eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

เด็กหยุดเขื่อน!!! คืนชีวิตสาละวิน

โดย เชตวัน เตือประโคน    มติชน  2 พย 50
http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01pra01021150&day=2007-11-02&sectionid=0131

พฤษภาคม 2548...

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of understanding -MOU) กับกระทรวงพลังงานไฟฟ้าของรัฐบาลพม่า เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินและตะนาวศรี

จากผลการศึกษา พบว่า โครงการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าทั้งลุ่มน้ำสาละวินและตะนาวศรีนี้ จะถูกผลักดันให้สร้างเขื่อนถึง 6 แห่ง (เป็นอย่างน้อย) คือ เขื่อนท่าซาง เขื่อนยวาติ๊ด เขื่อนเว่ยจี (สาละวินชายแดนตอนบน) เขื่อนตาก-วิน (สาละวินชายแดนตอนล่าง) เขื่อนฮัดจี และเขื่อนตะนาวศรี

เป็น "อภิเมกะโปรเจ็คต์" ที่ทุ่มทุนสร้างประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท

พฤษภาคม 2550...

นักศึกษากลุ่ม "สังคมวิจารณ์" จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เซ็นสัญญากับองค์กรแอคชันเอด ประเทศไทย ขอรับเงินสนับสนุน เพื่อจัดกิจกรรมศึกษาชีวิตชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน โดยจัดค่ายให้คนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศ ได้มาเห็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนแถบนี้ ตลอดจนศึกษาผลกระทบที่จะเกิดหากมีเขื่อนผุดขึ้นมา

จากผลการศึกษา พบว่า หากมีโครงการสร้างเขื่อนเกิดขึ้นจริง จะส่งผลกระทบกับระบบนิเวศบริเวณลุ่มน้ำสาละวินเป็นอย่างมาก

นอกจากนั้นยังเกิดผลกระทบกับชนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลทหารพม่าได้ทำการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่แล้วกว่า 3 แสนคน

เป็นที่ทราบกันดี การเมืองภายในประเทศพม่ายังไม่สงบ การปะทะกันระหว่างรัฐบาลทหารของพม่ากับชนกลุ่มน้อยเป็นข่าวอยู่เรื่อยมา

ตุลาคม 2550...

ในวันที่มีโอกาสติดตามนักศึกษากลุ่ม "สังคมวิจารณ์" ไปลงพื้นที่ ณ บ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน

แม้การเดินทางจะยากลำบาก อันเนื่องจากต้องนั่งรถผ่านโค้งมากมายนับแล้วเหนื่อย ต่อเรือที่บ้านแม่สามแลบอีกกว่าครึ่งชั่วโมง แต่ดูเหมือน ทุกคนจะตื่นเต้น เปิดหู เปิดตา เปิดใจจนลืมเหนื่อยไปเลย

ธนพัฒน์ จันทร์ดิษฐวงษ์ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แกนนำกลุ่มสังคมวิจารณ์ เล่าให้ฟังถึงความสนใจของกลุ่ม ในการเขียนโครงการเสนอรับทุน ว่า เกิดจากเมื่อครั้งที่มีโอกาสได้ลงพื้นที่กับเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ Searin ที่บ้านแม่ดึ และบ้านสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน แล้วรู้สึกประทับใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยเฉพาะข้าวที่คนชาวบ้านปลูกกินเอง

"ในช่วงนั้น ชาวบ้านเขาไม่ได้รับการเปิดเผยใดๆ เลยเกี่ยวกับการสร้างเขื่อน ทั้งที่มันมีผลกระทบกับเขา ผมลงพื้นที่ หลังจากทราบข่าวว่าจะมีโครงการสร้างเขื่อนแล้ว ได้พูดคุยกับชาวบ้าน คำพูดหนึ่งที่ประทับใจไม่ลืมเลยก็คือ เราถามเขาไปว่า ถ้าให้ย้ายที่ทำกินไปที่อื่น จะไปไหม ชาวบ้านตอบว่า "ไป แต่ต้องมีผักกูดให้เก็บ มีนาให้ทำ ถ้าเกิดไม่มีก็ไม่ไป"

คำตอบนี้คือเขากำลังจะบอกเราว่า ที่แห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นที่ทำกินเท่านั้น แต่มันหมายรวมถึงวิถีชีวิตด้วย หมายความว่าเขาไม่เอาเขื่อน" ธนพัฒน์กล่าว

หลังจากกลับมาจากการเยือนแม่น้ำสาละวินครั้งนั้น เขาก็เลยมาปรึกษากับเพื่อน ว่าควรจะมีการจัดกิจกรรม เผยแพร่เรื่องที่ตนรับรู้มาให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย เพื่อนในกลุ่มเดียวกันที่แค่ "มองตาก็รู้ใจ" เห็นด้วย จึงช่วยกันเขียนโครงการเสนอเงินขอทุน และวางแผนการจัดรูปแบบกิจกรรม ตลอดจนการลงพื้นที่ดูงานยังหมู่บ้านที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนครั้งนี้

วิถีชีวิตอย่างไรที่ทำให้ใครบางคนหลงใหล จนอยากให้ใครต่อใครได้ร่วมรับรู้

บ้านสบเมย ตั้งอยู่ที่ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน บริเวณที่แม่น้ำเมยไหลมารวมกับแม่น้ำสาละวิน มีประชากรประมาณ 70 หลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง (จำนวนหนึ่งไม่มีสถานะบุคคล) ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่ และเก็บของป่าและล่าสัตว์เพื่อการยังชีพ ในช่วงที่ว่างจากหน้านา แม่บ้านก็จะทอผ้าขายเสริมรายได้

หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านแรกที่จะได้รับผลกระทบจาก เขื่อนฮัดจี เขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำสาละวินที่จะสร้างในเขตรัฐกะเหรี่ยง โดยจะสร้างห่างจากชายแดนไปตามน้ำประมาณ 57 กิโลเมตร (ในประเทศพม่า)

"หากมีการสร้างเขื่อนนี้ บ้านสบเมยคงเป็นเมืองใต้บาดาล" นี่คือสิ่งที่บรรดานักวิชาการ และเอ็นจีโอที่เกี่ยวข้องทำการศึกษา

สำหรับ "กลุ่มสังคมวิจารณ์" กิจกรรมต่างๆ ที่พวกเขากำหนดขึ้น

ขั้นแรก ประกาศรับสมัครเยาวชน ประมาณ 20 คน มีกิจกรรมละลายพฤติกรรม พูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องเขื่อน เรื่องพื้นที่ จากนั้นขั้นต่อมา ก็เคลื่อนขบวนลงพื้นที่จริง ณ บ้านสบเมย จ.แม่ฮ่องสอน เป็นเวลาถึง 1 อาทิตย์ เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของพี่น้องแถบลุ่มน้ำสาละวิน โดยได้ทำการสำรวจพื้นที่ เก็บเกี่ยวข้อมูลประชากร รวมถึงการมีโอกาสเดินทางไปดูบริเวณที่จะสร้างเขื่อนด้วย

17 ชีวิตของเด็กที่สนใจสมัครมาร่วมกิจกรรม กับ 6 ชีวิตของคนจัดงานอย่างนักศึกษา "กลุ่มสังคมวิจารณ์"

ธนวัตน์ เปิดเผยถึงความรู้สึกหนึ่งว่า เยาวชนบางส่วนอาจไม่มีพื้นฐานเรื่องประเด็นสังคม ยิ่งเรื่องผลกระทบที่จะเกิดจากการสร้างเขื่อนบางคนไม่รู้เลย แต่เชื่ออย่างหนึ่งว่า ทุกคนพร้อมที่จะเปิดรับอะไรใหม่ๆ

"เราไม่ได้อยากไปเปลี่ยนทัศนคติเขา แต่เราอยากให้เขาได้เห็นและคิดได้เองว่ามันเป็นอย่างไร ถือว่าประสบความสำเร็จตรงที่ว่า เขาเห็นความจริงที่มันเกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร อย่างหนึ่งคือ เขามีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งที่เห็น คิดต่อ คิดตาม และรับรู้ เข้าใจถึงความยากลำบากของชาวบ้านที่นี่หากมีการสร้างเขื่อนจริงๆ ซึ่งแค่นี้ เราก็ถือว่าเราประสบความสำเร็จแล้ว"

แต่ที่ยิ่งกว่านั้น คนเหล่านี้จะเป็นแกนหลัก ที่จะช่วยเผยแพร่ สร้างความเข้าใจในพื้นที่และเปิดเผยข้อมูลจริงๆ ให้คนภายนอกได้รับรู้ได้อีก

ถามว่าทำไมไม่จัดทำนองว่าพาสื่อไปดูงาน หากหวังจะให้เรื่องนี้เป็นที่รับรู้กับคนวงกว้าง ธนวัฒน์ ตอบไว้อย่างน่าสนใจ...

"คนทำข่าว ก็เน้นที่คุณค่าข่าวอย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งก็ขึ้นกับธุรกิจ มีเรื่องการตลาดด้วย แต่เยาวชน สิ่งที่เขามีคือความใสซื่อบริสุทธิ์ เขายังเด็ก ไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นอะไร วันหนึ่งเด็กที่เราพามา คนหนึ่งอาจเป็นรัฐมนตรี คนหนึ่งอาจเป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะเป็นใครก็ได้ที่มีอำนาจตัดสินใจในนโยบาย คิดว่ามันเป็นอะไรที่กว้างกว่าและหลากหลายกว่า

ผมเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่ ไม่อยากให้ผู้ใหญ่มองแบบเหมารวมเกินไปว่าวัยรุ่นทุกวันนี้ไร้สาระ ยังมีเด็กอีกหลายคนที่เขากล้าคิด กล้าทำอะไรที่มันสร้างสรรค์ ที่มันแปลกใหม่ และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่มันดีกว่า ซึ่งไม่ได้ตามกระแสเหมือนวัยรุ่นทั่วๆ ไป ตรงนี้ผู้ใหญ่มักมองไม่ค่อยเห็น"

สำหรับในมุมมองของเยาวชนอย่าง กิตติยา เฮงพานิช อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนถาวรานุกูล จ.สมุทรสงคราม เล่าถึงการได้ไปเยือนสาละวินครั้งนี้ว่า พอรู้มาบ้างเรื่องการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำสาละวิน แต่ยังไม่รู้รายละเอียดมากนัก ที่สนใจสมัครมาเข้าร่วมกิจกรรม เพราะจะได้รู้ข้อมูลที่ลึกมากขึ้น ซึ่งพอได้มาเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านแถบนี้แล้ว รู้สึกทึ่ง เพราะเขาอยู่กันง่ายดี ปลูกข้าว ปลูกผัก หาของป่า ชีวิตพึ่งพิงอยู่กับธรรมชาติ

"เมื่อรู้ว่าการสร้างเขื่อนจะมีผลกระทบกับชาวบ้าน ก็รู้สึกเห็นใจเขามากขึ้น ซึ่งพวกนายทุนมักไม่เคยมองเรื่องนี้ ไม่เคยคิดถึงเรื่องคุณค่าความเป็นมนุษย์ สนใจแต่เรื่องผลประโยชน์"

ล่าสุด กิตติยา เพิ่งเดินทางไปดูเขื่อนปากมูล ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมแล้วในเรื่องผลกระทบที่มีต่อคนและธรรมชาติ

"จะเอาประสบการณ์ที่ได้รับครั้งนี้ ไปบอกเล่าให้คนอื่นฟัง บอกเพื่อนที่โรงเรียน และตอนนี้ก็โพสท์ลงเน็ตไปบ้างแล้ว เล่าให้คนอื่นฟังว่า ผลกระทบที่จะตามมาหากมีการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวินจริงๆ จะเป็นอย่างไร"

ทางด้าน ณัฐภัทน์ ซ้ายสุวรรณ อายุ 16 ปี นักเรียนชั้น ม.5 จากโรงเรียนศรียานุสรณ์ จ.จันทบุรี บอกว่า เคยเห็นภาพการกวาดล้างชนกลุ่มน้อยของรัฐบาลทหารพม่าจากภาพยนตร์ VCD ที่บันทึกไว้ เป็นภาพเมื่อครั้งที่ทหารเข้าไปขับไล่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่จะมีการสร้างเขื่อน

"...เลยอยากไปเห็นด้วยตาตัวเองว่ามันเป็นอย่างไร ซึ่งก็พบกับอีกภาพหนึ่งที่ว่า ชาวบ้านแถบลุ่มน้ำสาละวินนั้น ผูกพันกับถิ่นที่พวกเขาอยู่กันอย่างแนบแน่น ทุกคนอยู่ด้วยกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย รักกันดี สามัคคีกันดี ดูอย่างตอนที่เรามีกิจกรรมสัมพันธ์กับชาวบ้านตอนคืนหนึ่ง เขาก็มาร่วมกิจกรรมกันเกือบทั้งหมู่บ้าน มีการแสดงที่เป็นประเพณีวัฒนธรรมของเขาให้เราดูด้วย แน่นอนว่าหากมีการสร้างเขื่อน ภาพเหล่านี้เราอาจจะไม่ได้เห็นอีกแล้ว เพราะชาวบ้านต้องอพยพไปอยู่ที่อื่น" ณัฐภัทน์ เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงราบเรียบ

เขายังบอกอีกว่า...การที่จะยับยั้งการสร้างเขื่อนคงเป็นไปได้ยาก แต่ก็ต้องพยายามต่อไป อาศัยการประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะให้มาก

เห็นจะจริงอย่างที่ณัฐภัทน์ว่า เพราะแม้นี่จะเป็นโครงการ "อภิเมกะโปรเจ็คต์" ของไทยกับพม่า แต่มีผู้คนน้อยรายเหลือเกินที่จะรับรู้ข้อมูล โดยเฉพาะชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน ที่ไม่ได้รับการเปิดเผยใดๆ จากภาครัฐเลย

บางคนบอก กว่าจะมีคนลงมาทำการศึกษาเรื่องผลกระทบ การเซ็นสัญญาผ่านโครงการก็เกิดขึ้นแล้วโดยไม่อาจยับยั้งอะไรได้

แล้วกับเสียงของเยาวชนตัวเล็กๆ อย่างกลุ่ม "สังคมวิจารณ์" นี่ล่ะ

จะมีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองเรากี่คนที่เงี่ยหูฟัง

เขื่อน 6 แห่ง ที่ตัดแบ่งแม่น้ำสาละวิน-ตะนาวศรี

แม่น้ำสาละวินมีความยาวกว่า 2,800 กิโลเมตร ไหลจากที่ราบสูงทิเบต สู่มณฑลยูนนาน ประเทศจีน เข้าสู่ประเทศพม่าที่รัฐฉาน ผ่านรัฐคะยาห์ และมาเป็นเส้นกั้นพรมแดนไทย-พม่า ช่วงจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรงรัฐกะเหรี่ยง ก่อนวกกลับเข้าสู่พม่าอีกครั้งที่บ้านสบเมย (บริเวณที่แม่น้ำเมยไหลมาบรรจบ) สาละวินออกสู่ทะเลอันดามันที่เมืองมะละแหม่ง รัฐมอญ

เรื่องราวเกี่ยวกับสาละวินที่เคยปรากฏ...

หากลองหลับตาแล้วนึก มีแต่ภาพสงครามการเข่นฆ่า ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลทหารของพม่ากับชนกลุ่มน้อยในประเทศ หรือหากเป็นในภาพยนตร์ที่เคยปรากฏเกี่ยวกับแม่น้ำสายนี้ คือเรื่องไม้เถื่อน ที่ขนลำเลียงในแม่น้ำข้ามมาทางฝั่งไทย เพราะแถบนี้เป็นแหล่งไม้สัก

อีกด้านหนึ่ง ลุ่มน้ำสาละวินคือที่รวมความหลากหลายทางชีวพันธุ์ที่สำคัญของโลก เป็นแหล่งโบราณคดีที่เป็นต้นธารอารยธรรมของมนุษยชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และยังคงมีชีวิตอยู่มากมายในลุ่มน้ำนี้มาจนตราบปัจจุบัน จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมจึงต้องขัดค้านเขื่อนที่จะสร้างขวางสาละวิน

สำหรับเขื่อนส่วนหนึ่งใน "โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสาละวินชายแดน"

1.เขื่อนท่าซาง ตั้งอยู่ในรัฐฉาน ขนาด 7,110 เมกะวัตต์ จะเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดบนลุ่มน้ำสาละวิน และสูงที่สุดในภูมิภาคอุษาคเนย์ ด้วยความสูงถึง 228 เมตร เป็นโครงการของบริษัทเอกชนไทย MDX ซึ่งระหว่างปี 2539-2541 กองทัพพม่าบังคับอพยพประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวถึง 300,000 คน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่มีการศึกษาโครงการ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบโครงการ

2.เขื่อนยวาติ๊ด ขนาด 600 เมกะวัตต์ อยู่ในเขตรัฐคะเรนนี ประเทศพม่า

3.เขื่อนเว่ยจี ขนาด 5,000-5,600 เมกะวัตต์ ความสูง 220 เมตร ตั้งอยู่ที่ เว่ยจี บนชายแดนประเทศไทย-พม่า ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตรงข้ามกับรัฐกะเหรี่ยง เป็นโครงการของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) ส่วนหนึ่งของพื้นที่โครงการอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน

4.เขื่อนตา-กวิน ขนาด 500-900 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ใกล้บ้านท่าตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสาละวิน เป็นโครงการของ กฟผ. อ่างเก็บน้ำของเขื่อนนี้จะยาวไปจนจรดฐานของเขื่อนบน

5.เขื่อนฮัดจี ตั้งอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง พื้นที่โครงการตรงข้ามกับจังหวัดตาก เขื่อนตั้งอยู่ท้ายน้ำจากชายแดนที่ สบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ลงไปในประเทศพม่าประมาณ 47 กิโลเมตร

6.เขื่อนตะนาวศรี ขนาด 600 เมกะวัตต์ อยู่บนแม่น้ำตะนาวศรี ตรงข้ามกับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา