eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ลอยไปกับสายน้ำ: “ความจริงจากคนท้ายน้ำ: ผลกระทบข้ามพรมแดนจากโครงการพัฒนาบนแม่น้ำโขง”

สุมาตร ภูลายยาว
ตีพิมพ์ครั้งแรก แทบลอยด์ หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ วันที่ ๑๒-๑๘ ตุลามคม ๒๕๕๑

แม่น้ำโขงจากหลังคาโลกสู่ทะแลจีนใต้
แม่น้ำโขงได้รับการจัดอันดับว่าเป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับ ๑๐ ของโลกครอบคลุมพื้นที่ ๖ ประเทศคือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม มีผู้คนมากกว่า ๖๐ ล้านคนได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้ในด้านต่างๆ ทั้งทำการประมง ทำการเกษตร การขนส่ง และการคมนาคม

แม่น้ำโขงตอนบนมีลักษณะลาดชันไหลผ่านช่องเขาที่แคบเป็นแนวยาว แม่น้ำโขงตอนบนได้รับน้ำจากการละหายของหิมะเป็นส่วนใหญ่ พื้นที่แม่น้ำโขงตอนบนอยู่ในเขตปกครองตนเองของทิเบต และจีน

แม่น้ำโขงในส่วนตอนลกางมีลักษณะเป็นแก่ง และมีหน้าผาสูงอยู่ในแม่น้ำและตามริมฝั่ง ระดับน้ำในฤดูน้ำหลากและฤดูแล้งจะมีความแตกต่างกันถึง ๒๐ เมตร แม่น้ำโขงตอนกลางได้รับน้ำจากปริมาณน้ำฝน และแม่น้ำสาขาขนาดใหญ่เป็นหลัก ในส่วนของประเทศไทยนั้น พื้นที่ลุ่มน้ำโขงส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งจัดว่ามีขนาดของพื้นที่ลุ่มน้ำใหญ่เป็นอันดับ ๒ ของประเทศ พื้นที่แม่น้ำโขงตอนกลางครอบคลุม ๓ ประเทศคือ พรมแดนพม่า-ลาว พื้นที่บางส่วนในภาคของลาว และพรมแดนลาว-ไทย

แม่น้ำโขงตอนล่างมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง และมีเกาะดอนเป็นจำนวนมาก พื้นที่ที่สำคัญของแม่น้ำโขงตอนล่างคือ สี่พันดอน ทะเลสาปเขมร และปากน้ำเวียดนาม โดยเฉพาะทะเลสาปเขมรนั้นถือว่าเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติที่สำคัญที่สุดในแม่น้ำโขงตอนล่าง
พื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่างครอบคุลมพื้นที่ของลาวตอนใต้ พรมแดนลาว-กัมพูชา และเวียดนาม

การพัฒนาแม่น้ำโขงเพื่อตอบสนองด้านพลังงานไฟฟ้า และการเดินเรือพาณิชย์

 โครงการพัฒนาแม่น้ำโขงเพื่อตอบสนองความต้องการด้านพลังงานไฟฟ้ามีมาตั้งแต่ราว พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยคณะกรรมการแม่น้ำโขงในขณะนั้น ได้นำเสนอแผนพัฒนาแม่น้ำโขง ภายใต้โครงการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และการชลประทานบนแม่น้ำโขง ในทศวรรษที่ ๑๙๖๐ โครงการเขื่อนที่ถูกนำเสนอโดยคณะกรรมการแม่น้ำโขง และเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายคือโครงการเขื่อนผามองที่มีกำลังผลิตติดตั้ง ๔,๘๐๐ เมกะวัตต์ มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ๓,๗๐๐ ตารางกิโลเมตร และต้องอพยพผู้คนที่จะได้รับผลกระทบมากถึง ๒๕๐,๐๐๐ คน แต่แผนการก่อสร้างก็ชะงักงันลง เพราะภูมิภาคอินโดจีนอยู่ในภาวะของสงคราม

ในขณะเดียวกันเมื่อเมื่อภาวะสงครามสิ้นสุดลงโครงการเขื่อนต่างๆ ที่ถูกนำเสนอก็เงียบหายไป แต่ใน พ.ศ. ๒๕๓๘ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงก็ได้พัฒนาข้อเสนอการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงใหม่อีกครั้ง ขณะเดียวกันที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้พัฒนาข้อเสนอการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงครั้งใหม่ แต่ในปี ๒๕๓๖ เขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงที่ชื่อว่า เขื่อนม่านวานก็ได้มีการดำเนินการก่อสร้าง โดยตัวเขื่อนมีความสูง ๑๒๖ เมตร มีกำลังผลิตติดตั้ง ๑,๕๐๐ เมกะวัตต์ เริ่มเปิดใช้งานในปี พ.ศ. ๒๕๓๙ เขื่อนแห่งนี้ตั้งอยู่ในมลฑลยูนาน

หลังจากจีนได้ดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงสำเร็จ โครงการพัฒนาต่างๆ จากประเทศที่ได้ชื่อว่าแผ่นดินใหญ่ก็ถาโถมลงมาสู่แม่น้ำโขง ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ โครงการระเบิดแก่งและปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้างจึงเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือจากรัฐบาลของทั้ง ๔ ประเทศคือ จีน พม่า ลาว ไทย และในปี ๒๕๔๕ การระเบิดเกาะ แก่ง บนแม่น้ำในตอนบนจึงเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อการระเบิดแก่งในระยะแรกสิ้นสุดลงชาวบ้านสองฝั่งโขงตั้งแต่เมืองกวนเหลยลงมาจนถึง อำเภอเชียงแสนจึงได้เห็นเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ล่องขึ้น-ลงในแม่น้ำโขงแทบทุกวัน

ภายหลังที่เขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำโขงถูกสร้างขึ้นมาสำเร็จ จีนก็ได้ออกแบบและทำการศึกษาการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนบนอีกหลายเขื่อน โดยเขื่อนที่สร้างเสร็จแล้วคือเขื่อนต้าเฉาชาน เขื่อนจิงฮง ส่วนเขื่อนที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้างและเตรียมการก่อสร้างคือเขื่อนเชี่ยวหวาน เขื่อนกงก่อเฉี่ยว เขื่อนนัวชาตู้ เขื่อนเมซอง

เมื่อหลายประเทศได้เห็นการพัฒนาที่ชื่อว่าเขื่อนบนแม่น้ำโขงมีความเป็นไปได้ และมีการทำจนสำเร็จ นักสร้างเขื่อนจากหลายประเทศจึงพากันกรีฑาทัพเข้าสู่สนามรบแห่งการพัฒนานี้ด้วย

ภายใต้วาทะกรรมที่ว่า จีนสร้างเขื่อนได้เราก็สร้างได้ และแม่น้ำไหลผ่านไปหาได้ให้ประโยชน์อะไรไม่ เราสร้างเขื่อนจากน้ำที่ไหลเรายังได้ใช้ไฟฟ้า หลายประเทศจึงส่งผ่านความคิดเหล่านี้สู่แม่น้ำโขง และโครงการก่อสร้างเขื่อนบนพื้นที่แม่น้ำโขงตอนกลาง ตอนล่างจึงเกิดขึ้น โดยเขื่อนๆ ต่างที่จะเกิดขึ้นบนแม่น้ำโขงมีรายชื่อดังนี้ เขื่อนปากแบ่ง เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนไซยะบุรี เขื่อนปากลาย เขื่อนสานะคาม เขื่อนปากชม เขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนลาดเสือ เขื่อนดอนสะฮอง เขื่อนซำบอ

ผลกระทบข้ามพรมแดนจากการพัฒนาแม่น้ำโขงด้วยการสร้างเขื่อนและการระเบิดแก่งเพื่อเดินเรือพาณิชย์

            ในขณะเดียวกันโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นมาก่อน เช่น การสร้างเขื่อนในจีน และการระเบิดแก่งเพื่อการเดินเริอพาณิชย์ได้สร้างผลกระทบมากมาย แต่นักสร้างเขื่อนผู้อุปโลกตัวเองว่าเป็นนักพัฒนาก็หาได้สนใจกับผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างจริงจัง โดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่อชาวบ้านในประเทศท้ายน้ำที่หลากหลายอาชีพ ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นสามารถสรุปได้ดังนี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงของปริมาณการไหลของน้ำ น้ำในแม่น้ำโขงเร็วเร็ว และแรงขึ้นกว่าเดิม ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงของการขึ้น-ลงของระดับน้ำ ระดับน้ำมีการขึ้น-ลงไม่เป้นปกติ เช่น ๓ วันขึ้น ๒ วันลง และนอกจากนั้นยังส่งผลเกิดอุทกภัยทั้งที่ปริมาณน้ำฝนมีไม่มากพอ ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการพังทะลายของตลิ่ง จากการไปลเร็วและแรงของน้ำส่งให้ติล่งริมฝั่งแม่น้ำที่เป้นดินร่วนปนทรายได้เกิดการพังทลายลง นอกจากนั้นประการสำคัญการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของการขึ้นลงของระดับน้ำยังส่งผลให้เกิดการลดลงของพันธุ์ปลา และจำนวนของปลาอีกด้วย  ผลกระทบที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นผลพวงมาจากโครงการพัฒนาที่เกิดขึ้นบนแม่น้ำโขงทั้งสิ้น 

            แม้ว่าในวันนี้โครงการการสร้างเขื่อนในหลายพื้นที่ยังไม่มีความคืบหน้า แต่เราในฐานะผู้คนที่อาศัยอยู่ในประเทศท้ายน้ำได้แต่หวังว่า โครงการพัฒนาใดๆ ก็ตามที่จะเกิดขึ้นบนแม่น้ำโขง และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนท้ายน้ำ ขอให้ประชาชนผู้ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้เข้าไปมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่า เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับโครงการพัฒนาที่กำลังจะเกิด และที่สำคัญของให้ผู้เดินทางเข้ามาในนามของนักสร้างเขื่อนโปรดรับรู้ไว้ด้วยว่า ความจริงจากคนท้ายน้ำที่ได้นำเสนอมานั้นเป็นความจริงที่เจ็บปวดของคนผู้ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้มาหลายชั่วอายุคน

            หากวันใดวันหนึ่งที่แม่น้ำโขงทั้งสายหยุดไหล ความทุกข์ครั้งใหญ่จะอยู่กับผู้ใดถ้าไม่ใช่ผู้คนในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงแห่งนี้...      

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา