eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

วุฒิสภาเบรกเขื่อนสาละวิน สั่งกฟผ.ทำอีไอเอโครงการ 

มติชน ๓ มิถุนายน ๒๕๔๖

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 2 มิถุนายน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาหัวข้อ "เขื่อนสาละวิน : โศกนาฏกรรมสองแผ่นดิน" มีนายนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุบลราชธานี นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ คณะกรรมาธิการต่างประเทศ สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดนครราชสีมา นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ตัวแทนเครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเชียงใต้ นางพรพิมล ตรีโชติ อาจารย์ประจำสถาบันเอเชียศึกษา เข้าร่วมการเสวนา 

นายนิรันดร์เปิดเผยว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้เชิญผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ชี้แจงถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินชายแดนประเทศไทย-พม่า ประกอบด้วยเขื่อน 2 โครงการคือ เขื่อนสาละวินตอนบน(เว่ยจี) ความสูง 168 เมตร กำลังการผลิต 4,540 เมกะวัตต์ และเขื่อนสาละวินตอนล่าง(ดา-กวิน/ท่าตาฝั่ง) ความสูง 49 เมตร กำลังการผลิต 792 เมกะวัตต์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายแดนประเทศไทย-พม่า อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน และตรงข้ามกับรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะยา ประเทศพม่า มูลค่ากว่า 370,000 ล้านบาท ทราบว่าโครงการนี้ไม่มีการศึกษาผลกระทบของการสร้างเขื่อนที่จะส่งผลต่อระบบนิเวศ วิทยา รวมทั้งพื้นที่น้ำท่วมกว่า 20,000 ไร่ จึงได้ให้ กฟผ.ศึกษาและทบทวนโครงการทั้งหมด เพื่อนำเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) อีกครั้ง 

นายนิรันดร์กล่าวว่า กฟผ.ส่งเจ้าหน้าที่ไปตั้งมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่ เป็นการเอาผลประโยชน์ไปให้กับคนบางกลุ่ม บางครอบครัว ซึ่งทำให้ชาวบ้านแตกแยก และว่า ต้นทุนการสร้างเขื่อนอาจจะสูงกว่าที่กำหนดไว้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวตั้งอยู่บนรอยเลื่อนของเปลือกโลกขนาดใหญ่ที่ยังมีการเค ลื่อนตัวอยู่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง ทำให้การสร้างเขื่อนจะต้องสร้างให้รองรับแผ่นดินไหวถึง 0.7 จี เท่ากับจะต้องเพิ่มค่าก่อสร้างอีก 3 เท่า จากราคาเดิมที่กำหนด ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่ประเทศไทยจะได้ค่าไฟฟ้าราคา 90 สตางค์ ตามที่ กฟผ.อ้าง 

นายไกรศักดิ์กล่าวว่า เขื่อนสาละวินจะทำให้ชาวบ้าน 28 หมู่บ้าน ใน อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ทางเกษตร 25-30% ต้องจมน้ำเกือบทั้งอำเภอ และว่าจะตรวจสอบเรื่องที่ กฟผ.บอกกับชาวบ้านในพื้นที่ว่าจะแบ่งรายได้จากการสร้างเขื่อน 2-3% ให้กับชาวบ้าน ว่ามีข้อเท็จจริงหรือไม่ เพราะทางกฎหมาย กฟผ.ไม่มีสิทธิแบ่งรายได้ให้กับประชาชน 

อนึ่ง แม่น้ำสาละวินไหลผ่านจากเทือกเขาหิมาลัย ประเทศทิเบตไหลลงสู่อ่าวเมาะตะมะประเทศพม่า ความยาวทั้งสิ้น 2,800 กิโลเมตร ซึ่งแม่น้ำสายนี้ถูกวางแผนให้เป็นที่ตั้งของเขื่อนชุดมากกว่า 10 เขื่อน รวมทั้งเขื่อนสาละวินและโครงการผันน้ำที่ประเทศไทยมีส่วนร่วม ทั้งที่เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีพลังงานเหลือใช้ในระบบ 40% ไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากเขื่อนสาละวินแต่อย่างใด 

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา