eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เวียงจัน ไทม์ตีภาพ"นพดล" ร่วมพัฒนาพลังงานไฟฟ้า

มติชน   3 สิงหาคม พ.ศ. 2551

เอ็มโอยูไทย-ลาว - หนังสือพิมพ์ "เวียงจัน ไทม์" ของลาวที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2551 เผยแพร่ภาพนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กับนายทองลุน สีสลิด รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของลาว หลังลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ความร่วมมือโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า ที่มีแผนการสร้างเขื่อนบ้านกุ่มกั้นแม่น้ำโขงด้วย

"เวียงจัน ไทม์"แพร่ภาพ"นพดล-ทองลุน"ถ่ายรูปร่วมกันภายหลังการลงนามไทย-ลาว ร่วมมือโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติเชื่อไม่ใช่แค่ศึกษาเขื่อนบ้านกุ่มมีธงหวังสร้างอยู่แล้ว ชี้เอ็มโอยูเข่าข่ายรัฐธรรมนูญ ม.190 นักวิชายันสร้างเขื่อนบ้านกุ่มไม่คุ้มทุน

ความคืบหน้ากรณีที่รัฐบาลไทยไปลงนามบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับรัฐบาลลาว ในการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทย-ลาว โดยการสร้างเขื่อนบ้านกุ่มกั้นแม่น้ำโขง บริเวณบ้านท่าล้ง ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี กับแขวงจำปาสัก ที่ผ่านมา กรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน ปฏิเสธว่าสิ่งก่อสร้างดังกล่าวไม่ได้เรียกว่าเขื่อน แต่เป็นฝายบ้านกุ่ม ซึ่ง พพ.เคยเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้าง ตามที่รัฐบาลไทยและรัฐบาลลาวทำกันไว้เมื่อวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา หลังจากนั้น พพ.ไม่ได้เกี่ยวข้องกับโครงการนี้ ขณะที่ผู้เกี่ยวข้องเรื่องนี้ในกระทรวงการต่างประเทศยังไม่ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับเอ็มโอยูฉบับนี้

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวพบข้อมูลจากการรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ "เวียงจันไทม์" ของประเทศลาว ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2551 มีข้อความพาดหัวข่าวว่า "ไทย-ลาวร่วมมือโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้า" โดยมีรูปถ่ายของนายนพดล ปัทมะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายทองลุน สีสลิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของลาว ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกร่วมกันภายหลังการลงนามแล้วเสร็จ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื้อหาใน "เวียงจันไทม์" ระบุว่า นายนพดลเดินทางไปยังนครเวียงจันทน์เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2551 และได้ทำเอ็มโอยูร่วมกันให้บริษัทเอกชนเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าระหว่างไทยและลาว บริเวณแขวงจำปาสักและ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี โดยการศึกษาความเป็นไปได้ครั้งนี้ บริษัทเอกชนจะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด หลังจากบริษัทเอกชนศึกษาแล้วเสร็จ จะนำส่งให้รัฐบาลทั้งสองประเทศนำไปพิจารณาเพื่อทำตามกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศต่อไป

ทั้งนี้ "เวียงจันไทม์" รายงานด้วยว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการทำเอ็มโอยูครั้งนี้ นายนพดลเดินทางกลับประเทศไทยทันที

นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า เอ็มโอยูฉบับนี้มีลักษณะเดียวกับแถลงการณ์ร่วมปราสาทพระวิหาร ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา เพียงแต่อาจจะต้องตีความเพิ่มว่าจะนำไปสู่การเอาประเทศไปผูกพัน เพื่อให้เกิดการว่าจ้าง หรือการให้สัมปทานกับบริษัทเอกชนที่ไหนต่อ เพื่อให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างเต็มตัวหรือไม่

"จากองค์ประกอบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างในขณะนี้ ไม่เชื่อว่า โครงการจะหยุดแค่การศึกษาความเป็นไปได้ และบริษัทมีคำตอบออกมาว่าไม่ควรจะสร้าง เพราะในพื้นที่มีองค์ประกอบหลายอย่างที่บอกว่ามีความพยายามที่จะทำให้โครงการนี้เกิด" นายมนตรีกล่าว

นายมนตรีกล่าวว่า สิ่งที่น่าสังเกตอีกประการคือ ในตัวร่างเดิมของเอ็มโอยูฉบับดังกล่าวของกระทรวงการต่างประเทศที่ทำถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้นระบุชื่อบริษัทที่จะเข้ามาศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการนี้ชัดเจน คือ "บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด" แม้ต่อมาทางสำนักเลขาธิการ ครม.จะปรับปรุงให้ใช้คำว่า "บริษัทเอกชน" แทน แต่ทำให้เห็นว่า เป็นความพยายามที่จะทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับโครงการนี้

"เรื่องสำคัญที่น่าจะตั้งคำถามคือ การไปลงนามเพื่อทำโครงการเกี่ยวกับการหาแหล่งพลังงานระหว่างประเทศนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศ แต่ควรเป็นหน้าที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือไม่ก็กระทรวงพลังงาน ทำไมงานนี้ต้องเป็นนายนพดลที่เป็นคนไปลงนาม อีกทั้งยังทำแบบเร่งด่วน คือ หลังจากรัฐบาลเข้าทำงานได้เพียง 2 เดือนเท่านั้น เรื่องนี้จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิด และกระทรวงการต่างประเทศต้องออกมาชี้แจงว่าเกิดอะไรขึ้นและจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป" นายมนตรีกล่าว

ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีการจัดเวที "เขื่อนแม่น้ำโขงและสถานการณ์พลังงานในประเทศไทย" นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า โครงการเขื่อนบ้านกุ่มไม่คุ้มทุน หากมองประโยชน์ด้านพลังงาน เขื่อนแห่งนี้มีกำลังผลิตติดตั้ง 1,872 เมกะวัตต์ แต่มีกำลังผลิตที่พึ่งได้เพียง 357 เมกะวัตต์เท่านั้น เท่ากับว่ากำลังไฟฟ้า 1,500 เมกะวัตต์ที่หายไปก็ต้องไปสร้างหรือไปซื้อโรงไฟฟ้าอื่นๆ เพิ่ม

"หากเปรียบเทียบกำลังผลิตที่พึ่งได้จำนวน 375 เมกะวัตต์จากเขื่อนบ้านกุ่ม กับโรงไฟฟ้าแบบอื่นๆ จะพบว่าเป็นการลงทุนที่แพงมาก เช่น หากเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหรือพลังงานชีวมวล ที่มีกำลังผลิตพึ่งได้ในระดับเดียวกัน จะต้องใช้เงินลงทุน 11,049 ล้านบาท และ 27,800 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่ต่ำกว่ามาก เมื่อเทียบกับการลงทุนกับเขื่อนบ้านกุ่ม 95,348 ล้านบาท" นายเดชรัตน์กล่าว

นายเดชรัตน์กล่าวว่า ประเทศไทยจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงในช่วงฤดูร้อน แต่โรงไฟฟ้าจากเขื่อนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในช่วงดังกล่าวเนื่องจากขาดแคลนน้ำ หากเทียบกับการราคาโครงการซึ่งสูงถึง 120,390 ล้านบาท (รวมเงินเฟ้อและดอกเบี้ย) ถือเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า นอกจากนี้หากเขื่อนบ้านกุ่มเป็นการลงทุนแบบรับสัมปทานโดยบริษัทเอกชน ขายไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทย ซึ่งจะมีค่า take or pay หรือซื้อไม่ซื้อก็ต้องจ่าย จะเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่สำคัญคือ เขื่อนบ้านกุ่มไม่มีความจำเป็นกับระบบไฟฟ้าของไทย เนื่องจากในปัจจุบันมีการศึกษาทางเลือกในการจัดการไฟฟ้า ได้แก่ การปรับค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า, การจัดการด้านความต้องการใช้ไฟฟ้า, การเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน และการเพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้าความร้อนร่วม ผลการศึกษาสรุปว่าจะสามารถทดแทนการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ, โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ถึง 16,180 เมกะวัตต์ นอกจากนั้นเขื่อนไฟฟ้าบ้านกุ่มยังไม่ได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาไฟฟ้า จึงยิ่งไม่มีความจำเป็นต้องสร้างแต่อย่างใด

นายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า กล่าวว่า เขื่อนบ้านกุ่มเป็นเพียง 1 ใน 3 เขื่อนที่จะสร้างบนแม่น้ำโขงบนพรมแดนไทย-ลาว อีกโครงการที่มีความคืบหน้าเช่นเดียวกันคือ เขื่อนปากชม จังหวัดเลย ขนาด 1,079 เมกะวัตต์ มูลค่า 69,641 ล้านบาท แต่มีกำลังการผลิตพึ่งได้เพียง 210 เมกะวัตต์เท่านั้น ถือว่าไม่คุ้มค่า เฉลี่ย 331.4 ล้านบาท ต่อ 1 เมกะวัตต์ ขณะที่การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าทั่วไปจะอยู่ที่ 40 ล้านบาทต่อ 1 เมกะวัตต์เท่านั้น ปัจจุบันประเทศไทยมีปริมาณไฟฟ้าสำรองสูงถึง 20% แต่ระดับมาตรฐานอยู่ที่ 15%

นายมนตรีกล่าวว่า รัฐบาลไม่ควรเร่งรีบรวบรัดผลักดันโครงการโดยละเลยการดำเนินการตามกรอบกฎหมาย ได้แก่ การจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก่อน นอกจากนี้ รัฐบาลควรจะต้องคำนึงถึงประเด็นอันละเอียดอ่อนในเรื่องแนวเขตแดนของไทย-ลาว ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการปักปันเขตแดนที่ชัดเจน และจะก่อปัญหาซับซ้อนเพิ่มเติมเนื่องจากการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ซึ่งจะเปลี่ยนลักษณะทางกายภาพของลำน้ำซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนแปลงเขตแดนของทั้งสองประเทศอย่างสิ้นเชิงด้วย

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา