eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

 

 

มือก้าและพะตีผู้รู้เรื่องป่าเหล่า นี้คือคนที่ช่วยกันรักษาสัตว์ป่า และผืนป่าสาละวิน

 

 

ม้อบือมี ยามหน้าน้ำมีข้าวป่าขึ้น ให้สัตว์ป่ามากิน ยามหน้าแล้งแบบนี้ก็มี ผลไม้ร่วงให้สัตว์ป่ากินเช่นกัน

 

 

ลำห้วยแม่ก๋อน ก่อนลงไปสู่ห้วยแม่แงะและสาละวิน

 

 

โป่งแม่สะบา สัตว์ป่ามากินชุกชุม แต่ชาวบ้านก็ไม่ซุ่มยิง สัตว์เพราะโป่งแห่งนี้มี เจ้าป่าคอยเฝ้าดูแล

 

 

รอยเท้ากระทิงที่เพิ่งลงมากินโป่งเมื่อ ๓-๔ วันก่อน

 

 

 

     

“โป่ง” ความเชื่อเพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า ของชุมชนปกากะญอ

สุมาตร ภูลายยาว    searin

คอลัมน์จุดประกาย นสพ. กรุงเทพธุรกิจ

“คนอยู่ป่าต้องรักษาป่า” คำกล่าวสอนของผู้เฒ่าแห่งขุนเขาที่กล่าวสอนลูกหลานมาหลายชั่วอายุคน และปัจจุบันมันยังคงอยู่ในชุมชนกลางป่าลึก ท่ามกลางความผันแปรของสังคมภายนอกที่เคลื่อนไหวไปอย่างรวดเร็วอย่างไม่หยุดยั้ง

วันนั้นท่ามกลางอากาศร้อนของเดือนมีนาคม พวกเราซึ่งเป็นผู้ช่วยนักวิจัย และนักวิจัยชาวบ้านกะเหรี่ยง ออกเดินลัดเลาะไปตามขุนเขาเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับวิจัยไทบ้าน งานวิจัยเรื่องสัตว์ป่าและความเชื่อเกี่ยวกับสัตว์ป่าของชุมชนกะเหรี่ยงแห่งป่าสาละวิน จังหวัดแม่ฮ่องสอน

ป่าทั้งป่าอยู่ในช่วงของการผลัดใบ เสียงปะทุไหม้ของไฟป่าที่ลามเลียไปตามความแห้งแล้งของป่าเขายังคงแว่วดังมาให้ได้ยินอยู่เป็นระยะ ต้นไผ่บางต้นออกดอกและเริ่มแห้งเฉาลงพร้อมกับรอวันตาย พี่คนนำทางคนหนึ่งบอกกับพวกเราว่า “ก่อนไผ่จะตาย มันจะออกดอกออกเมล็ดไว้เป็นเชื้อใหม่ ปีหน้าฝนมามันก็งอกขึ้นมาใหม่ เป็นธรรมชาติของมัน”

พวกเราออกเดินทางจากบ้านแม่ก๋อน หมู่บ้านกะเหรี่ยงเล็กๆ ในป่าสาละวินซึ่งภายหลังถูกประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน หมู่บ้านแห่งนี้มีทั้งหมดประมาณ ๑๔ หลังคาเรือนและมีบ้านบริวารอีกประมาณ ๕ หย่อมบ้านตั้งเรียงรายไปตามลำห้วยแม่ก๋อน ซึ่งไหลลงห้วยแม่แงะก่อนลงไหลสู่แม่น้ำสาละวินที่บริเวณสบแงะ

หมู่บ้านแม่ก๋อนแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่มีการจัดการทรัพยากรโดยการร่วมมือของคนในชุมชน เพราะหมู่บ้านแห่งนี้นอกจากจะมีเขตป่าชุมชนแล้วยังมีเขตป่าอนุรักษ์ เขตป่าใช้สอย รวมไปถึงแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลาที่มีปลาเป็นจำนวนมากแหวกว่ายเล่นอยู่ในน้ำอย่างสบายอารมณ์ พะตีสิโพ พาพวกเราเดินลัดเลาะไปตามลำห้วยที่มีน้ำไหลเพียงเล็กน้อยในบางจุด บางจุดก็แห้งขอดลงเพราะเป็นฤดูแล้ง พวกเราใช้เวลาเดินทางกันหลายชั่วโมงจากยามเช้าที่แสงแดดมีเพียงเล็กน้อย ก็มาถึงตอนเที่ยงวันที่แสงแดดเริ่มแผดกล้าแรงขึ้นเป็นลำดับ น้ำที่มีอยู่เพียงคนละกระบอกก็ถูกหยิบขึ้นมาดื่มบ่อยครั้งไม่มีใครในกลุ่มพวก เราที่ร่วมเดินทางไปด้วยกันจะประหยัดน้ำ เพราะตลอดการเดินทางตามลำห้วยจะมีแหล่งน้ำซับไว้ให้คนเดินทางได้ดื่มกินอยู่ตลอดทาง พวกเราข้ามห้วยครั้งแล้วครั้งเล่าแต่จุดหมายปลายทางก็ดูยิ่งไกลออก ไปสำหรับบางคนเพราะความเหนื่อยล้า

แต่แล้วความเหนื่อยก็คลายลงเมื่อได้ลิ้มรสมะขามป้อมชุ่มคอ จาก ต้นมะขามป้อมต้นใหญ่ที่ลูกของมันหล่นเกลื่อนพื้น คนนำทางบอกว่า ที่บริเวณต้นมะขามป้อมต้นนี้จะมีสัตว์ป่า เช่น เก้ง ตุ่น มากมายมากินลูกมะขามป้อม

หลังจากเลี้ยวออกจากลำห้วยไต่ข้ามเขาลูกน้อยลงมาพวกเราก็ถึง “ม้อบือมี” ที่ลุ่มเชื่อมต่อกับลำห้วย พื้นที่ลุ่มแห่งนี้ยามหน้าน้ำมันก็คือบึงน้อยๆ ซ่อนอยู่กลางหุบเขา ในบึงแห่งนี้เองที่นกจะมากินข้าวป่าที่ขึ้นอยู่มากมาย

พะตีเล่าว่า “ข้าวป่านี่เป็นเมล็ดเล็ก ๆ มีขนยาว คนไม่กินหรอก มีแต่สัตว์ แหละที่มากิน มีทั้งนก หนู เก้ง กระทิงก็มากินนะ เวลาหน้าฝนน้ำห้วยก็ไหลเข้ามาเป็นบึง ปลาห้วยก็ตามน้ำเข้ามา ชาวบ้านจะมาหาปลาที่นี่แหละ”

เดินในป่าหน้าแล้งเพียงไม่นาน สำหรับคนเมืองอย่างเรามันดูไกลแสนไกล ยามบ่ายคล้อยพวกเราจึงได้หยุดกินข้าวเที่ยงที่กระท่อมหลังน้อยกลางสวนกล้วยของมือก้า (ป้า)

มือก้ากลับออกมาจากสวนพร้อมกับถังใส่ไข่มดแดงที่มีแม่มดแดง ตัวใหญ่ไต่อยู่ตามขอบถังชวนให้หวาดเสียวผิวหนัง มือก้าเทไข่มดแดงในถังออกมาใส่กระด้งที่วางอยู่กลางแดดกล้าเพื่อไล่ตัวแม่มดแดงให้หนีไป เหลือเพียงไข่ที่ขาวโพลนกองอยู่ในกระด้ง นี่คือ อาหารจากป่าที่หาได้ในช่วงหน้าแล้ง ที่กระท่อมกลางสวนกล้วยของมือก้า นอกจากจะมีสุนัขที่เลี้ยงไว้เป็นเพื่อนแล้วยังมีช้างที่มือก้าเลี้ยงไว้สังเกต ได้จากโซ่ที่ห้อยระย้าอยู่บริเวณเสากระท่อมหลังนั้น

“ช้างเอาไปปล่อยไว้ในป่าโน้น ถ้าจะใช้ขนข้าวก็ค่อยไปตามเอาในป่า” มือก้าบอกกับพวกเราอย่างนั้น คนที่นี้เขาเลี้ยงช้างปล่อยในป่าไม่มีใครผูกมันไว้ เมื่อถึงเวลาไปตามหาโดยฟังเสียงกระดิ่งที่ผูกคอไว้

หลังอาหารเที่ยงผ่านไป มื้อก้าก็ใจดีเลี้ยงเราด้วยเหล้าพื้นบ้านชั้นเยี่ยมซึ่งทำมาจากล้วย เราจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมมือก้าจึงปลูกกล้วยไว้มากมายขนาดนี้

พวกเราเริ่มออกเดินทาง ลัดเลาะไปตามป่า ไม่นานจุดหมายแรกของเราก็ปรากฏอยู่ตรงหน้า “ม้อที้” หรือโป่งน้ำซับ ที่ซ่อนตัวอยู่กลางป่าระหว่างบ้านแม่ก๋อนและบ้านแม่สะบา “ม้อที้ เป็นโป่งนก” พะตีพะแวบอกกับพวกเรา มองขึ้นไปเหนือศีรษะมีนกเป็นจำนวนมากมายบินวนอยู่ทั่วไป “ตอนหน้าฝนนกจะเยอะกว่านี้” พะตีเสริม

พวกเราเดินลัดเลาะไปตามความสูงของสันดอยขึ้นไปเรื่อย ๆ จนมาถึงแอ่งน้ำซับที่ปกคลุมไปด้วยต้นบอนสีเขียวสด “ที่นี่เรียกว่าโป่ง แม่ สะบา มีน้ำซับไหลออกมาตลอด” พะตีพอแวเล่า พลางชี้ชวนให้เราดูรอยเท้าขนาดมหึมาของสัตว์ชนิดหนึ่งซึ่งรอยของมันเหมือนกับรอยของวัว พะตีบอกกับเรา “อันนี้เป็นรอยตีนกระทิง ลงมากินโป่งซัก ๓-๔ วันที่แล้ว”

พวกเรานั่งพักกันอยู่ที่นี้ได้ไม่นานก็อออกเดินทางต่อไปยังบ้านแม่สะบาซึ่งอยู่ไม่ไกลเท่าใดนัก พะตีบอกกับพวกเราว่าเดี๋ยวตอนเย็นจะเล่าอะไรให้ฟัง

ยามบ่ายที่ตะวันใกล้ลับเหลี่ยมเขาลงไปทุกที พวกเราก็เร่งฝีเท้าในการเดินทางมากขึ้นเพื่อที่จะเดินทางถึงที่พักให้ได้ก่อนค่ำ ตอนเดินทางกลับนี้เองที่เราเริ่มนับว่าจะต้องข้ามห้วยกี่ครั้งเพียงเดินมาได้ครึ่งทาง ก็นับจำนวนการข้ามห้วยได้ร่วมสิบครั้งแล้ว ตอนเดินทางกลับนี้เองที่พะตีสิโพชี้ชวนให้ดูโป่งขนาดเล็กซึ่งมีเพียงร่องรอยของเท้าสัตว์ขนาดเล็ก เช่น พวกตัวอ้น โป่งนี้เป็นโป่งขนาดเล็กและเป็นโป่งแห้งซึ่งมีสัตว์จำพวกอ้นมาลงมากินโป่งตลอดเวลา

ค่ำคืนนั้นพวกเราก็มีโอกาสได้นั่งล้อมวงกับชาวบ้านแม่ก๋อน ซึ่งมีทั้งคนเฒ่าคนแก่ คนหนุ่มสาว และเด็กน้อย เราพูดคุยกันเรื่องโป่งต่างๆ ในเขตป่าสาละวิน ที่มีทั้งความเชื่อ ความรู้ วิธีการจัดการป่า การอนุรักษ์สัตว์ป่า

“คำว่า โป่ง นี่ภาษาปกากะญอเรียกว่า ม้อ หรือ มอ” พะตีดาโยวัยอาวุโสเริ่มเล่า “โป่งเป็นแหล่งอาหารของสัตว์ป่า เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ คนเฒ่าเล่าว่าโป่งเกิดขึ้นพร้อมกับแผ่นดิน”

โป่งในความรู้ของชาวบ้านที่นี่แบ่งออกเป็น ๒ อย่าง คือ “ม้อเค้” โป่งดิน และ “ม้อที” โป่งน้ำ โป่งทั้ง ๒ ประเภทนี้มีสัตว์หลายจำพวกลงมากิน

“โป่งแถวๆ ห้วยแม่ก๋อนนั้นมี ๔ ที่ มี “ม้อตะอื่อกุ้ย” เป็นโป่งน้ำที่ห่างจากบ้านแม่ก๋อนไปนิดหน่อย เลยไปก็มี “ค้ออะม้อ” เป็นโป่งอ้น มีโป่งเล็กๆ ๓ ที่ติดกันอยู่ริมทางเดินไปบ้านแม่สะบา แล้วก็ “ม้อบือมี” ที่เป็นแอ่งน้ำเวลาหน้าฝน ที่ใหญ่สุดก็เป็น “ม้อแม่สะบา” เป็นโป่งน้ำอยู่ใกล้บ้านแม่สะบาเลยเรียกว่าโป่งแม่สะบา มีโป่ง ๒ ที่อยู่ใกล้ๆ กัน โป่งด้านล่างที่เป็นโป่งนกเล็กกว่า โป่งที่อยู่เหนือขึ้นไปจะใหญ่ และใหญ่ที่สุดกว่าทุกโป่งในป่าแถวนี้ก็ว่าได้ ชาวบ้านแถวนี้รู้จักดี” พะตีดาโยอธิบาย

จากการพูดคุยพบว่า ชาวบ้านในแถบนี้มีความเชื่อที่ได้รับการสืบทอดมารุ่นแล้วรุ่นเล่าว่า โป่งทุกแห่งทุกที่มีเจ้าของ คอยเฝ้าดูแลสัตว์ที่มากินโป่ง

พะตีแกเบละเล่าต่อว่า “ถ้าโป่งไม่มีเจ้าของนี่จะไม่มีสัตว์ลงมากิน ชาวบ้านเชื่อว่าสัตว์ป่าที่มากินโป่งก็คือสัตว์เลี้ยงของเจ้าของโป่ง จะไปซุ่มยิงไม่ได้เลย ถ้ายิงสัตว์ตาย คนที่ยิงก็ต้องตาย”

โป่ง ตามความเชื่อของชาวบ้านถือเป็นเขตหวงห้าม

มือก้าฟิโยเล่าว่า “ไปสร้างบ้านใกล้ๆ โป่งไม่ได้ ที่โป่งแม่สะบาเคยมีพระย้ายจากแม่สะเรียง มาสร้างกุฏิอยู่ อยู่ได้ไม่นานก็ป่วยจนชาวบ้านต้องช่วยพาย้ายออกไป

“เมื่อก่อนเคยมีชาวบ้านคนหนึ่งไปทำห้างซุ่มยิงสัตว์ที่โป่งแม่สะบา โป่งแม่สะบานี่ชาวบ้านเชื่อว่าเจ้าของโป่งแรงที่สุดนะ กลางคืนที่เขาเฝ้าห้างอยู่ก็เห็นงูเลื้อยขึ้นมาบนห้าง ก็เอามีดฟัน พอฟันเสร็จงูนั่นกลายเป็นตอกไม้ไผ่ที่ใช้มัดห้างของตัวเอง พอห้างขาดเขาคนนั้นก็ตกต้นไม้ลงมาตาย”

ชาวบ้านแถบนี้ต่างเชื่อกันว่าโป่งทุกที่มีเจ้าของ ดังที่พะตีแกแบละเล่า

“เจ้าของโป่งเลี้ยงสัตว์ป่าก็เหมือนที่ชาวบ้านเลี้ยงวัวควายไว้ ใครจะไปทำอะไรกับสัตว์ของเขาที่โป่งไม่ได้ ของเราเราก็รัก ของเขาเขาก็รัก แค่คิดว่าจะไปยิงสัตว์ที่โป่งก็ผิดแล้ว อาจเจ็บป่วยได้”

ความเชื่อที่สืบทอดมาจากรุ่นสู่รุ่นจึงเป็นความเชื่อที่ฝังอยู่ในจิตสำนึกของคนแถบนี้ ทำให้ไม่มีใครกล้าละเมิดกฎเนื่องจากเกรงอันตราย

นอกจากจะมีการห้ามซุ่มยิงสัตว์ที่บริเวณโป่งแล้ว ต้นไม้ที่ออกผลซึ่งสัตว์ป่าน้อยใหญ่ไปกินผลไม้ที่ร่วงลงพื้น ชุมชนก็ห้ามเพิ่มเติมมิให้ใครไปซุ่มยิงสัตว์ตามต้นไม้เหล่านี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ต้นมะกอกป่า ต้นมะขามป้อม ต้นมะม่วงป่า เพราะชาวบ้านเชื่อว่าต้นไม้เหล่านี้มีเจ้าของดูแลรักษา เมื่อสัตว์มากินผลไม้ที่ต้นไม้ สัตว์ทุกตัวย่อมเป็นของเจ้าของต้นไม้ไปด้วย

สัตว์ป่าที่มีมากมายนั้น มีหลายชนิดที่ชาวบ้านเชื่อว่าจะยิงมิได้โดยเด็ดขาด ด้วยเหตุผลต่างกันไป

“ที่ยิงไม่ได้นี่มีหลายอย่างนะ” พะตีดาโยเล่า “ชะนี นกกก ค่าง พวกนี้ยิงไม่ได้เลย ชาวบ้านเชื่อว่า ถ้าใครยิงชะนีตายแล้วจะหากินลำบาก หรืออาจจะทำอะไรไม่พออยู่พอกินไปถึง ๗ ปี ชะนีถูกยิงตาย ๑ ตัวขุนห้วยจะเศร้าไป ๗ ขุนห้วย ถ้ายิงค่างตายก็จะออกลูกยาก “โทโกะ” หรือนกกก (จำพวกนกเงือก) เขาก็อยู่กันเป็นคู่ ตัวผู้เลี้ยงลูกตัวเมียหาอาหาร ถ้านกกกตายต้นไทรจะเศร้าไป ๗ ต้น คนที่ยิงก็จะเจ็บป่วยหรือตาย เคยมีคนยิง ออกไปจากป่าก็ติดคุก ชาวบ้านถือว่าเป็นบาป”

สัตว์ที่ยิงได้เลยก็คือ “โถะมี” หรือหมูป่า พะตีดาโยอธิบายว่า “หมูป่ามีเยอะ ออกลูกทีละ ๗-๘ ตัว ถ้ามีเยอะเกินก็มากินข้าวในไร่เสียหาย แบบนี้ยิงได้เลย ยังไงก็ไม่หมด ได้มาก็แบ่งกันกินในหมู่บ้าน”

จากการพูดคุย เราเริ่มพบว่าเป้าหมายหลักในการสร้างความเชื่อนี้ขึ้นมาก็เพื่อคนที่อยู่ป่าได้ร่วมกันอนุรักษ์สัตว์ต่างๆ ให้อยู่คู่กับป่าไปนานๆ ความเชื่อของชุมชนเป็นกฎที่แข็งแรงยิ่งกว่ากฎหมายใดๆ

ถึงเวลาหรือยังที่คนภายนอกจะยอมรับในภูมิปัญญาของคนอยู่ป่าซึ่งเข้าใจในวิถีป่า เข้าใจการจัดการป่า เข้าใจการรักษาป่า ให้อำนาจกับคนที่อยู่กับป่าอย่างเต็มที่และยอมรับในการดูและรักษาป่าของพวกเขาเสียเถิด สัตว์ป่าจะได้อยู่คู่กับป่า คนจะได้อยู่คู่กับป่าอย่างพึ่งพาอาศัยกันโดยไม่ต้องหวาดกลัวอำนาจการจัดการจากภายนอกอีกต่อไป

ก่อนแยกย้ายสู่ที่นอนในคืนนั้น พะตีดาโย “อื่อทา” ขับลำนำกะเหร ี่ยง ให้เราฟังใต้แสงตะเกียง ท่ามกลางความมืดมิดของคืนเดือนมืดว่า

“ กะตอ เส่ เลอะ ทีโพคี กะตอ หว่ะ เลอะ ทีโพคี

เรารักษาไม้ที่ขุนน้ำ เรารักษาไผ่ที่ขุนน้ำ

กะตอ ฉ่าโพ อะหล่อมี กะตอ ก่อโพ อะหล่อมี

ให้เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่า ให้เป็นที่นอนของสัตว์ป่า”

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา