eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ที่ พิเศษ ส.ค.จ. 010 / 2545                                                                                                     สมัชชาคนจน

วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2545  

เรื่อง:     ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อน และแก้ไขปัญหาราษีไศล

เรียน:    ฯพณฯ ท่าน นายกรัฐมนตรี ( พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ) ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ

พวกเราที่ประกอบไปด้วยชาวบ้านที่เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา ได้มาชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2545 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการสร้างเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา พวกเราได้ปักหลักอยู่อย่างสงบและมันคงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

พวกเราหวังเพียงเพื่อที่จะให้ธรรมชาติได้คืนความอุดมสมบูรณ์ ให้พวกเราได้ใช้ชีวิตเหมือนเช่นที่บรรพบุรุษของพวกเราเคยมี เพื่อที่จะสืบต่อไปยังลูกหลานต่อไป

ในช่วงวันที่ 10 - 15 มีนาคม 2545 พวกเราได้ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมหยุดเขื่อนเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชน” ขึ้น โดยงานในครั้งนี้แบ่งออกเป็นสองกิจกรรม คือ 1.) การออกร้านสินค้าผลิตภัณฑ์จากป่าบุ่ง – ป่าทาม 2.) งานเวทีสัมมนาทางวิชาการ ด้วยหวังว่าการจัดงานในครั้งงานจะสามารถสร้างความเข้าใจ ในเรื่องป่าบุ่ง – ป่าทาม และความสัมพันธ์ของคนกับป่าบุ่ง – ป่าทาม การจัดงานทั้ง 5 วันพวกราได้ข้อสรุปร่วมกันว่า

ข้อค้นพบ

1.             ความอุดมสมบูรณ์ของป่าบุ่ง – ป่าทาม มีมากมายมหาศาล เพียงพอที่จะทำให้พวกเราและชุมชนของเราพึ่งพาได้อย่างไม่เดือดร้อน โดยเฉพาะปลาในแม่น้ำมูน ที่ได้เดินทางมาจากแม่น้ำโขง ในช่วงที่เขื่อนราษีไศล และเขื่อนปากมูนเปิดประตูระบายน้ำในช่วงปี พ.ศ.2543 ที่ผ่านมา และกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านได้นำปลาค้าวขนาดความโต 7 กิโลกรัม มาร่วมแสดงในงานด้วย รวมทั้งอาหารจากป่าบุ่ง – ป่าทาม ทำให้ร้านค้าจำนวน 35 ร้าน เต็มไปด้วยสินค้ามากมาย ทั้งยังได้แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาดังเดิมของชาวบ้าน ในการต้มเกลือสินธ์เทา การต้มยาสมุนไพร และการใช้ดินทามในการปั้นหม้อ

2.             ชาวบ้านจากกุดขาคีม , ทามท่าโพธิ์ ได้บอกให้รู้ว่า ในพื้นที่ทั้งสองชุมชน สามารถดำเนินการ และจัดการการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำด้วยภูมิปัญญาของท้องถิ่นได้ และพอเพียง โดยใช้การพึ่งตนเอง

3.             วิถีชีวิตของพวกเราในพื้นที่ลุ่มน้ำมูนและลำน้ำสาขาที่ประกอบไปด้วยชาวบ้านจากลำตะคอง , ราษีไศล , หัวนา , สิรินธร , และปากมูน ล้วนแล้วแต่ประสบชะตากรรม คือ การสูญเสียอาชีพ , การสูญเสียที่ดินทำกิน , เกิดความขัดแย้งแตกแยกของคนในท้องถิ่น , ชุมชนล่มสลาย , วัฒนธรรมประเพณีหายไป สิ่งเหล่านี้เกิดจากการก่อสร้างเขื่อน ซึ่งรัฐได้หยัดเหยียดให้กับพวกเรา

4.              นโยบายรัฐกับการจัดการทรัพยากรน้ำ ทั้งการออก พ.ร.บ.น้ำ และการจัดตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำ ดำเนินการโดยขาดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนท้องถิ่น เป็นลักษณะการทำงานด้วยการตัดสินใจจากส่วนกลาง ทำให้แนวนโยบายและการทำงาน ไม่สอดคล้องตรงตามความต้องการของชุมชนท้องถิ่น

5.              แนวนโยบายแห่งรัฐการกับการจัดการทรัพยากรน้ำ มาจากเงื่อนไขของแหล่งทุนเงินกู้จากต่างประเทศเป็นหลัก

6.              เรายังได้รู้ด้วยว่า ปัจจุบันในระดับนานาชาติ คณะกรรมการเขื่อนโลก หรือ WCD ได้ทำการศึกษาการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะการสร้างที่มีอยู่ทั่วโลก WCD ได้ทำการศึกษาแบบย่อของเขื่อนจำนวน 125 เขื่อนจาก 56 ประเทศ และได้ศึกษาอย่างละเอียด 8 เขื่อน ซึ่งรวมถึงเขื่อนปากมูล พบว่า

6.1. แนวโน้มการสร้างเขื่อนลดลง 60 %

6.2. ผลประโยชน์ด้านพลังงาน การชลประทาน และการอุปโภค บริโภค ต่ำกว่าการคาดการณ์ไว้

6.3. ค่าก่อสร้างสูงกว่าที่ประเมินไว้

6.4. ไม่คุ้มค่าทางด้างเศรษฐกิจ ทั้งเขื่อนไฟฟ้าและชลประทาน

6.5. เขื่อนยังทำให้เกิดความเสี่ยงด้านอุทกภัยมากขึ้น

6.6. อ่างเก็บน้ำของแต่ละเขื่อนประสบปัญหาจากการทับถมของตะกอนที่ไหลมากับน้ำในฤดูฝน

6.7. เกิดน้ำขังและดินเค็มเป็นพื้นที่ 1 ใน 5 ของพื้นที่ชลประทานของเขื่อนทั่วโลก

6.8. เขื่อนทำให้ผลผลิตทางด้านประมงลดลงอย่างมาก

6.9. เขื่อนได้ทำลายระบบนิเวศน์ทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนเสียหาย เป็นการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ และสูญเสียพื้นที่ชุมน้ำ

            จากข้อค้นพบร่วมกันของพวกเราในการจัดงาน “มหกรรมหยุดเขื่อนเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติและชีวิตชุมชน” พวกเรามีความเห็นร่วมกันว่า รัฐควรนำเสนอต่อไปนี้มาเป็นแนวทาง ในการดำเนินนโยบายในการจัดการทรัพยากรน้ำ

ข้อเสนอเพื่อดำเนินการ

1.         รัฐต้องปฏิบัติตามข้อเสนอของ WCD ทั้ง 7 ข้อ อย่างเคร่งครัด ดังนี้

1.       การตัดสินใจสร้างเขื่อนต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเคารพสิทธิของผู้เสียหาย และตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะเกิดจากการสร้างเขื่อน

2.     ผู้เสียหายต้องมีส่วนร่วมในการวางแผน มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ และต้องได้รับส่วนแบ่งจากประโยชน์ของโครงการ

3.     จะต้องไม่มีการสร้างเขื่อนที่ผู้ได้รับผลกระทบด้านลบไม่ยินยอม และไม่ดำเนินการสร้างเขื่อนที่ไม่มีการให้ข้อมูลอย่างอิสระ ก่อนการดำเนินโครงการต่อชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม

4.         ก่อนที่จะริเริ่มโครงการใดๆ จะต้องมีการประเมินความจำเป็นด้านพลังงานและน้ำ รวมทั้งต้องประเมินทางเลือกอย่างละเอียดที่หลากหลาย ที่จะแก้ไขความจำเป็นนั้น

5.     ก่อนที่จะมีการสร้างโครงการใหม่ จะต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของโครงการที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด

6.     ต้องมีการทบทวนเขื่อนที่สร้างไปแล้ว โดยกระบวนการมีส่วนร่วมเป็นระยะๆ เพื่อประเมินความปลอดภัยของเขื่อน และความเหมาะสมในการยกเลิกการใช้เขื่อน

7.     ต้องมีการกำหนดกลไกเพื่อที่จะดำเนินการฟื้นฟู หรือจ่ายค่าชดเชยย้อนหลังสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนที่สร้างไปแล้ว และฟื้นฟูระบบนิเวศน์ที่เสียหายจากเขื่อน

2.         รัฐควรยกเลิกนโยบายการจัดการทรัพยากรน้ำที่ประชาชนไม่มีส่วนร่วม

3.         รัฐต้องยกเลิก พ.ร.บ. น้ำ

4.         รัฐต้องส่งเสริมสนับสนุนชาวบ้านในการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

5.         รัฐต้องสนับสนุน “แผนประชาชนฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนและป่าทามแม่น้ำมูน” ของชาวบ้านราษีไศลเพื่อแก้ไขปัญหาเขื่อนราษีไศล

ด้วยตระหนักร่วมกันว่า ทรัพยากรธรรมชาติ คือรากฐานความมั่นคงของวิถีชีวิตชาวบ้าน การดำเนินนโยบายใดก็ตามที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงและลดลงของทรัพยากร นั่นหมายถึงการทำลายวิถีชีวิตของชุมชนโดยตรง

ข้อเสนอทั้งหมดนี้ เป็นข้อค้นพบจากการจัดงาน “มหกรรมหยุดเขื่อนเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติแลวิถีชีวิตชุมชน” ระหว่างวันที่ 10 – 15 มีนาคม 2545 ที่หน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ พวกเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอทั้งหมดนี้จะได้รับการนำไปปฏิบัติอย่างเคร่งครัดต่อไป

ด้วยยึดมั่นในสัจจะ

สมัชชาคนจน

 หน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา