eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

อภิมหาโปรเจคน้ำโขงตอนบน   จุดระเบิดปัญหาข้ามพรมแดน

อาทิตย์ ธาราคำ
เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

ช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ชาวบ้านริมฝั่งโขงที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงครั้งยิ่งใหญ่ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ฤดูฝนสองปีมานี้ การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทำให้เกิดตลิ่งพัง บ้านเรือนและ ที่ดินของชาวบ้านต้องถูกพัดพาไปกับกระแสน้ำ ที่ฝั่งลาว ชาวบ้านดอนสวรรค์ ๑๑๓ ครัวเรือนต้องอพยพจากที่ดินริมฝั่งน้ำโขงเนื่องจากตลิ่งพังอย่างไม่เหลือซาก
พ่อบุญคง ชาวบ้านปากอิง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งมีบ้านติดกับน้ำโขงกล่าวว่า “ไม่รู้ว่าถึงปีหน้าบ้านจะยังอยู่หรือเปล่า บ้านคนอื่นที่อยู่ติดน้ำถูกพัดไปหมด ตอนนี้ก็คงถึงตาเราแล้ว ไม่รู้จะทำอย่าไร”
สำหรับชาวบ้าน น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นตะกอนดินที่มากขึ้นทำให้น้ำขุ่นข้น และระดับน้ำที่ขึ้นลงอย่างรวดเร็วและผิดธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามฤดูกาลอย่างที่เคยเป็นมา ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตนับล้านที่พึ่งพาสายน้ำโขงในด้านต่าง อาทิ การหาปลา แปลงผักริมน้ำ น้ำอุปโภคบริโภค และที่อยู่อาศัย

อภิมหาโครงการจีน เป็นที่สังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากการ ดำเนินโครงการพัฒนา แม่น้ำโขงตอนบนในจีน ทั้งการระเบิดเกาะแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์และการสร้างเขื่อน
แม่น้ำโขงในเขตประเทศจีนมีชื่อว่าแม่น้ำหลานชาง เป็นแม่น้ำที่ถูกนักพัฒนามองว่ายังไม่ได้รับการใช้ประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็น จึงมีโครงการพัฒนามากมายเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจสูงสุด โดยจีนมีแผน Lancang Economic Belt ซึ่งประกอบด้วยเขื่อนผลิตไฟฟ้า การเดินเรือพาณิชย์ ท่าเรือ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ เชื่อมต่อยูนนานลงมาถึงไทยและลาว
สำหรับเขื่อนนั้น เมื่อต้นปีที่ผ่านมาบริษัทไชน่า หัวนึง กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนของจีน ได้รับ “สิทธิในการพัฒนา” แม่น้ำหลานชาง จากทางการจีน โดยมีโครงการสร้างเขื่อนทั้งหมด ๘ แห่งบนแม่น้ำโขงในเขตจีน เขื่อนมานวาน ซึ่งเป็นเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๓๖ เขื่อนแห่งที่สองและสาม คือเขื่อนเซี่ยวหวาน เขื่อนด้าเฉาชาน กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และปลายปีนี้เขื่อนแห่งที่สี่ คือเขื่อนจิงหง ตั้งอยู่เหนือเมืองเชียงรุ้ง แคว้นสิบสองปันนา จะเริ่มก่อสร้างเพื่อขายไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทย โดยต้องอพยพชาวบ้านจีนจำนวนมาก

สำหรับโครงการเดินเรือพาณิชย์ซึ่ง ๔ ประเทศแม่น้ำโขงตอนบน คือ จีน พม่า ลาว ไทย ได้ลงนามในข้อตกลงการเดินเรือพาณิชย์  รัฐบาลจีนได้สนับสนุนเงินทุนในการระเบิดแก่งและขุดลอกสันดอนเพื่อให้เรือพาณิชย์   สามารถขนส่งสินค้าระหว่างเมืองซือเหมาประเทศจีน ลงมาถึงหลวงพระบางในลาวได้ ๙๕ เปอร์เซนต์ของทั้งปี โดยขั้นสุดท้ายของโครงการคือ   ทำให้แม่น้ำโขงเป็นคลอง เพื่อการเดินเรือขนาด ๕๐๐ ตันพ่วงกัน ๔ ลำ

ผลกระทบต่อท้ายน้ำ
หากอภิมหาโครงการเขื่อนหลานซางแล้วเสร็จ เขื่อนในจีนจะสามารถควบคุมปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงได้เกือบทั้งหมด เขื่อนในยูนนานจะกักเก็บน้ำในช่วงหน้าฝนและปล่อยน้ำในหน้าแล้ง สามารถทำให้ระดับน้ำโขงในหน้าแล้งสูงกว่าปกติได้ถึง ๒ เท่า ปริมาณกระแสน้ำทั้งปีในแม่น้ำโขงช่วงก่อนถึงทะเลที่เวียตนามเป็นน้ำที่มาจากแม่น้ำโขงเขตประเทศจีนประมาณ ๑๕-๒๐ เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่น้ำโขงช่วงประเทศกัมพูชาในเดือนเมษายนเป็นน้ำที่มาจากเขตจีนถึง ๔๕ เปอร์เซ็นต์ และปริมาณน้ำจากพื้นที่รับน้ำในเขตประเทศจีนมีส่วนสำคัญมาก ต่อกระแสน้ำในช่วงหน้าแล้งของแม่น้ำโขงส่วนที่ไหลผ่านประเทศไทยและลาว
เป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการเหล่านี้ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลและปรึกษาหารือกับชาวบ้าน หรือแม้กระทั่งประเทศท้ายน้ำอีก ๒ ประเทศ คือ เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งต้องได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
คณะกรรมการเขื่อนโลก ซึ่งทำการศึกษาเขื่อนทั่วโลกในทุกแง่มุม ระบุในรายงาน “เขื่อนกับการพัฒนา” ว่า ผลกระทบกระทบด้านท้ายเขื่อนอาจมีไปไกลถึงหลายร้อยกิโลเมตร หรือกินของเขตกว้างกว่าตัวลำน้ำ ทำให้ผู้คนนับล้านที่อาศัยอยู่ด้านท้ายเขื่อน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในที่ราบน้ำท่วมถึงเป็นที่เพาะปลูกและทำการประมงต้อง “ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงในการดำเนินชีวิต และผลผลิตจากทรัพยากรก็อยู่ในภาวะเสี่ยง และประสิทธิผลของการใช้ทรัพยากรในอนาคตก็ไม่แน่นอน”
ซก เสียง อิม นักอุทกวิทยาของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี-MRC) เคยให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่าการพัฒนาน้ำโขงตอนบนส่งผลกระทบต่อประเทศท้ายน้ำอย่างมหาศาล เมื่อปี ๒๕๔๓ เกิดน้ำท่วมผิดธรรมชาติครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ ๒ ทศวรรษ ตั้งแต่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เรื่อยตลอดลำน้ำลงมาจนถึงกัมพูชาและเวียดนาม คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงประมาณการณ์ว่ามีผู้เดือดร้อนจากน้ำท่วมครั้งดังกล่าวถึง ๘ ล้านคน และเมื่อจีนเริ่มกักเก็บน้ำเขื่อนมานวาน ปริมาณน้ำโขงที่ไหลผ่านประเทศกัมพูชาลดลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง ๓๐๐ ลูกบาศก์เมตรภายในวันเดียว
เช่นเดียวกับสมเด็จฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่เคยแสดงความวิตกเกี่ยวกับเขื่อนน้ำโขงตอนบนว่าอาจทำให้ทะเลสาบเขมรแห้งลงได้ เพราะทะเลสาบเขมรเชื่อมต่อกับแม่น้ำโขง เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน หากน้ำในทะเลสาบแห้งลง ย่อมหมายถึงการสูญเสียวิถีชีวิตของคนหาปลานับล้านรอบทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ และหมายถึงการสูญเสียรายได้หลักของประเทศกัมพูชาจากการประมงน้ำจืด สมเด็จฮุนเซ็น กล่าวเพิ่มเติมระหว่างการประชุมการจัดการแม่น้ำระหว่างประเทศซึ่งจัดขึ้นเมื่อต้นปีว่า หากทะเลสาบเขมรแห้งลง ไม่ใช่เพียงเขมรเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่หมายถึงทั่วทั้งภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเลยทีเดียว เพราะระดับน้ำในแม่น้ำโขงเป็นปัจจัยหลักที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตผู้คนและระบบนิเวศในภูมิภาคนี้
การสร้างเขื่อนตอนบนของแม่น้ำจะทำให้วัฏจักรน้ำท่วม-น้ำแล้ง ของแม่น้ำตามฤดูกาลเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศแม่น้ำ ปลา และสิ่งมีชีวิตต่างๆ รวมถึงผู้คนที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาทรัพยากรเหล่านี้
เอียน ฟอกซ์ นักอุทกวิทยาและผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำท่วมของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี-ADB) ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนว่า “โครงการที่สร้างโดยมนุษย์อย่างเช่นเขื่อน อาจเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านและแม่น้ำตลอดไป”
เขื่อนเซี่ยวหวาน ซึ่งมีความสูงเกือบ ๓๐๐ เมตร กำลังผลิต ๔,๒๐๐ เมกะวัตต์ กำหนดสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๕ และจะเป็นหนึ่งในเขื่อนที่สูงที่สุดในโลก ดร. เหอ ต้าหมิง จาก ศูนย์แม่น้ำระหว่างประเทศเอเชีย (Asian International River Center) มหาวิทยาลัยยูนนานกล่าวว่า หากเขื่อนแห่งนี้สร้างแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการ ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงจะลดลง ๑๗ เปอร์เซ็นต์ในหน้าฝน และเพิ่มขึ้น ๔๐ เปอร์เซ็นต์ในหน้าแล้ง และจะปิดกั้นการไหลของตะกอนในแม่น้ำลง ๓๕ เปอร์เซ็นต์ ตะกอนเหล่านี้คือปุ๋ยธรรมชาติที่แม่น้ำพัดพาลงสู่ที่ราบน้ำท่วมถึงสองฝั่งน้ำลงไปจนถึงปากแม่น้ำซึ่งเป็นพื้นที่เพาะปลูก อันอุดมสมบูรณ์

หนึ่งในปัญหาที่รุนแรงที่สุดคือ การขึ้นลงของระดับน้ำที่ผิดธรรมชาติ โดยปกติแล้วระดับน้ำในแม่โขงขึ้นลงตามฤดูกาล แต่เมื่อมีการระเบิดแก่งในช่วงฤดูแล้ง ๒ ปีที่ผ่านมา ระดับน้ำกลับขึ้นลงอย่างรวดเร็วและไม่เป็นไปตามฤดูกาล โดยเฉพาะช่วงเดือนธันวาคม ๒๕๔๔-เมษายน ๒๕๔๕ ที่มีการระเบิดแก่ง การท่าเรือจีนออกประกาศ เกี่ยวกับการเดินเรือโดยให้งดเดินเรือ ๓ วัน และเดินเรือ ๑ วันสลับกัน พบว่าระดับน้ำโขงช่วงอำเภอเชียงแสน เชียงของ ขึ้นลงอย่างรวดเร็วดังที่ประกาศของจีน แม้แต่ช่วงหลังการระเบิดแก่ง ชาวบ้านยังพบว่าระดับน้ำก็ยังไม่เป็นไปตามธรรมชาติ

“เมื่อก่อนถ้าถึงหน้าฝน ฝนตกแล้วน้ำก็ค่อยๆ ขึ้น แต่เดี๋ยวนี้วันเดียวน้ำก็ขึ้นเป็นเมตร อีกไม่กี่วันก็ลงอีก เมื่อก่อนพอเริ่มฝนน้ำขึ้น เดือน ๘ เดือน ๙ ปลาเคยขึ้นมาให้จับ เดี๋ยวนี้น้ำขึ้นๆ ลงๆ ปลาก็หายหมด” คนหาปลาจากบ้านปากอิงกล่าว
เนื่องจากปลาส่วนใหญ่ในแม่น้ำโขงเป็นปลาอพยพที่จะขึ้นมาวางไข่ทางตอนบนของแม่น้ำตามฤดูกาลและระดับน้ำ แต่เมื่อกระแสน้ำผิดปรกติ ปลาที่เคยอุดมสมบูรณ์หล่อเลี้ยงชีวิตชาวบ้านก็ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว สำหรับหลายครอบครัวที่ไม่มีที่ดินทำการเกษตร ปลาคือรายได้หลักและความมั่นคงของครอบครัว จำนวนปลาที่ลดลงย่อมหมายถึงการสูญเสียความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนของผลกระทบก็คือ การจับปลาบึก ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นอีกสายพันธุ์ที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ ชาวบ้านฝั่งไทยและลาวลงจับปลาบึกในช่วงกลางเดือนเมษายนจนถึงพฤษภาคม ก่อนหน้าการสร้างเขื่อนในจีน ก่อนปี ๒๕๓๗ จำนวนเรือหาปลาบึกเฉลี่ยสูงถึง ๘๐ ลำ เฉพาะของชาวบ้านฝั่งไทย แต่หลังจากนั้นจำนวนปลาบึกก็ลดลงเรื่อยๆ ๓ ปีที่ผ่านมา มีเรือหาปลาบึกเหลืออยู่เพียง ๒-๓ ลำเท่านั้น

การเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศดังกล่าวส่งผลกระทบร้ายแรงต่อความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจชุมชน และสังคม ที่ผูกพันอย่างเหนี่ยวแน่นกับระบบนิเวศ
หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนคือ การหายไปของไก หรือสาหร่ายน้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนที่สำคัญของชุมชนในเขตน้ำโขงตอนบน ไกจะขึ้นตามแก่งหรือริมฝั่งน้ำในช่วงหน้าแล้งที่น้ำใสแสงแดดส่องถึง คนเก็บไกส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง ไกเหล่านี้เป็นอาหารสำหรับครอบครัว และเป็นรายได้หลักในช่วงหน้าแล้ง แต่เมื่อน้ำโขงขึ้นลงผิดธรรมชาติ และขุ่นข้นด้วยตะกอน ไกจึงแทบไม่สามารถขึ้นได้อีกเลยตั้งแต่ช่วงชายแดนพม่า-ลาว เรื่องมาจนถึงอำเภอเชียงของ นอกจากนี้แปลงผักริมน้ำยามหน้าแล้งก็ต้องเสียหายเช่นเดียวกัน โดยปกติแล้วในช่วงหน้าแล้ง เมื่อน้ำโขงลดระดับลง ที่ดินริมฝั่งและสันดอนกลางน้ำจะโผล่ขึ้นมาให้ชาวบ้านได้เพาะปลูก ที่ดินเหล่านี้อุดมสมบูรณ์ด้วยตะกอนที่พัดพามากับสายน้ำตลอดช่วงหน้าน้ำ พืชที่ปลูกมีหลายชนิด อาทิ ยาสูบ ผักกาด ถั่ว ผลผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน แลกเปลี่ยนกันในชุมชน และสร้างรายได้แก่ครอบครัว
ปัจจุบันแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้แปลงผักเหล่านี้แทบจะกลายเป็นเพียงอดีต หลายหมู่บ้านชาวบ้านต้องเสียที่ดินดังกล่าวไปเนื่องจากกระแสน้ำขึ้นลงไม่แน่นอน ตลิ่งพัง และน้ำท่วม อย่างเช่นที่บ้านสบสม แล้งที่ผ่านมาชาวบ้านต้องลงปลูกพืชถึง ๓ ครั้งในเดือนเดียวเนื่องจากน้ำขึ้นกะทันหัน ท่วมแปลงเกษตรเสียหาย จนชาวบ้านบางคนถึงกับร้องไห้เนื่องพืชที่ปลูกไว้ถูกท่วมหลายครั้ง
พ่อบุญคง ชาวบ้านปากอิง เล่าให้ฟังว่า “เมื่อก่อนจะกินผักอะไรก็เก็บที่แปลงริมน้ำ ปลูกเองหมด ไม่เคยซื้อ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว ที่ถูกน้ำพัดไปหมดแล้ว”
นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าท้ายน้ำลงไปถึง อ. ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ก็เกิดปัญหาน้ำขึ้นลงผิดธรรมชาติ ส่งผลให้ตลิ่งพัง และน้ำท่วมแปลงเกษตรริมโขงเช่นเดียวกัน

แม่น้ำไร้พรมแดน ปัญหาข้ามพรมแดน
ตลอดระยะเวลาตั้งแต่มีการวางแผนโครงการ และดำเนินโครงการ กระทั่งผลกระทบร้ายแรงต่างๆ เริ่มเกิดขึ้นและเห็นได้อย่างชัดเจน ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้ไม่เคยได้รับการบอกกล่าวถึงโครงการแต่อย่างใด มิพักต้องพูดถึงการปรึกษาหารือและร่วมเจรจาในกระบวนการตัดสินใจโครงการซึ่งเป็นสิทธิที่พึง จะมีของผู้ได้รับผลกระทบจากโครงการที่ไม่เคยเกิดขึ้นอย่างแท้จริง คนท้องถิ่นได้แต่เพียงเป็นประจักษ์พยานของผลกระทบที่ตนเองต้องเผชิญเท่านั้น
แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงก็ดูเหมือนกับว่าจะไม่ได้รับข้อมูลโครงการอย่างครบถ้วน โดยเฉพาะหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม และในหลายกรณีพบว่าเจ้าหน้าที่เหล่านี้แทบไม่รู้ข้อมูลการพัฒนาและสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงในจีน
เป็นที่สังเกตว่า ข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือเสรีที่ร่วมลงนามโดย ๔ ประเทศน้ำโขงตอนบน ได้แก่ จีน พม่า ลาว และไทย ว่าด้วยการเดินเรือระหว่าง ๔ ประเทศเท่านั้น ไม่ได้ระบุครอบคลุมถึงการระเบิดแก่งแต่อย่างใด แต่หลังจากการลงนาม ทีมระเบิดแก่งของจีนก็เริ่มปฏิบัติการโดยอ้างว่าการ “บูรณะร่องน้ำ” ดังกล่าวกระทำโดยถูกต้องตามหลักสากล และมีรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ-EIA) เรียบร้อยแล้ว
เป็นที่น่าสนใจว่าขณะที่จีนอ้างว่าอีไอเอนั้นมีมาตรฐานสูง เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๖ คณะรัฐมนตรีไทยกลับมีมติให้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ เฉพาะช่วงพรมแดนไทย-ลาว
นอกจากนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมโมนาช ออสเตรเลีย ซึ่งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้สนับสนุนให้ทบทวนอีไอเอ ก็ได้ระบุในรายงานทบทวนอีไอเอว่า “รายงานไม่สามารถยอมรับได้ด้วยเหตุผลหลายประการ เนื้อหาส่วนใหญ่อยู่บนฐานของการคาดเดา ข้อมูลที่ใช้นั้นไม่เพียงพอ และผลกระทบในระยะยาวแทบจะถูกมองข้ามไปทั้งหมด และผลกระทบ (ทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม) ก็ถูกเพิกเฉย”

จวบจนปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ระดับสูงจำนวนมากในหลายประเทศน้ำโขงก็ยังไม่ตระหนักถึง ผลกระทบของโครงการนี้ต่อประชาชนของตนเอง แม้จะมีผู้ที่เป็นห่วงในปัญหานี้ แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีรัฐบาลใดออกมาเรียกร้องให้ทบทวนโครงการ หรือตั้งคำถามกับจีน ไม่แม้กระทั่งพยายามทำให้โครงการปฏิบัติตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสังคมของประเทศตน
ในขณะเดียวกัน ประเทศท้ายน้ำก็ดูเหมือนว่าต้องแบกรับภาระข้ามพรมแดนซึ่งเกิดจากโครงการพัฒนาแม่น้ำโขงตอนบน โดยที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อนมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างล่าสุดคือ ปัญหาสาธารณสุข ดังเช่นที่หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๖ รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ จ.เชียงราย เป็นอีกพื้นที่หนี่งที่เป็นปัญหาเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรค เพราะมีเรือส่งสินค้าต่างชาติเข้ามาจำนวนมาก ลูกเรืออาจนำโรคเข้ามาด้วย โดยเฉพาะเอดส์

ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในจีนและการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเพื่อการเดินเรือพาณิชย์เป็นสัญญาณที่เตือนว่า การพัฒนาในลุ่มน้ำโขง ได้สร้างปัญหาที่มีลักษณะข้ามพรมแดนมากขึ้นเรื่อยๆ และท้าทายผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองผู้มีอำนาจในการตัดสินใจ ข้าราชการ แหล่งเงินทุนสนับสนุนการพัฒนา และภาคประชาสังคม รวมถึงชุมชนสองฝั่งลำน้ำโขง ว่าจะร่วมมือกันรับมือกับปัญหาลักษณะนี้ได้อย่างไร

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา