eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

บันทึกจากป่าเขา เรื่องเล่าของคนอยู่ป่า

โดย เดเด

ปลายฝนต้นหนาว กลางเดือนตุลาคม ในผืนป่าสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผม(ผู้เขียน)กันเพื่อนอีก 2 คน เรามีโอกาสได้ไปเยือนบ้านแม่ก๋อน อ. แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน หมู่บ้านเล็ก ๆ ของชาว
ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ที่มีเพียงไม่กี่สิบครัวเรือนที่ซ่อนอยู่ในผืนป่าอันกว้างใหญ่ ตรงทางเข้าหมู่บ้านมีลำห้วยแม่ก๋อนไหลผ่าน ลำห้วยสายนี้ได้หล่อเลี้ยงสัตว์น้อยใหญ่ และผู้คนที่นี่มาหลายช่วงอายุคน

ผู้หญิง ปกาเกอะญอ ช่วยกันตึกแค

 

การเดินทางของพวกเราเริ่มต้นจากตัวอำเภอแม่สะเรียงด้วย รถยนต์ขับเคลื่อนสี่ล้อ และต้องใช้เวลาเกือบชั่วโมงครึ่ง ขณะที่รถแล่นไปตามทางลูกรัง ผู้โดยสารที่นั่งอยู่กระบะหลังรถ บางทีกระเด็นกระดอนขึ้นมาแทบจะลอยออกนอกรถ เมื่อมาถึงจุดสิ้นสุดเส้นทางที่รถยนต์จะไปได้ต่อ รถมอเตอร์ไซด์ที่จอดรออยู่ก็เป็นพาหนะต่อมา ที่พาพวกเราเดินทางเข้าสู่หมู่บ้าน ประมาณ 30 กว่านาที บนเส้นทางลูกรังตลอดสายไปยังหมู่บ้าน ราวกับว่ายาวนานเป็นชั่วโมง และขณะที่เราต้องนั่งมอเตอร์ไซด์ต่อนั้น ด้วยเส้นทางที่ยากต่อการขับขี่ทำให้มอเตอร์ไซด์ที่เราไป ด้วยนั้นเกือบจะล้มลงหลายต่อหลายครั้ง

แต่เส้นทางที่ยากลำบากนี้ไม่ได้ทำให้พวกเราท้อ เพราะตลาดสองฟากเส้นทางเต็มไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่  และเสียงนกที่ส่งเสียงร้องเพลงให้ผู้มาเยือนได้ฟัง ต้นไม้ข้างทางบางต้นมีกล้วยไม้ป่าดอกสีขาวขึ้นเบียดเสียดกันเต็มเครือไม้ ตลอดการเดินทางของเรา สามารถสัมผัสได้ถึงความชุ่มชื่นของผืนป่าจนทำให้เราลืม นึกถึงความยากลำบากของเส้นทางที่เรากำลังไปยังหมู่บ้าน

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าสาละวินอันกว้างใหญ่แห่งนี้ จึงทำให้ขุนห้วยต้นน้ำต่างๆ มีน้ำไหลให้ความชุ่มชื้นกับผืนป่าแห่งนี้ และได้หล่อเลี้ยงสัตว์น้อยใหญ่ และผู้คนที่พึ่งพาอาศัยน้ำในการดำรงอยู่มาโดยตลอด

ลำห้วยแม่ก๋อนที่พวกเราไปเยือนเป็นน้ำห้วยสาขาของแม่น้ำสาละวิน และห้วยแห่งนี้มีน้ำสมบูรณ์ตลอดทั้งปี จึงมีปลาน้อยใหญ่แหวกว่ายขึ้น-ลง ระหว่างห้วยแม่ก๋อนกับแม่น้ำสาละวินตลอดทุก ๆ ปี ตามฤดูกาลอพยพของปลา นอกจากปลาแล้ว บริเวณตามตลิ่งของลำห้วยยังมีทั้งกบ เขียด กุ้ง ปู ปลา และสัตว์น้ำนานาพันธุ์อาศัยอยู่

ด้วยความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศน์ของลำห้วยแห่งนี้ ชาวบ้านที่นี่จึงมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์มากมายหลายชนิดที่ได้จากสายน้ำสายนี้ แต่กว่าที่ความสมบูรณ์จะกลับมายังลำห้วยแห่งนี้ ก็ใช้ระยะเวลาหลายปีในการดูแลรักษา แม้ว่าลำห้วยจะไม่กว้างเท่าใด แต่ปลาที่อยู่ในลำห้วยก็มีมาก เนื่องเพราะชาวบ้านได้จัดตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาขึ้น มีระยะทางกว่า 2 ก.ม.  ในเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลานี้ เราจึงได้เห็นปลาน้อยใหญ่แหวกว่ายไปมาให้เราเห็นโดยไม่กลัวว่าจะมีใครจับมันเลย

การที่มีแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และผืนป่าอันกว้างใหญ่อุดมสมบูรณ์ จึงทำให้วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่อยู่อย่างเรียบง่าย พอเพียง และอาศัยพึ่งพาอยู่กับผืนป่าต้นน้ำที่เป็นแหล่งที่อยู่ และแหล่งอาหารที่สมบูรณ์ วิถีชีวิตของผู้คนที่นี่เป็นวิถีของคนที่อยู่คู่กับป่า เมื่อเขาใช้ประโยชน์จากผืนป่าที่ธรรมชาติได้มอบไว้ให้เป็นของขวัญได้ใช้สอยแล้ว จึงต้องคอยดูแลปกป้องผืนป่าที่ได้มอบชีวิตที่อุดมสมบูรณ์ให้ผู้คน

เมื่อพวกเราไปถึงยังหมู่บ้านก็ได้สัมผัสถึงความเป็นมิตรที่ทุกคนมีต่อกัน รอยยิ้มของผู้คน และการทักทายของเด็ก ๆ ที่มีให้กับแขกผู้มาเยือนนั้นเต็มไปด้วยบรรยากาศของความเป็นมิตร คราวใดที่มีแขกมาเยือน หรือมีผู้คนที่สัญจรผ่านหมู่บ้านถึงแม้พวกเขาจะไม่รู้จัก แต่ถ้าถึงช่วงเวลาของอาหารเขาจะเชิญชวน และแบ่งปันให้กับผู้มาเยือนอย่างเต็มใจ นั้นแสดงถึงน้ำใจ ความเป็นมิตร และความสมบูรณ์ของอาหารที่พวกเขาไม่กังวลเลยว่าอาหารจะหมด หรือไม่มีอาหารไว้กักตุน เพราะพวกเขาสามารถหาอาหารจากผืนป่าที่อยู่คู่กับพวกเขาได้ตลอดเวลา

ผู้คนที่นี่ส่วนใหญ่ทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงสัตว์ ทำไร่ ทำนา หาปลาตามแหล่งน้ำต่าง ๆ และหาอาหารตามป่าที่ผืนป่าเป็นผู้มอบให้ หาเพียงพอเท่าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเท่านั้นไม่หาตุนไว้เกินความจำเป็น ส่วนพืชผักของชาวบ้านที่นี่ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อเลยเพราะไร่ของทุกคนนั้นมีพืชผักนานาพันธุ์ที่ปลูกแซมไปในไร่ข้าวอยู่แล้ว หากใครทำนาไม่สามารถที่จะปลูกผักแซมตามต้นข้าวได้ ก็อาจนำปลาที่หาได้ไปแลกกับผักที่เพื่อนบ้านคนอื่นมี

ในหมู่บ้านบางคนอาจไม่มีไร่เป็นของตนเองก็จะมีวิธีการให้ยืมไร่ โดยคนที่มีไร่ก็จะแบ่งให้คนที่ไม่มีไร่ทำไร่ในที่ของตน เมื่อถึงช่วงเก็บเกี่ยว ผู้ที่ยืมไร่คนอื่นก็จะแบ่งข้าวให้เจ้าของไร่ตามความเหมาะสมเป็นการตอบแทน

หมู่บ้านแห่งนี้มีพื้นที่ ๆ มีผืนป่าอันสมบูรณ์ และมีสายน้ำที่ไหลหล่อเลี้ยงชีวิตน้อยใหญ่มากมาย จึงทำให้ห้วยที่นี่มีปลาเป็นจำนวนมากมายหลายพันธุ์ หลายขนาด โดยเฉพาะในเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาของหมู่บ้าน ชาวบ้านที่นี่จึงมีวิธีหาปลาที่แตกต่างกันไป เช่น การปักเบ็ด เหวี่ยงแห ใช้สวิง ปืนยิงปลาหรือการตึกแค ตามแต่ความเหมาะสมของวัยและเพศของคนหาปลาและพื้นที่หาปลา แต่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาเป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านจะไม่หาปลา จึงทำให้มีปลาชุกชุม ปลาห้วยที่พวกเราได้เห็นขนาดใหญ่ที่สุดนั้น น้ำหนักประมาณได้ 2- 3 กก. เลยทีเดียว ความสมบูรณ์ที่มีปลานานาพันธุ์อาศัยอยู่ ชาวบ้านจึงหาปลาได้ตลอดโดยที่จำนวนปลาไม่ลดลง เพราะในเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลานี้ เป็นทั้งแหล่งเพาะพันธุ์และอนุบาลลูกปลา จึงทำให้มีปลาในห้วยแห่งนี้ตลอดทั้งปี

ยามบ่ายของวันที่ 17 ตุลาคม เป็นวันฟ้าโปร่ง สายลมพัดเย็นสบาย พวกเราได้มีวงสนทนาเล็ก ๆ หลังอาหารเที่ยง หลังจากที่ได้คุยแลกเปลี่ยนความรู้ ได้ถามทุกข์สุขและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านที่นั่นเสร็จแล้ว เพื่อนร่วมเดินทางชาวปกาเกอะญอชวนพวกเราไปหาปลา เขาบอกว่ามาถึงที่นี่แล้วเราไปหาปลากันดีกว่า  เดี๋ยวจะพาไปตึกแคที่ท้ายหมู่บ้าน

 

ความสมบูรณ์ของลำห้วย และผืนป่าสาละวิน

การตึกแคเป็นวิธีหาปลาโดยการกั้นน้ำห้วยที่มีแควน้ำแยกออกเป็น 2 แคว โดยเลือกกั้นแควน้ำที่เล็กกว่าในบริเวณที่แควน้ำแยกจากกัน โดยนำหินและใบไม้ที่หาได้มาวางกั้นเป็นช่วง ๆ ไปจนถึงเหนือบริเวณที่แควน้ำมาบรรจบกันอีกครั้ง จากนั้นจึงวิดน้ำออก น้ำจะค่อย ๆ แห้งลงเอง และจะสามารถจับปลาได้ง่ายมาก แต่จะสามารทำได้ในช่วงหน้าแล้งหรือช่วงที่น้ำลดระดับลงเท่านั้น

การกั้นแควน้ำเพื่อตึกแคจะต้องช่วยกันทำประมาณ 5 - 10 คน การหาปลาวิธีนี้จึงก่อให้เกิดความสามัคคีร่วมมือร่วมแรงเอื้อเฟื่อเผื่อแผ่ระหว่างกันได้อีกด้วย

วิธีการหาปลาของผู้คนที่พึ่งพาอาศัยอยู่กับสายน้ำจะไม่จับปลาทั้งหมด แต่จะปล่อยปลาตัวเล็กตัวน้อยไปเพื่อที่จะให้มันมีโอกาสที่จะขยายพันธุ์ต่อไป นอกจากนี้ ผู้เฒ่าผู้แก่ปกาเกอะญอยังได้สั่งสอนต่อกันมาว่า เมื่อตึกแคแล้วจะต้องให้ปล่อยน้ำให้ไหลกลับดังเดิม หากไม่ปล่อยให้น้ำไหลกลับดังเดิม ลูกหลานจะไม่มีปลาให้จับอีก

ในวันนั้นเราตึกแคได้ปลามาหลายชนิด ได้ทั้ง หยะโด่ปะหลู่ หยะทามาเค หยะบอดิ(หยะ ภาษากะเหรี่ยงแปลว่า ปลา) แต่ที่พอจะเรียกเป็นภาษาไทยได้นั้นมีเพียงชนิดเดียวคือ ปลาหลาด ซึ่งมีลักษณะคล้ายปลาช่อน แต่ตัวเล็กกว่า ปลาที่ได้มานั้นเราได้แบ่งกันไปทำอาหาร มื้อเย็นของเราในวันนั้นคือ "แอ็บปลา" (อาหารพื้นเมืองทางภาคเหนือ) ที่รสเด็ดไม่ธรรมดาเลย

การที่ได้มาเยือนหมู่บ้านที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและได้สัมผัสถึงวิถีของผู้คนที่อยู่อย่างพอเพียง ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาผืนน้ำ ผืนป่าที่เขาพึ่งพาอาศัย ทำให้พวกเราบอกได้เต็มปากว่า ผู้ที่อยู่กับป่า ถูกเรียกว่าชาวเขา และถูกมองว่าเป็นผู้ทำลายป่า สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงมุมมองของผู้ที่ไม่เคยรับรู้ถึงวิถีการดำรงชีวิตของพวกเขา ซึ่งแท้จริงแล้ว เขาเหล่านั้นเป็นผู้ที่คอยดูแลรักษาป่าให้ลูกหลานรุ่นหลังได้พึ่งพา ตามคำที่บรรพบุรุษปกาเกอะญอได้สอนต่อกันมาว่า อ่อทีกะตอที อ่อก่อกะต่อก่อ  หรือ กินน้ำรักษาน้ำ อยู่ป่ารักษาป่า
 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา