eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

จับตาเขื่อนสาละวิน รุกแรงในความเงียบ

อาทิตย์ ธาราคำ
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน  สาละวินโพสต์ ฉบับที่ ๔๔ (๑ มกราคม - ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๑)

            ช่วงปีที่ผ่านมาข่าวคราวความเคลื่อนไหวของเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินเงียบหายไปจากหน้าหนังสือพิมพ์ แต่ไม่ได้หมายความว่าโครงการเขื่อนซึ่งวางไว้ถึง ๕ แห่งบนแม่น้ำนานาชาติสายนี้จะยุติลงแต่อย่างใด เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พศ.๒๕๕๐-๒๕๖๔ (PDP 2007) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ ๑ ได้บรรจุ โครงการเขื่อน ๒ แห่ง ได้แก่ เขื่อนท่าซาง ในรัฐฉาน และเขื่อนฮัตจี ในรัฐกะเหรี่ยง

            การบรรจุเขื่อนทั้งสองแห่งนี้ในแผนของประเทศไทย ผนวกกับความเคลื่อนไหวต่างๆ ในพื้นที่ ชี้ให้เห็นได้ว่าแผนนี้มีการเตรียมการและดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

            โครงการเขื่อนท่าซาง ขนาด ๗,๐๐๐ เมกกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนขั้นต้น ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท จะพาดกั้นลำน้ำสาละวินด้วยความสูงถึง ๒๒๗ เมตรเดิมทีบริษัทเอกชนไทย MDX ได้ลงนามกับรัฐบาลทหารพม่าเพื่อพัฒนาโครงการดังกล่าวร่วมกัน โดยที่ผ่านมาได้มีการตัดถนนจากชายแดนไทยที่จ.เชียงใหม่ และเข้าสู่หัวงานเขื่อน การเตรียมการก่อสร้างต่างๆ อาทิ บ้านพักคนงาน โรงไฟฟ้าขนาดเล็กสำหรับการก่อสร้าง และจัดพิธีเปิดการก่อสร้าง (Ground Breaking Ceremony) ในปลายเดือนมีนาคม ๒๕๕๐  

            ความไม่ปรกติของพิธีลงเสาเอกของเขื่อนแห่งนี้นี้อยู่ตรงที่ว่า มีการเกณฑ์ชาวบ้านในพื้นที่ให้มาร่วมงานดังกล่าว ดังที่กลุ่มสิ่งแวดล้อมรัฐฉานรายงานว่ามีชาวบ้านถึง ๔๐๐ คน ถูกบังคับให้แต่ชุดชนเผ่า มาร่วมงานและต้อนรับนายพลพม่าและนักสร้างเขื่อนต่างชาติ

ไฮไลต์ของงานนนี้เห็นจะเป็นภาพนายทหารพม่าและกลุ่มนักลงทุนระดับสูงจากต่างชาติ เดินตรวจตราหัวงานเขื่อนโดยมีกองทหารคุ้มกันล้อมหน้าล้อมหลังราวกับอยู่ในสงคราม ไม่ใช่งานเฉลิมฉลองโครงการพัฒนาแต่อย่างใด (ดูภาพประกอบ)

หลังจากนั้นในเดือนพฤศจิกายที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์เมียนมาร์ไทมส์ ได้รายงานข่าวว่ารัฐบาลทหารพม่าตัดสินใจเชิญบริษัทพลังงานจากจีน CGC (China Gezhouba Water and Power Group Co., Ltd) มาร่วมทุนในอภิมหาโครงการนี้ ตามที่เจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้าพม่าให้สัมภาษณ์ว่า “(บริษัท MDX) ดำเนินโครงการมาเป็นสิบปีแล้วแต่ยังไม่มีความคืบหน้า รัฐบาลจึงเปลี่ยนให้บริษัทจีนเข้ามารับช่วงแทน” เป็นการล้างไพ่ปรับเปลี่ยนการถือหุ้นขนานใหญ่ ยกให้บริษัทจีนกุมบังเหียนถือหุ้นสูงถึง ๕๑ เปอร์เซนต์ รัฐบาลพม่าคงไว้ ๒๕ เปอร์เซ็นต์ และบริษัทไทย MDX เหลือเพียง ๒๔ เปอร์เซ็นต์

บริษัทจีน CGC แหงนี้ถือเป็นแนวหน้าของวงการเขื่อนในจีน ผลงานล่าสุดคือเขื่อนทรีกอร์จเจส (Three Gorges Dam) เขื่อนใหญ่ที่สุดในโลกที่แม่น้ำแยงซี อีกทั้งยังมีสายสัมพันธ์แนบแน่นกับนักการเมืองใหญ่ของจีน และมีทุนมหาศาลพร้อมทั้งการสนับสนุนเต็มที่จากธนาคารเพื่อการนำเข้าส่งออกของจีน (Ex-Im Bank)

เรียกได้ว่าชั่วโมงนี้เขื่อนท่าซางทำท่ามาแรงและไปไกลกว่าโครงการอื่นๆ บนแม่น้ำสาละวิน

ทางด้านเขื่อนฮัตจี ในรัฐกะเหรี่ยง ขนาด ๑,๒๐๐ เมกกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนขั้นต้น ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท เป็นการลงทุนโดยตรงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับรัฐบาลทหารพม่า ในปี ๒๕๔๙ ได้ลงนามกับยักษ์ใหญ่แห่งวงการเขื่อนของจีน บริษัทไซโนไฮโดร (Sinohydro Corp.) มาร่วมทุนด้วย โดยแบ่งสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการ เป็นกฟผ. ๔๕ เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลทหารพม่า ๑๕ เปอร์เซ็นต์ และไซโนไฮโดร ๔๐ เปอร์เซ็นต์

งานนี้กฟผ. จะใช้บริษัทลูก ซึ่งคลอดออกมาล่าสุดเพื่อ “โกอินเตอร์” โดยเฉพาะ คือ กฟผ. อินเตอร์ฯ (EGAT International Co.) เป็นผู้ดำเนินการในฐานนะบริษัทเอกชน ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจของรัฐบาลไทยอีกต่อไป ดังที่ผู้ว่าฯ กฟผ. คนก่อนให้สัมภาษณ์ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจว่า "ความที่ กฟผ.เป็นรัฐวิสาหกิจ ทำให้การดำเนินงานต่างๆ ไม่คล่องตัว และล่าช้า การแข่งขันกับบริษัทเอกชนทั้งในและต่างประเทศก็จะยาก แต่เมื่อมีบริษัท กฟผ.อินเตอร์ฯ ก็ช่วยลดขั้นตอนการดำเนินงานตามระเบียบราชการลงไปได้มาก”  

แม้จะเกิดเหตุการณ์สะเทือนขวัญเมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๐ ที่ค่ายพักคนงานกฟผ. หัวงานเขื่อนฮัตจี ถูกโจมตีด้วยอาวุธหนัก จนทำให้คนงานเสียชีวิตทันที ๑ ราย หลังเหตุการณ์ดังกล่าวกฟผ. ประกาศระงับการสำรวจพื้นที่ทันทีจนกว่าจะมีมาตรการรักษาความปลอดภัย แต่รายงานภาคสนามของโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต เดือนมกราคม ๒๕๕๐ ระบุว่ากฟผ. ยังมีการดำเนินงานศึกษาโครงการในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่บ้านสบเมย  จ.แม่ฮ่องสอน และในรัฐกะเหรี่ยง ราวกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น

จุดสร้างเขื่อนฮัตจี แม้จะอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง แต่เป็นพื้นที่ภายใต้การควบคุมของกองทัพพม่า และกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) ซึ่งเป็นกองกำลังพันธมิตรของกองทัพพม่า ทำให้การเข้าพื้นที่ต้องผ่านการอนุญาตจากกองทัพพม่าอย่างเข้มงวด ตรงกับข้อมูลจากรายงานภาคสนาม กลุ่มปกป้องแม่น้ำกะเหรี่ยง Karen Rivers Watch เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๐ ระบุว่าจากชายแดนไทย-พม่าที่บ้านสบเมย ลงไปถึงหัวงานเขื่อนฮัตจี ที่หมู่บ้านกะมาหม่อง ระยะทางราว ๔๐ กิโลเมตร มีฐานทัพของกองกำลังทั้งสองตรึงกำลังอยู่ถึง ๖ แห่ง

โครงการเขื่อนทั้ง ๕ แห่งบนแม่น้ำสาละวิน มีแผนจะส่งไฟฟ้าขายให้แก่ประเทศไทย สำหรับเขื่อนฮัตจี มีแผนต่อสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเข้าทางชายแดนด้าน จ.ตาก เช่นเดียวกับการขนส่งอุปกรณ์และพนักงานเข้าสู่หัวงานเขื่อน โดยคาดว่าจะเป็นช่องทางบ้านแม่ตะวอ หรือบ้านท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง อันเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดจากชายแดนไทยริมแม่น้ำเมยสู่ริมสาละวินที่ฮัตจี โดยปัจจุบันช่องทางแม่ตะวออยู่ภายใต้การควบคุมของกองกำลัง DKBA พันธมิตรของกองทัพพม่า

ถนนเก่าแก่สายนี้เคยเป็นเส้นทางลำเลียงไม้ออกจากป่าสาละวินสมัยสัมปทานป่าในช่วงทศวรรศ ๒๔๓๐ ทำให้ไม่ยากนักหากจะปรับถนนให้ใช้การได้อีกครั้ง  

หากย้อนกลับไปดูจุดตั้งต้นของเขื่อนทั้งหมดบนแม่น้ำสาละวิน ว่าอะไรคือเป้าหมายหลักของโครงการข้ามชาติระดับแสนล้าน คำตอบที่ประชาชนผู้ใช้ไฟชาวไทยได้ยินตลอดมา คือ ประเทศไทยกำลังเติบโต ต้องการพลังงานอีกมาก จึงทำให้นโยบายพลังงานของประเทศต้องบรรจุโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ จำนวนมากเข้าไว้ด้วย

แต่หากพิจารณาข้อแนะนำของคณะกรรมการเขื่อนโลก จะพบว่า ข้อพึงปฏิบัติแรกสุดคือ การพิจารณาทางเลือกอย่างรอบด้าน (Comprehensive Options Assessment) นั่นหมายถึง การหาทางเลือกทุกทางที่มีอยู่เพื่อสอนความต้องการพลังงาน และคำนวณว่าทางเลือกใดมีต้นทุนต่ำที่สุด ทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม สิ่งแวดล้อม    

ในกรณีของประเทศไทย ข้อมูลของกฟผ. ระบุว่า สัดส่วนการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย ๗๕ เปอร์เซ็นต์ หมดไปกับภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ในขณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยระดับครัวเรือน คือ ประชาชนทั่วไป ใช้เพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของไฟฟ้าทั้งหมด

หากตอบให้ตรงคำถาม ข้อมูลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ระบุว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะใช้พลังงานทางเลือกมหาศาล เฉพาะพลังงานลม ไทยสามารถผลิตได้สูงถึง ๑,๖๐๐ เมกกะวัตต์ มากกว่ากำลังผลิตของเขื่อนฮัตจี พลังงานชีวมวล ๗,๐๐๐ เมกกะวัตต์ เท่ากับเขื่อนท่าซาง ยังไม่รวมพลังงานแสงอาทิตย์ โรงไฟฟ้าขนาดเล็กของชุมชน และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ไฟฟ้า

หรือโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินถูกผลักดันด้วยผลประโยชน์อื่นที่ซ่อนอยู่ใต้โต๊ะ แต่เอาผู้ใช้ไฟฟ้าชาวไทยเป็นตัวประกัน ?

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของไทยมีดำริจะปัดฝุ่นโครงการผันน้ำสาละวินสู่เขื่อนภูมิพล คู่ไปกับนโยบายการผันน้ำโขงสู่ภาคอีสาน และกว่าวว่าเป็น “แม่น้ำสาธารณะ”

ทำให้เกิดคำถามว่า ในสายตาของกลุ่มธุรกิจ-การเมือง ผู้กุมอำนาจตัดสินใจนั้น แม่น้ำระหว่างประเทศ อย่างแม่น้ำสาละวิน ที่ถูกเรียกว่า“แม่น้ำสาธารณะ” ต่างจาก “ส้วมสาธารณะ” อย่างไร?

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา