้ำขนาดใหญ่ และบริษัทเอกชน
๒. เปลี่ยนน้ำเป็นสินค้าและขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ
๓. ให้อำนาจกับภาครัฐ  เพิ่มอำนาจกรมทรัพยากรน้ำ
๔. องค์กรผู้ใช้น้ำแบบจารีต  (เหมืองฝาย)  ไม่มีส่วนร่วมในกรรมการ  คณะกรรมการทรัพยากรน้ำ (กนช.)  กรรมการลุ่มน้ำ  และกรรมการต่างๆ ที่อยู่ในพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ  และการได้มาของกรรมการแต่ละชุดไม่มีที่มาอย่างชัดเจน
๕. การแบ่งน้ำเป็นประเภทไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบชาวบ้านในภูมิภาคต่างๆ
๖. เป็นกฎหมายที่ทำลายจารีตประเพณีแบบเหมืองฝาย
๗. เป็นการเพิ่มภาระเรื่องการขออนุญาตใช้น้ำ  และเพิ่มต้นทุนค่าใช้จ่ายเรื่องน้ำมากขึ้น 
๘. สร้างความขัดแย้งต่อชาวบ้านในลุ่มน้ำเดียวกันและพื้นที่ใกล้เคียงหรือลุ่มน้ำอื่นๆเพิ่มมากขึ้น
๙. ขาดการมีส่วนร่วมจากเกษตรกร และภาคประชาสังคม

เราขอเรียกร้อง ดังนี้

๑. ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ อย่างเด็ดขาด
๒.การดำเนินการโครงการพัฒนาใดๆ จะต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการการพัฒนา บนทิศทางความยั่งยืนของทรัพยากรและความมั่นคงในวิถีชีวิตของประชาชน
๓.ให้รัฐบาลสนับสนุนและส่งเสริมให้มีการจัดการน้ำในภาคประชาชน และให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการจัดการน้ำของชาวบ้านตามจารีตประเพณีของแต่ละภูมิภาค

เพี่อความสงบสุขของชุมชนและประเทศชาติเราขอยืนยันเรียกร้องให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ อย่างเด็ดขาด เพื่อรักษาไว้ซึ่งทรัพยากรน้ำ สิ่งแวดล้อม และชุมชน สืบต่อไป

               จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณายกเลิกพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำอย่างเด็ดขาด

 

ขอแสดงความนับถือ

(นายสุแก้ว ฟุงฟู )                       (นายอนันต์ วังเวียง )                   (นายสมบูรณ์ บุญชู )

ตัวแทนชาวบ้านสมัชชาเหมืองฝายลุ่มน้ำภาคเหนือ
หยุดทำลายเกษตรกร เอื้ออาทรต่อนายทุน หยุดสงครามการแย่งชิงน้ำ
 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา