eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

อุโมงค์ผันน้ำทำบั้งไฟพญานาคหาย

มติชน 29 พฤษภาคม 255

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม นพ.มนัส กนกศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหนองคาย ในฐานะนักวิจัยและผู้ศึกษาปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค กล่าวแสดงความเป็นห่วงกรณีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี มีโครงการสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากแม่น้ำโขง ฝั่งประเทศลาว โดยใช้แนวผันน้ำจากบริเวณน้ำงึม ออกทางห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ข้ามไปยังหนองหาน กุมภวาปี จ.อุดรธานี ในลุ่มแม่น้ำชี เพื่อนำไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำลำปาว จ.กาฬสินธุ์ ในระยะแรก และระยะที่ 2 จะผันน้ำจากฝายทดน้ำที่ปากน้ำงึม ผ่านอุโมงค์ผันน้ำลอดใต้แม่น้ำโขง เพื่อนำน้ำมาสู่ห้วยหลวง ว่า เป็นห่วงว่าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำและระบบนิเวศในลุ่มน้ำโขงแล้ว จะมีผลกับการเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค ที่ อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11

"ทั้งนี้ องค์ประกอบที่ก่อให้เกิดบั้งไฟพญานาค ประกอบด้วย การตกตะกอนของสารอินทรีย์ การไหลของกระแสน้ำ การเข้าใกล้ไกลโลกของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ปรากฏการณ์น้ำขึ้น น้ำลง ฯลฯ หากองค์ประกอบใดเปลี่ยนแปลงอาจจะมีผลกระทบได้ บั้งไฟพญานาคจะลดลง หรืออาจหมดไปได้ หากมีการสร้างอุโมงค์ผันน้ำ หรือมีการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบอื่นใดต่อลำน้ำโขง หรือแหล่งน้ำข้างเคียง" นพ.มนัสกล่าว

นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีข้อสรุปว่าจะเลือกแนวทางผันน้ำใด จะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 9 มิถุนายนนี้

 

ผันน้ำโขงกระทบบั้งไฟพญานาค

โพสต์ทูเดย์ — นักวิจัยเตือนผันน้ำโขงอาจกระทบการเกิดบั้งไฟพญานาค

นพ.มนัส กนกศิลป์ นักวิจัยและผู้ศึกษาปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค กล่าวว่า หากรัฐบาลเดินหน้าโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากแม่น้ำโขงฝั่งลาวเข้ามาบริเวณน้ำงึม อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ข้ามไปยังหนองหาน กุมภวาปี จ.อุดรธานี ใน ลุ่มแม่น้ำชี เพื่อนำไปเก็บไว้ที่อ่างเก็บน้ำ ลำปาว จ.กาฬสินธุ์ จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในลุ่มน้ำโขง รวมถึงจะมีผลทำให้การเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคในช่วงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 ลดลง หรืออาจหมดไป

ทั้งนี้ เนื่องจากองค์ประกอบที่ก่อให้เกิดบั้งไฟพญานาค ประกอบด้วย การตก ตะกอนของสารอินทรีย์ การไหลของกระแสน้ำ การเข้าใกล้และไกลโลกของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ปรากฏการณ์น้ำขึ้น น้ำลง ฯลฯ ฉะนั้น หากองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งเปลี่ยนแปลงไป อาจจะมีผลกับการเกิดของบั้งไฟพญานาคได้ โดยเฉพาะการเปลี่ยนของกระแสน้ำ

นพ.มนัส กล่าวว่า อยากให้มีการถามประชาชนว่าหากการสูญสิ้น หรือหมดไปของบั้งไฟพญานาคที่ จ.หนองคาย แลกมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดินอีสานได้จริงแล้ว คนอีสานต้องการหรือไม่

ขณะที่เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขงและเครือข่าย ภาคประชาสังคม จำนวน 95 องค์กร ร่วมกับกลุ่มนักวิชาการ อาทิ นายประภาส ปิ่นตบแต่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายสันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นายบุญเลิศ วิเศษปรีชา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ทักท้วงการสร้างเขื่อน บนแม่น้ำโขง โดยแสดงความเป็นห่วง ผลกระทบจากโครงการผันน้ำต่อระบบนิเวศน์

ด้านนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า ในวันที่ 9 มิ.ย. คณะกรรมการจัดการทรัพยากรน้ำและการชลประทานจะนำข้อมูลโครงการดังกล่าวเสนอนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ขณะนี้จึงยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเลือกแนวเส้นทางใดผันน้ำ ซึ่ง ทส.และนายกรัฐมนตรีพร้อมรับฟังข้อมูลจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง

นางอนงค์วรรณ กล่าวด้วยว่า โครงการนี้ในระยะแรกและระยะที่ 2 จะผันน้ำจากฝายทดน้ำที่ปากน้ำงึม ผ่าน อุโมงค์ผันน้ำลอดใต้แม่น้ำโขง เพื่อนำน้ำมาสู่ห้วยหลวงและกระจายน้ำตามระยะแรก โดยโครงการนี้ทำได้ทันที ใช้งบประมาณ 32,108 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี และไม่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพราะไม่เข้าข่ายที่จะต้องทำ

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา