“ลักไก่” สร้างเขื่อนสาละวินในพม่า??

fas fa-pencil-alt
อาทิตย์ ธาราคำ เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
fas fa-calendar
22 มกราคม 2548

เมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ลงนามกับการไฟฟ้าพม่าในการร่วมทุนสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน โดยระบุว่าเป็นการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) แต่รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา กลับระบุว่าตอนนี้ไทยและพม่า “หมั้นหมาย” กันเรียบร้อยแล้ว โดยการไฟฟ้าของทั้งสองประเทศได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงหรือ Memorandum of Agreement (MOA) ที่มีข้อผูกมัดมากกว่า MOU

การลงนามครั้งนี้นำมาซึ่งคำถามมากมายที่ กฟผ. ควรต้องให้คำตอบที่กระจ่างชัดแก่สังคมไทย

ข้อมูลของ กฟผ. ระบุว่าการร่วมทุนพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำระหว่างไทย-พม่าเป็นโครงการชุดใหญ่ ประกอบด้วย 5 เขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน และอีก 1 เขื่อนบนแม่น้ำตะนาวศรี ซึ่งเขื่อนทั้งหมดนี้อยู่ในพม่าแถบตะวันตกซึ่งเป็นเขตของชนกลุ่มน้อยนับตั้งแต่รัฐฉาน ไล่เรื่อยลงมาจนถึงรัฐมอญและภาคตะนาวศรี เพื่อผลิตไฟฟ้าขายให้กับไทย โดยคาดว่าทุนจะมาจากจีน

หลายปีที่ผ่านมา เขื่อนในพม่าที่ได้รับการผลักดันจากนักสร้างเขื่อนไทย มีทั้งหมด 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนท่าซาง บนแม่น้ำสาละวินใจกลางรัฐฉาน และเขื่อนสาละวินชายแดน 2 เขื่อน คือ เว่ยจีและดา-กวิน บนพรมแดนรัฐกะเหรี่ยงและจ.แม่ฮ่องสอน

ที่ผ่านมาโครงการทั้งสามนี้ได้ถูกตั้งคำถามด้านปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า โดยเฉพาะเขื่อนท่าซาง ที่มีรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งการข่มขืนสตรีกลุ่มชาติพันธุ์และการอพยพชาวบ้านกว่า 300,000 คนออกจากพื้นที่เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของกองทัพพม่าในพื้นที่ดังกล่าว

จ๋ามตอง สตรีนักสิทธิมนุษยชนชาวไทยใหญ่ แสดงความคิดเห็นว่า “เขื่อนสาละวินจะเป็นอาวุธสงครามที่กองทัพพม่าใช้เพื่อกวาดล้างชนกลุ่มน้อย”

ในกรณีเขื่อนบนชายแดน ซึ่งพื้นที่น้ำท่วมส่วนใหญ่จะอยู่บนรัฐกะเหรี่ยงและรัฐคะยา ซึ่งก็เผชิญปัญหาไม่ต่างกัน ดังที่ ลอแอะ โรแลน นักสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง ระบุว่า “ตั้งแต่มีโครงการเขื่อน กองกำลังทหารพม่าในรัฐกะเหรี่ยงเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว กวาดต้อนชาวบ้านออกไป และเมื่อสร้างเขื่อนจริงๆ ก็จะบอกใครๆ ว่าพื้นที่นี้ไม่มีใครอาศัยอยู่”

ด้วยเหตุนี้ เมื่อ กฟผ. สร้างความตกตะลึงด้วยการลงนาม MOA สร้างเขื่อนฮัตจี บนลำน้ำสาละวินในเขตรัฐกะเหรี่ยง ห่างจากจุดบรรจบแม่น้ำเมยและแม่น้ำสาละวินที่บ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ลงไปตามน้ำประมาณ 33 กิโลเมตร โดยระบุว่าจะเริ่มสร้างปลายปี 2550 ทำให้เกิดคำถามใหญ่ว่าผลกระทบจากเขื่อนฮัตจีจะรุนแรงขนาดไหน โดยเฉพาะในประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งบริเวณดังกล่าวต่อเนื่องกับเขตชายแดน ที่ยังคงมีการสู้รบระหว่างกองกำลังกู้ชาติและทหารพม่าอย่างรุนแรง รวมทั้งเป็นพื้นที่ที่ถูกกองทัพพม่าเข้ากวาดล้างมาตั้งแต่ปี 2538 ทำให้มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากหลั่งไหลเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีผู้ลี้ภัยจากรัฐกะเหรี่ยงลงทะเบียนอาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยตามชายแดนสูงถึง 120,000 คน

การสร้างเขื่อนซึ่งก่อให้เกิดน้ำท่วม จึงหมายความว่าบ้านเรือนของประชาชนจากพม่าจะต้องจมอยู่ใต้น้ำ และเท่ากับเป็นการตัดโอกาสไม่ให้ผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้กลับไปทำมาหากินบนผืนแผ่นดินของตนเองอีกเลย จึงหมายความว่าปัญหาผู้ลี้ภัยจากพม่าในประเทศไทยจะขยายตัวรุนแรงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เมื่อพิจารณารายละเอียดโครงการจากรายงานการศึกษาของโครงการเขื่อนฮัตจีฉบับปี 2541 ซึ่งว่าจ้างโดยการไฟฟ้าพม่า ระบุว่าเขื่อนแห่งนี้มีกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะทำให้น้ำท่วมไม่เพียงเฉพาะในรัฐกะเหรี่ยงเท่านั้น แต่จะเอ่อตามลำน้ำขึ้นมาถึงเขตชายแดนไทย-พม่าที่จ.แม่ฮ่องสอน เท่ากับว่าประชาชนไทยที่อาศัยแถบชายแดนก็จะได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน

ยิ่งในวันนี้ที่ กฟผ. ระบุว่าเขื่อนแห่งนี้จะผลิตไฟฟ้าได้ถึง 2,000 เมกะวัตต์ มิใช่ 300 เมกะวัตต์แล้วนั้น เป็นไปได้หรือว่าขนาดเขื่อนและพื้นที่น้ำท่วมจะไม่ใหญ่ไปกว่าเดิม ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศและชาวบ้านจะเพิ่มขึ้นมากมายเพียงใด ข้อมูลเหล่านี้ยังไม่มีการเปิดเผยจากเจ้าของโครงการ

นอกจากนี้ ผลกระทบอื่นๆ ทั้งเรื่องระบบนิเวศในลุ่มน้ำ เงินทุนในการสร้างเขื่อน การคอรัปชั่น เป็นสิ่งที่คนไทยควรตั้งคำถามกับ กฟผ. โดยเฉพาะคำถามว่าทำไมต้องเร่งรัดดำเนินโครงการ

สิ่งที่ กฟผ. ต้องกระทำก่อนดำเนินโครงการไปไกลกว่านี้คือ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการและผลกระทบที่จะมีต่อประชาชนในฝั่งไทยและพม่า โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่ผ่านมา รายงานการศึกษาผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ข้อตกลงด้านการร่วมทุนทั้งหมด เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบ

เพราะไม่เช่นนั้น คนไทยจะกลายเป็นผู้มีส่วนสร้างความทุกข์ยากแก่ประชาชนบนผืนแผ่นดินพม่า เพื่อนบ้านของเรา

การรีบเร่งอย่างผิดปกติของ กฟผ. ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังคือสิ่งที่อดีตผู้ว่าการ กฟผ. เคยกล่าวไว้หรือไม่ว่า การสร้างเขื่อนสาละวินในพม่าไม่มีปัญหาเรื่องคนจะออกมาประท้วงแน่ๆ เพราะประเทศพม่าไม่มีเสรีภาพเหมือนประเทศไทย

ถ้าเป็นเพราะเหตุผลนี้จริง บรรดานักสร้างเขื่อนทั้งหลายคงไม่อยากเห็นพม่าเป็นประชาธิปไตย

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง