eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

จับตาสละวิน ๑

ญี่ปุ่น-พพ.รุกคืบแผนการสร้างเขื่อนและผันน้ำสาละวิน

            ในอนุภูมิภาคอุษาคเนย์  แม่น้ำสาละวินนับว่าเป็นแม่น้ำนานาชาติที่ใหญ่เป็นอันดับสองรองจากแม่น้ำโขงและเป็น แม่น้ำนานาชาติที่เหลือไม่กี่สายที่ยังไม่มีการสร้างเขื่อน ด้วยเหตุนี้ วันนี้แม่น้ำสายนี้จึงได้กลายเป็นเป้าหมายสำคัญของนักสร้างเขื่อนที่มุ่งแสวงหางานทำให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมเขื่อน

แผนการสร้างเขื่อนบนลุ่มน้ำสาละวินมีมาตั้งแต่ปลาย ทศวรรษ ๒๕๒๐ เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นโดย JICA ร่วมมือกับรัฐบาลไทยศึกษาโครงการสร้างเขื่อน ๑๐ แห่งกั้นแม่น้ำยวม สาขาของแม่น้ำสาละวิน  ซึ่งต่อมาได้นำไปสู่การผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนน้ำเงาและเขื่อนแม่ลามาหลวงภายใต้ความรับผิดชอบของ กฟผ. แต่โครงการเขื่อนทั้งสองแห่งถูกต่อต้านจากชาวบ้านสบเมยอย่างหนักในปี ๒๕๓๗ ประกอบกับปัญหาการใช้พื้นที่อยู่ในเขตป่าชั้น ๑ เอ ทำให้ กฟผ.ชะลอโครงการออกไป

ขณะที่บนลำน้ำสาละวิน บริษัท EPDC ยักษ์ใหญ่ของอุตสาหกรรมเขื่อนจากญี่ปุ่นได้เข้าวางวางแผนการสร้างเขื่อนท่าซ่างในรัฐฉาน เขื่อนสาละวินตอนบน เขื่อนสาละวินตอนล่าง รวมไปถึงเขื่อนกั้นแม่น้ำเมยบริเวณชายแดนไทย-พม่า อีก ๓ เขื่อน

แผนการที่สำคัญของนักสร้างเขื่อนก็คือ โครงการผันน้ำสาละวิน-เจ้าพระยา เพื่อผันน้ำจากลุ่มน้ำสาละวินลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล  แบ่งออกเป็นโครงการผันน้ำจากน้ำปาย ๒ โครงการ ซึ่งรวมถึงการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำปาย ๓ แห่ง บริษัท Snowy Mountain Engineering Consultant ยักษ์ใหญ่แห่งวงการสร้างเขื่อนจากออสเตรเลียได้เข้าศึกษาความเหมาะสมโครงการในปี ๒๕๓๗ ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารโลก โครงการผันน้ำจากแม่ละเมาซึ่งรวมถึงการสร้างเขื่อนแม่ละเมา และโครงการผันน้ำแม่จะเรา ๒ โครงการนี้ บริษัท NEWJAC จากญี่ปุ่นได้เข้าศึกษาความเหมาะสมเมื่อปี ๒๕๓๗ ในโครงการแม่ละเมานั้น ธนาคารโลกยังให้การสนับสนุนการศึกษาโครงการด้วย  นอกจากนั้นรัฐบาลไทยยังมีโครงการผันน้ำเงา-แม่ตื่น โครงการผันน้ำเมย-แม่ตื่น และโครงการห้วยขะแนง-แม่ตื่น รวม ๓ โครงการ

            ความคืบหน้าล่าสุดก็คือ เมื่อวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๒ รัฐบาลไทยได้อนุมัติงบประมาณ ๑๘๖ ล้านบาทให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน(พพ.) ๑ ใน ๓ หน่วยงานสร้างเขื่อนของรัฐ วางแผนคัดเลือกองค์ประกอบโครงการ การศึกษาความเหมาะสมขั้นรายละเอียด  และการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นรายละเอียดพร้อมทั้งการเปิดไฟเขียวให้เดินหน้าประชาสัมพันธ์โครงการผันน้ำ ๓ โครงการ คือ โครงการผันน้ำห้วยขะแนง-แม่ตื่น  โครงการน้ำเมย-น้ำสอง-แม่ตื่น และโครงการผันน้ำสาละวิน-ยวม (ผ่านเขื่อนแม่ลามาหลวง)-ภูมิพล โดยกำหนดเสร็จภายใน ๓๖ เดือน

แม้ว่าขณะนี้จะผ่านไปแล้ว ๒๐ เดือนหรือเข้าค่อนทางแล้ว แต่ด้วยเหตุที่ พพ. มักจะไม่เปิดเผยข้อมูลโครงการต่อสาธารณะ แต่จะดำเนินโครงการอย่างลับ ๆ จนกระทั่งสร้างเขื่อนไปแล้วสังคมจึงจะรู้ดังกรณีอื้อฉาวโครงการผันน้ำโขง-ชี-มูล ซึ่งรวมทั้งเขื่อนราษีไศลและหัวนา เป็นต้น  ทำให้ข้อมูลความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการผันน้ำทั้ง ๓ โครงการไม่เคยปรากฏต่อสาธารณะ  ในขณะที่ในพื้นที่รอยต่อแม่ฮ่องสอน-ตาก  ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการทั้ง ๓ คราคร่ำไปด้วยบรรดาที่ปรึกษาจากญี่ปุ่นและนักวิชาการมือปืนรับจ้างทำ EIA ของไทย

            แม้ว่า ยังไม่มีการเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการจากชาวบ้านในพื้นที่ แต่ความเงียบที่ชายแดนไทย-พม่านี้ คือสัญญาณที่บอกว่า อีกไม่นานสงครามแย่งชิงสายน้ำระหว่างคนพื้นถิ่นกับนักสร้างเขื่อนกำลังจะเริ่มขึ้นอีกครั้ง หลังจากในช่วงปี ๒๕๓๗–๓๘ ชาวบ้านในเขตนี้เคยต่อต้านเขื่อนแม่ลามาหลวง เขื่อนน้ำปาย และเขื่อนแม่ละเมาจนกระทั่ง กฟผ.ต้องถอนตัวไปแล้วครั้งหนึ่ง

-------------------------------------------------

จับตาสาละวิน ๒

ธนาคารนำเข้าและส่งออกของจีนให้ความช่วยเหลือพม่า ในการสร้างเขื่อนปางลาง

สำนักข่าวซินหัวของจีน รายงานว่า เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๓ ธนาคารนำเข้าและส่งออกของจีน (EXIM Bank of Chaina) ได้ลงนามในข้อตกลงอนุมัติเงิน ๕ พันล้านหยวน หรือประมาณ ๑๒๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ฯ เป็นเงินกู้ในการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดยักษ์กับพม่า

เงินกู้นี้เป็นการดำเนินการระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศพม่า (the Myanmar Electric Power Enterprise) และบริษัท Yunnan Machinery and Equipment Import and Export Co. (YMEC) ซึ่งมีฐานอยู่ในจังหวัดยูนนาน 

หยาง  ซี่หลิน ผู้ว่าการธนาคาร กล่าวว่า เงินกู้นี้เพื่อสนับสนุนการส่งออกของยูนนาน

YMEC คือบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าในเขื่อนปางลาง ซึ่งเป็นเขื่อนไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในพม่า

ก่อนหน้านี้ ธนาคารนำเข้าและส่งออกของจีนได้อนุมัติเงินกู้ ๖๐ ล้านหยวน หรือ ๗.๒ ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ สำหรับโครงการนี้  เพื่อใช้ในการผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ๒๘๐ เมกกะวัตต์ ให้กับโรงไฟฟ้าปางลางในพม่าซึ่งจะเริ่มเปิดใช้งานในปี ๒๕๔๖ และจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้คิดเป็น ๑ ใน ๓ ของไฟฟ้าที่ผลิตได้ในพม่า

ในปี ๒๕๔๑ ได้มีการลงนามในสัญญามูลค่า ๑๖๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เพื่อผูกมัดให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศพม่านำเข้าเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจาก YMEC ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากจีนที่ใหญ่ที่สุดที่ส่งออกให้กับกลุ่มประเทศอาเซี่ยน และยังถือว่าเป็นการค้าระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในยูนนาน

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา