eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

“บิ๊กบัง” เตรียมนำปัญหาเขื่อนปากมูนเข้าครม.วันนี้

ผู้จัดการออนไลน์  9 กค 50

ผู้จัดการออนไลน์ – โฆษก คมช. แถลงพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน จะนำปัญหาการเปิดปิดเขื่อนปากมูนเข้าหารือในที่ประชุม ครม.นอกรอบ วันนี้ (10ก.ค.) ด้านคณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูลุ่มน้ำมูลยื่นหนังสือขอให้เปิดเขื่อนตามผลศึกษา
       

        พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เปิดเผยว่า พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และประธาน คมช. ในฐานะผอ.กอ.รมน. จะนำเรื่องที่นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ และนายประสาร มฤคพิทักษ์ ได้นำประชาชนในพื้นที่เขื่อนปากมูลมาพบ เพื่อเรียกร้องให้ช่วยแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งระหว่างประชาชน 2 กลุ่ม โดยกลุ่มหนึ่งต้องการให้เปิดเขื่อนดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนสามารถทำการประมงได้ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งไม่ต้องการให้เปิด เนื่องจากหากเปิดแล้วระดับน้ำลดลง จะไม่มีปริมาณน้ำเพียงพอสำหรับการเตรียมต้นกล้าในการปลูกข้าว และการเพาะปลูกอื่น ๆ รวมทั้งการจับกุ้งก้ามกรามด้วย
       
        “เรื่องนี้มีข้อตกลงตั้งแต่รัฐบาลที่แล้วว่า จะให้ปิด 8 เดือน และเปิด 4 เดือน แต่ในช่วงที่ผ่านมา มีมติ ครม. เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ให้รักษาระดับน้ำในเขื่อนไม่เกิน 106-108 เมตร ซึ่งชาวบ้านบอกว่า ถ้าน้ำอยู่ในระดับนี้ จะทำให้ไม่มีโอกาสเปิดประตูเขื่อนได้ในช่วง 4 เดือนเลย เพราะระดับน้ำจะอยู่อย่างนี้ตลอด เหมือนการปิดประตูเขื่อนถาวร ท่านก็รับข้อมูลทั้งหมดไว้ และจะนำเข้าหารือในที่ประชุม ครม.นอกรอบ พรุ่งนี้ (10 ก.ค.) โดยจะเสนอรัฐบาล เพื่อดูรายละเอียดว่า จะทำอย่างไรให้เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มที่ มันต้องมีทางออกที่ดีที่สุด และทำให้คนเดือดร้อนน้อยที่สุด ได้ประโยชน์ร่วมกันมากที่สุด” โฆษก คมช. กล่าว
       
        วันนี้ (9 ก.ค.) คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูล(ชชช.) ได้ทำหนังสือเสนอต่อพล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ผอ.รมน./ผอ.ศจพ. เพื่อขอให้เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูน โดยหนังสือดังกล่าว ระบุว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2550 ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย รักษาระดับน้ำในเขื่อนปากมูลไว้ที่ประมาณ ๑๐๖-๑๐๘ เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) นั้น เป็นการตัดสินใจที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล 2 ประการคือ
       
        1. ไม่ได้ใช้ข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลจากพื้นที่เป็นฐานในการตัดสินใจมติคณะรัฐมนตรีซึ่งให้รักษาระดับน้ำที่ ๑๐๖-๑๐๘ ม.รทก. โดยทางปฎิบัติหมายถึง การปิดเขื่อนปากมูลอย่างถาวร เนื่องจากระดับน้ำ ๑๐๘ ม.รทก. คือระดับเก็บน้ำของเขื่อนปากมูล เมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตใช้น้ำเพื่อปั่นไฟ การปิดเขื่อนปากมูลสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศในระยะยาว และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้านจำนวนมาก งานวิชาการหลายฉบับยืนยันได้ถึงผลกระทบดังกล่าว
       
        งานศึกษาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล และผลการทดลองเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเท่าที่รวบรวมได้มี 22 ชิ้น ทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ
       
        “คณะทำงานกลั่นกรองผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับกรณีเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี” ซึ่งได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2545 ได้จัดทำรายงานสรุปผลการศึกษาเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2546 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า วิถีชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยแม่น้ำมูลได้รับผลกระทบอย่างมากจากการสร้างเขื่อนปากมูล และเมื่อมีการทดลองเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8บาน สุดบาน วิถีชีวิตของชาวบ้านเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากระบบนิเวศได้ค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น มติ ครม. 12 มิถุนายน เป็นเสมือนการปิดเขื่อนปากมูล โดยไม่ได้ศึกษาข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลจากพื้นที่แต่อย่างใด
       
        2. ไม่ได้คำนึงถึงมติ ครม.ที่ผ่านมา และความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะของคณะกรรมการซึ่งเป็นกลไกการทำงานที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อพิจารณากรณีเขื่อนปากมูลเป็นการเฉพาะตั้งแต่ ปี พ.ศ.2544 คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลหลายชุดได้พิจารณากรณีเขื่อนปากมูล ตลอดจนได้ตั้งคณะกรรมการเฉพาะเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล อีกหลายชุดมติ ครม. และ ความเห็นของคณะกรรมการที่สำคัญมีดังนี้
       
        2.1 มติครม. เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2544 ให้เปิดประตูระบายน้ำเป็นเวลา 4 เดือน และให้ดำเนินการศึกษาลุ่มน้ำธรรมชาติจากการเปิดประตูระบายน้ำทั้ง 8 บาน
       
        2.2 สำนักเลขาธิการได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดทำโครงการศึกษาวิจัยแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศน์วิถีชีวิตและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูน ในระหว่างทำการศึกษา ได้มีมติครม.เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2544 ขยายการเปิดประตูระบายน้ำในครบ 1 ปี เพื่อให้การศึกษาได้ครบรอบวัฎจักรของปลาและการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์ตามหลักวิชาการ
       
        2.3 ภายหลังการศึกษาโดย ม.อุบล ได้มีข้อเสนอให้เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูนตลอดปี แต่มติครม. เมื่อวันที่1 ตุลาคม 2545เห็นชอบให้เปิดประตูระบายน้ำปีละ 4 เดือน ตั้งแต่วันที่1 กรกฎาคม ถึง 31 ตุลาคมของทุกปี
       
        2.4 มติครม. วันที่ 8 มิถุนายน 2547 ขยับมาให้เปิดวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อให้ปลาได้อพยพขึ้นมาวางไข่ได้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่เหมาะสม และมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูล ซึ่งมีลักษณะภาคี โดยประกอบไปด้วยผู้แทนหน่วยราชการ นักวิชาการ และตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ (ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตประธานบอร์ดกฟผ. เคยเป็นประธาน และปัจจุบันประธานคณะกรรมการคือ นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน เพื่อพิจารณาการเปิดประตูระบายน้ำ และดำเนินการจัดทำแผนฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวบ้าน
       
        2.5 ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาทรัพยากรและวิถีชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูน วันที่ 23 พฤษภาคม 2550 มีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรี ตัดสินใจ เปิดประตูระบายน้ำ เป็น 2ทางเลือก คือ
       
        ทางเลือกที่ 1. ให้เปิดประตูระบายน้ำเร็วที่สุด โดยเริ่มลดระดับน้ำตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไป และให้เปิดประตูระบายน้ำสูงสุดภายใน วันที่ 10 มิถุนายน 2550
       
        ทางเลือกที่ 2.ให้เริ่มระบายน้ำและเริ่มลดระดับน้ำตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2550 เป็นต้นไป และให้เปิดประตูระบายน้ำสูงสุดภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2550 ต่อมากระทรวงพลังงานเสนอ ครม. ให้มีมติเปิดประตูระบายน้ำวันที่ 7 มิถุนายน 2550 และเปิดสุดบานในวันที่ 17 มิถุนายน 2550
       
        2.6 ภายใต้กลไก กอ.รมน. ได้มีการประชุมที่เป็นทางการ 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2550ณ หอประชุมกองทัพบก และวันที่ 4มิถุนายน 2550 ณ ที่ทำการเขื่อนสิรินธร และข้อเสนอได้นำไปสู่การพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ให้รักษาระดับน้ำในแม่น้ำมูนไว้ ที่ประมาณ 106-108 ม.รทก.
       
        มติครม.วันที่ 12 มิถุนายน 2550 เป็นการเปลี่ยนมติคณะรัฐมนตรี 29 พฤษภาคม 2550 โดยไม่มีเหตุผลประกอบที่ชัดเจน และไม่ได้คำนึงถึงมติครม.และความคิดเห็นของคณะกรรมการชุดต่างๆ ที่ผ่านมา
        จากเหตุผล ๒ ประการดังกล่าวข้างต้น
       
        คณะนักวิชาการและผู้ที่เห็นความสำคัญของการใช้ข้อมูลทางวิชาการและข้อมูลจากพื้นที่สนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐ ดังมีรายนามท้ายหนังสือนี้ จึงขอกราบเรียนให้ พลเอกสนธิ บุณยรัตกลิน ในฐานะ ผอ.รมน./ผอ.ศจพ. ดำเนินการให้เปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเพื่อแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านกรณีปัญหาเขื่อนปากมูลโดยเร็ว
       
        หนังสือยื่นเสนอต่อ ผอ.กอ.รมน. ลงนามโดย รศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายศุภวิทย์ เปี่ยมพงศ์สานต์ อดีตหัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, อาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ประธานมูลนิธิเพื่อนป่า, ดร.นลินี ตันธุวนิตย์ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,
       
        ดร.ชวลิต วิทยานนท์ กองทุนสัตว์ป่าสากล, นายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ประธานเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม, อาจารย์ชัยพันธุ์ ประภาสะวัต ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อสิทธิชุมชน, นายสมเกียรติ พ้นภัย คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูล(ชชช.), นายทองเจริญ สีหาธรรม นางสมปอง เวียงจันทร์คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิตชุมชนลุ่มน้ำมูล(ชชช.)

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา