eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

4 ชาติลุ่มแม่น้ำโขงส่งหนังสือกดดันจีนหาเหตุน้ำแล้งหนัก


กรุงเทพธุรกิจ 5 มีนาคม พ.ศ. 2553

คณะกรรมการเอ็มอาร์ซีแม่น้ำโขงทำหนังสือร่วมจี้ขอความร่วมมือจีน เหตุน้ำโขงแห้งหนัก พร้อมเสนอ 5 ชาติใช้มาตรการทูตเจรจา เผยยังไม่สรุปจีนสาเหตุทำให้น้ำโขงแห้ง ด้านหัวหน้าแผนกกฎหมายยุโรป แนะชาติลุ่มน้ำโขงเจรจาปัญหาเขื่อนจีนและหากไม่สามารถพูดคุยกันได้ค่อยนำคดีไปสู่การพิจารณาของศาลโลก ขณะที่นักวิชาการชาวจีนปฏิเสธที่จะตอบคำถามนักข่าวประเด็นปัญหาวิกฤติภัยแล้งบนลำน้ำโขง
สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำโขง ทำให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง 4 ประเทศนัดประชุมด่วน โดยนายศักดิ์สิทธิ์ ตรีเดช ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ซึ่งมีสมาชิก 4 ประเทศ คือ ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ที่เมืองหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 2-3 มี.ค. ที่ผ่านมา ว่า ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดต่ำลงกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายมีความกังวล และอยากแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันอย่างจริงจัง เพราะกระทบทั้งในเรื่องการเดินเรือ การขนส่งสินค้า การใช้น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภค

ดังนั้น จึงต้องมีการติดตามศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นในเรื่องการอัตราการไหลของน้ำ ระดับน้ำ และข้อมูลอุทกศาสตร์ในภาพรวมร่วมกันอย่างจริงจัง ซึ่งคณะกรรมาธิการได้ขอข้อมูลจากจีนในการศึกษาเรื่องเหล่านี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมไม่ได้สรุปว่าสาเหตุที่น้ำลดต่ำเป็นเพราะการสร้างเขื่อนในประเทศจีนหรือไม่ เพราะเห็นว่าอาจยังมีปัจจัยอื่น ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นปริมาณน้ำจากแม่น้ำสาขาที่ไหลลงสู่แม่น้ำโขง หรือภาวะโลกร้อนที่ ต้องนำข้อมูลเหล่านี้มาเชื่อมโยงในการบริหารจัดการด้วย จึงจะสรุปสาเหตุที่แท้จริงได้

นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมมีข้อสรุปว่าจะทำหนังสือในนามของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ประสานความร่วมมือไปยังผู้แทนประเทศจีนที่อยู่สำนักงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เพื่อเร่งแก้ปัญหาร่วมกันภายในสัปดาห์หน้า และถือเป็นครั้งแรกที่มีการออกหนังสืออย่างเป็นทางการถึงประเทศจีน แต่ไม่ได้ต้องการที่จะกดดันจีนแต่อย่างไร เพราะทุกประเทศต่างประสบปัญหาแล้วว่าแม่น้ำโขงมีระดับที่ลดต่ำลงอย่างผิดปกติจริงๆ

นอกจากนั้นไทยยังได้เสนอว่าทั้ง 4 ประเทศที่เป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการควรจะมีมาตรการทางการทูตไปยังประเทศจีน โดยผ่านทางการกระทรวงการต่างประเทศของแต่ละประเทศ เพื่อให้จีนเห็นความสำคัญของการหาทางออกในปัญหานี้ร่วมกัน ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรฯ จะเร่งหารือกับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อแก้ปัญหานี้ให้เร็วที่สุด

คาดน้ำโขงจะลดระดับลงอีก

วันเดียวกัน ที่สำนักงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ได้ออกแถลงการณ์ เรื่องระดับน้ำในแม่น้ำโขง ว่า ระดับน้ำในปัจจุบันของแม่น้ำโขง สายหลัก บริเวณภาคเหนือของลาว และไทยอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ โดยระดับที่วัดได้จากสถานีวัดที่เชียงแสน เชียงคาน หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และหนองคาย อยู่ต่ำกว่าระดับที่เคยวัดได้ต่ำสุดในหน้าแล้งปี พ.ศ.2536 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องมาจากภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดของภูมิภาคที่เคยวัดได้ในปี พ.ศ.2535 ทั้งที่ในช่วงต้นปียังเป็นเพียงช่วงกลางของฤดูแล้ง จึงยังชี้ชัดไม่ได้ว่าเป็นระดับน้ำที่ต่ำที่สุดเท่าที่เคยวัดได้ของแม่น้ำโขงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักทุกสายที่อยู่เหนือสตรึงเตร็งขึ้นมานั้น มีระดับน้ำต่ำกว่าระดับค่าเฉลี่ยในช่วงเดียวกันของทุกปี และยังมีแนวโน้มว่าจะลดลงต่อไปอีก ซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี โดยเท่ากับปริมาณน้ำเพียงครึ่งหนึ่งของปริมาณน้ำปรกติในเดือนก.พ.

เอ็นจีโอชี้ทุกชาติประสบปัญหาน้ำโขงลด

ขณะที่นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา ผู้ประสานงานเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง เขตล้านนา เปิดเผยว่า ขณะนี้ปัญหาที่กระทบอย่างหนักต่อแม่น้ำโขงไม่ได้เป็นปัญหาที่ชาวเชียงของหรือเชียงแสน จังหวัดเชียงรายเท่านั้น ที่ได้รับผลกระทบ แต่ทุกประเทศที่อาศัยแม่น้ำโขงในการดำรงชีวิตหรืออนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ทั้ง 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนักเช่นกัน

สำหรับปัญหาที่ได้รับอย่างหนักขณะนี้แบ่งออกเป็น 2 ระดับ คือ ปัญหาตอนบนตั้งแต่ประเทศทิเบตไปถึงทะเลจีนใต้ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของจีนอย่างหนัก เพราะจีนกักเก็บน้ำเพื่อไปสร้างเขื่อนจนทำให้พื้นที่ดังกล่าวไม่มีน้ำและอยู่ในสภาวะแห้งแล้ง สาเหตุที่จีนไม่ยอมปล่อยน้ำ ทั้งๆ ที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ใกล้กับจีนมากที่สุด เนื่องจากต้องกักน้ำไว้ที่เขื่อนราวๆ 16,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อสร้างกระแสไฟฟ้า

ส่วนปัญหาระดับ 2 คือ ปัญหาตอนล่าง นั่นคือกลุ่มประเทศที่เหลือได้แก่ พม่า ลาว ไทย เวียดนามและกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศปลายสายไกลออกมา แต่ทุกประเทศก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักโดยไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

ด้านนายอภิสิทธิ์ คำภิโล ขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี จังหวัดเชียงราย กล่าวเพิ่มเติม ความคืบหน้าในการประสานไปยังคณะกรรมการตามความตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง (แม่น้ำโขง) หรือ JCCN ซึ่งเป็นหน่วยงานความร่วมมือระหว่าง 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย ลาว พม่า และจีน เพื่อขอให้ร่วมเจรจาแก้ปัญหาให้แม่น้ำโขงสามารถเดินเรือได้ตลอดทั้งปี ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการของกรมเจ้าท่า ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการดำเนิน อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจะพยายามขอความร่วมมือจากจีน ในการปล่อยน้ำลงมาบ้าง เพื่อจะช่วยการลดผลกระทบกับผู้ที่อาศัยอยู่ตามลำแม่น้ำโขงตลอดแนวของทุกประเทศ

นักกฎหมายยุโรปแนะฟ้องศาลโลก

วันเดียวกันนี้ที่ศาลปกครอง ได้จัดประชุมทางวิชาการ เรื่อง "หลักการสำคัญของกฎหมายสิ่งแวดล้อมและมาตรการคุ้มครองทางสิ่งแวดล้อม" โดย Dr.Wybe Th. DOUMA หัวหน้าแผนกกฎหมายยุโรป T.M.C.Asser Institute กล่าวตอบข้อถามผู้สื่อข่าวกรณีการจัดการปัญหาแม่น้ำสาธารณะของยุโรปเปรียบเทียบกับกรณีแม่น้ำโขง ว่า ปัญหาแม่น้ำในยุโรปจะไม่พบเรื่องภัยแล้วเพราะมีฝนตกมาก แต่ก็มีปัญหาเรื่องของสารปนเปื้อน ที่ประเทศต้นน้ำเป็นผู้ปล่อยสารพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม มีผลกระทบถึงประเทศปลายน้ำ ซึ่งจะต้องตั้งกรรมการร่วมกัน และเมื่อตกลงกันไม่ได้ก็ต้องยื่นฟ้องต่อศาลโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าประเด็นเดียวกันนี้ได้ส่งคำถามไปถึง Dr.jiwen CHANG ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารประจำแผนกการวิจัยกฎหมายสังคม สถาบันกฎหมาย Chinese Academy of Social Sciences จากประเทศจีนปรากฏว่า นักวิชาการชาวจีน คนนี้ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา