eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ยามเย็นกับเด็กชายหาปลา ในป่าทามราษีไศล

เพียรพร ดีเทศน์   เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

  ความรู้เรื่องการ หาปลาที่ถ่ายทอด สู่รุ่นลูกหลาน คือมรดกให้คนรุ่น หลังได้ลี้ยงชีพอย่างพอเพียง

แสงอาทิตย์เจิดจ้าสะท้อนผืนน้ำเป็นสีทอง ยอดไม้โผล่ขึ้นจากผิวน้ำยามหน้าน้ำหลาก น้ำมูนเอ่อล้นฝั่งเข้าท่วมป่าบุ่งป่าทามสองฝั่งน้ำเป็นบริเวณกว้าง หากไม่รู้มาก่อน พื้นที่เหล่านี้เห็นเป็นเพียงป่าละเมาะ มีต้นไม้เตี้ยๆ ขึ้นระเกะระกะ ซ้ำหน้าน้ำ น้ำก็หลากท่วมขังอีก ๓-๔ เดือนต่อปี ดูเป็นพื้นที่ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไร

แต่สำหรับชาวบ้านลุ่มน้ำมูนแล้ว ป่าเหล่านี้คือที่วางไข่และแหล่งอนุบาลลูกอ่อนของปลาน้ำมูน ที่ว่ายขึ้นมาจากแม่น้ำมูนเพื่อผลิตลูกหลานมากมายให้ได้หล่อเลี้ยงชีวิตคนกว่า ๑๐ ล้านคนในลุ่มน้ำมูน แม่น้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโขง

ที่ป่าบุ่งป่าทามเป็นหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศลุ่มน้ำ และเป็นแหล่งหาปลาชั้นยอดของคนหาปลาแถบนี้ น้ำท่วมมิใช่ปัญหา แต่เป็นวัฏจักรแห่งฤดูกาลที่ชาวบ้านปรับตัวอยู่กับระบบนิเวศเหล่านี้ได้อย่างสอดคล้อง คือ หน้าน้ำหาปลาในป่าทาม ทำนาโคก หน้าแล้งต้มเกลือ และเลี้ยงวัวควาย

  ป่าทามยามแล้ง คือแหล่งเกลือและ ที่เลี้ยงวัวควาย ยามน้ำหลากกลับ เป็นแหล่งหาปลาอันอุดม สมบูรณ์ของชุมชนรอบ ป่าทามแม่น้ำมูน

ป่าทามปลายฤดูฝนวันนี้ยังมีน้ำท่วมเอ่อ เรือพายหาปลาหลายลำจอดอยู่ริมฝั่งน้ำ แต่ฉันมองไม่เห็นคนหาปลาเลยสักคน

“เบิ่งหาอีหยังเอื้อย” เสียงของเด็ดชายตัวน้อยสองคนดังมาจากด้านหลัง เจ้าตัวเบรกจักรยานคันจ้อยดังเอี้ยด หิ้วตระกร้าใส่ไส้เดือนเดินไปยังเรือลำหนึ่งที่จอดนิ่งอยู่

“เอื้อยจะไปถ่ายรูป ขอติดเรือไปกับเจ้าได้บ่ ?” เด็กชายในชุดลูกเสือพยักหน้ายิ้มรับ แล้วฉันก็พาตัวเองขึ้นไปบนเรือกับเด็กน้อยทั้งสอง

เด็กชายออฟ เรียนอยู่ชั้นประถมห้า โรงเรียนบ้านเพียมาตร อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ทำหน้าที่ ยามเบ็ด - ปลดปลาจากเบ็ด

ส่วนเด็กชายอาร์ม เพื่อนบ้านและเพื่อนร่วมชั้น รับเป็นคนพายเรืออยู่ท้าเรือ

ไม้พายจ้วงผืนน้ำ พาเรือลำเล็กมุ่งหน้าออกจากฝั่งไป ระรอกคลื่นสะท้อนแดดเป็นเงาระยับในดวงตาของคนหาปลาตัวน้อย

เรือแล่นมาสักระยะก็ถึงต้นหว้าสูงใหญ่ จุดเริ่มของเบ็ดราวที่พ่อของอาร์มเอามาวางผูกไว้ตั้งแต่เช้ามืด สินในน้ำมากมายกำลังรอคนหาปลารุ่นเยาว์มาเก็บเกี่ยว

“พ่อเพิ่นเอาเหยื่อมาใส่ไว้แต่เช้า ผมก็มายามเอาตอนเย็น เก็บเสร็จก็เอา ขี้เดือน -ไส้เดือน ใส่ไว้อีก เช้าพรุ่งนี้พ่อก็มายาม” อาร์มอธิบายพลางดึงสายเบ็ดขึ้นมาดูเพื่อเก็บปลาไล่ไปตามความยาวของสายเบ็ดที่ผูกโยงไว้หลายสิบเมตร

“ฮ่วย... มีแต่โตน่อย” ลูกเสือสำรองที่บัดนี้เป็นคนหาปลาบ่นพึมพำ

“ได้แต่ตัวน่อยแล้วจะพอกินบ่” ฉันถามแหย่

“พ้อ...ยังมีอีกหลายสาย นี่ไงตัวใหญ่” ออฟว่า พลางชูปลานาง ปลาเนื้ออ่อนขนาดฝ่ามืออวดฉันหน้าระรื่น เห็นแล้วน้ำลายสอ ปลานางน้ำมูนทอดกระเทียมพริกไทย ทอดกรอบๆ เคี้ยวกินทั้งก้างเป็นจานเด็ดของราษีไศลที่ติดใจฉันนัก

“ได้ตัวน่อยก็ อู๋ จิ้มข้าวเหนียวอร่อยนะเอื้อย” สองนักหาปลารุ่นจิ๋วสาธยายแผนการเมนูมื้อค่ำที่หามาด้วยน้ำแรงตัวเอง

อู๋ เป็นอีกจานพื้นบ้านที่นำปลาเล็กปลาน้อยหลากชนิดมาต้มเคี่ยวพอให้งวด พกใส่ห่อไปกินกลางทางสะดวกยามออกไปหาปลาหรือทำนา

ครั้งก่อนที่ฉันลงมาทำวิจัยเรื่องปลา พักกลางวันชาวบ้านเอาอู๋ออกมากินกัน ฉันกับเพื่อนจิ้มปลาเล็กจากจานอู๋ขึ้นมาทายชื่อกันทีละตัวก่อนกิน แข่งว่าใครจะรู้จักปลาน้ำมูนมากกว่ากัน

แต่ดูท่าความรู้หางอึ่งของฉันคงห่างจากสองหนุ่มน้อยที่อยู่ตรงหน้านี้หลายขั้น

สองหนุ่มเริ่มได้วิชาหาปลามาจากพ่อตั้งแต่เด็กๆ ตัวแค่นี้แต่มีประสบการณ์หาปลามาเป็นปีที่ห้าแล้ว

“ตอนเป็นเด็กก็ตามพ่อขุดขี้เดือน หมักปลาน่อยไว้ใส่เบ็ด เดี๋ยวนี้ยามเบ็ดเป็นแล้วก็มาเองได้เลย” เด็กชายอาร์มวัยสิบเอ็ดขวบ เล่าความหลังราวกับตัวเองเป็นผู้ใหญ่ พลางปลดปลาและเกี่ยวไส้เดือนใส่ไว้ใหม่อย่างชำนาญ

“เดี๋ยวอีกหน่อยพ่อก็สอนใส่ ตุ้ม ไปใส่ในมูนโน่น”

ตุ้มคือเครื่องมือดักปลาสานจากไม้ไผ่ ในลุ่มน้ำมูนมีตุ้มหลายประเภทตั้งแต่ขนาดเล็กราวฟุตกว่าๆ สำหรับดักปลาขนาดเล็กอย่างตุ้มปลาขาว ไปจนขนาดใหญ่ ยาวกว่า ๓ เมตร อย่างตุ้มปลายอน

 

  ความรู้เรื่อง การหาปลาที่ถ่าย ทอดสู่รุ่นลูกหลาน คือมรดกให้คนรุ่นหลัง ได้ลี้ยงชีพอย่างพอเพียง

จากงานวิจัยไทบ้าน ศึกษาความรู้พื้นบ้านโดย ไทบ้าน -ชาวบ้านในชุมชนรอบป่าทามราษีไศล ๓๖ หมู่บ้าน ใน ๓ จังหวัด คือ ศรีสะเกศ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด พบว่าในแถบนี้มีเครื่องมือหาปลาพื้นบ้านถึง ๔๘ ชนิด ใช้จับปลาต่างชนิด ต่างฤดูกาล และต่างระบบนิเวศ

คนหาปลาราศีไศลมีความรู้เชี่ยวชาญในการหาปลาสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น เครื่องมือหาปลาหลายชนิดต้องช่วยกันเป็นกลุ่ม ได้ปลาก็แบ่งกัน

การหาปลาจึงเป็นสิ่งร้อยรัดคนในชุมชนเข้าไว้ด้วยกันอย่างเหนียวแน่น

“สุ่มกลองยาว” เป็นหนึ่งในวิธีการหาปลาที่ต้องอาศัยความรู้ความชำนาญ และความสมัครสมานระหว่างกลุ่มคนหาปลา โดยคนหาปลาราว ๓-๕ คนขึ้นไป รวมกันใช้สุ่มที่มีลักษณะคล้ายกลองยาว หาปลาด้วยกันเป็นคณะ เรียกว่าคณะสุ่มกลองยาว

วิธีการนี้ใช้หาปลายามหน้าน้ำลดในหนอง ฮอง โดยเรียงหน้ากระดานเป็นแถว ก้าวเท้ากดในตมให้เป็น ฮอย -รอย ลึกถึงหน้าแข้ง ก้าวไปเรื่อยๆ จนถึงจุดที่กำหนดไว้ จึงหันกลับมาโยนขึ้ตมให้ปลาตกใจมุดหนีลงฮอยที่เหยียบไว้ แล้วก้าวเหยียบฮอยเดิมและสอดเท้าปิดรูไม่ให้ปลาหนีออกมาได้ ต่อจากนั้นจึงเอาสุ่มกลองยาวดักเอาปลา ทำเช่นนี้เรื่อยๆ จนถึงจุดเริ่มต้น

การหาปลาแบบสุ่มกลองยาวใช้ได้เฉพาะคนหาปลาระดับเซียน ต้องอาศัยความชำนาญจำรอยเท้าตนเองใต้ผิวน้ำให้ได้ หากหลงฮอยก็ต้องงมหาจนเจอ ไม่อย่างนั้นก็ไม่ได้ปลา

มีเคล็ดลับแถมว่าต้องหาปลาช่วงเที่ยงวันซึ่งผิวน้ำโดนแดดร้อน ปลาจะว่ายมุดลงใต้น้ำหาที่เย็นกว่า จึงได้ปลาเยอะ

ที่สำคัญคือก่อนหาปลาต้องบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทาง หากมีเหล้าก็รินเหล้าลงดินหรือแบ่งอาหารให้ก่อนจึงแล้วขอให้ให้ หมาน -ให้ได้ปลา

คณะสุ่มกลองยาวไม่ได้ออกงานเรื่อยเปื่อย แต่จะรวมตัวกันหาปลาเมื่อมีงานประจำปี หรืองานบุญ ในอดีตเมื่อมีงานบุญหมู่บ้าน ไทบ้านจะรวมกันทั้งหมู่บ้านเป็นคณะใหญ่ ช่วยกันหาปลามาทำบุญเลี้ยงพระเลี้ยงแขก

คนหาปลามือใหม่ก็ได้ใช้โอกาสนี้เรียนรู้การใช้เครื่องมือหาปลาจากรุ่นพี่

ปัจจุบันบางครอบครัวที่ไม่มีเงินล้มวัวควายเลี้ยงแขกในงานสำคัญ เช่นงานแต่ง หรืองานศพ ก็ชวนเพื่อนบ้านออกไปหาปลาเป็นกลุ่มใหญ่เพื่อใช้ในงานบุญ

อีกวิธีการหาปลาที่จัดอยู่ในกลุ่มมือโปรของแท้ห้าดาว ใช้ความสามารถและประสบการณ์ล้วนๆ ไม่ต้องมีอุปกรณ์เสริมนอกจากข้องสำหรับใส่ปลา คือ “งมฮอย” หรือ งมรอย

คนหาปลาที่งมฮอย จะออกไปงมคนเดียวเดี่ยวๆ ก็ได้ แต่ส่วนมากไทบ้านนิยมไปงมเป็นกลุ่ม ตามหนอง บึง โดยเริ่มจากปักหลักเริ่มต้นไว้ก่อน แล้วจึงย่างตะแคงฝ่าเท้ากดลงในตมให้เป็นฮอยลึกราวครึ่งแข้ง ย่างจนได้หนึ่งแถวแล้วก็โยนตมให้ปลาหนีเข้าฮอย แล้วจึงเริ่มงมหาปลาในฮอยที่เหยียบไว้โดยใช้มือสองข้างประกบเหลื่อมกัน กดทั้งหัวและหางปลา และจับขึ้นมาใส่ข้อง เป็นอันเสร็จพิธี และทำต่อไปเรื่อยๆ ทุกฮอย

คนหาปลารุ่นลายครามเล่าว่าบางครั้งออกไปงมฮอยได้ปลาเยอะถึงคราวละ ๔-๕ กิโลกรัมเลยทีเดียว

สระโอ เป็นเครื่องมือหาปลาที่แสนจะเรียบง่าย คือใช้เหล็กดัดเป็นรูปคล้ายสระโอ ติดปลายด้ามไม้ไผ่ยาวพอถนัดมือ ลากตามหาดทรายริมน้ำมูนที่น้ำลึกราวๆ เอวถึงอก

ใต้หาดทรายนี้มีปลาปลายชนิดซ่อนตัวอยู่ เช่น ปลารากกล้วย ปลาหลาด ปลาหลด

คนหาปลาจะลากสระโอขูดเป็นเส้นโค้งไปตามทรายเรื่อยๆ ปลาที่ซ่อนอยู่ก็จะติดอยู่ในช่องของสระโอ ยกครั้งหนึ่งจะได้ปลาราว ๔-๕ ตัว

พ่อสิง จำเริญ คนหาปลาประสบการณ์กว่า ๕๐ ปี เล่าว่า “สระโอใช้ง่าย แต่ต้องอาศัยพรรคพวกมากๆ ไปหากันหลายๆ คนปลามันจะหนีไม่ทัน หนีไม่รอด ได้ปลามาก็แบ่งเท่าๆ กัน ไม่งั้นคราวหลังเมียไม่ให้มาอีก”

สระโอสามารถใช้ได้ตลอดทั้งปี แต่หาปลาได้มากช่วงน้ำมูนลด ประมาณเดือนมกราคม-เมษายน

สำหรับคนหาปลาในแถบนี้ แม่น้ำมูนและป่าทามเป็นพื้นที่หาปลาของส่วนรวมที่ชุมชนใช้ร่วมกัน แต่ต้องเคารพสิทธิของกันและกัน หากมีใครวางเครื่องมือหาปลาวางดักปลาไว้ก่อนแล้ว คนที่มาทีหลังก็ให้เกียรติคนที่มาก่อน และจะไปหาปลาบริเวณอื่น ไม่รบกวนกัน

เครื่องมือหาปลาที่ใช้นั้นใช้หาปลาให้ได้พอกิน เหลือขายบ้างเพื่อเลี้ยงครอบครัว แต่ไม่ใช้เครื่องมือหาปลาแบบทำลายล้างหรือจับปลาขายเป็นธุรกิจใหญ่โต

ในช่วงที่เขื่อนราษีไศลทำการกักเก็บน้ำระหว่างปี ๒๕๓๗-๒๕๔๒ ป่าบุ่งป่าทามจมมิดหายไปใต้น้ำลึกในอ่างเก็บน้ำ

เครื่องมือหาปลาพื้นบ้านส่วนใหญ่ที่ไม่สามารถใช้ได้กับน้ำลึกนิ่งก็ถูกแขวนไว้ใต้ถุนบ้านเงียบเหงา

คนหาปลาจำนวนมากจำต้องละทิ้งบ้านไปรับจ้างในเมืองแลกเงินจำนวนน้อยนิด

แต่เมื่อมีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนเมื่อมี ๒๕๔๓ เป็นต้นมา ระบบนิเวศแม่น้ำมูนและป่าทามเริ่มฟื้นคืนสภาพ คนหาปลาได้กลับคืนสู่แม่น้ำและป่าทามดังเดิม

เครื่องมือหาปลาก็ฟื้นมามีชีวิตอีกครั้ง พร้อมกับรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะในชุมชน อย่างที่ไทบ้านเรียกว่า “ข้าวเต็มนา ปลาเต็มหนอง”

.....................................................

ดวงอาทิตย์ใกล้ลับขอบฟ้า แสงทองสุดท้ายของวันส่องแสงสีทองเป็นริ้วลอดอออกมาจากก้อนเมฆที่ลอยเรี่ยผืนน้ำกว้างใหญ่ เรือลำน้อยลอยเข้าฝั่ง เจ้าของเรือสองหนุ่มน้อยหิ้วตะกร้าปลาตัวแอ่น ในตะกร้ามีปลากว่าค่อน

“เอื้อยไปกินข้าวนำกันที่บ้านข้อยบ่ ? “ เจ้าตัวน้อยเอื้อเฟื้อน้ำใจ ก่อนปั่นจักรยานตามถนนลูกรังหายไปในดง

ในแสงสลัว ฉันยังเห็นเรือหลายลำเข้าจอดเทียบริมน้ำ คนหาปลาหลายคนแบกข้องใส่ปลาขึ้นฝั่ง เย็นนี้หลายบ้านคงมีข้าวปลากินกันพร้อมหน้า และจะมีกินพอเพียงตลอดไป ตราบใดที่แม่น้ำมูนยังคงไหลอย่างอิสระ

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา