eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เอ็นจีโอเปิดเวทีจุฬาฯ ชำแหละเขื่อนกั้นน้ำโขง

ผู้จัดการออนไลน์  12 พฤศจิกายน 2551


แผนที่แสดงที่ตั้ง "ฮู" หรือ "รู" สะฮอง ทางน้ำไหลขนาดใหญ่ในเขตสีพันดอน
ก่อนจะไหลลงสู่กัมพูชา ที่นี่กำลังจะเป็นที่ก่อสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงแห่งแรกในลาว ซึ่งนักอนรักษ์ฯ กล่าวว่าจะปิดกั้นเส้นทางอพยพธรรมชาติของฝูงปลาจากโตนเลสาปที่จะขึ้นไปเจริญเติบโต
ตามลำน้ำโขงในเขตไทยและลาว และเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมอย่างขนานใหญ่

ผู้จัดการออนไลน์--การประชุมนานาชาติว่าด้วยผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงเกือบ 10 แห่ง ทั้งในไทย ลาวและกัมพูชา เริ่มขึ้นในวันพุธ (12 พ.ย.) นี้ เพื่อให้ข้อมูลอย่างทั่วด้านเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนหลายล้านคนในอนุภูมิภาค
       
        เจ้าหน้าที่โครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า (TERRA) กล่าวว่า จะมีตัวแทนจากภาคส่วนและองค์กรต่างๆ 230-250 คน เข้าร่วมในการประชุมสัมมนาซึ่งจะดำเนินไปจนถึงวันพฤหัสบดี (13 พ.ย.) ที่ห้องประชุมจุมพฎ-พันธุ์ทิพย์ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       
        การประชุมสัมมนาดังกล่าวมีขึ้นขณะที่กำลังมีการสำรวจศึกษาโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงขนาดใหญ่อย่างน้อย 7 แห่งในลาวและตามชายแดนไทย-ลาวกับอีก 1 แห่งในกัมพูชา
       
        นอกจากนั้นยังมีขึ้นไม่นานหลังจากรัฐบาลลาวอนุญาตให้บริษัทลงทุนจากมาเลเซียจากมาเลเซียแห่งหนึ่งดำเนินโครงการเขื่อนดอนสะฮอง กั้นลำน้ำโขงในเขต "สี่พันดอน" ทางตอนใต้ของลาว ซึ่งกลุ่มอนุรักษ์สภาพแวดล้อมกล่าวว่ากำลังจะสร้างความเลวร้ายอย่างที่สุดต่อระบบนิเวศในลำน้ำโขง
       
        การประสัมมนายังมีขึ้นในขณะที่สื่อของทางการลาวรายงานว่า คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระหว่างประเทศ ได้เปิดประชุมในนครเวียงจันทน์ ซึ่งจะมีการพิจารณาเกี่ยวกับ "ผลกระทบจากโครงการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขง" ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่จะมีการหารือเกี่ยวกับเรื่องนี้ในรายละเอียด
       
        "เราเชื่อว่าการผลิตไฟฟ้าจะนำความเจริญรุ่งเรืองมาให้ แต่เรากำลังแลกกับสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ แลกกับอนาคตของลูกหลานคนรุ่นต่อไป.. คนเหล่านี้ควรถูกนำมาพิจารณาด้วย" ดร.ดร.สมพอน สมบัด นักอนุรักษ์ชาวลาวเจ้าของรางวัลแม็กไซไซ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวเมื่อวันจันทร์ (10 พ.ย.) ที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย
       
        "(วันหนึ่ง) เมื่อเราเผชิญหน้ากับวิกฤตการณ์ด้านระบบนิเวศ ผมไม่คิดว่าจะมีใครสามารถช่วยเราได้..เราอยู่ในเรือลำเดียวกัน" นักวิชาการชาวลาวคนเดียวกันกล่าว
       
        ผู้จัดการประชุมสัมมนากล่าวว่าจะมีเยาวชนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 10-12 คนเข้าร่วมด้วย อีก 24 คนเป็นตัวแทนจากกัมพูชากับ 15 คนจากจีน นอกจากนั้นจะเป็นผู้แทนจากหน่วยงานและองค์การต่างๆ จากทั่วโลก
       
        "สิ่งที่เราพยายามทำก็คือเป็นการเชิญภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมรับฟังและร่วมส่วนในข่าวสารและพยายามจะเข้าใจ" เปรมฤดี ดาวเรือง ผู้อำนวยการ TERRA กล่าว


ลำน้ำโขงผูกพันกับชีวิตของผู้คนนับล้าน เป็นเส้นทางคมนาคม เป็นแหล่งทำมาหากิน
ทำรายได้มหาศาลในแต่ละปี นักอนุรักษ์ฯ กล่าวว่าเขื่อนกำลังจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่างลง
และส่งผลกระทบโดยตรงต่ออนาคตของคนรุ่นต่อไป โดยแลกกับรายได้จากการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า

       นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญกำลังจะแสดงข้อมูลและผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำโขงจำนวน 3 แห่งในจีน และจำนวนเท่าๆ กันกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ
       
        นางสุนีย์ ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า ประชาสังคมและรัฐบาลประเทศต่างๆ ในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง รวมทั้งองค์การต่างๆ ทั่วโลกควรจะต้องเตือนรัฐบาลจีนมิให้กระทำอะไรตามอำเภอใจ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนของประชาชนอีกนับล้านๆ ทางตอนล่างของลำน้ำโขง
       
        "เรามีข้อตกลงมากมายในระดับโลกในการคุ้มครองมนุษย์และทรัพยากร ไม่ใช่แค่ในทวีปเอเชียเท่านั้น แต่ยังมีชาติมหาอำนาจเข้าร่วมด้วย" นางสุนีย์ กล่าว
       
        "จีนจะต้องรับผิดชอบต่อประชาชนในประเทศเอเชีย ต่อผลกระทบจาก (จากการสร้างเขื่อนของ) จีน.. ต้องรำลึกว่าอะไรก็ตามที่ทำในแม่น้ำโขงจะส่งผลกระทบไปทั่ว" กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ กล่าว
       
        คณะผู้จัดการประชุมสัมมนากำลังจะนำผู้สนใจเดินทางไปยัง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ระหว่างวันที่ 13-16 พ.ย.นี้ ไปเยี่ยมชุมชนหลายแห่งที่กำลังได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนของจีน
       
        อีกคณะหนึ่งจะเดินทางไปศึกษาผลกระทบจากโครงการเขื่อนกั้นลำน้ำโขงที่บ้านกุ่ม อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และ อีกคณะหนึ่งมีกำหนดไปเดินทางยังเมืองโขง แขวงจำปาสักของลาว เพื่อศึกษาสภาพพื้นที่ที่กำลังจะมีการก่อสร้างเขื่อนดอนสะฮอง
       
        ระหว่างการประชุมสัมมนายังจะมีการแสดงภาพถ่ายโดยสุเทพ ศรีวาริชภูมิ เกี่ยวกับชีวิตและสภาพแวดล้อมธรรมชาติในเขตสีพันดอน ซึ่งมีความสวยงาม สมบูรณ์และหาดูได้ยาก รวมทั้งงานแสดงของสำนักข่าว IPS (Inter Press Service) อีกส่วนหนึ่งด้วย
       
        ภาพถ่ายของสุเทพ เปิดแสดงในกรุงพนมเปญในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา และได้รับความสนใจจากประชาชนจำนวนมาก

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา