eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

อาวุธสงครามที่เรียกว่าเขื่อนสาละวิน

อาทิตย์ ธาราคำ

“หากมีสงคราม ดอกไม้ยังคงหลบซ่อนได้ในป่า
แต่ถ้าน้ำสาละวินท่วมแผ่นดิน ดอกไม้ก็คงไม่มีที่ซ่อนอีกต่อไป”
จากเพลง As long as the Salween Flows” ของวง Salween Angles

      ทันทีที่กระทรวงพลังงาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แถลงข่าวเรื่องการลงนามร่วมกับบริษัทไซโนไฮโดร (Sino Hydro) รัฐวิสาหกิจด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ของจีน ในการร่วมทุนสร้างเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำสาละวินในพม่า ที่ฮัตจี รัฐกะเหรี่ยง ความกังวลใจก็เข้าปกคลุมชุมชนลุ่มสาละวิน รวมทั้งผู้ที่ติดตามเรื่องนี้

      กว่า ๔ ปีแล้วที่กฟผ. ปัดฝุ่นผลักดันโครงการเขื่อนสาละวินอย่างหนัก โดยช่วงแรกเน้นที่เขื่อนสาละวินชายแดนไทย-พม่า ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพราะพื้นที่โครงการตั้งอยู่ระหว่างชายแดน สามารถเข้าถึงได้จากทั้ง ๒ ประเทศ แต่จู่ๆ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา กฟผ.กลับลงนามกับรัฐบาลทหารพม่าในการสร้างเขื่อนแห่งแรกที่ฮัตจี ในรัฐกะเหรี่ยง โดยระบุว่ารัฐบาลพม่าเป็นผู้เลือกเพราะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด ซึ่งรายงานข่าวระบุว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปลายปีนี้

      กระบวนการตัดสินใจที่เป็นไปอย่างรวบรัดและไม่เคยมีการเปิดเผยข้อมูลแก่ สาธารณะก่อนการดำเนินการ ทำให้เกิดข้อสังเกตว่า โครงการเขื่อนขนาด ๓๘,๐๐๐ ล้านบาท ทำไมต้องรีบขนาดนี้ ? และทำไมต้องสร้างในรัฐกะเหรี่ยง ?

      การตัดสินใจสร้างเขื่อนสาละวินที่ฮัตจี ประจวบเหมาะกับสถานการณ์สงครามในรัฐกะเหรี่ยงที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จนเหมือนกับว่ากองทัพพม่าจงใจใช้ “เขื่อน” ในฐานะ ”โครงการพัฒนา” เป็นอาวุธชิ้นใหญ่ที่จะทำลายชนกลุ่มน้อยให้ราบคาบไป เหมือนกับที่รัฐบาลหลายๆ ประเทศได้เคยใช้มาแล้ว

      นับตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๘ กองทัพพม่าเปิดศึกครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ ๑๐ ปี ในรัฐกะเหรี่ยง โดยเฉพาะเขตทางตอนบนไม่ไกลจากเมืองหลวงแห่งใหม่ที่ปินมะนา มีรายงานว่าประชาชนอย่างน้อย ๑๖,๐๐๐ คนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น เนื่องจากหมู่บ้านถูกเผาทำลายโดยหารพม่า ชาวบ้านจำนวนหนึ่งสามารถเอาชีวิตรอดมาถึงริมแม่น้ำสาละวิน ข้ามมาอาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยที่ อ.สบเมย ส่วนหนึ่งอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงชั่วคราวซึ่งดูแลโดยหน่วยงานบรรเทาทุกข์ภายใต้กองกำลังกู้ชาติกะเหรี่ยง และชาวบ้านที่เหลือจำนวนมากยังคงหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า

      “ริมสาละวินที่ชายแดนนี่ปลอดภัยที่สุดแล้ว แต่ถ้าพม่าจะมาสร้างเขื่อนจริงๆ ก็คงอยู่ไม่ได้ น้ำท่วมยังไม่หนักเท่ากับทหารพม่าจะเข้ามามากขึ้น ไม่รู้เราจะต้านได้นานแค่ไหน” ซอวิน เจ้าหน้าที่ทหารกะเหรี่ยง KNU กล่าว

      มีรายงานว่าปีนี้กองทัพพม่าเพิ่มกองกำลังอีก ๖ กองร้อยในเขตรัฐกะเหรี่ยงที่ติดแม่น้ำสาละวินชายแดนไทย-พม่าใน “พื้นที่สีดำ” หรือพื้นที่ซึ่งยังมีกองกำลังกู้ชาติเคลื่อนไหวอยู่ และมีแผนว่าจะตีฐานที่มั่นของ KNU ที่ริมสาละวินให้ได้ภายในปีนี้

      ส่วนบริเวณเขื่อนที่ฮัตจี ปัจจุบันถือเป็น “พื้นที่สีขาว” อยู่ภายใต้กองทัพพม่าและกองกำลัง DKBA หลังจากตีฐานที่มั่นของกะเหรี่ยงที่มาเนอปลอว์ได้เมื่อปี 2538 ปัจจุบันจึงเป็นเขตที่คนนอกไม่สามารถเข้าถึงได้ นอกจากได้รับอนุญาตจากกองทัพพม่า ทำให้การศึกษาของเขื่อนแห่งนี้ต้องกระทำภายใต้การดูแลประกบจากทหารพม่า และหลังจากเจ้าหน้าที่กฟผ.เหยียบกับระเบิดเสียชีวิตเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม คณะผู้เชี่ยวชาญจากกรุงเทพก็ระงับการลงพื้นที่ทันที โดยกฟผ. ระบุว่าจะข้อมูลจากทหารพม่าเป็นหลัก

      คุ้มแล้วหรือไม่ที่ประเทศไทยจะเอาชื่อเสียงไปเสี่ยงต่อการถูกรุมประณามจาก นานาชาติข้อหาร่วมมือกับรัฐบาลเผด็จการละเมิดสิทธิมนุษยชน ของชนกลุ่มน้อยในนามของการพัฒนา

      ตอนนี้ยังไม่สายเกินไปที่กฟผ.จะระงับโครงการ และพิจารณาผลกระทบให้ถี่ถ้วน ก่อนที่จะถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างอาวุธสงครามเข่นฆ่าพี่น้องของเราเอง

 

สรุปข้อมูลความคืบหน้าโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน

ฐานทหารพม่าแห่งใหม่ ไม่ไกลจากหัวงานเขื่อนสาละวินชายแดน ตอนล่างที่ดากวิน-บ้านท่าตาฝั่ง

 

     ข้อมูลเกี่ยวกับความสูง พื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมและพลังการผลิตของแต่ละเขื่อนจะแตก ต่างกันออกไปตามหน่วยงานต่างๆ ซึ่งขณะนี้ ยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดนัก ทั้งนี้เพราะมีการเปลี่ยนแปลงในช่วงการวางแผนและ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้อย่างเป็นทางการ

      เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๘ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ลงนามใน Memorandum of Understanding (MOU) กับกระทรวงพลังงานไฟฟ้า ของรัฐบาลพม่าเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนมูลค่า หลายหมื่นล้านบาทบนแม่น้ำสาละวินและตะนาวศรี

      MOU นี้เป็นกรอบใหญ่สำหรับการศึกษาการพัฒนาพลังงาน ไฟฟ้าทั้งลุ่มน้ำสาละวินและตะนาวศรี ข้อมูลปัจจุบันชี้ว่ามีโครงการที่ถูกผลักดันมากที่สุดทั้งสิ้น ๖ แห่ง ได้แก่

      ๑) ท่าซาง ตั้งอยู่ในรัฐฉาน ขนาด ๗,๑๑๐ เมกกะวัตต์ เขื่อนแห่งนี้จะเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดบนลุ่มน้ำสาละวินและจะสูงที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ ด้วยความสูงถึง ๒๒๘ เมตร เป็นโครงการของบริษัทเอกชนไทย MDX ซึ่งระหว่างปี ๒๕๓๙-๒๕๔๑ กองทัพพม่าบังคับอพยพประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวถึง ๓ แสนคน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่มีการศึกษาโครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบโครงการ และมีรายงานว่าบริษัทฯ ได้ก่อสร้างถนนจากชายแดนไทยที่จังหวัดเชียงใหม่เข้าถึงหัวงานเขื่อน โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และอาคารบ้านพักคนงาน 

      ๒) ยวาติ๊ด ๖๐๐ เมกกะวัตต์ อยู่ในเขตรัฐคะเรนนี ประเทศพม่า 

      ๓) เว่ยจี หรือสาละวินชายแดนตอนบน ๔,๐๐-๕,๖๐๐ เมกกะวัตต์ ความสูง ๒๒๐ เมตร ตั้งอยู่ที่ “เว่ยจี” บนชายแดนประเทศไทย-พม่า ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรงข้ามกับรัฐกะเหรี่ยง เป็นโครงการของกฟผ. ส่วนหนึ่งของพื้นที่โครงการอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ขณะนี้มีการตัดถนนเลียบแม่น้ำสาละวินไปจนถึงด่านออเลาะ ใกล้หัวงานเขื่อน

      ๔) ดา-กวิน หรือสาละวินชายแดนตอนล่าง ๕๐๐ หรือ ๗๙๒ หรือ ๙๐๐ เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ใกล้บ้านท่าตาฝั่ง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน เป็นโครงการของกฟผ. อ่างเก็บน้ำของเขื่อนแห่งนี้จะยาวไปจนจรดฐานของเขื่อนบน

      ๕) ฮัตจี ในรัฐกะเหรี่ยง พื้นที่โครงการตรงข้ามกับจังหวัดตาก เขื่อนตั้งอยู่ท้ายน้ำจากชายแดนที่สบเมยลงไปในประเทศพม่าประมาณ ๔๐-๕๐ กิโลเมตร

      ระดับเก็บกักน้ำของเขื่อน (Head Water) อยู่ที่ระดับประมาณ ๔๘ เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง และ crest + ๖๐ เมตร ซึ่งเป็นข้อมูลที่คาดการณ์เท่านั้น ยังไม่มีข้อมูลที่แน่นอน ทั้งนี้ กฟผ. ระบุว่า เขื่อนกักเก็บน้ำอยู่ที่ระดับ ๔๘ มรทก. จึงจะไม่ท่วมในประเทศไทยเลย พื้นที่อ่างเก็บน้ำจะท่วมเฉพาะในเขตพม่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา กำลังผลิตติดตั้ง คาดว่าอยู่ในระดับ ๖๐๐-๑,๒๐๐ เมกกะวัตต์

      เขื่อนฮัตจีเป็นโครงการที่มีการผลักดันมากที่สุดในขณะนี้ โดยกฟผ. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOA)กับกรมไฟฟ้าพลังน้ำพม่า ในการร่วมทุน และล่าสุดได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับบริษัท Sinohydro รัฐวิสาหกิจของจีน เมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๙ รายงานข่าวระบุว่ากฟผ. จะกู้เงินดอกเบี้ยต่ำจากประเทศจีนเพื่อลงทุนสร้างเขื่อนแห่งนี้ ซึ่งมีมูลค่าประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว ๓,๘๐๐ ล้านบาท

      ๖) ตะนาวศรี ๖๐๐ เมกกะวัตต์ อยู่บนแม่น้ำตะนาวศรี หรือภาษาพม่าเรียก “ตะนิ้นตะรี” ตรงข้ามกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา