eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

สัญญาณ เตือนชนชั้นกลาง

โดย เกษียร เตชะพีระ
มตชนรายวัน 12 สค.43 น. 6

                ปาฐกถาที่คุณอานันท์ ปันยารชุน กล่าวในงานสัมมนา “บทบาทของสหประชาชาติในศตวรรษที่ ๒๑ ” ณ กระทรวงการต่าง ประเทศ เมื่อ ๗ สิงหาคม ศกนี้นั้น  อ่านดูแล้ว แทนที่จะตั้งชื่อตามพาดหัวว่า :-

“อานันท์ ปันยารชุน ส่งสัญญาณเตือน ‘บัวแก้ว ' ”    (มติชนรายวัน, ๘ ส.ค. ๒๕๔๓, น.๒)

                ผมคิดว่าน่าจะเป็น :- 

“อานันท์ ปันยารชุน ส่งสัญญาณเตือนคนชั้นกลาง ”  มากกว่า  !

                คนชั้นกลางที่เคยเป็นลูกคนโปรดและถูกตามใจจนเสียคนของรัฐไทย

                ซึ่งเมื่อเติบใหญ่   ก็ลุกขึ้นมากบฎต่อรัฐเยี่ยงทรพี

                และมาบัดนี้กำลังถูกรัฐทิ้งขว้าง  ถีบส่งเข้าตลาดเสรีไร้พรมแดน ......

                สองลักษณะแรก  เสน่ห์ จามริก ชี้ไว้แต่คล้อยหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬไม่กี่วันในปาฐกถา ณ หอประ ชุมเล็กธรรมศาสตร์ เรื่อง “๖๐ ปีประชาธิปไตยไทย ” (รัฐธรรมนูญและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและ ๖๐ ปีประชาธิปไตยไทย, ๒๕๓๕)

                มันเริ่มจากชนชั้นนำไทยแต่งตั้ง “คนชั้นกลาง ” เป็นพระเอกแห่งความทันสมัย ประชาธิปไตย และการ พัฒนาของชาติ ในทาง อุดมการณ์โดย นายกิมเหลียง วัฒนปฤดา (หลวงวิจิตรวาทการ) หลังเปลี่ยนแปลงการปก ครอง ๒๔๗๕  และต่อมาก็ในทางนโยบาย โดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้ก่อตั้งรัฐราชการสัมบูรณาญาสิทธิ์และ แผนพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ

                เกษตรกรรมแบบพอเพียงถูกผลักดันให้ปลูกพืชเศรษฐกิจการค้าเชิงเดี่ยวในขอบเขตทั่วประเทศ  สนอง นโยบายอุตสาหกรรม ที่ให้คนไทยทั้งชาติเปิดประเทศ  เสียสละสังเวยทรัพยากร  สิ่งแวดล้อม  พืชพันธุ์ธัญญาหาร และแรงงานราคา ถูก  สาธารณูปโภคอัตรา ย่อมเยา  สิทธิยกเว้นลดหย่อนภาษี  อภิสิทธิ์ที่จะได้รับการเลือกปฏิบัติ ทางกฎหมาย ฯลฯ  ทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสนับสนุนค้ำจุนลดต้นทุน แก่กลุ่มทุนในประเทศและต่างชาติอันเป็นคน ส่วนน้อย  ท่ามกลางการทอดทิ้งเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการรายย่อยส่วนข้างมาก ให้ตีบตันล้มละลาย กลายเป็น “คนจน ” ขายแรงงานไร้ฝีมือหรือขายบริการในราคาถูก 

                ด้วยความหวังว่านโยบายอันลำเอียง ไม่ทั่วถึง ไม่เสมอภาค และไม่ยั่งยืนนี้จะทำให้ประเทศชาติพัฒนา

               แล้วความรวยจะค่อย ๆ หยดหยาดจากคนที่รวยก่อนเพราะได้เปรียบจากนโยบายดังกล่าวมาสู่คนที่จนก่อนเพราะ เสียเปรียบ เพื่อจะได้รวยทีหลัง (นิธิ เอียวศรีวงศ์, “เบื้องลึกของการประท้วง ,” มติชนรายวัน, ๔ ส.ค. ๒๕๔๓, น.๖)

                คนชั้นกลางได้อาศัยโหนเกาะนโยบายอุตสาหกรรมที่ส่งเสริมให้ “รัฐใหญ่-ทุนขยาย-เมืองโต -ชนบท ลีบ ” ลอยตัวหลุดออก มาจากเศรษฐกิจพอเพียงและความยากจนในชนบท  ไม่ว่าเป็นชนบทที่ซัวเถา อีสานหรือ ที่อื่น ๆ  ค่อยสร้างเนื้อสร้างตัวผ่านช่วงอุต สาหกรรมทดแทนการนำเข้า สู่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก  กระทั่งมา ถึงโลกาภิวัตน์และเศรษฐกิจฟองสบู่เมื่อไม่นานมานี้

                คนชั้นกลางจึงมีปัญหามากในการเข้าใจคนจนว่าทำไมจึงจน และยากจะเห็นคุณค่าเศรษฐกิจพอเพียงที่ คนจนพยายามเรียกร้อง จะฟื้นฟูบูรณะและรักษาไว้ให้ยั่งยืน  เพราะวิถียังชีพแต่เดิมของคนจนหรือนัยหนึ่ง เศรษฐกิจพอเพียงเป็นอดีตที่คนชั้นกลางทิ้งไว้เบื้อง หลัง  เป็นสิ่งที่เขาไม่รู้จักหรือเคยรู้จักแต่ปฏิเสธและดูหมิ่น  พูดอีกอย่างก็คือ ความเป็นคนชั้นกลางของเขาซื้อหามาด้วยการตัดขาด ปฏิเสธภูมิหลังทางสังคมของตนอันได้แก่ เศรษฐกิจพอเพียง  ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจพอเพียงของคนจนกับเศรษฐกิจ การค้าของคนชั้น กลางจึงเป็นการขาดตอนแตกหักจากกัน มากกว่าการสืบทอดต่อเนื่องงอกงามพัฒนา  (สิริวิชญ์, “นิธิ เอียวศรีวงศ์ วิเคราะห์สถาน- การณ์คนจน ทางเลือก-ทางรอดสหัสวรรษใหม่,” เนชั่นสุดสัปดาห์, ๘: ๓๙๔ (๒๓-๒๙ ธ.ค. ๒๕๔๒), ๒๐-๑)

                พร้อมกับคริสต์ทศวรรษแห่งโลกาภิวัตน์ที่ ๑๙๙๐  เศรษฐกิจของคนชั้นกลางไทยเข้าพัวพันแนบแน่น กับกระบวนการและ กลไกทุนนิยมฟองสบู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจที่เกาะเกี่ยวไปกับกระแสการขนส่งไหลเวียน ข้ามพรมแดนในขอบเขตลูกโลกของข่าว สารข้อมูล (ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม-สื่อสิ่งพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์-บันเทิง),  คน (ท่องเที่ยว-โรงแรม บริการทางเพศ), เงิน (การเงิน การธนาคาร-หลักทรัพย์-อสังหาริมทรัพย์) และ สิ่งของ (ค้าปลีก-ห้างสรรพสินค้า-นำเข้า-ส่งออก)     (สุวินัย ภรณวลัย, ทุนนิยมฟองสบู่, ๒๕๓๗, น. ๑๔๗)

                ใต้ฟองสบู่บูมราวช่วงปี ๒๕๓๗-๓๘  ธีรยุทธ บุญมีถึงแก่ออกมาแสดงความยินดีที่คนไทย-ซึ่งก่อน อื่นคงหมายถึงคนชั้น กลาง-จะรวยกันใหญ่  ขณะที่รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ ส่งเสียงเตือนว่าในกระแสโลกาภิวัตน์ เมืองไทยกำลังตกอยู่ในสภาพ  “ประเทศชาติ มั่งคั่ง  ประชาชนยากจน ”

                ฉากต่อจากนั้นเป็นอย่างไร เราท่านย่อมทราบดีอยู่เพราะประสบมาด้วยตัวเอง  แต่คงหาใครสรุปกระ ชับคมคายดังในปาฐกถา ของคุณอานันท์ที่อ้างถึงข้างต้นได้ยาก  เขากล่าวตอนหนึ่งว่า  :-

                “ ปัญหาโลกขณะนี้มีมากมาย แต่ประเทศที่เขาพัฒนามาดีแล้ว ๒๐-๓๐ ปี อาจใช้รูปแบบการพัฒนาที่ไม่ ยั่งยืนก็ได้ แต่อัตรา การเติบโตดี  ชนชั้นกลางมีมากขึ้น  แต่วันดีคืนดี กระบวนการโลกาภิวัตน์เข้ามาทำลายทุกอย่าง ที่สร้างเอาไว้ .....”   (มติชนรายวัน, ๘ ส.ค. ๒๕๔๓, น.๒)

                โดยไม่เอ่ยชื่อ ประเทศหนึ่งประเทศนั้นย่อมหมายถึงประเทศไทยเราเอง

                ที่จบไปคือคู่มือทำความรู้จักคนชั้นกลางไทยทางเศรษฐกิจ  กล่าวในแง่การเมือง .....

                คนชั้นกลางไทยโดยเฉพาะนักศึกษาปัญญาชนผู้เป็นลูกหลานผ่านการต่อสู้แลกเลือดกับเผด็จการใหญ่ ๆ มา ๔ ครั้ง คือ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖,  ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙,  การต่อสู้ด้วยอาวุธในเขตป่าเขา และ พฤษภา ทมิฬ ๒๕๓๕  การเสียสละทั้งหมดแลกได้ มาซึ่งสัญญาประชาคมไม่เป็นลายลักษณ์อักษรที่บรรจุเข้าเป็นมาตรา หนึ่งของรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทยว่า

                “ใครฆ่าคนชั้นกลางกลางเมืองไม่ได้   ต้องออกจากอำนาจไป ”

                หลังจากนั้น คนชั้นกลางก็กลายเป็นภูมิประเทศใหม่ของสังคมการเมืองไทย  เป็นพรมแดนใหม่ของ ความเป็นไปได้และเป็น ไปไม่ได้ทางการเมือง  จนอาจกล่าวได้ว่า

                “พลังฝ่ายใดช่วงชิงคนชั้นกลางมาเป็นพวกไม่ได้ พลังนั้นก็ไม่ชนะ ”

                วิถีชีวิตที่คลุกเคล้าอยู่กับฐานเศรษฐกิจฟองสบู่และสังคมบริโภค นำไปสู่จิตวิญญาณฟองสบู่และวัฒน- ธรรมบริโภคนิยม ส่งผลให้ท่าทีทางการเมืองของคนชั้นกลางมีลักษณะอ่อนไหวฉาบฉวย คล้อยตามผลประโยชน์ และโอกาสเฉพาะหน้า  มากกว่ายึดมั่น หลักการใดตายตัว  นิยมเสรีภาพเอกชน  มากกว่านิยมประชาธิปไตยของ ประชาชน  หรือพูดอีกนัยหนึ่ง “ประชาธิปไตยที่ดี ” ของคน ชั้นกลางหมายความแค่

                “ระบบการเมืองพหุนิยมซึ่งมีรัฐบาลเสรีนิยมที่มั่นคง  รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรี  ยุติธรรม และสม่ำเสมอ  ระบบ พรรคการเมืองที่สะอาด  ระบบราชการที่มีประสิทธิภาพ  โดยศูนย์อำนาจเหล่านี้เปิดให้คน ชั้นกลางเข้าถึงได้

                “ส่วนขบวนการแรงงานและชาวนานั้น  ไม่มีซะก็ไม่เห็นเสียหายอะไรตรงไหน ”

                ดังนั้นท่าทีการเมืองของคนชั้นกลางจึงออกจะขึ้น ๆ ลง ๆ ลักปิดลักเปิดชอบกล อาทิ ออกมาเชียร์รัฐ- ประหารรสช. ปี ๒๕๓๔ แต่ออกมาต้านรัฐบาลสุจินดาปี ๒๕๓๕, เชียร์พลตรีจำลองให้นำม็อบชนแหลกรัฐบาล สุจินดาเมื่อเดือน พ.ค. แต่หันไปเลือก พรรคประชาธิปัตย์ที่อ้างว่ายึดมั่นระบบรัฐสภา ต่อต้านอนาธิปไตยในเดือน ก.ย. ปีเดียวกัน, เห็นอกเห็นใจสนับสนุนคุณฉลาด วรฉัตรที่ อดข้าวเรียกร้องให้นายกฯ สุจินดาลาออกปี ๒๕๓๕ แต่ออกมาประณามฉลาดสาดเสียเทเสียที่อดข้าวเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี ๒๕๓๗ แต่แล้วก็หันไปสนับ สนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองปี ๒๕๔๐ ที่เป็นผลสืบเนื่องมา, เรียกร้องให้ถวายพระราชอำนาจ คืน และเอารัฐบาลพระราชทานในช่วงวิกฤตการเงินปี ๒๕๔๐  และมาบัดนี้ก็เริ่มมีเสียง เรียกร้องจากนายธนาคาร ใหญ่ให้ “เว้นวรรค ”  ทางการเมืองอีกแล้ว เป็นต้น

               สรุปว่าคนชั้นกลางเป็นพันธมิตรที่ไว้วางใจไม่ได้ของทั้งเผด็จการและประชาธิปไตย ,ของทั้งคนจนและ ชนชั้นนำ  พอ ๆ กัน

                พวกเขามีฐานะเศรษฐกิจ  ความรู้จากการศึกษาในแบบ  ทักษะภาษาในการสื่อสาร  ที่อยู่ที่ทำงานในเมือง และเครื่องมือสื่อ สารสมัยใหม่ ที่จะส่งเสียงโวยวายตีโพยตีพายดังลั่นผ่านสื่อมวลชนไปกดดันรัฐบาลให้ดำเนิน นโยบายเอื้ออวยให้พวกเขาขูดรีดทรัพยา กรจากชนบทมาใช้ต่อไปได้ 

               แต่ในทางกลับกัน  พวกเขาก็ต่างคนต่างไปตัวใครตัวมัน ขาดพลังจัดตั้งและแนวทางความคิดที่เป็น เอกภาพพอจะไปควบคุม การทุจริตประพฤติมิชอบของบรรดานักเลือกตั้งผู้อาศัยเงื่อนไขความยากจนในชนบท ซื้อเสียงขึ้นสู่อำนาจรัฐได้

               มันขัดกันไหมล่ะครับ ?

               ในความหมายนี้ ปฏิรูปการเมืองที่มุ่งแต่คุมนักเลือกตั้ง แต่ไม่เปลี่ยนแนวทางการพัฒนา จึงมีแต่ล้มเหลว กับล้มเหลวเท่านั้น

               บัดนี้หลังวิกฤตเศรษฐกิจและการปรับโครงสร้างทุนนิยมไทยครั้งใหญ่ตามแนวทางโลกาภิวัตน์/เสรีนิยมใหม่ของ ไอเอ็มเอฟ- วอชิงตัน  คนชั้นกลางมาถึงทางตัน  ไม่อาจดำเนินชีวิตประกอบธุรกิจใต้การโอบอุ้มอุปถัมภ์ อันอบอุ่นเอื้อเฟื้อของรัฐไทยเสียแล้ว

              คนชั้นกลางถูกตีนที่มองเห็นของไอเอ็มเอฟและรัฐไทยถีบส่งพ้นการอุปถัมภ์ของรัฐเข้าสู่ตลาดเสรีที่เปิด กว้างไร้พรมแดน  ต้อง ลงสนามแข่งขันแย่งชิงทรัพยากรและตลาดกับบรรษัทข้ามชาติที่ทุนหนากว่า สายป่านยาว กว่า  ระดมทุนได้กว้างกว่า  กำลังซื้อสูงกว่า  ยี่ห้อดังกว่า  เทคโนโลยีทันสมัยกว่า  ทักษะการบริหารจัดการเหนือ กว่า  ข่าวสารข้อมูลเป็นระบบกว่า  แถมยังได้รับการพะเน้าพะนอ เอาอกเอาใจจากรัฐบาลเป็นพิเศษกว่าด้วย  ภาย ใต้กติกาแข่งขันเหี้ยมเกรียมเลือดเย็นแบบป่าดงดิบที่อนุญาตให้เฉพาะคนที่ฟิตที่สุด เท่านั้นถึงจะอยู่รอดได้

                คนชั้นกลางไทยกำลังสูญเสียรัฐผู้ให้กำเนิดและอุปถัมภ์ที่ดีที่สุดของตนแก่บรรษัทข้ามชาติ  ต้องเผชิญ ความผันผวนไม่มั่นคง ทางเศรษฐกิจชีวิตการงานอย่างไม่เคยเจอมาก่อน  ไม่รู้ว่าหุ้นหลักทรัพย์ที่ดินที่ซื้อไว้เก็ง กำไรจะร่วงรูดหมดค่าวันไหน  ทรัพยากรทักษะ ความรู้ติดตัวจะหมดราคาไม่เป็นที่ต้องการของตลาดยามใด   และตัวเองจะถูกโยนลงถังขยะคนตกงานไปต่อแถวคนจนข้างถนนเมื่อไหร่ กัน

                คนจนไม่ได้ผูกขาดความทุกข์ยากไว้ผู้เดียวอีกต่อไป

                ทางเลือกของคนชั้นกลางในสถานการณ์เช่นนี้มีไม่มาก

                ทางหนึ่งคือเดินตามแนวทางเสรีนิยมใหม่ของรัฐบาลชวนกับกลไกรัฐย้อนยุคปฏิกิริยา  โดดโลดเต้นกระ พริบไฟหน้ารถต่อ ต้านลาว-มือที่สาม-และคอมมิวนิสต์ค้อนเคียวไปตามสัญชาติญาณใฝ่ต่ำที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อ ของรัฐปลุกระดมโหมกระพือขึ้นมา  ให้ เกลียดกลัวดูถูกดูหมิ่นไม่ไว้วางใจคนจนกับเอ็นจีโอที่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ร่วมชาติเดียวกัน  เชียร์ให้เจ้าหน้าที่กระทืบทุบตีคนจน  ทั้งที่ ตัวเองกำลังลอยคออยู่กลางตลาดรอวันจมดิ่งลงสู่ ห้วงเหวความยากจนวันนี้พรุ่งนี้อยู่รอมร่อ

                หรือไม่ก็หันมาสร้างเสริมคุณธรรมใฝ่สูงของตนด้วยการ “สงสาร...เห็นใจ...เอื้ออาทร ” คนจนดังคุณ อานันท์ส่งสัญญาณ เตือน  จับมือจับเข่าปรึกษาหารือกับคนจน ร่วมกันหาแนวทางวิธีการใหม่ในการจัดสรรแบ่ง ปันทรัพยากรและแก้ไขความขัดแย้งในหมู่ เพื่อนร่วมชาติต่างฐานะชนชั้น  เพื่อจะได้พัฒนาไปพร้อม ๆ กันอย่าง เสมอภาค ทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา