eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

“ก่อนค่ำริมน้ำสาละวิน”

สุมาตร ภูลายยาว  SEARIN
ตีพิมพ์ครั้งแรก จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ วันที่ ๑๖ มีนาคม ๒๕๔๘

ตะวันบ่ายคล้อยและร้อนแรงอ่อนแสงลงไปแล้ว ความหนาวเย็นที่เริ่มขึ้นจากหลายวันที่ผ่านมายังไม่ผ่อนคลาย มันกลับทวีความหนาวเย็นขึ้นเรื่อยๆ เหนือผืนน้ำที่ชุมชนริมน้ำเรียกขานว่า “แม่น้ำคง” หรือที่คนทั่วไปเรียกว่า แม่น้ำสาละวิน

เหนือผิวน้ำ เรือพายพื้นบ้านลำเล็กกำลังลอยลำอยู่ใกล้ๆ กับเก๊หรือแก่งหิน

บนเรือลำนั้นมีอเนกและปรีชา เด็กชายสองคนวัย ๙ ขวบ และ ๑๑ ขวบ กำลังพาเรือออกไปใจจา --ตาข่ายหรือแน่งที่พวกเขาใส่ไว้ดักปลา

ท่ามกลางสายน้ำที่ไหลเชี่ยวและแรงในหน้าแล้งที่กำลังเดินทางมา คนหาปลาตัวน้อยไม่หวาดกลัวต่อสายน้ำเชี่ยว เพราะประสบการณ์การหาปลากับพ่อตั้งแต่ยังเล็กสอนให้ทั้งสองรู้จักกระแสน้ำ และรู้จักแหล่งหาปลา

ปรีชาและพ่อมักวางตาข่ายดักปลาไว้หลายจุด โดยเฉพาะตามกุย--วังน้ำ ที่ปลามาอาศัยอยู่ การหาปลาของพ่อกับลูก ต่างคนต่างมีหน้าที่ของตนเองแตกต่างกันออกไป ปรีชามีหน้าที่เก็บปลาจากตาข่ายที่วางไว้ใกล้ๆ หมู่บ้าน ส่วนตาข่ายที่วางไว้ในฝั่งพม่านั้น พ่อจะทำหน้าที่นี้เอง

“ผมยังพายเรือไม่แข็ง ข้ามไปฝั่งโน้นลำบากครับ น้ำแรงด้วยไม่กล้าไป อีกหน่อยก็ไปได้แล้วครับ” คนหาปลากะเหรี่ยงตัวน้อย อธิบายให้ฟังเป็นภาษาไทยกระท่อนกระแท่น

ภาพของคนหาปลาเช่นปรีชาอาจเป็นภาพของเด็กที่แกร่งเกินวัย แต่ในความแกร่งเกินวัยนั้นมันเป็นการพร่ำสอนผู้คนให้เข้าใจและเรียนรู้วิธีทางแห่งการใช้ชีวิตให้เข้ากับธรรมชาติ แม้ปรีชาจะไม่รู้จักร้านเซเว่นและฮีโร่อย่างไอ้มดแดงเท่ากับเด็กในเมือง แต่เขาก็รู้ว่าปลาที่ได้จากแม่น้ำสาละวินด้วยฝีมือของเขาในแต่ละวัน มันมีชื่อว่าอะไร? กินอะไร? และมีค่ามากมายเพียงใดต่อชีวิตของผู้คนริมฝั่งน้ำ

เรืออีกลำหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กันเป็นของผู้ชายอีกหนึ่งคนที่มีอายุมากกว่าเด็กทั้งสองคนหลายเท่า แม้พวกเขาจะแตกต่างกันทางวัยและวันเวลา--ประสบการณ์ในกาหาปลา แต่พวกเขาทั้งหมดต่างทำหน้าที่ของตัวเองอย่างขันแข็ง

หน้าที่ของคนทั้งสามในสายน้ำยามนี้คือ การทำหน้าที่ของคนหาปลา

การหาปลาของชุมชนปกาเกอะญอ หรือกะเหรี่ยงริมฝั่งแม่น้ำมีมานานแล้วในลุ่มน้ำสาละวิน และคนปกาเกอะญอที่เราที่คุ้นชินว่าทำไร่หมุนเวียนบนดอยสูงเมื่อหาปลาในลำน้ำกว้าง กลายเป็นสิ่งใหม่สำหรับเราคนพื้นราบ

ทุกๆ วัน คนที่บ้านแม่สามแลบจะรู้ดีว่า มีปลาจำนวนมากมายเพียงใด ที่เดินทางออกจากชุมชนริมฝั่งน้ำไปเลี้ยงผู้คนในที่ต่างๆ กันออกไปทั้งใกล้-ไกล บางวันปลาที่ได้จากแม่น้ำสาละวินก็จะเดินทางไปถึงแม่ฮ่องสอน แต่บางวันมันก็จะเดินทางไปเพียงแค่บ้านแม่สามแลบ ขึ้นอยู่กับปลาที่คนหาปลาจับได้ในแต่ละวันว่ามีปริมาณเท่าใด เพราะสำหรับพรานปลาที่สาละวิน เป้าหมายของการหาปลาแต่ละวันคือเพื่อเป็นอาหารของครอบครัว แต่ถ้าจับได้มากกว่านั้นก็ส่งขาย

เป็นอยู่เหมือนเป็นมาคนหาปลาแห่งสาละวิน

จากงานวิจัยไทบ้านภูมิปัญญาสาละวินที่ศึกษาโดยชุมชนกระเหรี่ยงริมน้ำสาละวินพบว่าตลอดสองฝั่งน้ำที่มีชุมชนตั้งอยู่ คนในชุมชนริมน้ำจะหาปลากันตลอดทั้งปี อย่างเช่นที่ บ้านสบเมย ซึ่งตั้งอยู่ริมแม่น้ำเมยที่ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำสาละวิน ทุกๆ วันคนในชุมชนจะออกเรือเพื่อไปหาปลา บ้านสบเมยจึงเป็นแหล่งปลาที่สำคัญที่ส่งไปยังท่าเรือที่บ้านแม่สามแลบและไปสู่เมืองต่างๆ เช่น แม่สะเรียง เป็นต้น

คนหาปลาในแม่น้ำสาละวินใช่ว่าจะมีแต่คนจากบ้านสบเมยเท่านั้น ในหมู่บ้านอื่นๆ เช่น บ้านท่าตาฝั่ง และหย่อมบ้านเล็กบ้านน้อยซึ่งซุกตัวอยู่ในป่าริมแม้น้ำสาละวินและไม่มีชื่ออยู่ในแผนที่ประเทศไทยก็มีคนหาปลาเช่นกัน

ปรีชาบอกกล่าวเรื่องราวของเขาให้ฟังเพิ่มเติมว่า

“ผมโตมาก็ได้มาหาปลากับพ่อแล้ว เวลาได้ปลามาก็พอรู้จักชื่อปลาบ้างว่ามันชื่ออะไร แต่เวลาขายพ่อจะเป็นคนขาย ผมไม่รู้หรอกว่า พ่อขายปลาไปที่ไหนบ้าง แต่ถ้าเวลาไปใส่จานี้ผมก็รู้วิธีใส่ ถ้าน้ำแห้งก็เอาสายของจาขยับลงมาผูกกับหินให้ต่ำ แต่ถ้าในหน้าน้ำก็เอาไปผูกให้สูงกว่า คนหาปลาจะจำได้หมดแหละว่า จาของตัวเองเอาใส่ไว้ตรงไหน ไม่ขโมยกันหรอก”

นอกจากปรีชาแล้ว ผะมูลอยหรือบัวลอย ดีสมประสงค์ คนหาปลาแห่งบ้านสบเมยยังได้เล่าขยายความถึงการหาปลาของเขาว่า

“ในแต่วันจะออกเรือข้ามไปหาปลาฝั่งพม่าโดยเอาจาหรือตาข่ายไปใส่ไว้ตามแก่งหินที่อยู่ริมน้ำ พอใส่เสร็จก็ไม่ได้ไปเฝ้า เมื่อถึงตอนเย็นก็ไปใจ (ไปเก็บกู้) เอาปลามา วันละสองครั้งตอนเช้า-ตอนเย็น บางวันก็ได้ปลา บางวันก็ไม่ได้ปลาแล้วแต่ การหาปลามันก็เหมือนการเสี่ยงโชคอย่างหนึ่งนั้นแหละ”

ผะมูลอยกล่าวเพิ่มเติมว่า “ถ้าไปหาปลาในแม่น้ำสาละวิน ส่วนมากจะใช้จามากกว่าเครื่องมืออย่างอื่น เพราะจาใส่ง่ายใส่ไว้แล้วก็ไม่ต้องมาเฝ้าไปทำงานอย่างอื่นได้เลย แต่ถ้าหาปลาในแม่น้ำเมยจะใช้ตะแคว้แช้ หรือเบ็ดสาย เวลาใช้ต้องเดินลากไปตามน้ำตลอด คนหาปลาด้วยเบ็ดต้องมีเวลา ส่วนมากการหาปลาในแม่น้ำเมยก็จะหาในช่วงที่เสร็จจากงานในไร่แล้ว เบ็ดนี่ใช้ได้ทั้งผู้ชายผู้หญิง ปลาน้ำเมยส่วนมากจะตัวไม่ใหญ่มากไม่เหมือนกับแม่น้ำสาละวิน ปลาที่ได้จะตัวใหญ่กว่า”

เช่นเดียวกันกับโซมุ หนุ่มปกาเกอะญอลูกสอง จากหมู่บ้านเล็กๆ ริมสาละวิน เล่าให้ฟังว่า ในแต่ละวันจะมีคนในหมู่บ้านข้ามไปหาปลาฝั่งโน้น (ฝั่งพม่า) เพราะมันไม่ไกลกันเท่าใด เพียงแค่พายเรือออกไปก็ถึงฝั่งโน้นแล้ว คนหาปลานิยมไปหาปลาคนเดียวหรือบางวันก็ไปพร้อมๆ กันหลายคน ส่วนมากก็จะเป็นญาติพี่น้องกัน

เครื่องมือหาปลาที่คนหาปลาใช้ส่วนมากจะเป็นการไปใส่จาทิ้งไว้แล้วก็ไปดูเอาทีหลัง บางวันก็ได้ปลาใหญ่ บางวันก็ได้ปลาเล็ก จานี้ทำเองไม่ได้ ต้องไปซื้อเขามาราคาหลายร้อย หาปลาทั้งปี แบ่งขายบ้างก็ได้เงินคุ้มค่าเครื่องมือแล้ว

แม้ว่าผลผลิตจากการหาปลาในแต่ละวันไม่คงที่ แต่คนหาปลายังคงทำหน้าที่ของเขาต่อไป จากรุ่นหนึ่งสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง เพราะการหาปลาหมายถึงปากท้อง กินเองก่อน หากเหลือจึงขาย

นอกจากแม่น้ำสาละวินแล้ว ตามหมู่บ้านริมลำห้วยสาขาของแม่น้ำสาละวินก็มีการหาปลาตามห้วยเช่นเดียวกัน อย่างเช่นที่บ้านโพซอ คนในหมู่บ้านหาปลาในลำห้วยแม่แงะ ซึ่งไหลไปบรรจบกับแม่น้ำสาละวินตรงสบแงะ

ในช่วงหน้าฝนปลาจากแม่น้ำสาละวินก็จะว่ายเข้ามาตามลำห้วยซึ่งมีระดับสูงขึ้นเพื่อวางไข่ ในช่วงหน้าแล้งปลาที่ออกลูกหลานเพิ่มขึ้นก็จะกลายเป็นปลาค้างวังที่ยังคงอาศัยอยู่ในลำห้วยให้คนในหมู่บ้านได้อาศัยหาอยู่หากินเลี้ยงชีพ

อ้ายโท ชาวบ้านโพซอเล่าถึงวิธีการหาปลาในลำห้วยแม่แงะให้ฟังว่า

“ในช่วงที่น้ำมามากบางคนก็จะใส่จาตามลำห้วย แต่บางคนก็ใส่เบอ –ใส่ไซตามทุ่งนา แต่ถ้าในช่วงที่น้ำน้อยในหน้าแล้ง ก็จะหว่านแหบ้าง ใส่จาบ้างตามลำห้วย

“ออกไปหาปลาไม่ใช่ว่าจะหาไปเรื่อยนะ ต้องมีความรู้อยู่บ้างว่าปลามันจะอาศัยอยู่ตรงไหน ส่วนมากถ้าไปหว่านแหก็จะไปตามกุย - วังน้ำ เพราะที่วังน้ำจะลึกและมีหินให้ปลาได้เข้าไปอาศัยอยู่ ปลาที่ได้ก็ไม่ขาย เอามากินในบ้านของตัวเองเสียมากกว่า”

นอกจากหมู่บ้านพอโซแล้ว บ้านสิวาเดอก็ยังเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีการหาปลาในลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน

ที่บ้านสิวาเดอยังมีการใช้เครื่องมือหาปลาบางชนิดที่แตกต่างไปจากบ้านโพซอ อ้ายทนงชาวบ้านสิวาเดอบอกว่า เครื่องมือหาปลาที่คนบ้านสิวาเดอใช้นั้นมีทั้งเครื่องมือหาปลาสำหรับผู้ชายและผู้หญิง และเครื่องมือหาปลาที่ใช้ร่วมกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย อย่างส่วย-สวิง ส่วนมากผู้หญิงจะใช้

ส่วนเครื่องมือหาปลาที่เด็ดสุดลำหรับลำห้วย เห็นจะเป็น ตะเม่ออ่อหยะ ซึ่งเป็นวิธีการหาปลาของผู้หญิง ซึ่งต้องมีความชำนาญระดับเซียนเท่านั้นจึงจะได้ปลาด้วยการจับปลาแบบนี้

การหาปลาแบบนี้ดูก็ไม่ยาก เวลาใช้ก็นำเหยื่อ คือ หนอนไม้ไผ่ มาผูกเข้ากับปลายไม้ไผ่ซึ่งเหลาจนเรียวเล็กให้สามารถมัดหนอนไว้ได้เหมือนเชือก มัดหนอนไม้ไผ่ผูกเข้ากับปลายไม้ไผ่ เวลาเอาไปใช้ก็หย่อนปลายไม้ไผ่ที่มีหนอนติดอยู่ลงไปในน้ำบริเวณริมห้วยที่น้ำไม่ลึกมากและน้ำใสพอสมควร ปลาก็จะมองเห็นหนอนได้ เมื่อปลาเข้ามาตอดกินหนอนก็ดึงไม้ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ปลาน้อยก็จะกระโดดตามหนอนขึ้นมาลงสวิงที่เตรียมไว้รับปลา คุณแม่บ้านกะเหรี่ยงผู้เชี่ยวชาญตะเม่ออ่อหยะบอกว่า หากไม่มีสวิงใช้เสื้อรับก็ได้

วิธีการหาปลาอย่างนี้ดูเหมือนทำง่าย แต่เมื่อได้ลองทำดูแล้วจึงรู้ว่า การหาปลาด้วยวิธีการอย่างนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ และต้องรู้จังหวะการกระโดดของขึ้นปลา จึงจะจับปลาได้-เอาเข้าจริงๆ มันไม่ได้ง่ายอย่างที่คิดเลย

คนหาปลาแห่งลุ่มน้ำสาละวินยังมีวิธีการหาปลาอื่นๆ ที่หลากหลายและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วิธีการการหาปลาที่น่าสนใจอีกวิธีหนึ่งนั้น ชาวบ้านเรียกว่า มาอ่อปัวะ หรือการกั้นน้ำเอาปลา วิธีการหาปลาอย่างนี้เป็นการหาปลาโดยไม่ใช้เครื่องมือหาปลา ทำได้เฉพาะหน้าแล้งที่น้ำเริ่มลดลง เพราะในช่วงที่น้ำในลำห้วยลดลง น้ำในลำห้วยบางส่วนจะแยกออกจากกันและมีเกาะเล็กๆ โผล่ขึ้นมาตรงกลาง ชาวบ้านจะเลือกกั้นนำน้ำบนลำห้วยสายที่เล็กกว่าก่อน โดยการกั้นนั้นก็เริ่มกั้นตั้งแต่ต้นน้ำก่อนแล้วค่อยๆ ไล่กั้นลงมาเรื่อยๆ พอน้ำในบริเวณนั้นแห้งก็ลงมือจับปลา

การมาอ่อปัวะ นั้นบางทีก็ใช้คนมาก บางทีก็ใช้คนน้อย เมื่อได้ปลามาแล้วก็จะแบ่งกัน เมื่อหาปลาเสร็จแล้วก็ต้องเอาส่วนที่กั้นน้ำออกไปให้หมด คือต้องปล่อยน้ำให้ไหลเช่นเดิม เพราะชาวบ้านมีความเชื่อว่า ปลาที่หลงเหลืออยู่จะตายแล้วจะไม่มีปลากินอีก

การหาปลาแบบนี้โดยมากคนหาปลาจะไปด้วยกันประมาณ ๒-๓ คนเพื่อช่วยกันหาปลาส่วนมากจะทำในหน้าแล้ง หน้าฝนทำลำบากเพราะน้ำมาก

ความเชื่อที่ว่า ถ้ากั้นน้ำแล้วไม่ปล่อยให้น้ำไหลออกไปอย่างอิสระนั้น เป็นความเชื่อของ

ชาวปกาเกอะญอที่มีมานานแล้ว ซึ่งยืนยันได้จากนิทานเรื่องเล่าโบราณเรื่องหนึ่ง

แจแปนทีลอซูแหล่งกำเนิดนิทานแห่งสายน้ำ

นานมาแล้วมีเจ้าเมืององค์หนึ่งคิดจะตึกแค (กั้นน้ำ) จับปลาตัวใหญ่ในแม่น้ำสาละวินให้ลูกที่อยากกินปลา ปลาตัวนี้ใหญ่มาก ส่วนหัวของปลาอยู่โจโหละกุยซึ่งเป็นวังน้ำใหญ่เลยขึ้นไปจากชายแดนไทยขึ้นไปทางชายแดนพม่า ในเขตสาละวินตอนกลาง ลำตัวของปลายาวลงไปตามลำน้ำ ส่วนหางอยู่ที่แจแปนทีลอซู ซึ่งเป็นน้ำตกใหญ่ในเขตพม่า ก่อนแม่น้ำสาละวินจะไหลลงสู่อ่าวเมาะตะมะ (ในช่วงสงครามโลกมีทหารญี่ปุ่นเคยล่องแพลงไปตามแม่น้ำและตกน้ำตกตายที่น้ำตกแห่งนี้ น้ำตกแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า แจแปนทีลอซู) แต่หากว่าน้ำมันจากปลาตัวนี้หลั่งลงพื้นดินเมื่อใด แผ่นดินก็จะลุกเป็นไฟ

ชาวบ้านเมื่อได้ทราบข่าวก็เกิดความกังวลว่า เมื่อน้ำท่วมบ้านแล้วไม่รู้ว่าจะหนีไปอยู่ที่ไหน มารชื่อมะกอลีเมื่อทราบเรื่องดังกล่าวจึงขออาสามาขัดขวางการตึกแคของเจ้าเมือง โดยครั้งแรกมารมะกอลีไปบอกท่านเจ้าเมืองว่า ลูกเราตายแล้ว ช่วยไปทำศพให้หน่อยเถิด เจ้าเมืองซึ่งกำลังจะกั้นน้ำสาละวินอยู่ก็ตอบมากลับมาว่า ลูกตายไปก็มีลูกใหม่ได้ เมื่อพูดจบเจ้าเมืองก็เริ่มทำงานของตนต่อไปไม่สนใจเจ้ามารมะกอลี เมื่อเห็นว่าเจ้าเมืองไม่สนใจเจ้ามารมะกอลีก็จากไป แต่จากไปไม่นานเจ้ามารก็กลับมาใหม่แล้วบอกกับเจ้าเมืองว่า เมียเราตายช่วยไปทำศพให้หน่อยเถิด เจ้าเมืองก็ตอบกลับมาว่า เมียตายก็หาเมียใหม่ได้ แล้วเจ้าเมืองก็กั้นน้ำต่อไป

เมื่อบอกกับเจ้าเมืองถึง ๒ ครั้งไม่สำเร็จ ในครั้งที่สามเจ้ามารมะกอลีก็มาบอกกับเจ้าเมืองว่า แม่เราตายช่วยไปทำศพให้หน่อยเถิด เจ้าเมืองไม่รู้จะตอบไปอย่างไรจึงต้องเลิกกั้นน้ำ และตามเจ้ามะกอลีกลับไปยังเมือง พอกลับไปถึงเมืองก็พบว่า ทุกคนยังอยู่ครบเจ้าเมืองจึงไม่ได้กั้นน้ำสาละวินตามที่ใจปรารถนา และชาวบ้านก็ได้อยู่กันอย่างปรกติสุขเรื่อยมา

เมื่อภูมิปัญญาจากภายนอกมาเยือน

คนหาปลาที่บ้านสบเมยเล่าให้ฟังถึงการเข้ามาของคนภายนอกที่เข้ามาหาปลาบนแม่น้ำสาละวินในเขตหมู่บ้านให้ฟังว่า “คนหาปลาเหล่านี้จะมาจากแม่สะเรียงบ้าง และมีบ้างที่เป็นทหาร”

เครื่องมือหาปลาที่เป็นภูมิปัญญาของคนภายนอกนำเข้ามานั้นได้ส่งผลต่อการหาปลาของคนในชุมชนริมน้ำทีละนิดๆ

ภาพที่ปรากฏขึ้นในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าภูมิปัญญาในการหาปลาของคนภายนอกได้ลุกคืบเข้ามาในเขตบ้านสบเมยแล้ว

วันนั้นกลางความเงียบสงบของสายน้ำ เสียงคนไม่ต่ำกว่า ๖ คนตะโกนโหวกเหวกอยู่บนเรือลำหนึ่งที่กำลังมุ่งหน้าเข้าไปยังเขตพม่า บนเรือลำนั้นมีแบตเตอรี่และอุปกรณ์ในการซ๊อตปลาอย่างครบครัน ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้อีกไม่นานมันก็จะได้ทำหน้าที่ของมัน

เมื่อปลาที่ถูกไฟฟ้าซ๊อตส่วนมากด้านหางจะงอ อาจจะเป็นเพราะกระดูกและโครงสร้างภายในถูกกระตุ้นอย่างแรง ตัวไหนที่ถูกไฟฟ้าซ๊อตตั้งแต่ยังเล็ก ถ้ายังไม่ตายเมื่อโตขึ้นส่วนด้านหางก็จะงอขยายพันธุ์ไม่ได้อีก

อิทธิพลจาการรุกรานจากภายนอกนั้นไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับชุมชนภายในที่เป็นอยู่

ผะมูลอยกล่าวถึงการรุกรานนี้ว่า “ไม่นานปลาก็หมดแล้วถ้าทำอย่างนี้ คนหาปลาที่หาปลาพอได้มีเงินซื้อของเล็กๆ น้อยๆ อย่างพวกเฮานี้ไม่มีปัญญาไปว่าเขาหรอก เขามีอำนาจ ก็ดูกันต่อไปนั้นแหละ ถ้าไม่ไหวจริงก็ค่อยว่ากล่าวกัน”

ขณะแสงสุดท้ายของพระอาทิตย์จะลับขอบฟ้าที่ขอบสายตาไป เรือลำสุดท้ายของคนหาปลาที่บ้านสบเมยก็เดินทางกลับเข้ามายังฝั่งพร้อมกับปลาเพี้ยตัวใหญ่ ฉากชีวิตของคนหาปลาก็ค่อยๆ รูดม่านการแสดงในวันนั้นลงอย่างช้าๆ พร้อมๆ กับการมาเยือนของดวงดาวและความหนาวเย็นแห่งค่ำคืน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา