eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

นายกฯเตรียมถกจีนปล่อยน้ำ เอ็นจีโอขู่บุกประท้วงเปิดเขื่อน


กรุงเทพธุรกิจ 8 มีนาคม พ.ศ. 2553

นายกฯเตรียมถกจีนปล่อยน้ำโขงแก้วิกฤติ“ไตรรงค์” ลงพื้นที่ เตรียมประชุมถกแก้ปัญหาด่วน ด้านภาคประชาชนฟันธงเหตุน้ำโขงลด มาจากเขื่อนจีน เตรียมเคลื่อนใหญ่จัดเวทีคู่ขนานประชุมเอ็มอาร์ซีต้นเดือนเม.ย. พร้อมบุกสถานทูตจีนประท้วง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงปัญหาระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดต่ำลงจนเข้าสู่ภาวะวิกฤติว่า รัฐบาล และตนได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ทั้งสถานการณ์น้ำ ทั้งปัญหาภัยแล้ง ถือว่าเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด มาตรการความช่วยเหลือมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ถ้าพี่น้องประชาชนมีปัญหาในเรื่องนี้ก็ขอให้แจ้งหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเข้าไปดูแล

โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะนี้มีความสนใจมากในเรื่องปัญหาระดับของแม่น้ำโขง ซึ่งได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอย่างรุนแรง แล้วก็มีข้อสงสัยอยู่ว่าจะไปเกี่ยวข้องกับประเทศจีนหรือไม่อย่างไร แต่ไม่ว่าสาเหตุจะเป็นอย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราก็พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงนั้นลดต่ำลงมาก โดยตนได้บอกกับกระทรวงการต่างประเทศไปแล้ว และพรุ่งนี้(8มี.ค.)ที่จะมีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนของประเทศจีน ก็จะได้เน้นย้ำว่าจะขอให้จีนนั้นได้ให้ความร่วมมือในการบริหารจัดการน้ำ ไม่ให้ประเทศที่ปลายน้ำที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมทั้งประเทศไทย และประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงนั้นได้รับผลกระทบ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ และจะดำเนินการในทุกวิถีทางในการที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อน

ทั้งนี้ก็ต้องขอความร่วมมืออีกครั้งหนึ่งว่า เราได้ไปทำประชาคมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำต่างๆ ก็ขอความร่วมมือในเรื่องของการปลูกข้าวนาปรัง และในเรื่องของการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งจะต้องร่วมกันบริหารจัดการ เพราะว่าที่สำคัญที่สุดคือเราต้องมีน้ำใช้เพียงพอสำหรับข้าวนาปี ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด

ขณะที่ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ได้เดินทางไปตรวจดูสภาพแม่น้ำโขง บริเวณท่าเรือ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย และกล่าวว่า จากการตรวจสอบก็พบว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำโขง ที่ลดลงกว่าทุกปีที่ผ่านมา จนส่งผลให้การเดินเรือบรรทุกสินค้าระหว่างไทย-จีน ประสบปัญหาไม่สามารถวิ่งได้และยังส่งผลกระทบกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงอีกหลายจังหวัดไปจนถึงทางภาคอีสานของไทย และส่งผลกระทบกับประชาชนของประเทศลาวและพม่าด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ตนจะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคในลุ่มน้ำโขงอย่างเร่งด่วน เพื่อหาสาเหตุว่าน้ำโขงแห้งนั้นมาจากภัยแล้งหรือเพราะจีนกักเก็บน้ำ ซึ่งหากเกิดจากการกักเก็บน้ำของจีนก็จะเร่งเจรจากับจีนให้เร็วที่สุด

ส่วนกรณีน้ำโขงแห้งที่ส่งผลกระทบต่อการเดินเรือขนส่งสินค้าระหว่างไทย-จีนในครั้งนี้ หากปัญหามาจากภัยแล้งที่ยืดเยื้อและยาวนานหรือแก้ไขไม่ได้ รัฐบาลก็คงกลับไปทบทวนโครงการการก่อสร้างท่าเทียบเรือแห่งที่สอง ใน อ.เชียงแสน ด้วยเช่นกัน เนื่องจากรัฐบาลต้องใช้งบประมาณมหาศาล ฉะนั้นจึงต้องเร่งศึกษาและหาสาเหตุของปัญหาน้ำโขงแห้งอย่างเร่งด่วน

วันเดียวกันนี้ (7 มี.ค.) ชมรมผู้สื่อข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายแม่น้ำเพื่อชีวิต สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำทีมผู้สื่อข่าวลงพื้นที่สำรวจปัญหาการลดลงของแม่น้ำโขงบริเวณศาลาท่าน้ำ สุดแดนประเทศไทยติดต่อสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ริมฝั่งแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย พบว่าขณะนี้น้ำในแม่น้ำโขงแห้งเป็นลานดินขนาดใหญ่ในพื้นที่ฝั่งไทย โดยเหลือเพียงร่องน้ำแคบๆ ในฝั่งประเทศลาวเท่านั้น ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ชี้แจงว่าในเดือนเม.ย.ของทุกปีน้ำในแม่น้ำโขงจะมีระดับสูงพอที่จะจัดแข่งขันเรือยาวประเพณีระหว่าง ไทย ลาว และพม่าได้ แต่ปีนี้คงจะไม่สามารถจัดงานได้เพราะน้ำในแม่น้ำแห้งเหือดไปเกือบหมด

นายมิติ ยาประสิทธิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มรักษ์เชียงแสน เปิดเผยว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาชาวเชียงแสนกำลังคิดจะปรับตัวเพื่อรับสภาพน้ำในแม่น้ำโขงที่มักจะล้นตลิ่งและไหลท่วมพืชผลทางการเกษตร แต่ปรากฏว่าในปีนี้เกิดปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน โดยระดับน้ำเริ่มแห้งมาตั้งแต่เดือนธ.ค. 2552 จนถึงเดือนก.พ. นี้ ที่ระดับน้ำลดลงอย่างหนัก ขณะนี้ยังไม่มีใครยื่นมือเข้ามาให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสิ่งที่เกิดขึ้น

สถานการณ์ขณะนี้ ชาวบ้านไม่สามารถหาปลาซึ่งเป็นอาชีพรองจากการเกษตรได้ตามปกติ อีกทั้งผลิตผลทางการเกษตรที่ต้องอาศัยน้ำจากแม่น้ำโขงก็ได้รับผลกระทบ จนชาวบ้านหลายครอบครัวกำลังตัดสินใจจะเลิกทำอาชีพเกษตร แล้วเปลี่ยนไปขายแรงงานในเมืองแทน

“ที่ผ่านมาทั้งนักวิชาการ และผู้บริหารหน่วยงานระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการใช้น้ำก็ยังไม่มีใครออกมายอมรับว่า การลดลงอย่างผิดปกติของระดับน้ำในแม่น้ำโขงจนทำให้เกิดสภาวะวิกฤติในเวลานี้ เกิดจากการปิดเขื่อนในประเทศจีน และกล่าวหาว่าชาวบ้านไม่รู้เรื่อง ไม่มีข้อมูลทางวิชาการ ทั้งๆ ที่ล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา ผู้ว่าฯเชียงราย ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าการเมืองยูนนาน ประเทศจีน เพื่อขอให้ปล่อยน้ำจากเขื่อนจิงหงมาช่วยเหลือท้ายน้ำ เพราะชาวบ้านที่อยู่ท้ายน้ำโดยเฉพาะประเทศไทยได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก แต่กลับได้รับคำตอบจากผู้ว่าการยูนนานว่าไม่สามารถปล่อยน้ำมาได้ เพราะต้องเก็บน้ำไว้สำหรับแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ยูนนาน

ได้รับคำตอบมาชัดเจนอย่างนี้แล้ว นักวิชาการทั้งหลายยังจะมาบอกว่า การที่น้ำโขงแห้งเกิดจากโลกร้อนอยู่อีกหรือ ที่ผ่านมาชาวเชียงแสนถูกกล่อมอยู่ตลอดเวลาว่าการสร้างเขื่อนในจีนดี หน้าฝนจะเก็บกักน้ำเพื่อไม่ให้น้ำท่วม ส่วนหน้าแล้งก็จะเปิดประตูน้ำเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภัยแล้งขาดน้ำ แต่ในที่สุดทุกฝ่ายก็ต้องรักษาผลประโยชน์ของตัวเองเอาไว้ก่อน ขณะที่รัฐบาลไทยก็ มีแต่เกรงใจประเทศจีน ไม่กล้าดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น ปล่อยให้ประชาชนที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงได้รับความเดือดร้อน ชาวบ้านร้องเรียนไปครั้งใดก็ไม่เคยได้รับความช่วยเหลือจนถึงทุกวันนี้

ด้าน ร.อ.ธงชัย จันทร์มิตร เจ้าหน้าที่หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง อ.เชียงแสน กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลทั้งจากเอกสารและเว็บไซต์แม่น้ำโขงมีการไหลอย่างผิดปกติไม่เป็นไปตามธรรมชาติตั้งแต่ปี 2539 ซึ่งเริ่มมีเขื่อนแห่งแรกในประเทศจีน มีการขึ้นลงไม่เป็นไปตามปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา และไม่เป็นไปตามสถิติที่เคยเก็บเอาไว้ตามฤดูกาลก่อนที่จะมีการสร้างเขื่อนในจีน ที่ผ่านมาจีนไม่เคยเปิดเผยความจริงในเรื่องการทำงานของเขื่อนเลย ทำให้ต้องเสาะแสวงหาความจริงจากแหล่งข่าวต่างๆ ซึ่งไม่รู้ว่าอันไหนถูกอันไหนผิด และข้อมูลคลุมเครือมาโดยตลอด

“จีน ทำเหมือนแม่น้ำโขงเป็นของตัวเองประเทศเดียวใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้า หรือ ส่งสินค้าเท่านั้น ถ้าช่วงไหนที่เรือส่งสินค้าเดินไม่ได้ ก็ค่อยปล่อยน้ำออกมา แต่ไม่มามองว่าประเทศท้ายน้ำอยู่กันอย่างไร ซึ่งอยากให้ประเทศจีนเห็นใจประเทศท้ายน้ำบ้าง”

ขณะที่ นายนิวัติ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า ขณะนี้สามารถสรุปปัญหาผลกระทบในแม่น้ำโขงในรอบ 10 ปี ได้ 5-6 ประเด็นใหญ่ๆ คือ การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จากประเทศจีน ปัญหาการระเบิดเกาะแก่ง เพื่อใช้ในการเดินเรือพาณิชย์ การใช้สารเคมี การทำประมงผิดวิธี การบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่ปัญหาที่ถือเป็นผลกระทบคือการสร้างเขื่อนจากจีน โดยเฉพาะหลังจากจีนเปิดเขื่อนแห่งแรกในปี 2536 ชาวบ้านสามารถรับรู้ถึงความผิดปกติของน้ำโขงซึ่งไม่เป็นไปตามฤดูกาล กระทั่งปี 2546 เขื่อนแห่งที่สองและสามคือเขื่อนจิงหง ที่เปิดใช้ทำให้ทุกอย่างลงตัวและชี้ชัดว่าการปิดและเปิดเขื่อนของจีนเป็นสาเหตุของสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง โดยปี 2551 เกิดน้ำท่วมที่เชียงของ โดยพบว่าเพียงแค่หนึ่งคืนมีน้ำสูงถึง 1 เมตร กระทั่งเขื่อนแห่งที่ 4 เกิดขึ้นในจีน ในเดือนก.พ. 2553 นี้ น้ำในแม่น้ำโขงแห้งลงตั้งแต่วันที่ 10 ก.พ. เป็นต้นมาและ แห้งสุด เหลือเพียง 0.38 เมตร ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“ที่ผ่านมาชาวบ้านพยายามบอกกับนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอดว่าการสร้างเขื่อนของจีนที่ต้องเปิด ปิดน้ำ มีความสัมพันธ์กับปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในรอบสิบปีที่ผ่านมา แต่ไม่มีใครเชื่อแม้แต่คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง หรือ เอ็มอาร์ซี ที่ตั้งขึ้นเพื่อบริหารจัดการน้ำโขง โดยมี 4 ชาติ คือ ไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา ก็ไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง แต่กลับปกป้องจีนมาโดยตลอด” นายนิวัติ กล่าว

นายนิวัติ กล่าวอีกว่า ชาวบ้านเครือข่ายลุ่มน้ำโขงในภาคเหนือและภาคอีสาน เตรียมจะเคลื่อนไหวใหญ่ โดยจะเปิดเวทีคู่ขนานไปกับการประชุมเอ็มอาร์ซีที่หัวหิน ในช่วงต้นเดือนเม.ย. ที่จะถึงนี้ รวมทั้งจะไปตั้งเวทีที่หน้าสถานทูตจีนเพื่อประกาศให้จีนแสดงสปิริตรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศท้ายน้ำทั้ง 4 ชาติ รวมทั้งจะทำหนังสือเชิญชวนไปยังรัฐบาลในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อให้ร่วมกันกดดันจีน นอกจากนี้ยังเห็นว่าถ้าเอ็มอาร์ซีไม่มีความสามารถพอก็ควรจะพิจารณาบทบาทของตัวเองและยุบทิ้งไปเสีย

ขณะที่ นายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว. กทม. กล่าวว่า ที่สำคัญคือเวลานี้ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ ไม่มีใครมาแก้ปัญหาให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ปล่อยให้ผู้ว่าฯเชียงรายทำหนังสือถึงผู้ว่าการยูนาน แล้วจบแค่เขาปฏิเสธมาไม่ได้ ถ้าไม่มีใครรับผิดชอบต้องให้นายกฯรับผิดชอบ ในวันที่ 8 มี.ค. ตนจะตั้งกระทู้ในที่ประชุมวุฒิสภา เพื่อให้มีการหาคำตอบสำหรับผู้ที่จะมารับผิดชอบในเรื่องนี้

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา