eng homeabout usmekong riversalween rivermun riverthai baan researchpublication
 

สารคดีต่างประเทศ : โครงการอภิมหาเขื่อน คุกคามมรดกโลกจีน

กรุงเทพธุรกิจ, พรรณทิพา หริมเทพาธิป (แปลและเรียบเรียงจากหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทม์ส April 9, 2004)


ในหมู่บ้านที่ตั้งอยู่บนจุดสูงสุดของเทือกเขาที่อยู่เหนือแม่น้ำนู จนดูเหมือนว่าหมู่บ้านกำลังลอยอยู่ในอากาศนั้น บรรดาชาวไร่ ต่างปลูกกะกล่ำปลี และข้าวโพด ไว้ในบริเวณที่สูงขึ้นไปอีก เกือบครึ่งกิโลเมตร โดยความจำเป็นที่ผลักดันให้ชาวบ้านเหล่านี้ต้องหนีขึ้นไปอยู่บนพื้นฟ้า คือข้อเท็จจริงที่ว่า พื้นที่เลียบแม่น้ำ มีราคาแพงขึ้นเรื่อยๆ

ที่สุดแล้วพวกเขาอาจจะยังคงต้องอพยพสูงขึ้นไปอีกจนกระทั่งหายเข้ากลีบเมฆไปเลย

แม่น้ำนู ซึ่งไหลผ่านผืนป่าเก่าแก่ อันเป็นที่อยู่ของพืชถึง 7,000 ชนิด และสัตว์ป่าหายาก หรือใกล้สูญพันธุ์อีก 80 สายพันธุ์ ถือเป็นทางน้ำเส้นล่าสุดที่รัฐบาลจีนกำลังวางโครงการสร้างเขื่อนเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่กำลังเฟื่องฟูอย่างสุดขีด

แผนการสร้างเขื่อนบริเวณแม่น้ำนู แทบจะไม่มีเสียงวิจารณ์จากภายนอกประเทศเกิดขึ้นเลย ตรงข้ามกับกรณีของเขื่อนไตรผา เขื่อนกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกและเป็นหัวข้อในการโต้แย้งระหว่างประเทศอย่างหนัก แต่สำหรับภายในแผ่นดินใหญ่เอง โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการสร้างเขื่อนแห่งที่ 13 แล้วนั้น ได้คุกคามความกลมกลืนของธรรมชาติและก่อให้เกิดความแตกแยกภายในรัฐบาล อย่างที่ไม่มีใครนึกถึงมาก่อน

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะแม่น้ำนูเป็นหนึ่งในบรรดาแม่น้ำเก่าแก่ของจีนที่ติดอันดับประเทศที่ก่อมลพิษมากที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง เส้นทางน้ำจะไหลลงสู่หุบผาลึก ซึ่งมีสภาพไม่เหมือนกับที่ไหนในโลก และได้รับการยกย่องจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ให้เป็นแหล่งมรดกโลก

ในปีที่ผ่านมา สำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมแห่งชาติและสถาบันวิทยาศาสตร์จีน ได้เผยแพร่บทความที่โจมตีโครงการสร้างเขื่อนแม่น้ำนู

"ถ้าระบบของแม่น้ำถูกทำลายลงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เลวร้ายขึ้น" หลี่ โปเฉิง นักพฤกษศาสตร์ที่มีชื่อเสียงของจีนกล่าวพร้อมเสริมว่าพื้นที่แห่งนี้ได้รับการขนานนามว่าเป็นหน้าผาแห่งฝั่งตะวันออก ซึ่งเป็นหุบผาธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษมากแห่งหนึ่งของโลก

จีน ซึ่งมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มากกว่าประเทศอื่นๆ จัดว่าเป็นประเทศที่ตระหนักถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ค่อยๆ ขยายตัวไปอย่างช้าๆ นับแต่ที่เกิดการถกเถียงอย่างยาวนาน ถึงเรื่องการสร้างเขื่อนไตรผาที่เริ่มการก่อสร้างเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ในโครงการที่มีมูลค่าอย่างน้อย 25,000 ล้านดอลลาร์ และเมื่อสร้างเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้ปี 2552 ก็จะทำให้คนนับล้านต้องอพยพออกไป

ขณะที่โครงการสร้างเขื่อนแม่น้ำนูนี้ ก็ไม่มีการเปิดเผยถึงตัวเลขค่าใช้จ่ายโดยประมาณต่อสาธารณชนแต่อย่างใด โครงการนี้ยังได้ผลักดันให้ประชาชนในมณฑลยูนนาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีนมากกว่า 50,000 คน ต้องหาที่อยู่ใหม่ ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเป็นชาวเขาเผ่าต่างๆ รวมถึงชาวทิเบตที่ประกอบอาชีพทำไร่ และเลี้ยงสัตว์ พูดภาษาจีนไม่ได้ และเลือกที่จะใช้ชีวิตบนผืนดินที่บรรพบุรุษเคยทำมาหากิน

"ถ้าผู้คนถูกผลักดันให้เปลี่ยนถิ่นฐาน เพราะโครงการเหล่านี้ พวกเขาก็จะสูญเสียการดำเนินวิถีชีวิตที่ทำให้พวกเขามีความพิเศษจากคนกลุ่มอื่นๆ และถ้าพวกเขาต้องย้ายออกไป ขนบธรรมเนียมประเพณีก็ต้องสูญหายไปอย่างเลี่ยงไม่ได้เลย" อาลู ชาวบ้านที่มีเชื้อสายทิเบตกล่าว

จากจุดกำเนิดบนที่ราบสูงในทิเบต แม่น้ำนูไหลผ่านดินแดนที่อยู่ในเขตห่างไกลของจีน ตัดหน้าผาผ่านเทือกเขาใหญ่ทางด้านตะวันออกของภูเขาหิมาลัย ไหลอย่างรวดเร็วลงสู่บริเวณใกล้ๆ ประมาณหนึ่งกิโลเมตรครึ่ง หรือราวหนึ่งไมล์ ผ่านช่องเขาที่มีกระแสน้ำแรงกัดเซาะหินจนขาวเหมือนกับนำหินไปขัดกับเหล็กกล้า

แม่น้ำนูไม่ใช่แม่น้ำสายเอก แต่เป็นเครือข่ายของแม่น้ำ หนึ่งในหลายสาย ที่มีต้นกำเนิดมาจากที่ราบสูงในทิเบต และต่างกลายเป็นทางน้ำสำคัญๆ ของทวีปเอเชีย ประกอบด้วยแม่น้ำตูหลง ที่กลายเป็นแม่น้ำอิระวดี ในประเทศพม่า, แม่น้ำจินชา ที่ไหลรวมจนเป็นแม่น้ำแยงซี, แม่น้ำหลานคัง ที่กลายเป็นแม่น้ำโขงสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนแม่น้ำนู เป็นต้นกำเนิดของเป็นแม่น้ำสาละวิน ที่ไหลผ่านพม่าและเลียบผ่านชายแดนไทย

แผ่นดินใหญ่ได้มีการเคลื่อนไหว เพื่อควบคุมแม่น้ำเหล่านี้ไว้ ซึ่งท่าทีของจีนได้เรียกเสียงคัดค้านอย่างหนัก เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนตอนบนของแม่น้ำโขง

นอกจากนี้ จีนยังอยู่ระหว่างการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่หลายแห่ง ในเส้นทางไหลของแม่น้ำจินชา โดยมีชื่อเรียกเล่นว่า 'ไตรผายกกำลัง 2' เพราะเมื่อนำศักยภาพของเขื่อนเหล่านี้มารวมกันแล้ว ก็จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึงสองเท่าของเขื่อนไตรผา

กลุ่มผู้คัดค้านโครงการเขื่อนที่แม่น้ำนู ระบุว่าโอกาสที่ดีที่สุดของพวกเขาอาจอยู่ที่การเข้าไปมีอิทธิพลเหนือเขื่อนเหล่านี้ มากกว่าที่จะพยายามยุติการสร้างเขื่อน เพราะตามปกติแล้วแรงผลักดันทางการเมืองสำหรับการพัฒนาด้านต่างๆ อย่างโครงการนี้ มักจะมีอิทธิพลอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจีนกำลังเผชิญหน้ากับการขาดแคลนพลังงานเพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ แผ่นดินใหญ่มีความต้องการใช้พลังงานมากกว่าที่สามารถผลิตได้และกำลังเผชิญหน้ากับภาวะขาดแคลนไฟฟ้าและพลังงาน ทั้งยังต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักจากนานาชาติ ที่ต้องการให้จีนเลิกใช้แหล่งพลังงานที่สร้างมลภาวะให้กับสิ่งแวดล้อม อย่างถ่านหินและหันไปหาพลังงานที่สะอาดกว่านี้

เมื่อถึงฤดูหนาวแม่น้ำนูจะค่อยๆ เปลี่ยนจากสีน้ำเงินไปเป็นเขียวมรกต เขียวน้ำนม จนกระทั่งกลายเป็นสีน้ำตาลอมเหลือง ในช่วงที่น้ำในแม่น้ำเพิ่มระดับขึ้นมาพร้อมกับตะกอนที่ตกค้างมาจากช่วงฤดูใบไม้ผลิ ความชื้นจากแม่น้ำจะแพร่กระจายไปทั่วอุทยานแห่งชาติกั๋วะหลีกง เฉิน ที่ถือเป็นแหล่งนิเวศวิทยาที่ถูกรบกวนน้อยที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง มีหน้าผาที่ปกคลุมไปด้วยเฟิร์นและต้นไผ่ที่มีใบเต็มต้น เหมือนกับนิ้วมือที่ปกคลุมด้วยขนนกอ่อนนุ่มสีเขียว

พื้นที่บริเวณนี้ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นแหล่งมรดกโลก ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณที่มีชื่อเรียกว่า 'เส้นขนานแม่น้ำสามสาย' เพราะเป็นบริเวณที่แม่น้ำจินชา หลานคัง และนู ไหลเคียงข้างกันไป ทั้งที่เป็นเส้นทางตรง และผ่านทางช่องเขาที่มีความลึกถึงสามกิโลเมตร

เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน แห่งองค์การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ผู้ให้คำปรึกษาแก่รัฐบาลจีนในการพัฒนากั๋วะหลีกง เฉิน ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กล่าวถึงพื้นที่นี้ว่าเป็น 1 ในพื้นที่ที่สมบูรณ์ด้วยพืชและสิ่งมีชีวิตมากที่สุดของโลก

แผนการสร้างเขื่อนข้างต้น รู้ถึงหูสาธารณชนเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากมีการรายงานข่าวทางสื่อท้องถิ่น ไชน่า เอนวิรอนเมนท์ นิวส์ หนังสือพิมพ์ของหน่วยงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และได้กลายเป็นข่าวพาดหัวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับ รวมถึงฉบับหนึ่งที่พาดหัวว่า 'ปกป้องอารยธรรมแม่น้ำนู'

อาลู ชาวบ้านผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนคนเดิม บอกว่า ทางการได้ให้คำมั่นว่าการสร้างเขื่อน จะช่วยสร้างงาน และทำให้มีไฟฟ้าใช้มากขึ้น แต่เขาก็ยังสงสัยอยู่ดี

"เท่าที่ผมเห็นตอนนี้ ยังไม่เห็นมีงานไหนเข้ามาให้คนที่นี่ทำเลย เหตุผลก็คือ การศึกษาระดับท้องถิ่นมันก้าวไปไม่ทันกับโลกยุคใหม่" อาลู กล่าว

ขณะที่ ปา เหวินฮัว หญิงสาวอีกรายหนึ่ง ระบุว่า พวกเธอคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ และไม่คิดว่าลำบากแม้แต่น้อย

"แม่น้ำให้น้ำเราดื่มและภูเขาก็ให้อาหารเรากิน"

 
 

สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต   138/1 หมู่ 4 ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่   50200
Living River Siam Association  138 Moo 4, Suthep, Muang, Chiang Mai, 50200   Thailand
Tel. & Fax.: (66)-       E-mail : admin@livingriversiam.org

ข้อมูลในเวปนี้สามารถนำไปเผยแพร่ได้โดยอ้างอิงแหล่งที่มา