eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

พพ.-อิตัลไทยฯเร่งผุดเขื่อนกั้นโขง ละเมิดรธน.-เสี่ยงปัญหาเขตแดน

มติชน 29 กรกฎาคม 2551

แฉ พพ.-อิตาเลียนไทยฯแอบเร่งศึกษาความเป็นไปได้สร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่อุบลฯมูลค่า 9 หมื่นล้าน ไม่สนใจเสียงค้านจาก 95 เครือข่ายภาคประชาชน หนำซ้ำยังไม่ผ่านอีไอเอ เพิกเฉยสิทธิรับรู้ข้อมูลตามรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ร่วมกับบริษัท อิตาเลียนไทยฯ และบริษัท เอเชียคอร์ป กำลังเร่งศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ที่ อ.โขงเจียม จ.อุบล ราชธานี หรือ "เขื่อนบ้านกุ่ม" ตามที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีประกาศนโยบาย ผันน้ำจากแม่น้ำโขง และการสร้างเขื่อน 3 แห่งบนแม่น้ำโขง ต่อมาคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2551 โดยไม่สนใจคำคัดค้านของเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่น้ำโขง 95 เครือข่าย ซึ่งมีบันทึกถึงนายสมัคร เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 แต่อย่างใด ประการต่อมา พพ.เร่งรัดโครงการดังกล่าว ทั้งๆ ที่ยังมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการประเมินผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม การดำเนินการตามบทบัญญัติในมาตรา 57 สิทธิในข้อมูลข่าวสาร รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 รวมทั้งไม่นำพาต่อปัญหาความขัดแย้งเรื่องพรมแดนไทย-ลาวที่จะตามมาในอนาคตอีกด้วย

สำหรับความเป็นมาของโครงการเขื่อนกั้นน้ำโขง เริ่มจากเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2551 รัฐบาลไทยโดยนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้ลงนามความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ที่นครเวียงจันทน์ โดยมอบให้บริษัท อิตาเลียนไทยฯ และบริษัทเอเชียคอร์ป ศึกษาความเป็น ไปได้ในการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำกั้นแม่น้ำโขงที่ชายแดนไทย-ลาว ระหว่างบ้านท่าล้ง อ.โขง เจียม จ.อุบลฯ กับแขวงจำปาสัก สปป.ลาวมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,800 เมกะวัตต์ใช้เงินลงทุนประมาณ 90,000 ล้านบาท ศึกษาเป็นเวลา 15 เดือน ครบกำหนดเดือนกรกฎาคม 2552

ก่อนที่นายนพดลจะไปลงนามในเอ็มโอยูกับลาวนั้น พพ.ได้ว่าจ้างบริษัท ปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท แมคโครคอนซัลแตนท์ ศึกษารายงานความเหมาะสมและ รายงานสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นแล้ว เฉพาะตัวเขื่อนฝั่งประเทศไทยนั้น จะมีหมู่บ้านถูกน้ำท่วมประมาณ 20 หมู่บ้าน เนื้อที่ประมาณ 16,000 ไร่ ในจำนวนนี้ทับพื้นที่อุทยานแห่งชาติผาแต้ม อ.โขงเจียม ประมาณ 480 ไร่

นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า ในภาพรวมของประเทศ ปัญหาใหญ่ที่จะตามมาหากมีการสร้างเขื่อนใหญ่ในแม่น้ำโขง จะต้องมีการระเบิดร่องน้ำ บริเวณร่องน้ำเป็นบริเวณแนวเขตแบ่งแยกดินแดนระหว่างไทยและลาว ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่ามีจุดใดเป็นหลัก แรงระเบิดจะทำให้ร่องน้ำเปลี่ยนไปมาก การทำเอ็มโอยูเพื่อศึกษาความเป็นไปได้อาจไม่ผิดกฎหมาย แต่เมื่อใดมีการทำสัญญาสัมปทานการก่อสร้าง ต้องพิจารณากฎหมายอีกที แต่เรื่องแบบนี้ ประเทศไทยได้รับบทเรียนมามากแล้ว ทั้งเรื่องปราสาทพระวิหาร การแย่งชิงพื้นที่หมู่บ้านร่มเกล้า อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็น ความขัดแย้งเรื่องพรมแดนอันเนื่องมาจากยึดถือเส้นพรมแดนในสนธิสัญญาคนละฉบับ

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า โครงการเขื่อนบ้านกุ่มคืบหน้าไปอย่างเงียบๆ โดยที่ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่แทบไม่รู้เรื่องว่ารัฐบาลไทยจะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่กั้นแม่น้ำโขง แม้แต่คนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบก็ไม่ทราบรายละเอียด รวมถึงไม่ได้มีส่วนร่วมตัดสินใจ หรือได้แสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึงแต่อย่างใด โครงการดังกล่าวจึงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 57 ที่บัญญัติว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว

การวางแผนพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การ เมือง และวัฒนธรรม การเวนคืนอสังหาริม ทรัพย์ การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ในที่ดิน และการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน ให้ รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการ

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา