eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 
งานวิจัยจากสามัญชน

สมชาย ปรีชาศิลปกุล กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2545

งานวิจัยที่ก่อตัวขึ้นจากการทำงานของชาวบ้าน เป็นฐานความรู้ชุดหนึ่ง ที่ต่างไปจากการวิจัยแบบที่เคยทำๆ กันมา

เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEARIN THAILAND) พิมพ์งานวิจัยไทบ้านเรื่อง แม่มูน: การกลับมาของคนหาปลา ซึ่งดำเนินการศึกษาโดยชาวบ้านปากมูน ออกมาสู่สาธารณะในเดือนตุลาคม 2545 การพิมพ์งานวิจัยชิ้นนี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับสังคมไทย

ปรากฏการณ์นี้เป็นผลอันสืบเนื่องจากการที่กระบวนการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายหรือโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่อาจก่อผลกระทบอย่างรุนแรงในรอบทศวรรษที่ผ่านมา รัฐมักโยนไปให้เป็นภาระกับสิ่งที่ถูกเรียกว่า งานวิจัย และสังคมส่วนใหญ่ ก็มีความเชื่อว่า งานวิจัยนั้นเป็นกลางในการรวบรวมข้อมูล และทำการวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นได้อย่างตรงไปตรงมา ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจที่ดีที่สุด

เพียงระยะเวลาไม่นาน ดูเหมือนว่า ได้มีข้อกังขานานัปการเกิดขึ้นกับทั้งตัวงานวิจัยและนักวิจัย งานวิจัยหลายชิ้นถูกมองว่า มีฐานะเป็นเพียงเครื่องมือสร้างความชอบธรรมให้กับหน่วยงานของรัฐในการตัดสินใจเท่านั้น

ดังที่ได้ปรากฏบ่อยครั้ง เมื่อมีการเผยแพร่ข้อมูลวิจัยแล้วพบว่า เป็นสิ่งที่อธิบายมีความแตกต่างไปจากการรับรู้หรือความเข้าใจของชาวบ้าน เช่น การมองว่า ปะการังที่ทะเลบ้านกรูดเป็นเพียงหินโสโครก ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ทำโดยบรรดาดอกเตอร์ทั้งหลาย

วิจัยไทบ้าน จึงเป็นความพยายามในทางวิชาการ ที่เสนอข้อมูลทางด้านทรัพยากรและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นจากการวิจัยของชาวบ้านเอง งานชิ้นนี้ไม่ใช่เพียงงานวิจัยดาดๆ แบบที่นักวิจัยมืออาชีพทั้งหลายได้เคยและกำลังทำกัน หากมีความสำคัญในหลายด้านด้วยกัน

ประการแรก การตีพิมพ์ออกสู่สาธารณะ ย่อมหมายความว่า งานวิจัยพร้อมที่จะถูกตรวจสอบความถูกต้องทั้งในแง่ของวิธีการศึกษา ข้อมูล และแนวการวิเคราะห์ ประกอบกับการใช้ภาษาที่คนทั่วไปเข้าถึงทำความเข้าใจได้ง่าย ไม่มีศัพท์แสงทางเทคนิคที่รุงรัง ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่า งานชิ้นนี้โปร่งใส หากมีความไม่ถูกต้องก็สามารถที่จะโต้แย้งได้ง่าย

ที่ผ่านมามีงานวิจัยเกี่ยวกับโครงการของรัฐชิ้นใด มีการตีพิมพ์ออกมาสู่สาธารณะบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่ให้เหตุผลสนับสนุนการเดินหน้าโครงการต่างๆ ท่อก๊าซไทย-พม่า, เหมืองแร่ใต้ดิน, ท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย, ล่าสุดโครงการไนท์ซาฟารีที่เชียงใหม่

ในการประชุมพิจารณาโครงการเมื่อเดือนที่ผ่านมา ก็ไม่เปิดโอกาสให้สาธารณะเข้ารับฟังได้ เกือบทั้งหมดพยายามปิดกั้นข้อมูลไม่ให้เผยแพร่ ไม่ใช่เพียงในแง่ของตัวงานเท่านั้น ยังรวมไปถึงการใช้ภาษาที่ทำให้ผู้ที่ไม่มีความรู้เฉพาะด้านเข้าใจ หรือไม่ก็เป็นการเขียนในภาษาต่างประเทศ โดยที่ไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะ จึงทำให้นักวิจัยอาชีพพร้อมจะเปลี่ยนผลการวิจัยไปตามถุงเงินที่สนับสนุน เพราะถึงอย่างไรคนที่อ่านก็คือ ผู้ที่พร้อมจะเห็นด้วยกับโครงการแล้วเท่านั้น

ประการที่สอง ช่วงระยะเวลาของการพิมพ์งานวิจัยออกมา ใกล้เคียงกับรายงานการวิจัยของ ม.อุบลราชธานี ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากรัฐมาอีกทอด ด้านหนึ่งจึงเท่ากับเป็นการตรวจสอบความถูกต้องของงานวิจัย ที่ทำโดยนักวิจัยมืออาชีพด้วย เพราะเมื่อกล่าวถึงงานวิจัย มักเป็นที่เข้าใจกันว่า นักวิจัยที่จบจากเมืองนอกจะมีความรู้ที่ดี ทั้งที่ในความเป็นจริงงานวิจัยก็อาจมีข้อผิดพลาดได้ ทั้งในแง่ที่เป็นผลจากตัวความรู้ของนักวิจัยเอง

นักวิชาการอาวุโสอย่าง ม.ร.ว. อคิน รพีพัฒน์ ได้ชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ทำนองนี้ไว้ คำนิยมของงานวิจัยนี้

"นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมแหล่งน้ำคนหนึ่ง ได้เล่าให้ผมฟังถึงความผิดพลาดของพวกเขาในการสร้างเขื่อนขนาดเล็กแห่งหนึ่งในภาคอีสาน เมื่อพวกเขาออกแบบเขื่อนเสร็จแล้ว ได้นำไปให้ชาวบ้านดู มีแบบจำลองของเขื่อน แล้วก็ไปอธิบายให้ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงคล้ายๆ ว่า จะเป็นประชาพิจารณ์อย่างหนึ่ง เมื่อฟังคำอธิบายแล้วชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำเหนือเขื่อนก็ส่ายหัวแล้วพูดว่า

อาจารย์ทำเขื่อนสูงอย่างนี้นาของพวกผมน้ำท่วมหมดแน่ พวกวิศวกรก็อธิบายให้ชาวบ้านฟังว่า เป็นไปไม่ได้ พวกเขาคำนวณมาแล้วเป็นอย่างดี น้ำไม่ท่วมแน่ แต่เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จแล้วภายหลังปรากฏว่า พวกเขาต้องรื้อเขื่อนทำให้เตี้ยลง เพราะชาวบ้านพูดถูกโดยไม่ต้องเสียเวลามานั่งวัดคำนวณเลย"

หรือบางครั้งจงใจที่จะบิดเบือนข้อมูลโดยใช้กลไกทางอำนาจ เช่น งานวิจัยเรื่องแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่แหล่งผลิตไฟฟ้า จ.ประจวบคีรีขันธ์ พ.ศ. 2541 (โครงการโรงไฟฟ้าบ้านหินกรูด) ซึ่งดำเนินการโดย ม.ล. วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธ์ ในส่วนหนึ่งของงานวิจัย ได้วิพากษ์วิจารณ์แนวคิดเรื่องระบบไตรภาคีของโครงการโรงไฟฟ้าบ้านหินกรูดว่า เป็นความคิดที่สำเร็จรูปเกินไปในการแก้ไขความขัดแย้ง

หลังงานเสร็จได้ถูกส่งกลับไปให้ผู้วิจัยแก้ไข แต่ผู้วิจัยปฏิเสธ ในที่สุดต้นสังกัด (?) ต้องใช้นักวิจัยอีกกลุ่มมาเขียนงานส่งให้เจ้าของโครงการนำไปแถลงตามความต้องการของแหล่งทุน (จุลสารรายเดือน ปXป, ตุลาคม 2545)

อาจโชคดีที่ในกรณีนี้ผู้วิจัยไม่ได้กลับไปแก้ตามความต้องการของแหล่งทุน แต่ก็โชคไม่ดีเช่นเดียวกันที่สังคมไม่รู้ว่ามีนักวิจัยเป็นจำนวนมากเท่าใด ที่จำเป็นต้องเขียนงานไปตามความต้องการของถุงเงินวิจัย งานวิจัยจึงไม่ได้ซื่อและพูดอะไรอย่างตรงไปตรงมาเสมอ

ประการที่สาม งานวิจัยไทบ้านทำให้ชาวบ้านกลับมาเป็นผู้ตั้งคำถาม และแสวงหาคำตอบบนพื้นฐานความต้องการของตนเอง ก่อนหน้านี้งานวิจัยต่างๆ มักเป็นคำถามที่รัฐหรือนักวิชาการที่สนับสนุนโครงการรัฐ เป็นผู้กำหนดให้ ซึ่งมักไม่สัมพันธ์กับวิถีชีวิต ความต้องการของชุมชนแต่อย่างใด

เช่น ไม่เคยมีความรู้มาก่อนเลยว่า จำนวนพันธุ์ปลาในแม่มูนมีอยู่เท่าไหร่ เป็นปลาที่ต้องอพยพจากแม่น้ำโขงเข้ามาเจริญเติบโตในแม่มูนเท่าไร การสร้างเขื่อนที่ปิดทางน้ำจะมีผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์นี้อย่างไร การศึกษาของไทบ้าน ได้ทำให้เห็นภาพดังกล่าวอย่างชัดเจนถึงพันธุ์ปลา วิถีชีวิตและความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนในลุ่มน้ำนี้

งานวิจัยที่ก่อตัวขึ้นจากการทำงานของชาวบ้าน จึงเป็นฐานความรู้ชุดหนึ่งที่ต่างไปจากการวิจัยแบบที่เคยทำๆ กันมา ซึ่งไม่ค่อยได้คำตอบหรือทางเลือกแก่สังคมมากนักในการเผชิญกับข้อขัดแย้งต่างๆ หากเป็นงานที่ปักธงไว้เรียบร้อยแล้วรอให้แต่มีนักวิจัยมาสนับสนุนเท่านั้น

แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับงานวิจัยในลักษณะที่คณะวิจัยไทบ้านได้ทำมา แต่หากเปรียบเทียบกับการทุ่มเงินของรัฐจำนวน 10 ล้านบาท ให้แก่ ม.อุบลราชธานี ในการศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผู้ช่วยนักวิจัยของงานชิ้นนี้ได้บอกว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับการทำงานของคณะวิจัย มีเพียงค่ากาแฟสำหรับเลี้ยงชาวบ้านเท่านั้น ส่วนที่เหลือเป็นความร่วมมือจากชาวบ้านเอง เป็นการให้คำแนะนำจากองค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ที่ไม่ได้มีค่าตอบแทนแต่อย่างใด

สภาวิจัยแห่งชาติ หรือ สกว. ไม่สนใจที่จะให้ทุนในการทำวิจัยแก่สามัญชน ดังที่คณะวิจัยไทบ้านได้ทำมาแล้วกับพื้นที่อื่นๆ ซึ่งกำลังมีปัญหากับรัฐในลักษณะเดียวกันนี้บ้างหรือ

++++++++++++

สมชาย ปรีชาศิลปกุล สาขาวิชานิติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา