eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เมื่อโขงแล้ง
จะว่าเขื่อน หรือห่วงนิเวศวัฒนธรรม

โดย : คณะสำรวจนิเวศวัฒนธรรมแม่น้ำโขง ภาคอีสาน

“เมื่อก่อนฝนแล้ง น้ำโขงก็ยังไม่แห้งขนาดนี้ …ผมเห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนปากชม ถ้ามีคนคัดค้านเขื่อน ผมจะเป็นแกนนำให้คนที่อยากได้เขื่อน ทำไม ๖ ประเทศลุ่มน้ำโขงต้องให้จีนควบคุมน้ำโขงอยู่ประเทศเดียว จีนสร้างเขื่อนได้เราก็สร้างเขื่อนได้” สมบูรณ์ สนทา อาชีพเรือจ้างท่องเที่ยว แห่งแก่งคุดคู้ ต.เชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย

“น้ำโขงแห้งยิ่งมากก็ยิ่งหาทองได้เยอะ ถามเรา เราก็ว่าน้ำแห้งแหละดี แต่ถ้ามองส่วนรวมก็ไม่อยากให้มันแห้ง ไม่อยากมองแบบเห็นแก่ตัว ถ้าไม่มีน้ำคนจะใช้น้ำก็ลำบาก” บุญล้อม สุขใส คนเล่นคำแห่งบ้านห้วยซวก ต.บุฮม อ.เชียงคาน จ.เลย

“ที่นี่ปลูกพริกและเก็บเกี่ยวได้ปีชนปี ใช้น้ำในห้วยหนองน้ำทา ปีนี้ฝนตกช้า ถ้าน้ำในห้วยแห้งต้องสูบน้ำโขงขึ้นมาใช้ 3 ปีมาแล้วที่น้ำโขงแห้งแบบนี้ แต่ปีนี้แห้งกว่าทุกปี” กัญญาวี อุดมศิลป์ เกษตรกร บ้านพระบาท ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

“ถ้าน้ำในห้วยแห้ง น้ำโขงแห้ง ผลกระทบก็พอกัน มันกระทบถึงกันหมด น้ำโขงไม่ท่วมห้วยไม่มีปลา เพราะแถวนี้เค้าหาปลากันในห้วย ถ้าน้ำโขงไม่แห้งก็ไม่มีที่ปลูกผัก” สมชาย หวนชัยภูมิ เกษตรกร บ้านท่ากฐิน ต.บ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

“เดี๋ยวนี้น้ำขึ้นหลายก็โทษจีน น้ำแห้งหลายก็โทษจีน มันแม่นอยู่ บ่” หนูจัน ชาวผาตั้ง ชาวประมงบ้านผาตั้ง ต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย

…เลียบริมน้ำโขง จากเชียงคาน จ.เลย จ.หนองคาย ถึง จ.นครพนม ข่าวคึกโครมเรื่องน้ำโขงแห้งที่สุดในรอบ ๕๐ ปี พร้อมข้อมูลที่หลากไหลไม่หยุดยั้ง ถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจ เรือสินค้าเกยตื้น สินค้าเกษตร และพื้นที่เกษตรเสียหาย รวมถึงความผิดปกติของธรรมชาติที่เห็นอย่างชัดเจน ทำให้ชาวบ้านริมโขงตื่นตัวอย่างสูงกับความเปลี่ยนแปลงที่ผิดสังเกตของระดับน้ำ

ด้าน คณะกรรมการแม่น้ำโขง Mekong River Commission (MRC) วิเคราะห์ว่า การที่น้ำในแม่โขงและลำน้ำสาขาแห้ง เป็นผลมาจากธรรมชาติ ที่ฝนตกน้อยลงและหน้าฝนสิ้นสุดเร็วขึ้น ตัวอย่างเช่น ที่เชียงแสน ฤดูน้ำหลากของปี ๒๐๐๙ สิ้นสุดลงเร็วกว่าปกติถึงเดือนครึ่ง และปริมาณน้ำฝนทั้งเดือนกันยายนและตุลาคม ๒๐๐๙ ต่ำกว่าอัตราเฉลี่ย ๓๐%

แต่หากจะมองตัวเลขก่อนหน้าที่เจ้าหน้าที่ของไทย จีน และ MRC มักจะนำมากล่าวอ้างว่า น้ำจากแม่น้ำโขงในส่วนที่อยู่ในจีนมีปริมาณเพียง ๑๖% ของปริมาณน้ำทั้งหมดในลุ่มน้ำ ส่วนลุ่มน้ำสาขาของแม่โขงที่ไหลอยู่ในไทย ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ให้น้ำแม่โขงมากถึง ๙๔% เพื่อพยายามอธิบายว่าเขื่อนในจีนไม่ได้มีผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อระดับน้ำที่ต่ำมากของแม่น้ำโขงในปัจจุบัน แต่ตัวเลข ๑๖% นั้น เป็นตัวเลขเฉลี่ยของลุ่มน้ำทั้งหมดที่วัดจากปริมาณน้ำตรงปากแม่น้ำในเวียดนามที่ไหลลงทะเล ซึ่งหากวัดกันที่เชียงแสนที่อยู่เหนือน้ำขึ้นไปใกล้กับชายแดนจีนแล้ว ตัวเลขนี้อาจจะแตกต่างกัน ๘๐-๙๐% เลยก็ได้

ฉะนั้นถ้าระดับน้ำตรงเชียงแสนต่ำมากกว่าปกติเป็นประวัติการณ์ ก็คงจะตีความอะไรไม่ได้นอกจาก เขื่อนในจีนเก็บน้ำไว้ เพราะลุ่มน้ำสาขาในเชียงรายย่อมไม่สามารถก่อให้เกิดภาวะแห้งแล้งหนักอย่างที่เป็นอยู่  แต่ก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าความแห้งแล้งที่เกิดขึ้นปีนี้ หนักหนาสาหัสกว่าที่เคยเป็นมาในรอบ ๕๐ ปี เมื่อเป็นเช่นนั้น การเก็บกักน้ำของเขื่อนในจีนก็เพียงเพิ่มความสาหัสให้กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่

แต่การมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยพุ่งเป้าไปที่ “เขื่อน” เพียงประการเดียวเพียงพอหรือไม่

ยิ่งกรมชลประทานเสนอวิธีแก้ปัญหาน้ำโขงแล้ง-ท่วม ด้วยการสร้างเขื่อน ฝาย หรือจะสร้างประตูน้ำในแม่น้ำสาขาทุกสายที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ ปัญหาในแม่น้ำโขงก็ยิ่งกลายร่างไปเป็นเครื่องมือในการผลักดันเมกกะโปรเจคการจัดการน้ำรูปแบบต่างๆ ที่กำลังนำพาระบบนิเวศวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำโขงไปสู่หายนะมากยิ่งขึ้น

ลุ่มน้ำโขงในประเทศไทยมีแม่น้ำสาขา ห้วย คลอง หนอง บึง และทะเลสาบถึง ๑๖,๐๔๒ แห่ง ครอบคลุมเนื้อที่ ๒,๓๖๐ ตารางกิโลเมตร ในจำนวนนี้เป็น แม่น้ำ ห้วย ลำคลอง ๘,๖๖๗ แห่ง หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ ๖,๗๕๑ แห่ง พื้นที่ชุ่มน้ำ ๔๖๓ แห่ง และอื่นๆ ๑๖๑ แห่ง (สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม, ๒๕๔๒) แม่น้ำโขงในไทยยังมีความแตกต่างของระดับน้ำในฤดูแล้งกับฤดูน้ำหลากมากกว่า ๒๐ เมตร สำหรับผู้คนริมโขง ๖ จังหวัดของภาคอีสาน พวกเขายังคงปรับตัว พึ่งพา และอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ สร้างรูปแบบของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมมาตามระบบนิเวศของลุ่มน้ำโขงจากหลายชั่วคนจนมาถึงทุกวันนี้

ริมน้ำโขงแห้งขอดยามเช้าหน้าหมู่บ้านเชียงคาน ต.เชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย สายหมอกและควันไฟยังคงปกคลุมเหนือสองฝั่งน้ำรางเลือนถึงยอดเขา กลุ่มสาวสูงวัยนั่งพูดคุยกันอยู่บนแคร่หน้าบ้าน แม่ใหญ่ใหม่ กันหาเขียว กำลังนั่งขอดเกล็ดปลาตัวเล็กๆ หลายสิบตัวในกะละมัง เธอบอกว่าเพิ่งไปวางตาข่ายหามาได้เมื่อเช้า

แม่ใหญ่คูน บานจูม บอกว่า น้ำโขงแห้งมากมา ๑๐ กว่าปีแล้ว ส่วนแม่น้ำเหือง และแม่น้ำเลย ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาไหลลงสู่แม่น้ำโขงใน ต.เชียงคาน ก็น้ำน้อยลงเหมือนกันในหน้าแล้ง

แม่ใหญ่ใหม่ ยืนยัน ชาวบ้านเชียงคานที่ยังประกอบอาชีพประมงและเกษตร ถึงจะรู้ข่าวว่าน้ำโขงจะแห้งลงกว่าปีนี้อีก ก็ไม่ถึงกับตกใจมากมายเหมือนสังคมข่าว เพราะพวกเขาชินกับระดับน้ำโขงที่จะลดลงตามฤดูแล้งในธรรมชาติ พวกเขายังเชื่อมั่นต่อธรรมชาติ ต่อแม่น้ำโขง และเชื่อมั่นว่าวิถีชีวิตลูกแม่น้ำโขงจะดำรงสืบไปหากไม่มีการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้น

 “เป็นธรรมชาติที่เห็นมาตลอดชีวิต หน้าแล้งน้ำมันก็ต้องแห้งเป็นธรรมชาติของมัน น้ำโขงมันจะแห้งหมดไปเลยหรือ ในชีวิตไม่เคยเห็น ไม่เป็นหรอกแบบนั้น” แม่ใหญ่ใหม่ พูด  

...น้ำโขงไหลเอื่อย ผ่าน ต.เชียงคาน ต.บุฮม อ.เชียงคาน ถึง ต.ปากชม ต.ห้วยพิชัย ต.หาดคัมภีร์ อ.ปากชม สภาพนิเวศแม่น้ำโขงมีทั้ง ดอน โขดหินก้อนใหญ่ แก่ง คก มีหาดทรายงอกยาว และมีดอนบุ่งที่มีพืชปกคลุมหลายชนิดและมีน้ำขังเป็นแอ่งๆ วัวกำลังและเล็มหญ้า นกเป็ดน้ำ นกนาๆ บินเวียนหาอาหาร

พื้นที่ริมน้ำโขงที่เป็นภูเขาลอนคลื่นเรียงรายชาวบ้านใช้เป็นพื้นที่ปลูกพืชไร่ เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง ถั่วดำ ถั่วแดง ยาสูบ มีสวนมะขาม มะม่วง มะพร้าว มะละกอ ส้มโอ กล้วย ที่เก็บเกี่ยวผลผลิตและแปรรูปเป็นสินค้าเป็นวิถีที่สร้างรายได้ไปตามฤดูกาล ในหลายพื้นที่บนเนินเขาเริ่มแพร่ระบาดด้วยพืชเชิงเดี่ยว เช่น สวนยางพารา และสวนปาล์ม ตามแรงสนับสนุนจากกระทรวงเกษตรฯ ที่ต้องการจะขยายพื้นที่ปลูกยางในภาคอีสาน

สุทิน นั่งอยู่บนเพิงไม้ไผ่ริมฝั่งที่ปูลาดด้วยหาดหินกลมเกลี้ยงขนาดใหญ่หน้าหาดแก่งคุดคู้ เขาและเพื่อนๆ นั่งมองกระแสน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลโค้งเป็นรูปหักศอก สันดอนทรายโผล่พ้นน้ำเป็นแนวยาวทอดถึงแก่งหิน ตลอดระยะเวลากว่า ๓๐ ปีที่แก่งคุดคู้เปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพิ่งจะมีปีนี้ที่น้ำโขงแห้งที่สุด

“เกิดมาเพิ่งเคยเจอ เพราะจีนสร้างเขื่อน ฝนก็ไม่ตกตามฤดูกาล เมื่อก่อนเดือน ๓ เดือน ๔ ฝนก็ตกแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่ใช่ ไฟก็ไหม้ป่า หมอกควันมีอยู่ทั้งวันทั้งคืนจนมองภูเขาไม่ชัด” สุทินยังเล่าต่อถึงการถางป่าเผาไร่เพิ่มขึ้นเพื่อทำการเกษตร เขากังวลด้วยว่าน้ำโขงจะแห้งลงจนเดินเรือไม่ได้ รวมถึงน้ำโขงจะไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูกของเกษตรกรที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวและพืชนอกฤดูกาลกันมากขึ้น

ออกจากแก่งคุดคู้ที่บ้านน้อย ตามรายทางชาวบ้านนิยมปลูกมะพร้าว และแปรรูปมาเป็นสินค้ามะพร้าวแก้ว ยังมีกล้วยทอด กล้วยตาก ผลไม้ในท้องถิ่นที่นำมาแปรรูปอีกหลายชนิดที่นำมาวางขายรายเรียงข้างทางในหมู่บ้าน

เมื่อกลับเข้าสู่ถนนสายเลียบแม่น้ำโขงสาย ๒๑๑ ไปยัง จ.หนองคาย จะถึงบ้านคกไผ่ นิเวศแม่น้ำโขงช่วงนี้เป็นวังน้ำลึก เวลาน้ำหลากก็จะไหลวนไปมา แล้วหยุดไหลวนเมื่อถึงเวลาน้ำลด คนถิ่นจะเรียกว่า คก หรือ วัง ที่ตรงนี้เป็นจุดผ่านแดนถาวรที่ใช้ขนส่งสินค้า ขนแร่ และให้คนสองฝั่งโขงข้ามไปมาหาสู่กันได้ทุกวัน

มาถึงแก่งฟ้า บ้านห้วยซวก ถึงหาดเบี้ย จนถึงบ้านห้วยขอบ ต.หาดคัมภีร์ แหล่งร่อนทองของชาวบ้านที่สร้างรายได้จากการขุดทรายในแม่น้ำโขงขึ้นมาร่อนจนได้ทองฤดูกาลคนละหลายหมื่นบาท(ต่อคน?) ชาวบ้านเรียกอาชีพนี้ว่า “เล่นคำ”

การเล่นคำจะทำในช่วงน้ำโขงลดระดับต่ำสุดในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน เป็นอาชีพที่ชาวบ้านฝั่งไทยและลาวทำกันมาตั้งแต่โบราณ ทองที่ร่อนได้จะมีเถ้าแก่ร้านทองจาก อ.ปากชม ๒ เจ้า มารับซื้อในวันพระ เพราะชาวบ้านจะอยู่บ้านไม่ออกไปร่อนทองหรือทำนาทำสวน ราคาขายกรัมละ ๙๑๐-๙๒๐ บาท

บนหาดเบี้ยคึกคักไปด้วยนักเล่นคำ บุญล้อม สุขใส เล่าว่า ในชีวิตเคยเห็นน้ำโขงลดลงมากแบบนี้มา ๓ ครั้ง แต่ขณะที่อาชีพของเธอน้ำโขงยิ่งแห้งยิ่งหาทองได้มาก เธอกลับมองถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก เพราะน้ำโขงคือสายเลือดที่หล่อเลี้ยงผู้คนและธรรมชาติของลุ่มน้ำในทุกมิติ ดังนั้นน้ำโขงควรจะไหลไปอย่างเป็นธรรมชาติ บุญล้อมยังมองสาเหตุของน้ำโขงแห้งไกลไปกว่าเขื่อนด้วยว่า

“น้ำโขงแห้งเกิดจากผลกระทบหลายอย่าง ป่าหมด โลกร้อน เขื่อน เกษตร ถ้าเราเคยทำสวนได้ ๑ แสน ปีหน้าก็อยากจะได้มากขึ้น ก็ต้องใช้น้ำเยอะขึ้น ต้องการน้ำมากขึ้น เหมือนเราหาทองวันนี้ได้เท่านี้ ถ้าอยากได้มากขึ้น ก็อยากให้น้ำโขงแห้งมากกว่านี้ มันไม่พอเพียง ได้ ๑ จะเอา ๒ เหมือนทำไร่เปิดป่าเข้าไปเรื่อยๆ เกิดภัยแล้ง มันต้องพอเพียงถึงจะอยู่ได้”

บนถนนสายเดิมสู่ จ.เลย มีชาวบ้านเก็บหินเบี้ยจากน้ำโขงขึ้นมาวางกองไว้ตามริมทาง รอขายให้กับพ่อค้าต่างถิ่นที่จะมารับซื้อในราคากิโลละ ๓ บาท เพื่อนำไปขายต่อให้กับผู้รับเหมาก่อสร้างหรือนักแต่งสวน

หลายตำบลที่ผ่าน หากนับห้วยจะได้ประมาณ ๔๕ ห้วยที่ไหลลงแม่น้ำโขง เช่น ห้วยปิงใหญ่ ห้วยลาดแห้ง ห้วยเลา ซึ่งแห้งสนิท และยังสะท้อนไปถึงพืชผลที่ปลูกในแถบนี้จะเป็นพืชที่เติบโตได้โดยใช้น้ำน้อย เช่น ยาสูบ สวนมะขาม

แต่เมื่อเข้าเขต ต.ห้วยพิชัย บริเวณดอนตาเปี้ย จนถึงเขต ต.หาดคัมภีร์ จะเห็นไร่พืชผัก เช่น มะเขือเทศ ไร่พริก ชูใบเขียวสะพรั่งอยู่บนดอนขนาดใหญ่และผืนดินกว้างบริเวณริมโขงที่ผุดขึ้นมาในช่วงน้ำลด สภาพพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านสามารถทำการเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปี แต่พอเลยเขต ต.หาดคัมภีร์ ถึง อ.สังคม น้ำโขงที่เคยกว้าง ตื้น มีดอนทรายมาก ก็เริ่มบีบตัวแคบและไหลเชี่ยวผ่านดอนจันทร์ ผ่านแก่งจันทร์ จนไหลเข้าเขตหุบเขาสูงชัน

 

…แม่ใหญ่หนูจัน ชาวผาตั้ง นั่งผิงไฟอยู่บริเวณท่าเรือบ้านผาตั้ง ต.ผาตั้ง น้ำโขงที่ไหลเข้าช่องเขาไทย – ลาว จุดวัดระดับน้ำของกรมทรัพยากรน้ำ และน้ำโขงในช่วงนี้อดีตเคยถูกกำหนดให้สร้างเขื่อนผามอง

ความลึกของลำน้ำในบริเวณนี้ลึกพอที่จะเป็นแหล่งอาศัยของปลาบึก และยังลึกพอที่จะทำให้ชาวประมงสามารถออกเรือไปวางตุ้มปลาอ้วนๆ ขนาดมโหฬารได้ตามปกติในหน้าแล้งที่สุดในรอบ ๕๐ ปี

“น้ำปีนี้แห้ง ลดลงทุกปี น้ำแห้งหลายก็ขึ้นหลาย แต่น้ำแห้งก็ไม่เดือดร้อน เพราะพอเดือน ๘ น้ำก็ขึ้น ...เดี๋ยวนี้น้ำขึ้นหลายก็โทษจีน น้ำแห้งหลายก็โทษจีน มันแม่นอยู่ บ่” แม่ใหญ่หนูจัน พูดอย่างยิ้มๆ กับโชคชะตาที่เธอกับชาวผาตั้งไม่ได้เลือกที่จะตั้งรกรากบนพื้นราบริมน้ำที่สามารถเพาะปลูก แต่กลับเลือกน้ำโขงในช่องเขาเป็นถิ่นฐาน

ตั้งแต่เขต อ.สังคม ผ่านวังน้ำลึกที่ผาตั้ง แล้วลงเนินเข้าสู่เขตพื้นที่ ต.พระพุทธบาท ตำบลบ้านหม้อ อ.ศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ อำเภอเมือง จ.หนองคาย สภาพลำน้ำโขงเริ่มกว้างขึ้น มีหาดทราย ดอนทราย มีโขดหิน ผาหินในบางจุด แล้วพื้นที่ราบลุ่มแห่งการเกษตรก็ค่อยๆ ปรากฏแก่สายตา มีทั้งข้าวนาปี นาปรัง ข้าวโพด มะเขือเทศ พริก มะเขือยาว แตงกวา ยาสูบ ที่ราบเชิงเขาบริเวณนี้ยังขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งปลูกกล้วยน้ำว้า กล้วยหอม แหล่งใหญ่ของภาคอีสานมานานนับสิบปี และเพราะพื้นที่อยู่ติดเชิงเขา ลมไม่แรง ในช่วงแล้งนี้ก็มีทั้งการเก็บผลตัดใบกล้วยส่งขายทั้งอุดรธานี สกลนคร ยโสธร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี ดังนั้นของฝาก เช่น แหนม หรือหมูยอห่อใบตองอันโด่งดังในแถบจังหวัดภาคอีสาน ส่วนใหญ่ก็ใช้ใบตองที่กำเนิดจากริมน้ำโขงในแถบนี้เอง  

ฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตรที่วนเวียนไปในทุกฤดูกาล ยังรวมถึงพริกที่บ้านพระบาท บ้านโคกซวก บ้านท่ากฐิน ต.บ้านหม้อ นอกจากเกษตรริมฝั่งจะลานตาไปด้วย มะเขือยาว บวบเกลี้ยง ถั่วฝักยาว ที่กำลังคอยเก็บเกี่ยวเช่นกัน ที่นี่คือถิ่นปลูกพริกลูกผสมของพริกขี้หนูไทยกับพริกขี้หนูเกาหลี ชื่อ “ซุปเปอร์ฮอท” แม้จะเป็นพริกที่ชาวบ้านไม่สามารถเพาะเมล็ดได้เอง แต่ก็ยังสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับเจ้าของแปลง และแรงงานชาวบ้านที่มารับจ้างเก็บพริกด้วย

เจริญ สุรินทร์ กับ กัญญาวี อุดมศิลป์ บ้านพระบาท อธิบายว่า หมู่บ้านในแถบนี้จะปลูกพริกเป็นเศรษฐกิจหลักมาแต่ดั้งเดิม พริกที่ปลูกในอดีตจนถึงปัจจุบันจะเป็นพริกท้องถิ่นชื่อ “เล็บมือนาง” พริกหยวก สามารถเก็บเมล็ดไว้ปลูกต่อในฤดูหน้าได้ ส่วนพริกที่มาแรงในระยะ ๔ ปีหลัง คือ ซุปเปอร์ฮอท มีทางบริษัทเข้ามาส่งเสริมให้ปลูก แต่ต้องซื้อเมล็ด ซึ่งพริกทั้งหมดสามารถเก็บเกี่ยวได้ตลอดทั้งปี เพราะการเพาะปลูกที่นี่ใช้น้ำในระบบสปริงเกอร์ที่สูบขึ้นมาจากห้วยหนองน้ำทา พริกทั้งหมดจะนำไปยังตลาดขายส่งใน จ.อุดรธานี

ส่วนค่าจ้างเก็บพริกซุปเปอร์ฮอทอยู่ที่กิโลละ ๖ บาท หากเก็บทั้งวันจะได้วันละประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ บาท พริกหยวกจ้างเก็บกิโลละ ๑ บาท ด้วยรายได้ที่เพียงพอทำให้ชาวบ้านในแถบนี้เลิกทำอาชีพประมง

 “ที่นี่ปลูกพริกและเก็บเกี่ยวได้ปีชนปี ใช้น้ำในห้วยหนองน้ำทา แต่ปีนี้ฝนตกช้า ถ้าน้ำในห้วยแห้งต้องสูบน้ำโขงขึ้นมาใช้ ๓ ปีมาแล้วที่น้ำโขงแห้งแบบนี้ แต่ปีนี้แห้งกว่าทุกปี ปีที่แล้วน้ำท่วม ขึ้น ๔ เมตรภายในวันเดียว ปลูกอะไรไว้เสียหายหมด” กัญญาวี พูด

เลยจากบ้านพระบาทมาถึงบ้านท่ากฐิน สมชาย หวนชัยภูมิ นับว่าเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า เขาเล่าว่าแปลงพริกของเขาใช้ปุ๋ยชีวภาพ จะใช้สารเคมีนานๆ ครั้งถ้ามีปัญหาแมลงศัตรูพืช ซึ่งผิดกับการปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อขายในแถบริมแม่น้ำโขง ที่ชาวสวนมักจะไม่คำนึกถึงสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และจะถูกชะล้างลงไปสะสมในห้วยในหนอง สุดท้ายก็ไหลลงสู่แม่น้ำโขง

ใน ต.บุ่งคล้า ก็เป็นแหล่งปลูกมะเขือเทศขายส่งโรงงาน บริษัทโรซ่าเกษตรอุตสาหกรรม จำกัด กับโรงงานไทยซุนผลิตอาหาร จำกัด รายได้เฉลี่ยมะเขือเทศสุกจะอยู่ที่ กิโลละ ๒-๕ บาท มะเขือเทศเขียวอยู่ที่กิโลละ ๔-๘ บาท ที่น่ากังวล คือปัญหาสารเคมีตกค้างในธรรมชาติที่ยังไม่มีการศึกษาอย่างจริงจังเป็นระบบ บวกกับวิถีการผลิตของเกษตรกรที่เปลี่ยนจากการทำอยู่ทำกินเป็นการพาณิชย์ ซึ่งพืชหลายชนิดได้รับการส่งเสริมหรือผูกขาดการเพาะปลูกกับนายทุน เช่น การปลูกมะเขือเทศ หรือพริก ผลผลิตเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกกำหนดให้ใช้ปุ๋ยเคมี และยาฆ่าแมลงเพื่อป้องกันศัตรูพืชแทบทั้งสิ้น

วิถีเกษตรประณีตที่เปลี่ยนเป็นเกษตรแผนใหม่ เกษตรกรที่ผูกเศรษฐกิจของครอบครัวไว้กับโรงงาน และการเกษตรที่ผืนกฎธรรมชาติ ยังสามารถพบได้จากนาข้าวหลายพันไร่ที่เขียวขจีตลอดทั้งปี เพราะอยู่ในพื้นที่ชลประทาน และโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากน้ำโขงของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ตั้งแต่ อ.สังคม จ.หนองคาย ถึง อ.บ้านแพง จ.นครพนม

ส่วนฝายใหญ่ เช่น ฝายห้วยโมง ต.น้ำโมง ที่ปิดกั้นแม่น้ำโมงซึ่งไหลผ่านทางตอนเหนือของ ต.ห้วยโมงไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ ต.ท่าโมง อ.ท่าบ่อ ณ เวลานั้นระดับน้ำในฝายห่างจากน้ำโขง ๗ เมตร และกำลังมีการขุดลอกลำน้ำ เพื่อสูบน้ำจากน้ำโขงเข้ามาในฝายได้มากขึ้น

จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ประจำฝาย ตลอดเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เครื่องสูบน้ำ ๔ หัวต้องสูบน้ำจากน้ำโขงเข้ามาในฝายทุกวัน เพื่อให้มีน้ำเพียงพอกับการเกษตรนอกฤดูในพื้นที่กว่า ๗๐,๐๐๐ ไร่

ในขณะที่จากเชียงคานถึงห้วยหลวง ลำห้วยทั้งหมดกว่า ๑๐๐  ลำห้วยที่จะไหลลงแม่น้ำโขง มีเพียงไม่กี่ห้วยที่ยังมีน้ำไหล หน้าดินบนภูเขาถูกเปิดใหม่เพื่อปลูกยางพารา-ปาล์ม-ยูคาอย่างกว้างขวาง หรือการปิดกั้นแม่น้ำสาขาด้วยฝายขนาดใหญ่ที่ ปากชม ห้วยน้ำโสม ห้วยโมง ห้วยหลวง เพื่อปลูกพืชในหน้าแล้ง เหล่านี้จะกลายเป็นวิกฤตแย่งชิงน้ำในภาคเกษตรที่รุนแรงในอนาคต และเกษตรกรจะต้องซื้อน้ำในราคาที่แพงขึ้น วิถีชีวิตที่เคยเลือกพืชพรรณไว้อย่างเหมาะสมตามสภาพพื้นที่และฤดูกาลกำลังจะหมดไป

รวมทั้งการให้สัมปทานดูดทรายที่หนาแน่นตลอดริมน้ำโขงทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาว ที่ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่ง การสูญเสียพื้นที่เกษตรริมฝั่งตามมา

การสำรวจน้ำโขงแห้ง จากเชียงคานถึงบ้านแพง ของคณะสำรวจนิเวศวัฒนธรรม ภาคอีสาน อาจตอกย้ำให้สังคมรับรู้ว่า ดอน หาด แก่ง คก โคก บุ่ง ผา ฯลฯ ที่น้ำโขงไหลผ่าน คือนิเวศและวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำโขงที่กำเนิดขึ้นมาช้านาน เป็นเหตุเป็นผล ไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความบังเอิญ

การเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนในลุ่มน้ำโขงย่อมส่งผลกระทบต่อความเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง และระบบนิเวศทั้งหมดในลุ่มน้ำโขง เช่นเดียวกับการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงก็ส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของผู้คนในลุ่มน้ำ

แม้ในเวลานี้ที่แม่น้ำโขงจะมีเขื่อนปิดกั้น แต่ธรรมชาติและผู้คนยังคงดิ้นรนปรับวิถีชีวิตเพื่อความอยู่รอด

แต่หากมองปัญหาของแม่น้ำโขงในประเด็นของเขื่อนเพียงอย่างเดียว ก็ไม่แน่นักว่าจะรักษาแม่น้ำสายนี้ไม่ถูกทำลาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อลุ่มน้ำโขงคือเป้าหมายในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ทุกรูปแบบ ทั้งในน้ำและบนบก ความพยายามเพื่อรักษาแม่น้ำโขงคงต้องมองให้กว้างออกมาจากสายน้ำ และหมายถึงต้องทำให้นิเวศวัฒนธรรมแห่งลุ่มน้ำโขงเข้มแข็งสืบไปด้วย

แม่น้ำโขงต้องไหลอิสระ

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา