eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

“ยา (เจ้า) พ่อผาแดง” กับเขื่อนไซยะบุรี

ธีระพงศ์ โพธิ์มั่น
โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต

“ข้าแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่สิงสถิตอยู่ที่เมืองหลวงพระบางและลำน้ำโขงแห่งนี้ ข้าพเจ้าขอพรจากสิ่งทั้งหลายจงปกปักรักษาให้ข้าพเจ้ามีแต่ความสุขความเจริญด้วยเถิด” ทุกครั้งที่มาเที่ยวเมืองนี้ผมมักจะมาขอพรกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นี่เสมอโดยเฉพาะก่อนออกเดินทางต่อ ศรัทธาและความเชื่อต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นไม่มีพรมแดน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของที่นี่ไม่ได้เป็นเพียงศูนย์รวมทางจิตใจของลูกหลานคนท้องถิ่นเท่านั้นแต่ยังเป็นที่กราบไหว้ของคนลาวในเมืองอื่นๆและคนไทยที่อยู่ข้ามแดน

ในหลวงพระบางนอกจาก “พระเจ้าอันศักดิ์สิทธิ์” หรือพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองแล้วยังมีพญานาคทั้ง 15 ตนที่สิงสถิตอยู่ตามจุดต่างๆของลำน้ำโขงและแม่น้ำคานคอยปกปักลูกหลานที่ต้องมีชีวิตผูกพันอยู่กับสายน้ำ

“ยา (เจ้า) พ่อผาแดง” เป็นหนึ่งในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของลำน้ำโขงที่สิงสถิตอยู่ที่แก่งหลวงห่างจากหลวงพระบางลงไปทางใต้โดยทางเรือประมาณ 6 ชั่วโมง

รุ่งเช้าของเดือนมิถุนายน หลังจากที่ซื้อกับข้าวลงเรือเรียบร้อยคณะของเราก็ออกเดินทางอำลาเมืองหลวงพระบางล่องลงไปทางใต้เพื่อสัมผัสและเรียนรู้กับธรรมชาติและวัฒนธรรมอันงดงามสองฝั่งโขง

หลังจากออกเรือมาไม่นานอ้ายน้อยคนขับเรือแวะรับอ้ายพนคนขับเรืออีกคนที่หมู่บ้านระหว่างทางเพราะว่าคนขับเรือแต่ละคนไม่มีใครที่จะรู้จักแม่น้ำโขงหรือ ชำนาญเรื่องร่องน้ำตลอดทั้งลำน้ำโขงที่ทอดตัวยาวเหยียดตลอดความยาวของประเทศลาว อ้ายน้อยที่เป็นเข้าของเรือจะชำนาญเรื่องร่องน้ำจากหลวงพระบางขึ้นไปทางเหนือส่วนอ้ายพนจะรู้เรื่องเส้นทางช่วงที่ล่องลงมาถึงเวียงจันทน์

 

พอบ่ายแก่ๆเราก็มาถึงยังแก่งหลวงแก่งซึ่งทำให้เรารู้เหตุผลชัดขึ้นว่าทำไมเราต้องใช้คนขับเรืออีกหนึ่งคน ที่นี่เป็นแก่งขนาดใหญ่แต่ช่องเดินเรือเป็นร่องแคบๆที่น้ำไหลเชี่ยวแรงอย่างน่ากลัวและมักมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งแม้กระทั่งกับคนที่ชำนาญทาง แม้จะเป็นแก่งที่มีอันตรายมากแต่คนเดินเรือและชาวบ้านแถวนี้ก็ยังมีที่พึ่งสำคัญคือ “ยา (เจ้า) พ่อผาแดง” ผู้มีหน้าที่ในการปกป้องดูแลลูกหลานที่ผ่านไปมาให้มีความปลอดภัย

ศาลเจ้าพ่อผาแดงตั้งอยู่หน้าผาริมฝั่งน้ำติดกับแก่ง ชาวบ้านแถวนี้และคนที่เดินทางทางเรือผ่านมาจะต้องมีการ “ขอบ” หรือบอกกล่าวให้กับยาพ่อรู้นอกจากเป็นการสักการะขอพรแล้วยังเป็นการบอกเล่าให้ท่านทราบถึงการมาเพื่อจะได้ช่วยปกปักรักษาจากภัยต่างๆ บางคนก็จอดแวะขึ้นไปไหว้ที่ศาล บางคนที่ไม่ได้จอดแวะก็จะชะลอเรือยกมือไหว้แล้วค่อยผ่านไป หากมีเสื้อผ้าตากอยู่บนเรือก็จะเก็บลงให้เรียบร้อย   คนที่ไม่ “ขอบ” ก็มักจะมีอันเป็นไปอยู่เสมอ

คืนนี้เราจะหยุดพักค้างแรมกันที่หาดริมแก่งหลวงนี้ท่ามกลางบรรยากาศที่โอบล้อมไปด้วยขุนเขาและสายน้ำ หลังจากที่กางเต้นท์เตรียมที่หลับที่นอนและทำกับข้าวกันเสร็จ ก่อนที่จะลงมือกินข้าวกันก็เห็นอ้ายน้อยและเมียจุดธูปบอกกล่าวแก่เจ้าพ่อพร้อมด้วยเหล้าขาวหนึ่งจอกเป็นเครื่องเซ่นไหว้

ระหว่างนั่งเปิบข้าวกันอ้ายน้อยและอ้ายพนก็เล่าเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของยาพ่อให้ฟังเพิ่มเติม อ้ายทั้งสองบอกว่า “ยาพ่อศักดิ์สิทธิ์หลาย” เป็นเจ้าพ่อที่มีอิทธิฤทธิ์ที่สุดในลำน้ำโขงนี้ มีเรื่องเล่ากันมาว่าสมัยก่อนมีการท้าประลองกันระหว่างเจ้าพ่อผาแดง และเจ้าพ่ออีกองค์หนึ่งที่เมืองปากแบ่งซึ่งถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในแม่น้ำโขงช่วงเหนือจากหลวงพระบางขึ้นไป แต่ด้วยความที่เก่งกว่าเจ้าพ่อผาแดงก็เป็นผู้ชนะ  

ขณะนั่งเปิบข้าวกันข้างกองไฟใต้แสงดาวอ้ายน้อยยังบอกว่าท่านจะคอยปกปักรักษาลูกหลานทุกคนที่ผ่านไปมายกเว้นแต่คนที่ไม่เคารพยำเกรง อย่างที่เรามากางเต้นท์นอนกันที่หาดแบบนี้เวลากลางคืนท่านก็จะมานั่งเฝ้าดูพวกเรา

เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของยาพ่อยังถูกผลิตซ้ำให้มีความขลังอยู่ตลอดเวลาจากอุบัติเหตุหรือภัยที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุซึ่งมีขึ้นอยู่บ่อยครั้ง อย่างเมื่อเร็วๆนี้ก็มีข่าวแพร่สะพัดไปว่าคนขับเรือของบริษัทนำเที่ยวชื่อดังแห่งหนึ่งที่พานักท่องเที่ยวมาค้างแรมที่นี่เกิดอาการไหลตายเพราะไม่ได้ “ขอบ” เจ้าพ่อ

ความศักดิ์สิทธิ์ของเทพและผีที่ปกปักรักษาอยู่ตามธรรมชาติเป็นสิ่งที่พบเห็นได้โดยทั่วไป โดยเฉพาะตลอดลำน้ำโขงที่ชาวบ้านต้องใช้เป็นเส้นทางในการคมนาคมและใช้เป็นแหล่งทรัพยากรในการทำมาหากินทุกเมื่อเชื่อวัน

สำหรับบางคนอาจจะคิดว่าความเชื่อและศรัทธาของชาวบ้านที่มีต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในท้องถิ่นของตนเป็นแค่เรื่องของความงมงาย แต่ในทางสังคมนอกจากมันเป็นเรื่องทางจิตวิญาณอันเป็นกรอบประพฤติปฏิบัติอันดีของชุมชนแล้วมันยังเป็นการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันในชุมชนจากการมีสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจร่วมกัน   นอกจากนี้มันยังเป็นการสร้างสำนึกทางพื้นที่ร่วมกัน คนที่เป็นลูกหลานของเจ้าพ่อผาแดงเมื่อพูดถึงพื้นที่แถบนี้ก็มักจะนึกถึงภาพของแก่งหลวง ความเชี่ยวกราดของน้ำและผาแดงที่เป็นที่สิงสถิตของเจ้าพ่อ   และความคิดหรือความรู้สึกร่วมกันนี้จะถูกผลิตสร้างขึ้นมาอยู่ซ้ำๆดังนั้นคุณค่าในทางจิตวิญญาณและสังคมก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

ในลักษณะเดียวกันการรู้สึกร่วมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแต่กับคนท้องถิ่นเท่านั้นมันยังเกิดร่วมกับคนต่างถิ่นด้วยโดยเฉพาะคนที่ต้องเดินทางผ่านไปมาอยู่บ่อยๆ เจ้าพ่อผาแดงจึงไม่ใช่สำนึกร่วมของชาวบ้านในหมู่บ้านระแวกนี้เท่านั้นยังเป็นสำนึกร่วมของคนลาวจำนวนมากที่ผ่านไปมา และแม้กระทั่งคนที่ไม่ได้ผ่านมาแถวนี้แต่ได้ยินถึงความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าพ่อ

หลังจากการนอนหลับอย่างเป็นสุขด้วยการปกปักของเจ้าพ่อ การตื่นมาในรุ่งเช้าท่ามกลางโอบกอดของหุบเขาและสายน้ำของผมในวันนี้จึงเต็มไปดวยความสุขสดชื่นอย่างบอกไม่ถูก แต่เรื่องราวที่ผมได้ฟังจากเพื่อนร่วมคณะในเช้านี้ทำให้เกิดความไม่สบายใจเป็นอย่างมากกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับเจ้าพ่อและประชาชนในแถบนี้

แก่งหลวงคือจุดที่มีการสำรวจเพื่อจะสร้างเขื่อนไซยะบุรี และคาดว่าบริเวณตัวแก่งจะเป็นจุดสร้างหัวงานเขื่อน   มันเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ตัวอ่างเก็บน้ำจะท่วมยาว 95 กิโลเมตร ใช้เงินในการลงทุนประมาณ 9 หมื่นล้านบาทโดยอ้างว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1,260 เมกะวัตต์เพื่อขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย และผู้ที่ได้รับสัมปทานมาก่อสร้างคือบริษัท ช.การช่าง ของไทย จากข้อมูลเบื้องต้นของบริษัทที่ทำการสำรวจกล่าวว่าจะมีชาวบ้านที่ต้องถูกอพยพ 10 หมู่บ้าน 391 ครอบครัว รวมประมาณ 2,130 คน จากการสำรวจคร่าวๆของภาคประชาชนพบว่ามันจะก่อให้เกิดผลกระทบแก่วิถีชีวิตชาวบ้านประมาณ 40 หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมฝั่ง

หากมีการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นสิ่งที่หายไปคงไม่ใช่แค่ผาเจ้าพ่อและความศักดิ์สิทธิ์แต่ที่สำคัญคือการสลายไปของสำนึกร่วมของคนทั้งปัจเจก ชุมชน และคนต่างถิ่น   และในลักษณะคล้ายๆกันสำนึกร่วมต่อแผ่นดินเกิดของชาวบ้านในหลายหมู่บ้านที่ต้องถูกอพยพก็จะถูกทำลายไป

เรื่องยาพ่อผาแดงเป็นเพียงแค่ผลกระทบเสี้ยวหนึ่งของความเสียหายจำนวนมากที่หลายอย่างยากที่จะวัดค่าออกมาได้ซึ่งกำลังจะตามมาหากมีการสร้างเขื่อนแห่งนี้ ทั้งผลกระทบทางนิเวศ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม

ในฐานะที่เป็นคนไทยผู้ที่จะใช้ไฟจากเขื่อนนี้และเพื่อนร่วมประเทศของบริษัทที่จะไปทำการสร้างเขื่อนประกอบกับการมีสำนึกร่วมต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คุณค่าทางธรรมชาติ และสังคมร่วมกัน เราควรจะมีสำนึกร่วมและความรับผิดชอบร่วมต่อปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากมีการสร้างเขื่อนแห่งนี้

เมื่อทุกคนขึ้นเรือเสร็จเราก็พร้อมที่จะออกเดินทาง ทุกคนต่างตื่นเต้นกับการที่จะต้องผ่านแก่งแคบๆที่มีน้ำไหลเชี่ยว แต่เรือของเราก็ผ่านไปได้ด้วยดีแม้ท้ายเรือจะแกว่งไปมาบ้างเล็กน้อย พอเลยจุดหวาดเสียวมาเล็กน้อยก็เป็นวังน้ำอ้ายน้อยชะลอเรือลงพร้อมกับยกมือขึ้นไหว้ และทุกคนต่างก็ยกมือไหว้ด้วย ผมนอกจากจะอธิษฐานขอพรให้อยู่เย็นเป็นสุขและเดินทางโดยสวัสดิภาพแล้วยังขอพรให้ยาพ่อช่วยปกปักรักษาแก่งหลวงและชาวบ้านแถบนี้ไว้ด้วย

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา