eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 
ล้วงชีวิต สารพันคนสัญชาติม็อบ

กองบรรณาธิการ ไทยโพสต์

16 กรกฎาคม 2543 

ริมคลองเปรมประชากร ประชาชนร่วม 500 หน้าดำคร่ำเครียด ในมือถือนกกระดาษ อีกมือหนึ่งถือธงสีเขียว ธงสีเหลือง

โดยมีใจความสำคัญว่า “เอาเขื่อนออกไป  เอาธรรมชาติคืนมา”  หรือไม่ก็  “ไม่รบนาย ไม่หายจน” ตั้งแถวเตรียมขบวน พร้อม เดินอย่างมุ่งมั่น ด้วยจุดหมาย ในครั้งนี้คือ... ทำเนียบรัฐบาล

“นกเนี่ยนะ  เขาเรียกว่าพิราบคาบข่าว  ตั้งใจจะคาบข่าวไปบอก นายชวนว่าตอนนี้พวกเราทนไม่ไหวแล้ว ไอ้ที่รับปากกันเอา ไว้น่ะ ไม่เห็นมี สักที คนจนก็อย่างที่รู้นะ ทำอะไรไม่ได้มากหรอก เงินก็ไม่ค่อยมี ก็ต้องให้ กระดาษหนังสือพิมพ์เนี่ยแหละ เอามาพับเป็นนก  เพิ่งพับกันสดๆ ร้อนเมื่อเช้า นี้เลย” คำบอกเล่าของลุงบุญ พุ่มจันทร์ ชาวอำเภอบุณฑริก จังหวัด อุบลราช ธานี

ส่วนธงสีเขียวๆ เหลืองๆ  นั้น  ชาวบ้านกลุ่มสหกรณ์ลำคัน ฉูจำนวนหนึ่ง ผู้มาเรียกร้องกล่าวว่า  สีเขียวกับสีเหลืองนั้นคือ เครื่องหมาย ของคนจน  ที่ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว จนต้องใช้ความจนเป็นเครื่องมือสุดท้าย ในการต่อสู้กับรัฐบาล

“หมดแล้ว  ทุ่มจนหมดตัวแล้ว ทั้งขายที่ ขายนา วัวควายก็ไม่ เหลือ เพื่อเอาเงินมาต่อสู้ตรงนี้ มาอยู่กันตรงนี้แหละ  เพราะขืน ไม่ทำอะไรก็ เหมือนกับอยู่รอวันตายเปล่าๆ ใครจะด่าจะว่ายังไงก็ชาชินเสียแล้ว  บางคนก็มาใส่ร้ายป้ายสีว่าพวกป้ามีพรรคการ เมืองหนุนหลังอยู่  โอ๊ย!  หนู  ใครเขาจะมาช่วย ขนาดป้ายังต้องทะเลาะกับผัวเลย  ทำไมน่ะเหรอ  ก็เอาเงินที่ได้มาไปแบ่ง ครึ่งเพื่อเข้ากรุงเทพฯ น่ะสิ เห็นไหม  รัฐบาลชุดนี้ทำให้ ครอบครัวต้องแตก”  ป้าอนงค์ ขาวนวล ชาวบ้านแม่มูนมั่นยืน 5 ระบาย ความคับแค้นใจ

เข็มนาฬิกาชี้เวลาเที่ยงตรง กลุ่มสมัชชาคนจนเคลื่อนขบวนแถว เรียงสาม ฝ่าแดดเปรี้ยง รมด้วยฝุ่นควัน  แต่กำลังใจเต็มเปี่ยม ด้วยเสียงเพลง ปลุกใจ ออกเดินรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาแก้ไขปัญหา ปัญหาที่มักจะ ถูกมองว่าเป็นเรื่องซ้ำซาก   หาก แต่ในความซ้ำซากนั้นกลับไม่เคยได้รับการ เหลียวแลแม้สักครั้ง  ชีวิตความเป็นอยู่ของคนกลุ่มนี้จึงเป็นไปในลักษณะซ้ำไป ซ้ำมา  เดี๋ยวไปเดี๋ยวกลับ ดูๆ ไปก็คล้ายวัฏจัก

พี่หนิง  แม่ของน้องมะลิวัย 3 เดือน  ชาวอุบลฯ  อาศัยอยู่ใต้ ชายคาผ้าใบข้างคลองเปรมประชากรมาสองวันสองคืนแล้ว ระบาย ความอัด อั้นว่า  เหตุผลที่ต้องมาเพราะเดือดร้อนจริงๆ  รายได้ก็ไม่มี กรมชลฯ ไม่ยอมเปิดน้ำในเขื่อน  ปลาจึงไม่มี  มากรุง เทพฯ 4-5 ครั้งแล้วแต่ไม่มีอะไร เกิดขึ้น  รัฐบาลชุดแล้วชุดเล่ารับปากว่าจะดูแล  พอเรากลับไปก็ไม่ทำตามที่ สัญญา  เราเลยต้อง กลับมาอีก มาตั้งแต่ตั้งท้องได้ 4-5 เดือน จนป่านนี้คลอด ลูกออกมาได้ 4-5 เดือนแล้ว ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ชีวิตของชาวบ้านประมาณ 1,000 คน ยึดพื้นที่ริมคลองเปรม ประชากรเป็นแหล่งหลบร้อนหลบฝน ที่นอน  ที่ขับถ่าย ที่อาบน้ำ ที่ทำมาหา กิน หรือแม้แต่ที่ประกอบกิจกรรมยามว่าง ชีวิตหลายชีวิตในที่ตรงนี้จำต้องทำ อะไรสักอย่างเพื่อประทังชีวิตให้อยู่ไป ได้เรื่อยๆ  เพราะเงินทองของชาวบ้าน แต่ละหลังคาผ้าใบ เมื่อเทียบกับค่าครองชีพในเมืองหลวง เมืองที่สุดแสนจะ ศิวิไลซ์ นับว่าน้อยนิดเต็มที

แม่ไพรวัลย์ แม่ค้าขายส้มตำประจำกลุ่มสมัชชาคนจน จากอำเภอพิบูลมังสาหาร กล่าวว่า “เอาของมาจากอุบลฯ มาซื้อที่นี่หมด ก็ไม่ไหว มันแพง มาถึงก็ตั้งขายเลย เพราะเงินหมดแล้วไม่รู้จะทำอะไร อยู่อุบลฯ ก็ขาย แต่ขายถูกกว่าที่นี่ ปลาร้านะ ที่อุบลฯ โลละ 10 บาท แต่ที่นี่ขายโลละ 30 บาท ได้กำไรวันละ 70-80 บาทก็พออยู่ได้  ที่เหลือก็ต้องส่งกลับไปให้หลาน อีก 2 คนเรียน หนังสือ ลูกป้าก็มีตั้ง 6 คน แต่ก็มาทำงานที่ กทม.กันหมด ไม่รู้จะติดต่อกันยังไง”

เมื่อถามถึงนายกฯ ป้าไพรวัลย์ระบายออกมาอย่างเหนื่อยหน่าย ว่า เข็ดแล้วกับรัฐบาลชวน ไม่เอาไหนเลย คนจนไม่เคยอุ้ม ดีแต่อุ้มคนรวย อยากได้สมัคร สุนทรเวช มาเป็นนายกฯ มากกว่า เพราะเขาอยู่กรุงเทพฯ มานาน รู้จักคนเฒ่าคนแก่เป็นอย่างดี

สงสัยว่าป้าไพรวัลย์คงเพิ่งเข้ามา กทม.ได้ไม่เท่าไหร่  จึงไม่รู้ ว่าคนที่ป้าอยากได้เขาก็สมัครเป็นนายกเหมือนกัน  แต่เป็น นายกเล็ก ของกรุงเทพมหานคร ผู้สื่อข่าวจึงไขข้อข้องใจให้ป้าไพรวัลย์ได้กระจ่าง ป้าไพรวัลย์หยุดคิดนิดหนึ่ง แต่มือยังคงตำ ส้มตำอยู่ตลอดเวลา สักพักคำตอบที่ หลุดออกมาคือ “ทักษิณก็ดีนะ”

ถัดจากแผงแม่ไพรวัลย์ไปไม่กี่ร้อยเมตร สหกรณ์กลุ่มลำคัน ฉูเปิดร้านขายของชำแบบง่ายๆ ทั้งที่นอน ที่กิน และที่ขายรวมมา ไว้ที่เดียว กัน ภายใต้ผ้าใบผืนเดียว  สินค้ามีเท่าที่จำเป็น  เช่น  สบู่ ผงซักฟอก ยาเส้น  ยาสระผม  อะไรทำนองนี้ แถมด้านหน้า ยังจัดโต๊ะทานกาแฟ, โอวัลตินเล็กๆ เพิ่มความสวยงาม น่านั่งด้วยแจกันประดับดอกไม้อเนกประสงค์ ทำมาจากขวดน้ำ พลาสติก ตัดครึ่ง  ดอกกุหลาบสีแดงสลับชมพูที่ปักอยู่ก็ด้วยน้ำใจเล็กๆ น้อยๆ ของนักศึกษา กำลังใจชั้นดีสำหรับหมู่สมัชชา คนจน

รอยยิ้มจางๆ บนใบหน้าที่หม่นเล็กน้อยของพี่สายัณห์ ไกรนอก พ่อค้าประจำสหกรณ์ลำคันฉู คือเครื่องหมายของธจิตรไมตรี จากชาว บ้านที่มีต่อสื่อมวลชน

“พี่อยู่ที่หมู่บ้านแม่มูนมั่นยืน 5 จ.อุบลฯ มีม็อบเมื่อไหร่ก็มา ขายของทุกครั้ง ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องเดินไปไกลๆ  รถราก็เยอะ  ถนนหนทาง ก็ไม่คุ้น มันลำบาก ไปตามแต่ละคนสิ ไม่มีใครอยากจะมาหรอก มันเดือด ร้อนจริงๆ กรมชลฯ ไม่ยอมเปิดเขื่อน น้ำท่วมไร่นาหมด คนที่ทำประมง ปลาที่เคยมีอยู่มันก็ไม่มี  รายได้ก็หายไป ความจริงปัญหานี้มันมีมาเป็นสิบๆ ปีแล้ว พี่เองก็ เพิ่งจะมารู้ตัวเมื่อปีกว่าๆ มานี้เอง ทำยังไงได้ การศึกษาเรามัน น้อย ไม่เหมือนพวกนายทุนหรือนักการเมืองที่ใช้ความฉลาด เอาเปรียบคนจน”

ชีวิตหลายชีวิต จากหลายๆ ปัญหา ล้วนแล้วแต่มีที่มาจากที่ เดียวกัน การไม่เคยได้รับการดูดำดูดี สิ่งที่ได้มาทดแทนคือการกลืน น้ำลายตัว เองของรัฐบาลที่ให้สัญญาซ้ำแล้วซ้ำเล่า  แล้วทุกครั้งผลที่รับมาคือ “ความว่าง เปล่า” ชาวบ้านจาก 16 ปัญหา จึงได้ รวมตัวใช้ความจนยิ่งใหญ่ที่มีเหลืออยู่ แปรสภาพให้เป็นพลังต่อสู้กับอำนาจมืดของรัฐ

ปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนแล้วเขื่อนเล่าคือ การเวนคืนและ การจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้าน พี่สายัณห์เล่าให้ฟังว่า  บางที รัฐก็ให้บ้าง  ไม่ให้บ้าง  ให้ก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย  ไม่รู้ว่าเม็ดเงินตกหล่นหายกลางทางไป เท่าไหร่แล้วจึงเหลือมาให้พวกชาว บ้านเท่านี้ บางบ้านก็ไม่ได้เลย ธรรมชาติ หรือซูเปอร์มาร์เก็ตอเนกประสงค์ของชาวบ้านจึงค่อยๆ สูญหายไป พวกเรา ต่อสู้ อย่างหมดหนทางแล้ว จึงตัดสินใจเข้ามากรุงเทพฯ ถ้ารัฐบาลยังไม่มีทีท่า อะไรเราก็จะอยู่ของเราไปเรื่อยๆ เรียกว่าอยู่ให้ ตายกันไปข้างเลย

พี่สายัณห์พูดอยู่เสมอว่า  ”คนกรุงเทพฯ อาจจะไม่เข้าใจ เขา คงจะรังเกียจเรา ทำให้มีการต่อว่าว่าพวกชาวบ้านทำอะไร เกะกะ ขวางหู ขวางตา สร้างปัญหาให้ชาวกรุงเทพฯ อยู่เสมอ เราก็ไม่โกรธอะไร เพราะรู้ว่าเขาไม่เข้าใจพวกเราแท้จริง ไม่เจอ อย่าง เราก็ไม่มีวันรู้หรอก  วัน แรกที่เดินทางมาถึงหัวลำโพง ก็มีคนมาด่าหาว่าพวกเรามาก่อความวุ่นวาย  รถไฟก็ไม่ยอมให้ขึ้น เพราะพวกเราไม่มีเงินจ่าย  พอสุดท้ายต้องเจียดเงินมา จากองค์กรเหมาตู้มาราคาถูกๆ  คราวนี้ทั้งลูกเด็กเล็กแดงผู้เฒ่าผู้แก่ก็ เบียดเสียด อัดจนเต็มตู้ตลอดทางกว่า 6 ชั่วโมง  และพอมาถึงน้ำก็ไม่ได้อาบ  ค่าอาบน้ำ มันแพงตั้ง 10 บาท รอจนเป็นวันกว่าจะ เดินด้วยเท้าจากหัวลำโพงมาจนถึง ทำเนียบฯ นั่นแหละถึงได้อาบน้ำ”

ด้วยว่าชีวิตเกือบพันชีวิตจำต้องมาอาศัยในบริเวณเดียวกัน   ความชุลมุนวุ่นวายต้องถูกกำราบได้ด้วยความมีระเบียบวินัย หน่วย งานของ รัฐทำหน้าที่เพียงแค่ด้านนอกเท่านั้น หากแต่ภายในชาวบ้านต้องสับเปลี่ยน ดูแลกันเอง   เจ้าหน้าที่รักษาความปลอด ภัยหรือการ์ดอาสาสมัครของสมัชชา คนจนจึงถือกำเนิดขึ้นมาโดยอัตโนมัติ ลุงจักร เปี่ยนขุนทด ชายวัย 50 ผิวเนื้อดำแดง ก็เป็นหนึ่งในนั้น

“ลุงเข้ามาทำหน้าที่การ์ดด้วยความสมัครใจ  โดยจะต้องเข้าเวร ช่วงเช้าตั้งแต่โมงเช้าถึงสี่โมงเช้า จากนั้นก็จะเข้ามาพักในเพิง ที่พัก รอจนถึง หกโมงเย็นก็ออกไปรับเวรต่อถึงสี่ทุ่มก็เข้านอน ลุงจะต้องเดินตรวจความเรียบ ร้อยแถวนี้  ถ้ามีใครไม่สบายก็ จะคอยช่วยหามไปหาหมอ  ค่าจ้งค่าจ้างไม่มี หรอก  ช่วยเหลือกันไป” ลุงจักรพูดด้วยสีหน้ามุ่งมั่น หากทว่านัยน์ตาอ่อนล้า เต็มที

บ่ายคล้อย  ลมเอื่อยๆ พัดมาจากคลองเปรมประชากรพอให้ผิว หนังปะทะความเย็นได้บ้าง ชาวบ้านบางคน  บ้างฟุบหลับ  บ้าง ก็เอนหลัง นอน  นั่งคุยสนทนาวิสาสะบ้างอย่างออกรสชาติ บางกลุ่มก็จับวงนั่งทาน อาหารพื้นบ้าน   ”ข้าวเหนียวกับแจ่วบอง” กันอย่างเอร็ดอร่อย  แต่ก็มีชาวบ้าน นักคิดอีกบางคนที่ใช้เวลาว่างขณะที่เพื่อนๆ ออกเดินรณรงค์กัน สร้างสรรค์ งานศิลปะท้อง ถิ่นที่หลายๆ คนมักมองข้ามไป

มืออันหยาบกร้านของลุงบรรจง  สายสมบัติ   กำลังจับเส้นตอก สานตวัดไปมาอย่างเชี่ยวชาญ แต่สองตานั้นกลับจับจ้องอยู่กับ ผู้สนทนาอย่างเรา นานๆ ครั้งถึงจะก้มลงมองแว่บหนึ่ง

“สานกระติบอยู่ มาม็อบทุกครั้งก็สาน เอาไว้ใส่ข้าวเหนียวกิน เองบ้าง ถ้าทำไว้มากๆ ก็เอาไปขายเพื่อนๆ ใบละ 50 บาท พอมี เงินไว้ใช้ จ่าย เพราะมาอยู่ที่นี่ก็ไม่มีรายได้อะไร” ลุงบรรจงเล่าให้ฟังด้วยใบหน้าเจือ รอยยิ้มเล็กน้อย

ลุงบรรจงเล่าให้ฟังว่า จะสานกระติบสักอัน ใช้เวลาประมาณ 1 วัน พร้อมชี้ไปที่ถุงปุ๋ยด้านหลังภายในบรรจุเส้นตอกเต็มถุง  พร้อมหยิบออก มาสานต่อได้ทันที  ลุงบรรจงบอกว่า จากเส้นตอกที่เตรียมมาน่าจะ สานกระติบได้ประมาณ 10 ใบ  ถ้าขายได้ ทั้ง 10 ใบ ลุงบรรจงก็จะได้เงิน มา 500 บาท   เท่านี้ก็พอใช้แล้ว พูดเสร็จลุงบรรจงก็เอามือชุบน้ำมาลูบเส้น ตอกเพื่อสาน กระติบต่อไปอย่างขมีขมัน  ด้วยมุ่งหวังว่าให้เสร็จภายในวันนี้

นอกจากงานสานกระติบจะช่วยเพิ่มรายได้แล้ว ความมุ่งหวังที่ จะได้กลับไปทำงานในท้องถิ่นตนเอง ได้ถูกถักทอผ่านแต่ละตา ของร่างแห  พี่หนิงแม่ลูกอ่อน เป็นคนหนึ่งในจำนวนหลายๆ คนที่เลือกใช้เวลาว่างหลัง จากการกล่อมลูก โดยการถักแหไป เรื่อยๆ ถักจนกว่าปัญหาจะหมด จะได้กลับบ้าน กลับไปทำงานประมงอาชีพที่รักเหมือนเดิม

ณ วันนี้ ลุงบุญ ยังคงต้องพับนกพิราบกระดาษต่อไป เพื่อนร่วมชะตากรรมคนอื่นๆ ยังต้องมุ่งหน้าเดินรณรงค์  แม่ไพรวัลย์ก็ ยังคง ขายส้มตำปลาร้าส่งหลานเรียน พี่สายัณห์ยังขายของชำเรื่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย  ลุงจักรการ์ดจอมขยันยังคงเดินตรวจ ตราทั้งกะเช้ากะบ่าย ลุงบรรจงฆ่า เวลาด้วยการนั่งสานกระติบอย่างเพลิดเพลิน  พี่หนิงยังคงเลี้ยงน้องมะลิสลับกับ การถักแห ไปเรื่อยๆ  ชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนยังต้องตุนกำลังด้วยข้าวเหนียว กับแจ่วบอง ภายใต้ผืนผ้าใบหลาก สีต่อไป ไม่มีใครรู้ ว่าเมื่อไหร่จะได้กลับ บ้าน จะได้กลับไปทำนา ทำประมง อย่างที่หวัง

ก่อนจะกลับ ป้าคนหนึ่งถามไปถามมาชื่อป้าสำเภา เดินดุ่มๆ ตรงเข้ามาว่า

“หนูๆ แถวนี้มีตู้ส่งจดหมายหรือเปล่า ป้าจะส่งไปหาลูก บอกเขาว่าแม่มากรุงเทพฯ แล้ว”

ป่านนี้ไม่รู้ว่าลูกของป้าสำเภาจะได้รับจดหมายหรือยัง   แต่ที่แน่ๆ พิราบคาบข่าวจากชาวบ้านส่งถึงนายกฯ  เรียบร้อยแล้ว  ไม่รู้ว่าป้า สำเภาจะได้รับจดหมายของใครตอบกลับมาก่อนกัน  ระหว่างลูกกับนายกฯ ชวน.

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา