eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

การเดินทางไกลของ “พ่อหลวงนุ” จากสาละวินสู่อาเซียน
                                               
มติชนรายวัน 18 ตุลาคม 2552  โดย เพียรพร ดีเทศน์   โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต

            เป็นเวลาสองวันแล้วที่ชายวัยกลางคนชาวปกากญอหรือกะเหรี่ยงจากบ้านมา เริ่มด้วยเดินเท้าจากออกจากป่า ขี่มอเตอร์ไซค์ลงดอย ต่อรถโดยสารเข้าเมือง นอนบนรถทัวร์อีก 1 คืน และเช้านี้เองที่เขาเดินทางถึงจุดหมายที่ริมทะเลชะอำ

ไม่บ่อยครั้งนักที่ พ่อหลวงนุ ชำนาญคีรีไพร จะเดินทางออกนอกจังหวัดแม่ฮ่องสอน และนี่เป็นครั้งแรกที่รอนแรมจากบ้านป่าที่ริมน้ำสาละวินมาไกลนับพันกิโลเมตรถึงทะเลเพชรบุรี วันนี้พ่อหลวงนุและชาวบ้านอีก 6 คน มาที่ชะอำเพื่อร่วมเวที “มหกรรมประชาชนอาเซียน” ซึ่งจัดก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 15

            “ที่สาละวินไม่มีเงินเราอยู่ได้สบาย เก็บผักจากป่า จับปลาในลำห้วย แต่ถ้าไม่มีป่า ไม่มีห้วย ไม่มีแม่น้ำสาละวิน เราก็ไม่รอด” พ่อหลวงนุ เล่าถึงทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ของชาวบ้านที่ชายแดนไทย-พม่า

หลายปีมานี้แม่น้ำสาละวินกำลังถูกจับจองเพื่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าส่งขายให้แก่ประเทศไทย ซึ่งโครงการมูลค่านับแสนล้านเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัทจากจีน และรัฐบาลทหารพม่า

จากแผนเขื่อนสาละวินที่มีการศึกษาไว้ทั้งสิ้น 5 โครงการ สองโครงการที่มีความคืบหน้ามากที่สุด คือ โครงการเขื่อนฮัตจี ในรัฐกะเหรี่ยง ขนาด 1,360 เมกะวัตต์ และโครงการเขื่อนท่าซาง ในรัฐฉาน ขนาด 7,110 เมกะวัตต์

            “ชาวบ้านไม่เคยรู้ข้อมูลเรื่องเขื่อนจริงๆ เลย เขาจะสร้างตรงไหน น้ำท่วมเท่าไหร่ ปลาจะหายไปหรือเปล่า คนที่จะสร้างเขื่อนไม่มาถาม ไม่มาบอกชาวบ้านเลย เวทีประชาคมให้ชาวบ้านแสดงความคิดเห็นก็ไม่มี” พ่อหลวงนุ กล่าว

            เป็นเวลาร่วม 10 ปีที่พ่อหลวงนุ ในฐานะแกนนำเครือข่ายทรัพยากรลุ่มน้ำสาละวิน จ.แม่ฮ่องสอน ทำงานกับชาวบ้านอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้ชาวบ้านสามารถมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชุมชน 

            ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาเครือข่ายชาวบ้านได้จัดกิจกรรมโดยใช้วัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวกะเหรี่ยง เพื่อแสดงออกถึงความหวงแหนและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนนำเสนอการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน ดังเช่น การบวชป่าร่วมกับชุมชนตลอดลำน้ำสาละวินชายแดนไทย-พม่า จัดตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลา และพิธีสืบชาตาแม่น้ำ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี

            “จะอยู่ฝั่งไทยหรือฝั่งพม่าก็เป็นลูกสาละวินเหมือนกัน ถ้าสร้างเขื่อนในพม่า พี่น้องเราก็ต้องเดือดร้อน สุดท้ายก็ต้องหนีมาฝั่งไทย มาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย” ชาวกะเหรี่ยงรู้ดีว่านอกจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว เขื่อนสาละวินในพม่าจะเปิดช่องให้ทหารพม่าเข้ามากดขี่ข่มเหงชาวบ้าน  ด้วยข้ออ้างเพื่อคุ้มกันความปลอดภัยของเขื่อน แต่ที่จริงคือการทำลายล้างเพื่อนมนุษย์ต่างชาติพันธุ์     

     รายงานภาคสนามของกลุ่มสิทธิมนุษยชนกะเหรี่ยงระบุว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา กองทัพพม่า ร่วมกับกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) โจมตีพื้นที่ของกองกำลังกะเหรี่ยงอิสระ (KNU) ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ส่งผลให้ชาวบ้านต้องหนีตายมายังประเทศไทยอย่างน้อย 3,500 คน โดยเป็นชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ระหว่างแม่น้ำเมยและสาละวิน ซึ่งอยู่ใกล้เคียงจุดสร้างเขื่อนฮัตจีและแนวตัดถนนจากชายแดนไทยเข้าสู่หัวงานเขื่อน ตลอดจนแนวสายส่งไฟฟ้า

            ารเดินทางมาไกลครั้งนี้ พ่อหลวงนุและชาวบ้านตั้งใจมาบอกเล่าปัญหาต่อรัฐบาล และอาเซียน “ดูทีวีเห็น สส. พูดในสภา ไม่เห็นมีใครพูดถึงเรื่องของเราเลย เห็นมีแต่เถียงกัน ไม่เห็นพูดเรื่องของประชาชน คิดว่าชาวบ้านพูดเองน่าจะดีกว่า” พ่อหลวงนุ กล่าว

            วาระสำคัญในมหกรรมประชาชนอาเซียน คือ “เวทีสิ่งแวดล้อมภาคประชาชนอาเซียน” ซึ่งมีเป้าหมายให้อาเซียนมีเสายุทธศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อม หลังจากซุกงำงานด้านนี้ไว้ในเสาอื่นๆ

            ภาคประชาชนเห็นตรงกันว่าการรุกคืบของทุนโดยเฉพาะโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ เช่น โครงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงและสาละวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำนานาชาติสายสำคัญในภูมิภาค กำลังเข้ามาย่ำยีโดยไม่สนใจวิถีชีวิตของคนและสิ่งแวดล้อม หรือโครงการขุดเจาะก๊าซในท้องทะเลที่เตรียมวางท่อขนส่งโยงใยไปทั่ว ย่อมส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมไม่น้อย ขณะที่คนท้องถิ่นแทบไม่ได้อานิสงส์ใดๆ

            “เราอยู่มากันตั้งแต่พ่อตั้งแต่ปู่ ไม่มีไฟฟ้าก็อยู่กันมาได้ อยู่บ้านในป่ามีแค่โซลาร์เซลล์ ทั้งหมู่บ้านมีทีวีเครื่องเดียวก็พอแล้ว เอาไว้ดูข่าว” พ่อหลวงนุ เล่าถึงวิถีของชาวบ้าน

            “เคยมาในเมือง เข้าในห้าง เห็นเขาสร้างตึกใหญ่ๆ ให้มืดแล้วก็เปิดไฟเยอะๆ เปิดแอร์จนหนาว ในเมืองใช้ไฟกันเยอะแบบนี้แล้วก็ต้องมาสร้างเขื่อนที่บ้านเรา” ข้อสังเกตของพ่อหลวงตรงกับข้อมูลที่ระบุว่าไฟฟ้าส่วนใหญ่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ ขณะที่ภาคครัวเรือนใช้ฟ้าเพียงไม่ถึงร้อยละ 20          

            ภาคประชาชนมองว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่เหล่านี้ขัดแย้งกับกฎบัตรอาเซียน ซึ่งให้ความสำคัญต่อการปกป้องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติ และการรักษาวัฒนธรรม และตั้งคำถามต่ออาเซียนว่า จะดำเนินการอย่างไรที่จะส่งเสริมกลไกความโปร่งใส การรับผิดชอบต่อสาธารณะ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ในกระบวนการวางแผนพลังงานในระดับประเทศและภูมิภาค

            สำหรับโครงการขนาดใหญ่ ภาคประชาชนมีข้อเสนอต่ออาเซียนให้เร่งทำความเข้าใจในโครงการเหล่านี้ในฐานะประเด็นเฉพาะหน้าที่กำลังคุกคาม ความมั่นคงทางอาหารและวิถีชีวิตของพลเมือง รัฐบาลสมาชิกอาเซียนควรทบทวนลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นไปตามกฎบัตรอาเซียน เคารพสิทธิมนุษยชน และไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“ชาวบ้านรวมกันส่งจดหมายถึงนายกฯอภิสิทธิ์ไปแล้ว ให้นายกฯหยุดโครงการเขื่อนสาละวิน เพราะชาวบ้านจะเดือดร้อนทั้งฝั่งไทยฝั่งพม่า แต่ก็ไม่รู้ว่านายกฯจะว่ายังไง” พ่อหลวงนุเล่าถึงความพยายามของชาวบ้านกว่าหนึ่งพันคน ที่ส่งจดหมายผ่านสำนักนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคม แต่เรื่องยังคงเงียบหาย

             “มาชะอำครั้งนี้เขาบอกว่ามีประชุมอาเซียน จะมีรัฐบาลหลายประเทศมาประชุม เราก็อยากอธิบายให้เขาเข้าใจความรู้สึกของชาวบ้าน แต่คงต้องรอดูว่าอาเซียนมันเป็นยังไง ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะมีใครมาฟังพวกเราบ้าง จะช่วยชาวบ้านได้จริงไหม”

            พ่อหลวงนุตั้งคำถามที่ไม่เคยได้คำตอบ แต่แกเองก็ไม่เคยสิ้นหวังหรือย่อท้อที่จะอธิบายต่อสังคม

            หวังว่าเสียงของผู้อาวุโสปกากญอจะดังคุ้มค่ากับการเดินทางไกลครั้งนี้

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา