eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

บทความชุด หมายเหตุราษีไศล ตอนที่ 2

คนจนราษีไศลภายใต้เกมอำนาจแบบประชาธิปัตย์

โดยสนั่น  ชูสกุล   

            กรณีเขื่อนราษีไศล นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์เชื่อข้อมูลและความคิดเห็นของข้าราชการเป็นใหญ่เช่นเดียวกับ กรณีอื่นๆ ที่เป็น ปัญหาของคนยากคนจน

            นายชวน  หลีกภัยกล่าวในวันประชุมใหญ่ประจำปีของพรรคประธาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2542 ว่า การจ่ายเงินให้แก่ผู้เดือดร้อน จากเขื่อนราษีไศล โดยรัฐบาลพรรคความหวังใหม่นั้น เป็นการจ่ายเงินให้กับผู้ที่ "ไม่มีสิทธิ์จะได้" รัฐบาลพล อ.ชวลิตจ่ายไปเพื่อ "ตัด ความรำคาญ"

            และการแก้ปัญหานี้ เงินที่จ่ายไปแล้วนั้น "ต้องเอาคืน"

            นายชวนเชื่อโดยสนิทว่า นายอดิศร  เพียงเกษ "กินเปอร์เซ็นต์คนจน" ถึงขั้นเคยกล่าวเสียดสีในสภาว่าเป็น "กระสือการเมือง"

             ความจริงแล้วนักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์เริ่มใส่ใจเรื่องกระบวนการแก้ปัญหาเขื่อนราษีไศล ก็เมื่อเหตุ การณ์การต่อสู้ของชาวบ้าน ผู้เดือดร้อนกลุ่มสมัชชาคนจนลุล่วงถึงบั้นปลายคือกำลังจะมีการจ่ายค่าชดเชยแล้ว

            ก่อนหน้านั้นในสมัยรัฐบาลชวน 1 (ประมาณปี 2537) ชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้เคยยื่นเรื่องร้องเรียน กลไกรัฐนับครั้งไม่ถ้วน แต่เรื่องราวก็เงียบหาย มิหนำในวันที่ 18 กรกฎาคม 2538 รัฐบาลชวน 1 ก็ปล่อยปละจน หน่วยราชการในพื้นที่จัดตั้งม็อบคน 5,000 คน ในสภาพเมามายมาก่อกวนกลุ่มผู้เดือดร้อนซึ่งขณะนั้น กันได้แค่ 200 คน จนความพยายามในการแก้ปัญหาผู้เดือดร้อนด้วยวิธีประนี ประนอมโดยนายจิโรจน์  โชติพันธ์ ผู้ว่า ราชการจังหวัดสมัยนั้นต้องล้มเหลวไป

            แต่กลไกรัฐที่ว่าแข็งแกร่งก็ไม่สามารถต้านทานพลังของ "ความจริง" คือ ความเดือดร้อนของราษฎรที่โดนผล กระทบจากเขื่อนราษีไศล ได้ จนต้องมีการตั้งคณะกรรมการ-อนุกรรมการในการแก้ไขปัญหาขึ้นในปลายปี 2538 และจะ ว่าไปแล้ว การจัดม็อบชนม็อบนั่นเองเป็นตัวเร่ง ให้ความจริงปรากฎจนรัฐบาลต้องจำใจดำเนินการแก้ปัญหาอย่างหลีก เลี่ยงไม่ได้

            ต่อมาเมื่อรัฐบาลบรรหาร ศิลปอาชา มีมติ ครม. 22 เมษายน 2539 ให้มีการจ่ายค่าชดเชยที่ดิน เดือดร้อนโดยอิงหลักเกณฑ์มติ ครม. 11 กรกฎาคม 2532 ซึ่งพลตรีสนั่น ขจรประศาสตร์ รมว.กระทรวงเกษตรฯ สมัยนั้นได้วางหลักการไว้ จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้น ตรวจสอบผู้เดือดร้อนจากเขื่อนราษไศลจนแล้วเสร็จ จากนั้น กลุ่มผู้เดือดร้อนก็ผลักดันจนรัฐบาลพล อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีมติ ครม.วันที่ 29 เมษายน ,1 กรกฎาคม 2540 ตาม ลำดับ ให้จ่ายค่าชดเชย 1,154 ราย เป็นเงิน 363,484,000 บาท

            นั่นเอง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จ.ศรีสะเกษ คนหนึ่งจึงเข้ามามีบทบาทด้วยเต็มที่ในการ ผู้เรียกร้องอย่างออกหน้า คนราษีไศลต่างรู้เห็นทั่วหน้าว่า วันที่รัฐบาลนัดให้ราษฎรที่ได้รับอนุมัติค่าชดเชยมารับเงินที่ โรงเรียนราษีไศล(15 กันยายน 2540) รถติดป้าย ชื่อของ ดร.มานะ  มหาสุวีรชัย แล่นไปแล่นมาอยู่ในสถานที่ที่เกิดม็อบราช การมาขัดขวางการจ่ายค่าชดเชยจนวุ่นวายจ่ายเงินไม่ได้ในวันนั้น

            อาจจะมีเหตุผลเพียงง่ายๆ สำหรับการเข้าไปมีบทบาทของ ส.ส.ผู้นั้น ก็คือ กลุ่มนายอำเภอและกำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่รวมตัวอย่างเข้ม แข็งเพื่อต่อต้านการจ่ายค่าชดเชยครั้งนั้น เป็น  "หัวคะแนน" ของเขา ซึ่งคงเป็น "เป็นหน้าที่" ของนักเลือกตั้งที่จะต้องดูแลเรื่องนี้

            เรื่องราวเตลิดเปิดเปิงถึงขั้นการนำม็อบ 5,000 คนมาชนผู้ชุมนุมสมัชชาคนจนอีกครั้งในวันที่ 19 กันยายน 2540 เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัด "สั่งจ่าย" ค่าชดเชยให้แก่กลุ่มผู้เดือดร้อนที่หนีไปจากอำเภอราษีไศลไปชุมนุมรออยู่ที่หน้าศาลา กลางจังหวัดเป็นเวลา 4 วัน

            เหตุการณ์วันที่ 19 กันยายน 2540 นั้น เป็นวันที่ชาวบ้านร้านตลาดทั้งเมืองศรีสะเกษต้องจดจำและพูด ถึงกันไปอีกนาน เพราะเกิด เหตุการณ์ที่เรียกได้ว่า เกือบถึงขั้น "จลาจล" หน้าศาลากลาง

            ชาวเมืองศรีสะเกษได้เห็นผู้ชุมนุมกลุ่มสมัชชาคนจนนั่งกันอย่างสงบที่เชิงบันไดศาลากลาง ขณะที่ฝูงชนอันบ้าคลั่ง เมามาย ขว้างปา ขวดน้ำเข้าไปในที่ชุมนุม บ้างยิงหนังสะติ๊กเข้าไปจนถูกผู้ชุมนุมเป็นแผลฟกช้ำหลายคน พวกเขาตรงเข้ารื้อเต๊นท์ของผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐ บางหน่วยที่ถูกนำมารักษาความปลอดภัยก็แปรธาตุเป็นฝ่ายม็อบช่วยกันเข้ารื้อเต๊นท์ของผู้ชุมนุมเลยทีเดียว ทั้งยังมีการตรงเข้าทำลายเครื่อง ครัวของผู้ชุมนุม เอาข้าวสารและปลาร้าราดใส่คนแก่ 2 คน ซึ่ง 2 คนนั้นเกิดอาการประสาทหลอนอยู่หลายเดือน

            เป็นที่รู้กันดีว่า รถ 10 ล้อ รถบรรทุกที่ขนคนกลุ่มม็อบที่มาขัดขวางวันนั้นใครเป็นเจ้าของและใครควักค่าใช้จ่ายในวันนั้น

            วันที่ 19 กันยายน คำสั่งจ่ายค่าชดเชยของผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษก็เป็นหมันครั้งที่ 2

            กลุ่มสมัชชาคนจนพากันขึ้นรถไฟหนีเข้าพึ่งรัฐบาลพล อ.ชวลิตหน้าทำเนียบรัฐบาล

            นายมานะ มหาสุวีรชัย ยื่นมติด่วนให้คณะกรรมาธิการติดตามนโยบายการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี นายจองชัย เที่ยงธรรม เป็นประธาน และมีนายชัย  ชิดชอบ เป็นรองประธาน ให้พิจารณาทบทวนการจ่ายค่าชดเชยแก่ผู้เดือดร้อนเขื่อน ราษีไศล โดยอ้างว่ามีราษฎรอื่นคัดค้าน กรรมาธิการฯ สอบสวนอย่างเร่งรีบแล้วมีหนังสือที่ 4005/2540 ลงวันที่ 30 กันยายน  2540 ถึงนายกรัฐมนตรีให้ระงับการจ่ายค่า ชดเชยดังกล่าว

            แต่ด้วยมีการตรวจสอบชัดเจนมาทุกขั้นตอนโดยคณะกรรมการที่รัฐบาลตั้งขึ้น และมีมติ ครม.รับรองการตรวจสอบและอนุมัติจ่ายแล้ว ถึง 4 มติ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรี จึงมีบัญชาให้จ่ายค่าชดเชยสำทับอีกครั้งในวันที่ 2 ตุลาคม

            กลุ่มผู้คัดค้านจึงนำม็อบฝ่ายต่อต้านจากราษีไศลและตำบล,อำเภอใกล้เคียง ไปชุมนุมต่อต้านอยู่หน้ากระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ตั้งแต่วันที่ 5-7 ตุลาคม 2540

            ข้าราชการและพ่อค้าแม่ขายกระทรวงวิทย์ฯ ได้รู้ฤทธิ์ของม็อบต่อต้านกลุ่มนี้ดี เขาพากันกินเหล้าเมามายและเอาก้อนหินขว้างปาตึก สำนักปลัดกระทรวงจนกระจกแตกยับเยินหลายบาน จากนั้นพากันเดินยึดถนนจากหน้ากระทรวงวิทย์ฯ ไปหน้าทำเนียบรัฐบาลซึ่งผู้ชุมนุม รอรับค่าชดเชยอยู่ กลุ่มม็อบทำท่าจะพากันเข้าชาร์จกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ตำรวจภายใต้การกำกับของ มท.1 ชื่อ "เสนาะ  เทียนทอง" ได้ตรึงไว้ อย่างแน่นหนา

            ผู้ก่อความวุ่นวายและทำลายทรัพย์สินของทางราชการต้องเดินทางกลับศรีสะเกษในวันที่ 7 ตุลาคม เพราะขาดความชอบธรรม ที่จะกระทำการต่อ

            ในวันเดียวกันนั้น คณะรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต  ยงใจยุทธ ก็ได้มีมติออกมาสำทับยืนยันจ่ายค่าชดเชยให้กลุ่มผู้เรียกร้อง ถือเป็นมติ ครม.ครั้งที่ 5 ที่ใช้เป็นหลักการจ่ายค่าชดเชยให้แก่กลุ่มสมัชชาคนจน 1,154 ราย ขณะเดียวกันได้เปิดโอกาสให้ใช้อนุกรรมการตรวจสอบสิทธิ์ ชุดเดิมตรวจสอบผู้เดือดร้อน จำนวน 1,525 รายที่เรียกร้องเพิ่มเติม

            กลุ่ม 1,525 รายที่เรียกร้องเพิ่มเติมนี้ไม่ใช่ใครอื่น ก็คือกลุ่มที่กำนันผู้ใหญ่บ้านและหน่วยราชการในพื้นที่จัดตั้งขึ้นเพื่อต่อต้าน สมัชชาคนจนนั่นเอง เมื่อการคัดค้าน "ไม่ให้จ่ายค่าชดเชยสมัชชาคนจน" ดูท่าจะไปไม่ไหว ก็เลยแปรการต่อต้านจากการคัดค้านมาเป็น "ถ้าจ่ายสมัชชาคนจน ต้องจ่ายให้แก่พวกข้าพเจ้าด้วย"

            และพิจารณากันด้วยใจเป็นธรรมแล้ว มวลชน 1,525 ราย ส่วนใหญ่ก็เป็นผู้เดือดร้อนจากเขื่อนราษีไศลเช่นกัน แต่ทางราชการปรามไว้ ไม่ให้เรียกร้องด้วยคำพูดที่ว่า

            "ถ้าพวกนั้นได้เราก็ได้เหมือนกัน เราเป็นพลเมืองดีไม่ออกมาเดินขบวนสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง ควรได้ก่อนด้วยซ้ำไป"

            เรื่องราวควรจะจบด้วยดี สมัชชาคนจน 1,154 รายรับค่าชดเชย แล้วดำเนินการตรวจสอบผู้เดือดร้อนกลุ่มใหม่ 1,525 ราย ผู้ที่ผ่านการ ตรวจสอบทีหลังก็จะได้รับค่าชดเชยอย่างเป็นธรรม

            แต่กรณีราษีไศล ไม่จบลงง่ายๆ เพราะถูกทำให้เป็นเรื่องยืดเยื้อและลามปามไปหลายปริมณฑล

            และเกี่ยวพันกับเกมอำนาจที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้เล่น ซึ่งสอดคล้องกับผลประโยชน์มหาศาลของหน่วยงานราชการ ประกอบกับ ศักดิ์ศรีของข้าราชการประจำซึ่งอยู่ในระบบอันเน่าเฟะ

             ก่อนที่ ชวน  หลีกภัย จะฟังข้อมูลจากคนรอบข้างและกล้าฟันธงขนาด "ต้องเอาเงินคืน" เขาไม่ทราบมาก่อนว่า นายจิโรจน์  โชติพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษและข้าราชการหลายฝ่ายอิดหนาระอาใจกับการสร้างเขื่อนแบบ "ละเมิดสิทธิ์ครบสูตร" ตัวนี้ของกรม พัฒนาและส่งเสริมพลังงานมาเพียงไร

            ถ้านายชวนได้ฟังข้อเท็จจริงที่ว่า นายอำเภอคนหนึ่งท้าทายกับผู้เรียกร้องทุกเวทีว่า "ถ้าพวกท่านได้รับค่าชดเชย ก็ให้เอามีดมาปาด คอผม" แล้วคำพูดก็เป็นนายคนพูด เจ้าของคำพูดจึงคิดหากลยุทธนานาวิธีเพื่อที่จะขัดขวางไม่ให้มีการจ่ายค่าชดเชยเด็ดขาด นายชวนจะว่า อย่างไร

            นายชวนจะพิจารณาอย่างไรกับผลประโยชน์มหาศาลจากโครงการสร้างเขื่อน เขื่อนราษีไศลคือหัวหาดสำคัญของโครงการโขง ชี มูล ที่วางแผนกันยาว 42 ปี งบประมาณ 228,000 ล้านบาท

            อำนาจที่ค้ำบัลลังก์นายชวนอยู่แท้ๆ ที่ท่านไม่สามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงนี้ได้ เป็นความน่าเห็นใจปนสมเพชท่านเป็นอย่างยิ่ง

          ตอนต่อไป เราจะมาดูกันว่า เมื่อรัฐบาลความหวังใหม่ลาออก แล้วพรรคประชาธิปัตย์มาเป็นรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ปฏิบัติต่อ ประชาชนคนไร้อำนาจของเขาอย่างไร.

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา