eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

ชีวิต อาหาร และสายน้ำโขง

โดย สายใจ เลี้ยงพันธุ์สกุล นักศึกษาฝึกงานโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
จาก Middlebury College

เชียงของ...เมืองเปี่ยมเสน่ห์ ริมน้ำโขง ที่โอบด้วยขุนเขา... ผู้คนหลากหลายผ่านเชียงของเพื่อเดินทางไปหลวงพระบาง เชียงของก็พอใจในฐานะเมืองทางผ่าน...แต่ความจริง ดอกไม้ระหว่างทางงดงามไม่แพ้จุดหมาย.. ใครจะนึกว่าเมืองน้อยริมฝั่งโขงครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ประทับขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เสด็จมาโปรดเวไนยสัตว์ เทศนาสั่งสอนชาวบ้าน... อีกทั้งยังมีประศาสตร์อันยาวนานเป็นที่หมายปองของอาณาจักรน้อยใหญ่ ทั้งพม่า และกรุงศรีอยุธยา เชียงของมีประชากรหลายชาติพันธุ์ที่ร่วมแบ่งปันสายน้ำ  ทั้งชาวไทลื้อ ลาว ขมุ มูเซอ แม้ว และเย้า

ชาวไทลื้อ และชาวลาว ที่อาศัยอยู่ริมฝั่งโขง  มีสายน้ำคือแหล่งอาหารที่หล่อเลี้ยงชีวิต รวมถึงระบบนิเวศ และฝูงปลา ต่างอาศัยสายน้ำ เป็นที่พึ่งพิง...ตะวันทอแสง วันใหม่เริ่มต้น พร้อมกับกลิ่นหอมละมุน ที่ลอยมาจากครัว... แม่หญิงในหมู่บ้าน บรรจงห่อใบตองปิ้งข้าวเหนียว  และแกงปลาหอมกรุ่น ลอยมาแต่ไกล

ปลาจากน้ำโขง...เป็นอาหารหลักของที่นี่...ปลาถูกนำมาแปรรูป เพื่อเก็บไว้กินในฤดูถัดไป ...แต่ความลับของการมีปลากินตลอดปี มิใช่เพียง การ เก็บปลาใส่ไห ทำปลาร้า ปลาแห้ง... แต่คือการแบ่งปันปลาที่มีแก่เพื่อนบ้าน... น้ำใจแห่งการให้และการแบ่งปัน ทำให้ผู้ให้มีปลากินตลอดปี..

เพียงแค่ส่วนผสมง่ายๆ ที่หาได้ตามท้องถิ่น พริกแห้ง หอม กระเทียม ปลาจากริมฝั่งโขง และ  พืชผักตามฤดูการ แม่หญิงก็สามารถนำมาดัดแปลง สร้างสรรค์ เป็นเมนูอาหารหลายสิบชนิด

สูตรอาหารหนึ่งสูตร ได้ผ่านการคิดค้น ลองผิดลองถูก มาหลายชั่วคน..

กว่าแม่หญิงจะรู้ว่าใบย่านางข้างรั้วบ้านสามารถคั้นน้ำ ช่วยเพิ่มความอร่อยให้แก่หน่อไม้.... ไม่รู้ว่าใบไม้กี่ชนิดได้ถูกนำมาทดลอง ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่า  และความลับของธรรมชาติได้ถ่ายทอดสืบต่อกัน หลายยุคหลายสมัย ..

การที่แม่ครัวประดิษฐ์คิดค้นสูตรอาหาร ก็ยิ่งใหญ่ไม่ต่างอะไรกับการที่วิศวะกรคิดค้นโปรแกรมคอมพิวเตอร์...

ในยุคที่วัฒนธรรมตะวันตกโหมกระหน่ำ... อาหารฟ้าสฟู๊ดกลายเป็นค่านิยมของคนเมือง  ความสะดวก รวดเร็ว ในการปรุงและกินอาหาร ได้มาพร้อมกับการหายไปของความสุขเล็กๆ ของการบรรจงประดิษฐ์ใบตอง และความสุขที่ได้เห็นแกงเดือด ส่งกลิ่นหอมเย้ายวล  

สำหรับชาวไทลื้อ และชาวลาวริมฝั่งโขง การกินมิใช่เพียงเพื่ออิ่มท้อง แต่ยังเป็นช่วงเวลาอันงดงามที่ครอบครัวได้อยู่พร้อมหน้า  อาหารได้กลายเป็นตัวกลางในการเชื่อมสัมพันธ์ของครอบครัว กลิ่นหอมจากข้าวเหนียวร้อนๆ มอกหน่อ และ ลาบได้นำลูกๆ หลานมาล้อมวงรวมกัน

อาหาร คือสิ่งที่ร้อยโยงมนุษย์ กับธรรมชาติ..วันหนึ่งมนุษย์ต้องกินอาหาร 3 มื้อเพื่อการดำรงอยู่  ...การกินไม่ใช่เพียงแค่ให้ท้องอิ่ม แต่ควรเป็นช่วงเวลาที่เราน่าจะระลึกถึงคุณของธรรมชาติ...ที่ธรรมชาติได้เสียสละเพื่อการเจริญเติบโตของมนุษย์  อาหารจากธรรมชาติ...คือพลังงานที่ขับเคลื่อนชีวิต

อาหารยังได้ย้ำเตือนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ กับ ธรรมชาติ...ว่าที่จริงมนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และธรรมชาติก็เป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์ ที่ต่างก็พึ่งพาอาศัยกันและกัน...ผักบุ้งน้อยจากดิน ถูกย่อยเข้าสู่กระเพาะอาหาร เป็นส่วนหนึ่งของร่างกายมนุษย์...และสุดท้าย ร่างกายมนุษย์ก็จะถูกย่อยสลาย กลับคืนสู่ดินเป็นปุ๋ยแก่ผักบุ้ง วัฏจักรแห่งการเกื้อกูลหมุนเวียนต่อไป...

อาหาร..ยังลดความอหังการของมนุษย์ และย้ำเตือนว่ามนุษย์ ยังต้องพึ่งพาธรรมชาติ ไม่ว่าเราจะเหยียบดวงจันทร์  ประดิษฐ์จรวด ปลูกถ่ายยีนส์ พยามยามที่จะควบคุมและเอาชนะธรรมชาติ....ความหิวย้ำเตือนว่า... ไม่ว่าโลกจะก้าวไปไกลขนาดไหน มนุษย์ยังต้องการ ข้าว และ น้ำ จากดิน

อาหาร และวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ และชาวลาวผูกพันกับลำน้ำโขง...ชาวบ้านได้ปลาจากสายน้ำ และได้ข้าว จากดิน... อาหารที่ได้มาแลกด้วยจิตสำนึกในบุญคุณของธรรมชาติ...ชาวบ้านรักสายน้ำและผืนดิน...ชาวเมืองได้ข้าวและปลาจากซุปเปอร์มาเก็ตใกล้บ้าน..ปลา ข้าว และ น้ำ ถูกนำมาตีค่าตามหลักเศรษฐศาสตร์..อาหารที่ได้มาแลกด้วยเงินตราที่จ่ายไปพร้อมกับการหายไปแห่งจิตสำนึก... วันเวลาเปลี่ยนไป...การกินไม่ได้เป็นช่วงเวลาพิเศษที่เราได้นึกถึงคุณของธรรมชาติอีกต่อไป...แต่เป็นเพียงกลไกหนึ่งที่มนุษย์ตอบสนองความต้องการของร่างกาย..

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา