eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

แถลงการณ์ถึงรัฐบาลไทย และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี)

“แม่น้ำโขงต้องไหลอิสระ”

๓ เมษายน ๒๕๕๓

แม่น้ำโขง – แม่แห่งธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงประชาชนกว่า ๖๐ ล้านคนกำลังถูกคุกคามด้วยแผนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เพื่อผลิตไฟฟ้า ที่ผ่านมารัฐบาลไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และนายทุนนักสร้างเขื่อน ต่างผลักดันให้แผนดังกล่าวเกิดขึ้นจริง โดยใช้เหตุผลเรื่องการสนองตอบความต้องการพลังงานไฟฟ้า ‘ของประเทศ’ ที่กำลังขยายตัว เพื่อป้อนความเจริญที่กระจุกตัวอยู่ในเมือง และภาคอุตสาหกรรม โดยไม่นำพาต่อต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของผู้คนที่พึ่งพาแม่น้ำโขงมาตลอดทั้งชีวิต

ผลประโยชน์การสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงที่คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) มักพรรณาว่า ‘เขื่อนจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในฤดูแล้ง และป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน’ เป็นที่ประจักษ์แจ้งว่าเป็นคำโฆษณาอันเลื่อนลอย เพราะจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๕๑ และ ภาวะความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงอย่างไม่มีปรากฏมาก่อนในปีนี้ ทำให้เขื่อนจีนบนแม่น้ำโขงตอนบนตกเป็นจำเลยในเหตุการณ์ผิดธรรมชาติทั้งสองครั้ง ในฐานะที่สร้างความเดือดร้อนข้ามพรมแดนต่อเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม และวิถีชีวิตของชุมชนริมน้ำอย่างใหญ่หลวง 

เรา – ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นักปฎิบัติการทางสังคม  นักศึกษา นักวิชาการ  ศิลปิน กลุ่มและองค์กรประชาสังคมต่างๆ ได้รวมตัวกันสร้างเครือข่ายประชาชนแม่น้ำโขง ออกแถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อร่วมกันส่งเสียงเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย และเอ็มอาร์ซี ดังต่อไปนี้

  1. รัฐบาลไทยและเอ็มอาร์ซีจะต้องทบทวนท่าทีต่อรัฐบาลจีนในเรื่องการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนบน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง
  2. รัฐบาลไทยและเอ็มอาร์ซีต้องร่วมมือกับรัฐบาลอื่น ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง ในการขอให้รัฐบาลจีนเปิดเผยตัวเลขและข้อมูลการจัดการของเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนทั้งหมด ซึ่งรวมถึงสถิติตัวเลขย้อนหลังก่อนเริ่มการก่อสร้างเขื่อน
  3. รัฐบาลไทยและเอ็มอาร์ซีต้องร่วมมือกับรัฐบาลอื่น ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขง รวมทั้งรัฐบาลจีนดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม  ซึ่งมีประชาชนท้องถิ่นผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนและโครงการระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำโขงของแต่ละประเทศ อยู่ในคณะกรรมการร่วมนี้ด้วย เพื่อร่วมกันศึกษา แสวงหาแนวทางในการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน
  4. รัฐบาลไทยต้องดำเนินการเพื่อเข้าเป็นภาคี  ‘อนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายเกี่ยวกับการใช้ลำน้ำระหว่างประเทศที่มิใช่เพื่อการเดินเรือ’ และเอ็มอาร์ซีต้องชี้ชวนให้ประเทศอื่น ๆ ในลุ่มแม่น้ำโขงเข้าร่วมภาคี เพื่อให้การใช้แม่น้ำในอนาคตอยู่ภายใต้หลักการความยั่งยืนของระบบนิเวศ และการแบ่งปันประโยชน์ที่เท่าเทียมและเป็นธรรม
  5. รัฐบาลและเอ็มอาร์ซีต้องรับฟังเสียงของประชาชนลุ่มแม่น้ำโขงที่เรียกร้องให้หยุดโครงก่อการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขา โดยยุติการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ทบทวนแผนพัฒนาพลังงานโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ไม่ใช้วิกฤตความแห้งแล้งมาเป็นข้ออ้างในการผลักดันเขื่อน ใช้กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย กล่าวคือ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและสามารถมีส่วนร่วมได้อย่างเต็มที่

 

ด้วยจิตคารวะ

  • กลุ่มรักษ์เชียงของ
  • เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา
  • กลุ่มศึกษาวัฒนธรรมและนิเวศ
  • ศูนย์ข้อมูลและสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน
  • กลุ่มฮักน้ำของ,เครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง,
  • เครือข่ายพลังงานและนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEE Net)
  • โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง (TERRA)
  • โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
  • พันธมิตรเพื่อปกป้องแม่น้ำโขง (Save the Mekong Coalition) 
 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา