eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

งานวิจัยชาวปากมูน: “เมืองหลวงปลา” คืนชีวิต หลังเปิดเขื่อน 2 เดือน

 ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-ประเทศไทย

หากย้อนอดีตกลับไปเมื่อสิบปีก่อนที่จะมีเขื่อนปากมูล            “ปากมูน” หรือแม่น้ำมูนบริเวณปากมูนนับแต่กิ่ง อ.สว่างวีระวงศ์ ลงมาจนถึงปากมูนที่แม่น้ำมูนบรรจบกับแม่น้ำโขง เป็นพื้นที่ที่มีธรรมชาติไม่เหมือนที่อื่นๆ นั่นก็คือ มีระบบนิเวศน์ที่สลับซับซ้อน ทั้ง “แก่ง” “คัน” “ขุม” “วัง” “เวิน” ”ถ้ำหิน” “ป่าบุ่งป่าทาม” และ“ดอน” หรือเกาะกลางน้ำรวมทั้งแม่น้ำสาขาต่างๆ

ระบบนิเวศน์ที่สลับซับซ้อนนี้เมื่อรวมกับการ ที่ปากมูนคือเขตรอยต่อระหว่างแม่น้ำมูนและแม่น้ำโขง จึงทำให้ปากมูนอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลา ที่มีทั้งปลาที่อพยพมาจากแม่น้ำโขง ปลาประจำถิ่น และปลาชนิดที่อาศัย หากิน และวางไข่เฉพาะบริเวณแก่ง ความอุดมสมบูรณ์นี้จะเห็นได้จากชาวปากมูนเรียกพื้นที่บริเวณนี้ว่า “เมืองหลวงของปลา” หรือไม่ก็ “จังหวัดของปลา” และปลานี่เองที่ทำให้เกิดชุมชนชาวประมงปากมูนที่มีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับปลา ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม ”ปลาแลกข้าว ข้าวแลกปลา” หรือ “วันเนา” เป็นต้น แต่ความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ปากมูนได้สิ้นสุดลง เมื่อระบบธรรมชาติดังกล่าวจมอยู่ใต้น้ำของภายหลังการสร้างเขื่อนปากมูล พร้อมๆ กับการปิดกั้นการเส้นทางการอพยพของปลาระหว่างแม่น้ำมูนและโขงที่นำไปสู่การล่มสลายของชุมชนประมงปากมูน

            อย่างไรก็ตาม แม่น้ำมูนก็ได้ฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งภายหลังจากที่ กฟผ.เปิดประตูเขื่อนปากมูลสุดบานเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน หรือ เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักฐานของการฟื้นชีวิตนี้คืองานวิจัยเรื่องปลาของชาวปากมูน ซึ่งรายงานด้านปลานี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานที่ถูกจัดทำขึ้น โดยคณะนักวิจัยชาวบ้านปากมูน 65 หมู่บ้านที่ได้มีการเปิดเผยเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา

          รายงานของชาวปากมูน ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปนี้ นับว่าเป็นรายงานการศึกษาครั้งแรกๆ ในประวัติศาสตร์เพราะเป็นงานวิจัยที่ถูกจัดทำขึ้นโดยนักวิจัยชาวบ้านโดยใช้ความรู้แบบ ภูมิปัญญาท้องถิ่นแทนที่จะถูกจัดทำโดยนักวิชาการที่ใช้ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ การวิจัยนี้ไม่เพียงแต่เป็นการรวบรวมชนิดพันธุ์ปลาภายหลังการเปิดประตูเขื่อนปากมูลที่เป็นตัวชี้ว่าแม่น้ำมูนได้ฟื้นคืนชีวิตเท่านั้น แต่ยังเป็นการรื้อฟื้นองค์ความรู้ของชาวปากมูนกลับคืนมา

การวิจัยของชาวปากมูนแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนคือ

ขั้นตอนแรกเป็นการรวบรวมชนิดพันธุ์ปลาที่ชาวบ้านจับได้ ดำเนินการโดยชาวปากมูนที่ทำการประมง 65 หมู่บ้าน ที่ตั้งชุมชนสองฝั่งแม่น้ำมูน เริ่มแต่บ้านฮองอ้อ เขตกิ่งอำเภอสว่างวีระวงศ์ลงมาจนถึงบริเวณที่แม่น้ำมูนบรรจบกับแม่น้ำโขง โดยวิธีการบันทึกชนิดปลาที่ถูกจับได้ด้วยการถ่ายรูปและใช้ข้อมูลเสริมจากแบบบันทึกประจำวันของพี่น้องใน 65 หมู่บ้าน

ขั้นตอนที่สอง เป็นการจำแนกปลาแต่ละชนิด ดำเนินการโดย “พรานปลา” 18 คน ที่ชาวปากมูนได้เลือกขึ้นมา พรานปลาทั้ง 18 คนถือได้ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องปลาเนื่องจากประสบการณ์การทำประมงในลุ่มน้ำมูนโดยเฉลี่ยมากกว่า 50 ปีขึ้นไป พรานปลาทั้งหมดจะใช้กระบวนการประชุมกลุ่มเพื่อจำแนกพันธุ์ปลาแต่ละชนิด จากนั้นจะเป็นการร่วมกันอธิบายพฤฒิกรรมของปลาแต่ละชนิดนับแต่รูปแบบการเดินทางของปลา ที่อาศัยและแหล่งหากิน อาหาร และแหล่งวางไข่ การอธิบายนี้จะดำเนินการเฉพาะปลาธรรมชาติในระบบลุ่มน้ำมูนที่ชาวบ้านจับได้ โดยตัดปลาต่างถิ่นหรือปลาที่มีการปล่อยออกไป

สำหรับขั้นตอนของการบันทึกและเรียบเรียงข้อมูล จะมีผู้ช่วยนักวิจัยคือเยาวชนชาวปากมูนและเจ้าหน้าที่เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้ช่วย เรียบเรียงข้อมูลเพื่อจัดทำรายงานและร่วมกันชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญที่พบ

ข้อมูลดังต่อไปนี้ เป็นข้อมูลเฉพาะช่วง 2 เดือนของการเปิดประตูเขื่อนปากมูลนับแต่วันที่ 16 มิถุนายน ถึงวันที่ 17 สิงหาคม การศึกษาพบประเด็นสำคัญดังนี้

ประการแรก ตลอดช่วง 2 เดือนของการเปิดประตูเขื่อน การสำรวจของชาวปากมูนพบพันธุ์ปลาทั้งหมด 119 ชนิด ในจำนวนนี้เป็นปลาต่างถิ่นและปลาที่เพาะเลี้ยง 4 ชนิด ที่เหลืออีก 115 ชนิดเป็นพันธุ์ปลาธรรมชาติของแม่น้ำมูนและแม่น้ำโขง พันธุ์ปลาธรรมชาติ 115 ชนิดนี้ถือว่าเป็นจำนวนชนิดพันธุ์ปลาที่น้อยที่สุด เพราะชาวปากมูนจับปลาโดยใช้เครื่องมือประมงพื้นบ้าน ซึ่งทำให้ไม่ได้ปลาขนาดเล็กมากๆ หรือปลาที่ไม่ได้เป็นอาหาร ซึ่งหากใช้วิธีการอื่นในการเก็บตัวอย่างพันธุ์ปลาเช่นเดียวกับวิธีการของนักประมง เช่น ใช้อวนล้อมหรือสารพิษก็จะพบพันธุ์ปลามากกว่านี้

สำหรับชาวปากมูนแล้ว ปีนี้เป็นปีแรกในรอบสิบปีที่มีพันธุ์ปลาที่หลากหลาย หลังจากที่ไม่เคยพบมาก่อนภายหลังการสร้างเขื่อนปากมูล

ประการที่สอง ความรู้ของชาวปากมูนได้ชี้ให้เห็นว่าปลาธรรมชาติที่พบที่ปากมูนมี 2 ประเภท คือ “ปลาที่อพยพจากโขง” กับ “ปลาอยู่มูน” หรือปลาที่อพยพเป็นระยะทางสั้น ในจำนวนปลาธรรมชาติ 115 ชนิดที่พบว่าเป็นปลาอพยพจากแม่น้ำโขง 99 ชนิด และปลาอยู่มูน 18 ชนิด

ข้อมูลดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญก็คือ ปลาที่กลับคืนสู่มูนเป็นปลาอพยพจากโขงมากกว่าปลามูน นั่นก็เพราะว่าปลาส่วนใหญ่ในแม่น้ำมูลและโขงเป็นปลาชนิดเดียวกันและเป็นปลาอพยพ การที่แม่น้ำโขงยังคงอุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ปลา เมื่อเปิดประตูเขื่อนปากมูล จึงมีปลาอพยพจากแม่น้ำโขงเข้าแม่น้ำมูนทันที

สำหรับ “ปลาอยู่มูน” หรือปลาเฉพาะถิ่นหรืออพยพเป็นระยะสั้นที่พบว่ามีน้อยนั้น สาเหตุก็เพราะระบบนิเวศน์บริเวณนี้ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการสร้างเขื่อนปากมูล เนื่องจากน้ำได้ท่วมแก่ง และมีตะกอนเข้าอุดรูแก่ง ทับถมเวิน วัง ถ้ำหิน ขุมน้ำ และคันน้ำ ที่เรียกว่า “อ้น” แม่น้ำมูนจากแต่เดิมที่ไหลและฟอกน้ำเติมออกซิเจนก็กลายเป็นอ่างเก็บน้ำที่นิ่ง เกิดปัญหาน้ำเสีย การระบาดของผักตบชวาและ “แม่ปลา” ที่คอยกินเลือดปลา ทำให้ปลาเหล่านี้หายไปจากบริเวณปากมูนนับสิบปี ดังนั้นเมื่อเปิดเขื่อนปากมูล ปลาอยู่มูนจึงกลับฟื้นคืนมาช้ามากเพราะแทบไม่มีพ่อแม่พันธุ์

ประการที่สาม ในจำนวนพันธุ์ปลาธรรมชาติทั้งหมด 115 ชนิดที่ชาวบ้านจับได้ เป็นปลาหายากและใกล้สูญพันธุ์ 8 ชนิด คือ ปลาในบัญชีแดงของสหพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์สากลเป็นปลาในบัญชีรายชื่อปลาใกล้สูญพันธุ์ของสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมด้วย 4 ชนิดคือ ปลาบึก ปลาตองลาย ปลาเจ็ก และปลาเลิม อีก 4 ชนิดเป็นปลาในบัญชีหายากของสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม คือ ปลาสะอี ปลาน้ำเงิน ปลาปีกไก่ และปลาหมากผาง

การสำรวจของชาวปากมูน ยังพบว่าปลาบางชนิดพบเพียงแค่ตัวเดียวในช่วง 2 เดือน คือ ปลาคูน ปลาหว่าหน้านอ

ที่สำคัญอีกประการก็คือในจำนวนปลาธรรมชาติที่พบนั้น มีปลาอยู่ 3 ชนิดที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะ คือ พบปลา 2 ชนิดที่อาศัย หากินและวางไข่เฉพาะแก่ง-วัง ซึ่งเป็นระบบนิเวศน์เฉพาะบริเวณปากมูน นั่นก็คือ ปลาบู่หิน  และปลาแข่หิน อีกทั้งยังพบ “ปลาเอี่ยนหู” หรือ “ตูหนาหูขาว”  2 ตัว บริเวณปากมูนและบริเวณบ้านแสนตอ ปลาตูหนาหูขาวนี้ เป็นปลาที่วางไข่ในท้องทะเลลึกประมาณ 1 กิโลเมตร แถบบริเวณระหว่างฟิลิปปินส์และเวียตนาม และชาวปากมูนระบุว่า พบในแม่น้ำมูนเป็นครั้งแรก

ดังนั้นปลาทั้ง 5 ชนิดนี้จึงถือว่าเป็นปลาที่หายากและใกล้สูญพันธุ์ด้วย

การพบปลาหายากและใกล้สูญพันธุ์และปลาเฉพาะแก่ง-วังดังกล่าวได้ชี้ว่า การเปิดประตูเขื่อนปากมูลเป็นการเปิดโอกาสให้ปลาหายากและใกล้สูญพันธุ์ได้สืบทอดเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็น ประโยชน์ต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ปลาด้วย

 

แก่งบริเวณปากมูน: เมืองหลวงของปลาและมรดกของคนอีสาน

ผลการวิจัยของชาวปากมูนยังชี้ให้เห็นว่า การเปิดประตูเขื่อนปากมูลครั้งนี้ช้าเกินไปเพราะเริ่มเปิดเขื่อนในช่วงปลายเดือน 6 ตามการนับแบบพื้นบ้าน ขณะที่ปลาเริ่มอพยพจากแม่น้ำโขงตั้งแต่เดือน 3 ตามการนับแบบพื้นบ้าน ดังนั้นปลาที่อพยพเข้ามาส่วนใหญ่จึงเป็นปลาที่อพยพในช่วงเดือน 6 และ เดือน 7 แม้ว่าการสำรวจของชาวปากมูนพบปลาบางชนิดที่ปกติแล้วจะเดินทางเข้าสู่แม่น้ำมูนตั้งแต่เดือน 3 หลงเข้ามาด้วย แต่หากว่ามีการเปิดประตูเขื่อนเร็วกว่านี้ ชนิดพันธุ์ปลาที่จะฟื้นคืนสู่แม่น้ำมูนก็จะมากกว่านี้อย่างแน่นอน

ความรู้เรื่องปลาของชาวปากมูนได้บอกว่า ปลาเหล่านี้ เมื่อเดินทางเข้าปากมูนแล้ว ทุกชนิดต้องอาศัยหรือหากินหรือวางไข่บริเวณปากมูน เนื่องจากบริเวณนี้มีระบบนิเวศน์สลับซับซ้อนมีทั้งแก่ง เวิน วัง ถ้ำหิน ขุมน้ำ คันน้ำหรือแก่งที่จมอยู่ใต้น้ำ มีลำแม่น้ำสาขาน้อยใหญ่ที่ไหลลงมูน และระบบนิเวศน์แบบป่าบุ่งป่าทามและพื้นที่น้ำท่วมถึง โดยเฉพาะแก่งที่เห็นอย่างชัดเจนจากในจำนวนปลาทั้งหมด 115 ชนิดที่สำรวจพบ เป็นปลาที่อาศัย หากิน และวางไข่บริเวณแก่งถึง 46 ชนิด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแก่งมีความสำคัญต่อวงจรชีวิตของปลาในแม่น้ำมูนและโขง

นอกจากนั้น ปลาอีกส่วนหนึ่งยังอพยพผ่านขึ้นไปยังตอนบนของแม่น้ำมูนและแม่น้ำสาขา เช่น แม่น้ำมูนตอนบนแถบราษีไศล แม่น้ำชี และแม่น้ำสาขาอื่นๆ

ปลาอพยพเหล่านี้เมื่อวางไข่บริเวณปากมูนและทางต้นน้ำแล้ว ทั้งหมดจะอพยพกลับแม่น้ำโขง แต่การอพยพแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ แบบค้างวัง ซึ่งมีจำนวนถึง 82 ชนิด และที่ไม่ค้างวัง 15 ชนิด

ความรู้ดังกล่าวนี้ได้ชี้ว่า บริเวณปากมูนไม่เพียงแต่เป็นแหล่งอาศัย หากิน และวางไข่ในช่วงปลาอพยพเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อการอนุบาลลูกปลา และยังเป็นแหล่งพ่อแม่พันธุ์ของปลาด้วย

บริเวณปากมูนจึงเปรียบเสมือน “ชุมทางปลา” และ “เมืองหลวงของปลา” ในระบบแม่น้ำมูนและแม่น้ำโขง ดังนั้นการเปิดประตูเขื่อนปากมูลจึงไม่เพียงแต่เป็นการฟื้นฟูธรรมชาติบริเวณปากมูนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระบบนิเวศน์แม่น้ำมูล-แม่น้ำโขงอย่างแท้จริง

            องค์ความรู้ของชาวปากมูนยังชี้ให้เห็นอีกว่า หาก กฟผ.ปิดประตูเขื่อนปากมูลในเร็วๆ นี้ ก็จะทำให้ระบบนิเวศน์แม่น้ำมูน-โขง ถูกตัดขาดอีกครั้ง และจะส่งผลกระทบต่อความอุดมสมบูรณ์ของปลาอย่างรุนแรง เนื่องจากการปิดประตูเขื่อนจะทำให้ปลาไม่สามารถอพยพกลับแม่น้ำโขงได้โดยเฉพาะลูกปลา ซึ่งเป็นวงจรที่ทำให้ปลาสามารถสืบทอดเผ่าพันธุ์และหวนกลับคืนสู่ปากมูนและระบบของแม่น้ำมูนและแม่น้ำสาขา กลายเป็นแหล่ง “โปรตีน” ราคาถูกสำหรับคนอีสานนับล้านคนในปีต่อไป

หากพิจารณาความหลากหลายของพันธุ์ปลาที่กลับมาหลังเปิดเขื่อนปากมูนเปรียบ เทียบกับผลประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อนปากมูน เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ไฟฟ้าที่ผลิตได้แค่ 20 เมกกะวัตต์ซึ่งแค่ป้อนห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ แค่ 2 แห่งก็หมดแล้วนั้น ไม่สามารถเทียบได้เลยกับคุณค่าความหลากหลายของพันธุ์ปลาที่กลับมา นั่นก็เพราะว่า เงินตราไม่ว่ากี่แสนล้านบาทก็ ไม่สามารถสร้างพันธุ์ปลาธรรมชาติที่หลากหลายและเมืองหลวงของปลาที่ปากมูนได้

ทั้งนี้ ยังไม่ได้พิจารณาว่าการกลับมาของปลาเหล่านี้ได้เปิดโอกาสให้คนอีสานนับสิบล้านคนได้เข้า ถึงทรัพยากรอีกครั้งหลังจากถูกแย่งชิงไปเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา