eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

“ ความอับจนของ TRADE-OFF ”

โดย เกษียร  เตชะพีระ  เนชั่นสุดสัปดาห์, ๘: ๔๒๐ (๑๙-๒๕ มิ.ย. ๒๕๔๓)

“ แนวความคิดแบบ TRADE-OFF หรือได้อย่าง-เสียอย่าง ควรต้องลบทิ้งจากพจนานุกรม การพัฒนา ”

ดร. ชวลิต วิทยานนท์ นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาจากกรมประมง คำอภิปรายในการเสวนาโต๊ะกลม “เขื่อนปากมูล: ความคุ้มค่า ผลกระทบ และทางออก ”   ห้องประชุมสารนิเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๘ มิ.ย. ๒๕๔๓

                ในบรรดาเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำร่วม ๓๐ แห่งที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้างขึ้นใน รอบ ๔๐ ปีที่ผ่านมา  เขื่อนปากมูลเป็นแห่งเดียวที่มีการศึกษาประเมินผลหลังโครงการแล้วเสร็จ   (post-project evaluation) อย่างจริงจังเต็มรูปแบบโดยทีมนักวิจัยหลายสถาบันของคณะกรรมการเขื่อนโลก

           เขื่อนอื่นทั้งหมดที่เหลือ  ไม่เคยมีการศึกษาตามหลังเลยว่าเอาเข้าจริงสร้างแล้วได้ประโยชน์คุ้มทุน ไหม ? ก่อผลกระทบทั้งที่คาดไว้และเหนือความคาดหมายอะไรบ้าง? สร้างเสร็จแล้วก็แล้วกันไปประเทศไทย ไม่เคย ได้เรียนรู้สิ่งใดจากการลงทุนมหึมามหาศาลนับแสนล้านบาทของตน

           สร้างเขื่อนหนึ่งแล้ว  ก็วิ่งแจ้นไปตั้งหน้าตั้งตาสร้างเขื่อนใหม่ต่อ  โดยไม่เคยหยุดเหลียวหลังไปมอง และ ถามดูเลยว่าตกลงที่สร้างไว้มันกลายเป็นของวิเศษหรืออนุสาวรีย์แห่งอวิชชากันแน่ม่ายงั้นเดี๋ยวจะไล่ไม่ ทันโลกาภิวัตน์

           คนกับธรรมชาติที่ตกเป็นเหยื่อของเขื่อนจึงมักถูกลืมทิ้งไว้เบื้องหลังโดยเงียบสงบ

           และในกรณีนี้ พอศึกษาเข้าก็พบว่าเขื่อนปากมูลไม่เพียงแต่ทำให้ชาวบ้านกว่าหกพันครัวเรือนเดือด ร้อน  ปลา ๑๖๙ พันธุ์กระทบกระเทือนโดยในจำนวนนี้ ๕๖ พันธุ์จับไม่ได้อีกเลย ป่าไม้ พืชผักเก็บกินได้ ๙๕ ชนิด และสมุนไพรนับร้อยอย่างริมฝั่งถูกน้ำท่วมจมหมดเท่านั้น  หากคิดในเชิงเซ็งลี้ธุรกิจล้วน ๆ เขื่อนปากมูล ยังเป็น กิจการที่ต้นทุนหายกำไรหด  ขาดทุนย่อยยับป่นปี้ชนิดทำยังไงก็ไม่มีทางเรียกคืนได้ถึง ๑๗๗ ล้านดอล ล่าร์สหรัฐฯ หรือ ๖,๗๒๖ ล้านบาท

           เท่ากับพวกเราคนไทย ๖๑ ล้านคนต้องควักกระเป๋าเสียเงินค่าโง่ที่สร้างเขื่อนปากมูลให้ กฟผ. เฉลี่ย คนละ ...อะแฮ่ม ... ๑๑๐ บาทกับอีกหนึ่งสลึง

          ทีมวิจัยถึงได้สรุปว่ามันไม่สมเหตุสมผลแต่ต้นในทางเศรษฐศาสตร์ที่จะสร้างเขื่อนปากมูลขึ้นมาไง เขื่อนปากมูลจึงโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อีกประการตรงที่มันทั้งขัดกับผลประโยชน์ของชาวบ้านท้องถิ่น ผู้ได้รับ ผลกระทบและขัดกับหลักเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์พอดี(จุ๊ ๆ ไม่รู้ว่าจะมีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำหรือ เขื่อน ชลประ ทานขนาดใหญ่และกลางอื่น ๆ อีกกี่แห่งจากทั้งหมดราว ๗๐๐  แห่งในเมืองไทยที่ไม่เข้าท่าเชิงเศรษฐ ศาสตร์ แบบเดียวกันนี้ ?  ถ้าอยากรู้แน่ก็ต้องศึกษาประเมินผลหลังโครงการให้ทั่วถึง  แล้วเราอาจพบว่า ..... เฮ้อออ)

           แต่ของพรรค์นี้มันไม่แน่เสมอไปนะครับ คือเราอาจจินตนาการกรณีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำสักแห่งที่ แม้จะ ถูกชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบคัดค้าน  แต่กลับคุ้มทุนสมเหตุสมผลทางเศรษฐศาสตร์ก็เป็นได้

           กล่าวคือ เมื่อเอา ต้นทุนค่าใช้จ่าย (costs) อาทิ ค่าก่อสร้าง  รายได้จากการประมงที่สูญเสียไป  ค่าชดเชย แก่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ฯลฯ  มาวัดเทียบกับ ผลประโยชน์ที่ได้จากเขื่อน (benefits) เช่น มูลค่ากระแสไฟฟ้า ที่ผลิตได้  รายได้จากการเลี้ยงปลาในกระชัง  รายได้จากการจับกุ้งปลาที่เอาพันธุ์ไป ปล่อยไว้เหนือเขื่อน  ค่าน้ำชล ประทาน ฯลฯ  หักกลบลบกันแล้ว ปรากฏว่ากำไรคุ้มค่าน่าสร้าง

           ในกรณียุ่งยากที่  หลักเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์  กับ  การอนุรักษ์ทุนทางสังคม (วิถีชีวิต-อาชีพ- ชุมชน-วัฒนธรรม) และทุนทางนิเวศน์ (ระบบนิเวศน์ลุ่มน้ำและความหลากหลายทางชีวภาพ) ของชาวบ้าน เกิดขัดแย้ง ตรงข้าม  ไม่สอดคล้องต้องกันเรียบง่ายชัดเจนดังกรณีเขื่อนปากมูลนี้   เศรษฐศาสตร์จะตอบว่า อย่างไร ?

          วิสัยนักเศรษฐศาสตร์ย่อมล้วงกระเป๋าเอกสารหยิบคาถามหานีโอ-คลาสสิคขึ้นมาเสกเป่าว่า

          โอมเพี้ยง !  TRADE-OFF หรือ ได้อย่าง-เสียอย่าง  กล่าวคือ

          ในโลกความเป็นจริง  เราจะเอาทุกอย่างไม่ได้  เพราะทรัพยากรมีจำกัด  ฉะนั้นเวลาใช้ทรัพยากร ไปประ กอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจ  เราจำต้องตัดสินใจเลือกว่าจะเอาอะไรก่อนที่สำคัญกว่า  เมื่อเลือกเอา คุณค่าอย่างหนึ่ง มาก  ก็ย่อมได้คุณค่าอีกอย่างน้อยลงหรือสูญเสียมันไปเป็นธรรมดา

          เช่นเมื่อเลือกเอาไฟฟ้า  ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  ชีวิตบริโภคทันสมัยสะดวกสบาย  ก็ต้องยอม เสียสละธรรมชาติ (ปลา) และคน (ชุมชน-วัฒนธรรม) ไปบ้าง  ไม่มีทางเลี่ยง  ม่ายงั้นก็ไม่ต้อง “พัฒนา ”  อยู่อย่าง ยากจนล้าหลังดักดานไม่มีไฟฟ้าใช้ต่อไป

          เลือกเอาเองก็แล้วกัน !

          โดนไม้ตายนี้บลั๊ฟเข้าให้  เราผู้ไม่รู้เศรษฐศาสตร์ก็พาลแข้งขาอ่อนมือไม้ปากคอสั่นรีบกระวี กระวาด งก ๆ เงิ่น ๆ เซ็นสัญญายกประเทศไทยให้นักเศรษฐศาสตร์ไปพัฒนาาาา มาหลายสิบปี

          จนเป็นอย่างที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้ไง

          ความจริงวาทกรรม TRADE-OFF ที่ใช้มาเชียร์แขกการพัฒนาแบบทุนนิยมไม่ยั่งยืนนี่ มันลูกเต๋าถ่วง ตะกั่วเราดี ๆ นี่เองครับ  ทอดออกมาทีไร  เจ้ามือฝ่ายรัฐกินรวบทุกทีชาวบ้านเสียตลอด ไม่เคยถอนทุนได้ เลย  จะแทงล่างหรือแทงบนก็ตาม

          ด้วยสาเหตุสองสามประการซึ่งเป็นฐานคติแฝงอยู่เบื้องลึกเบื้องหลังวิธีคิดแบบ TRADE-OFF นี้ ได้แก่

          ๑)  เวลาจะตีค่าของสิ่งใด  เศรษฐศาสตร์กระแสหลักถนัดในการแปรมันเป็นเงินก่อนแล้วค่อยนับ ฉะนั้น ของที่ส่งถึงตลาดออกวางจำหน่ายเป็นสินค้ามีราคาจึงมักถูกคำนวณอย่างถี่ถ้วน  ส่วนของที่ทำไว้กิน ไว้ใช้หรือ แลกเปลี่ยนกันเองในหมู่บ้านแบบเศรษฐกิจพอเพียงกลับมักตกสำรวจถูกมองข้าม  เพราะในกรอบ แว่นเศรษฐกิจ การค้าสิ่งใดไม่ถึงตลาดไม่เป็นสินค้าไม่มีราคาก็ย่อมมองไม่ค่อยเห็นนับไม่ค่อยได้ เสมือนวัตถุ ล่องหนไร้เงาเค้า รูปร่องรอยให้จับต้องบันทึก  ก็เท่ากับไม่ดำรงอยู่จริงในบัญชีสถิติของนักเศรษฐศาสตร์นั่น เอง  ดังที่คอลัมนิสต์  Chang Noi  วิจารณ์วิธีการทำบัญชีที่ง่อนแง่นไม่น่าเชื่อถือของเศรษฐศาสตร์การ พัฒนาที่ผ่านมาว่า :-

          “ชาวนาทุกคนที่เด้งออกจากหมู่บ้านมาติดแหงกอยู่ในโรงงานทำให้จีดีพีของชาติเติบโตขึ้น  แต่ส่วน  หนึ่งนี่ก็เป็นเพราะจีดีพีนับผลผลิตของโรงงานเก่ง (ซึ่งขายได้หมด)  แต่นับผลผลิตของหมู่บ้านไม่ค่อยเก่ง (ส่วน มากบริโภคกันในท้องถิ่นและไม่เคยมีโอกาสเฉียดใกล้กลายเป็นตัวเลขสถิติเลย)”

Chang Noi, “The idea of poverty and the poverty of ideas,” The Nation, 12 June 2000, A5

       เมื่อเอาคุณค่าแบบเศรษฐกิจพอเพียงของชาวบ้านมาทาบวัดกับยอดราคาสินค้าที่จะผลิตขึ้นขายได้โดย การ พัฒนา  มันก็ต้องแพ้แหง ๆ วันยังค่ำ

       ๒)  พูดแบบฟันธง  การพัฒนาที่เราทำกันมาก็คือการบังคับให้คนเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางสังคม มา เป็นแบบตลาด  และเปลี่ยนความสัมพันธ์กับธรรมชาติมาเป็นแบบเทคโนโลยีชี้นำ  โดยห้อยความฝันล่อ ใจไว้ใน อนาคตข้างหน้าว่าเปลี่ยนแล้วรวย !

        เวลาเลือกคิดตัดสินใจ  TRADE-OFF ระหว่างคุณค่าสองอย่างที่ขัดแย้งกันด้วยกรอบเศรษฐศาสตร์ การ พัฒนา  จึงมักมองคุณค่าเหล่านั้นจากมุมเดียว  ระบบค่านิยมเดียว  ที่ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ทางสังคม และความ สัมพันธ์กับธรรมชาติแบบเดียว   คือแบบตลาดและเทคโนโลยีชี้นำ

         ไม่ต้องบอกก็คงเดาได้ว่าจะตัดสินเลือกยังไง

         ประเด็นที่เป็นบทเรียนล้ำค่าเปิดหูเปิดตาเรื่องการพัฒนาสำหรับสังคมไทยอันเนื่องมาจากกรณี ศึกษา เขื่อนปากมูลก็คือข้อสรุปของนักวิจัยบางท่านที่เข้าไปคลุกคลีกับวิถีชีวิตแบบพอเพียงและการอาศัยใช้ ประโยชน์ จากธรรมชาติแบบยั่งยืนของชาวบ้านว่าของอย่างเดียวกันแต่กลับมีคุณค่าความหมายต่างกันต่อ ชีวิต คนต่างกลุ่ม  อย่างไร

         อาจารย์ เดชรัต สุขกำเนิด แห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เล่าว่าท่านเริ่มต้นเข้าไปศึกษาประเมิน ผล โครงการเขื่อนปากมูลด้วยอคติแบบคนเมืองและวิธีคิดแบบเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก คือตั้งหน้ารวบรวม ข้อมูล และวัดรายได้ที่เปลี่ยนไปของชาวประมงพื้นบ้านลูกเดียว

         แต่นานเข้า ๆ อาจารย์เดชรัตก็ตระหนักว่าสำหรับชาวบ้านปลามีความหมายใหญ่โตกว่า “เงิน” หรือราคา ขายในตลาดของมันอย่างเดียวมากนัก

         ปลายังหมายถึงหลักประกันความมั่นคงในชีวิตที่ให้ทั้งอาหาร  อาชีพและรายได้อย่างยั่งยืนแก่ชาว บ้านด้วย

         ที่สำคัญมันเป็นทรัพยากรที่พวกเขาเข้าถึงได้ตลอดเวลา  พวกเขามีความรู้ประมงพื้นบ้านแต่เดิม พร้อม ที่จะใช้จับมันมาอยู่แล้ว  และมีพื้นฐานวัฒนธรรมสอดคล้องรองรับในชุมชนอีกด้วย

         ส่วน ดร. ชวลิต วิทยานนท์  เมื่อศึกษาสำรวจตระหนักว่าเขื่อนปากมูลทำอะไรกับปลาในลำน้ำแล้ว ก็เกิด ดวงตาเห็นธรรมว่าวิธีคิด TRADE-OFF ของนักเศรษฐศาสตร์เหลวไหลเพียงใด  ท่านอธิบายว่า

         ปลาน้ำจืดเขตร้อนอย่างในลำน้ำโขง-ชี-มูลนั้นจุดเด่นของมันอยู่ที่ความหลากหลาย - ซึ่งมีอยู่ถึง ๑,๒๓๘ พันธุ์ ตลอดลำน้ำโขงที่ตัดผ่านทุกประเทศ  และ ๓๓๐ พันธุ์เฉพาะลุ่มน้ำโขงในไทย - ไม่ใช่ปริมาณ ปลาที่จับได

         เมื่อคุณสร้างกำแพงคอนกรีตขวางแม่น้ำมูล  แล้วพันธุ์ปลาลดความหลากหลายลง  คุณกำลังสูญ เสีย  อะไรบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ล้ำค่า  หาอย่างอื่นมาทดแทนมิได้

         อย่ามัวหลงคิดยึดติดแต่ว่าจับปลาได้เยอะเท่าไหร่  อย่าวัดตรงนั้น แล้วเอามาโฆษณาแก้ต่างว่า เห็นไหม จับได้ตั้งเยอะ คุ้มแล้วที่สร้างเขื่อนอะไรทำนองนี้

         เพราะความหลากหลายของพันธุ์ปลาต่างหากที่จะทำให้ประมงน้ำจืดที่นี่อยู่ได้ยั่งยืนตราบใดที่พันธุ์ ยังคงความหลากหลายไว้ไม่ถูกลดลัดตัดทอนลงโดยเขื่อนที่เราเอาไปตั้งขวาง

         ตราบนั้นปลาในน้ำมูลจะมีให้จับกินได้ตลอดปีตลอดชาติ  ไม่รู้จักหมดสิ้น

         การสร้างเขื่อนแล้วอ้าง TRADE-OFF มาแก้ต่าง  ว่าเมื่อได้ปริมาณปลาที่จับเพิ่ม  ก็ต้องยอมเสีย ความ  หลากหลายของพันธุ์ปลาไปบ้าง  จึงผิดมหันต์  เพราะการสูญเสียความหลากหลายของพันธุ์ปลา ก็คือเสียทุกอย่าง ในระยะยาว  มันไม่ใช่ได้อย่างเสียอย่างแต่ประการใด   มันมีแต่เสียกับเสียต่างหาก

         ฯลฯลฯลฯลฯลฯลฯลฯลฯลฯ

         ถ้าจะมีบทเรียนใดที่นักเศรษฐศาสตร์เรียนได้จากกรณีเขื่อนปากมูล  นั่นก็คือ

         คน-ชุมชน-วัฒนธรรม-ธรรมชาติ ไม่ใช่ ผลกระทบภายนอก หรือ externalities อีกต่อไป เพราะพวก เขาจะไม่ยอมให้อำนาจรัฐและอำนาจตลาดกีดกันให้เงียบสงบอยู่ภายนอกกระบวนการชั่งวัด ตัดสินใจใช้ ทรัพยากรที่กระทบ ทำลายชีวิตพวกเขาอย่างนี้อีกแล้ว

         พวกเขาจะมา  อาจมายึดเขื่อนอาจมาปีนรั้วบุกทำเนียบ อาจถูกตีถูกป้ายสี  กระทั่งอาจพ่ายแพ้  แต่พวก เขาจะไม่ยอมเกล้าก้มประนมกรนั่งนิ่งให้นักเศรษฐศาสตร์และผู้กุมอำนาจมองไม่เห็นพวกเขาอีกต่อไป

         ประทานโทษ  ในเมื่อบริบทการเมืองเปลี่ยนแล้วเพราะคนจนเปลี่ยน

         เมื่อไหร่เศรษฐศาสตร์จะเปลี่ยน ?

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา