eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 


รูปลูกหลานของนางไฮที่นั่งเผชิญหน้า กับรถที่ทางอบต. จะนำดินเข้าถมบริเวณที ่ขุดเขื่อน และ กลุ่มชาวบ้านสาม หมู่บ้านที่ออกมาเพื่อปิด เขื่อนโดยอ้างว่าจะไม่มีน้ำใช้

 

 
สถานการณ์การขุดเขื่อนห้วยละห้า
 

เจรจา ไตรภาคี หาทางออกชาวบ้าน ห้วยละห้า

วันนี้ เวลา 09.30 น. (27 เมษายน 47) ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลฯ นายสุรสีห์ โกศลนาวิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้นัดเจรจาหาข้อยุติเรื่องเขื่อนห้วยละห้า โดยมีฝ่ายราชการประกอบไปด้วยรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลฯ นายพจน์ สันตะพันธ์ ประธาน อบต.นาตาล นายมหณพ กาจณวิจิต หัวหน้ากิ่งอำเภอนาตาล เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัด ป่าไม้จังหวัด เจ้าหน้าที่ สปก. นายประคอง บุตรดาแพน กำนันตำบลนาตาล นายทรงศักดิ์ สุภโครต ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 พร้อมด้วยฝ่ายชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างเขื่อนหัวยละห้า คือนางเพชร ขันจันทา นายยงยุทธ นวะนิยม นายประทวน พันธ์คำ และมีสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังด้วยการเจรจาสิ้นสุดลงเมื่อเวลา 12.30 น. นายสุรสีห์ กรรมการสิทธิ์ฯ กล่าวภายหลังการเจรจาว่า วันนี้ดีใจที่ทุกฝ่ายได้มีการพูดคุยกัน แม้ว่าจะยังไม่สามารถหาข้อยุติได้ก็ตาม แต่ก็ทำให้สถานการณ์ที่ตรึงเครียดอยู่ในขณะนี้ ผ่อนคลายได้ระดับหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้มีการเผชิญหน้ากันระหว่างชาวบ้านสองฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือนางไฮ กับลูกหลานที่ทำการระบายน้ำ กับอีกฝ่ายคือชาวบ้านซึ่งวิตกว่านางไฮ จะปล่อยน้ำจนหมดเขื่อน แล้วเขาจะเดือดร้อนเพราะไม่มีน้ำใช้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทางอำเภอและจังหวัดล้วนแต่ไม่สบายใจกับเหตุการณ์นี้ แต่เมื่อได้มีการพูดคุย ทุกฝ่ายก็เห็นปัญหาร่วมกัน ด้านนางเพชร ขันจันทรา ลูกสาวนางไฮ กล่าวว่า วันนี้แม้ว่าจะมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า ที่ดินของครอบครัวจำนวน 62 ไร่ ที่ถูกน้ำท่วมมานานถึง 27 ปี จะมีทางออกในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมามีขั้นตอนการแก้ไขปัญหาหลายอย่าง ทั้งข้อเสนอของคณะกรรมการกลาง ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ที่เสนอว่าให้มีการจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้าน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลข้อตกลงนี้ก็ถูกยกเลิกไป และต่อมาในรัฐบาลชุดปัจจุบัน ก็มีคณะกรรมการมาตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว และยอมรับในความเสียที่เกิดขึ้น โดยเสนอว่า ให้ สปก.ไปดำเนินการจัดที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน แทนการจ่ายค่าชดเชย แต่ข้อเสนอนี้ก็ไม่ได้รับการปฎิบัติจากรัฐบาล พวกเราต้องตรากตรำมาแล้ว 27 ปี พี่น้องต้องพลัดพรากไปหากินคนละที่ เพราะอยู่บ้านไม่ได้ ไม่มีที่นาไม่รู้จะทำกินอะไร นางเพชร กล่าว ส่วนที่สันเขื่อนห้วยละห้าวันนี้ เวลา 14.00 น. นางเพชร ขันจันทรา ได้เดินทางกลับจากการประชุมเจรจาที่ศาลากลางจังหวัดอุบลฯ และได้นำเรื่องการประชุมในวันนี้มาเล่าสู่กันฟัง โดยชาวบ้านได้ใต้ต้นพุทธา ริมสันเขื่อน นางเพชร เล่าว่า การพูดคุยวันนี้ทางจังหวัดได้แจ้งว่า ได้สั่งการไปยังพื้นที่แล้วว่า ให้พื้นที่นำเครื่องมือเข้าไปถมปิดร่องน้ำที่นางไฮ ขุด โดยอ้างว่ากลัวน้ำในเขื่อนห้วยละห้าจะแห้ง ในขณะที่เรื่องปัญหาที่ดินของนางไฮ ซึ่งถูกน้ำท่วมนั้น จังหวัดไม่เกี่ยวข้องเป็นหน้าที่ของ สปก. ซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่พอใจ โดยนางไฮ กล่าวว่า เราไม่อยากขุดระบายน้ำหรอก แต่ที่ต้องระบายน้ำนั้น เพราะต้องการที่นาคืน แต่ถ้าหากทางราชการอยากเอาดินมาถมปิดร่องน้ำ ตนกับลูกก็ไม่ว่า แต่ต้องมีความชัดเจนว่า ทางราชการจะแก้ไขเรื่องที่ดินที่ถูกน้ำท่วมนี้อย่างไรก่อน “พอเรามาขุดคันเขื่อน ก็หาว่าเราทำลายทรัพย์สินราชการ แต่ตอนราชการสร้างเขื่อนท่วมนาเรากลับไม่พูดถึง” นางไฮ กล่าว ส่วนบรรยากาศทั่วไปรอบเขื่อนห้วยละห้าในวันนี้ มีเพียงชาวบ้าน 20 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนห้วยละห้า ที่ประกอบไปด้วยคนแก่อายุสูงสุด คือ 89 ปี และเด็กเล็กอายุต่ำสุด 5 เดือน นั่งเฝ้าแค้มป์ที่พัก ส่วนชาวบ้านอีกกลุ่มไม่มีใครมาที่สันเขื่อนเลย ในขณะที่ร่องน้ำซึ่งมีความลึกประมาณ 60 เซนติเมตร น้ำได้ลดลงจนได้ระดับหยุดไหลแล้ว แต่ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนห้วยละห้ายังมีอยู่ มากกว่า 95 % ของระดับน้ำเดิม

**************************************

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา