ทางเลือก ๕ ประการ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ - เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
24 มีนาคม 2545
ไม่ว่าแล้งนี้หรือแล้งไหนสิ่งที่มักปรากฏขึ้นในสังคมไทยก็คือ เราจะเห็นนักสร้างเขื่อนดาหน้าออกมาผลักดันโครงการเขื่อนที่พวกเขาหมายมั่นปั้นมือว่าจะสร้างให้ได้โดย อาศัยสถานการณ์หน้าแล้งมาช่วยสร้างความชอบธรรม ด้วยการทำให้สังคมไทยกลัวภัยความแห้งแล้งแล้วก็ยัดเยียดให้เชื่อว่า“เขื่อน” เป็นคำตอบสุดท้าย
ความจริงแล้ว องค์ความรู้จากทั่วโลกยืนยันแล้วว่า “เขื่อนไม่ได้ผล คนจนต้องแบกรับภาระ” โดยเฉพาะรายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลกที่ก่อตั้งโดยธนาคารโลก และสหพันธ์เพื่อการอนุรักษ์นานาชาติที่ระบุว่า เขื่อนทั่วโลกล้วนแต่ไม่เคยบรรลุเป้าหมายตามที่วางไว้ ซึ่งรวมถึงประโยชน์ด้านการชลประทานและการป้อนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค (สามารถดูงานวิจัยจากทั่วโลกนี้ได้จาก www.dams.org)
สำหรับประเทศไทยเรา ตัวอย่างของความไม่มีประสิทธิภาพของเขื่อนนั้นดูได้ในหลายกรณี ดังเช่น เขื่อนเชี่ยวหลานทางภาคใต้ที่อ้างเมื่อตอนสร้างว่าจะทำให้เกิดพื้นที่ชลประทานมากกว่าแสนไร่ แต่ทุกวันนี้ไม่มีพื้นที่ชลประทานแม้แต่ไร่เดียว ซึ่งก็คล้ายคลึงกับเขื่อนปากมูลที่ตอนอนุมัติโครงการระบุว่าจะตอบสนองน้ำแก่พื้นที่ชลประทานมากกว่า ๑๖๐,๐๐๐ ไร่ แต่ทุกวันนี้ยังหาพื้นที่ชลประทานของเขื่อนไม่เจอแม้แต่ตารางนิ้วเดียว
ที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ก็คือ จังหวัดกาญจนบุรี ที่ทุกแล้งยังต้องนำรถน้ำไปแจกจ่ายน้ำให้ประชาชน แม้ว่ากาญจนบุรีได้ชื่อว่าเป็นสลัมเขื่อนเพราะมีเขื่อนที่ถูกสร้างขึ้นในจังหวัดนี้ถึง ๔ เขื่อน
ที่ร้ายกว่านั้นก็คือ ในบางกรณี น้ำจากเขื่อนก็มิได้หมายความว่านำความอุดมสมบูรณ์มาให้ชาวบ้าน แต่กลับนำหายนะมาแทน ดังเขื่อนราษีไศลที่น้ำในเขื่อนเค็มจนไม่สามารถนำมาใช้ในการเกษตรหรืออุปโภคบริโภคได้ จนกระทั่งรัฐบาลเห็นด้วยกับการเปิดประตูเขื่อนตามข้อเรียกร้องของชาวบ้าน หรือเขื่อนปากมูลที่ปรากฏว่า หลังการสร้างเขื่อน มีน้ำเยอะก็จริง แต่น้ำนั้นก็ไร้ซึ่งประโยชน์ เพราะอย่าว่าแต่จะใช้ดื่มกินเลย แม้แต่ จะลงไปอาบหรือหาปลาเหมือนก่อนก็ไม่ได้เพราะน้ำเน่าเสีย ทำให้ชาวบ้านต้องแบกรับภาระค่าน้ำประปาซึ่งเป็นต้นทุนที่ไม่ได้คิดมาก่อน หลังจากเปิดประตูเขื่อนทั้งสอง ขณะนี้ชาวบ้านก็ได้หันมาใช้น้ำมูนอีกครั้ง ไม่ว่าใช้อุปโภคบริโภค การได้กลับไปอาศัยบ่อน้ำสร้างสำหรับดื่มกิน
ในทางนิเวศวิทยา เขื่อนไม่เพียงแต่ทำลายระบบนิเวศน์แม่น้ำเท่านั้น แต่เขื่อนยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาดของพันธุ์พืชและสัตว์ต่างถิ่นโดยเฉพาะหอยเชอรี่ ผักตบชวา และไมยราบยักษ์ ที่กลายมาเป็นปัญหาเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมที่แก้ไม่ตก ซึ่งดูได้จากเขื่อนปากมูล เขื่อนราษีช่วงเก็บกักน้ำ และเขื่อนอื่นๆ อีกหลายแห่งในประเทศ ซึ่งปัญหานี้ นักสร้างเขื่อนไม่เคยตระหนักถึง
นอกจากนั้น เขื่อนขนาดใหญ่ยังต้องลงทุนมหาศาล โดยที่สังคมไทยต้องแบกรับภาระต้นทุนนี้โดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างก็คือ เขื่อนชุด ๑๔ เขื่อนในโครงการผันน้ำ-โขง-ชี-มูล ที่อ้างว่าจะทำให้อีสานเขียว ขณะนี้โครงการดังกล่าวใช้เงินไปมากกว่า ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท ขณะที่ตอบสนองต่อพื้นที่ชลประทานได้เพียง ๑๐,๐๐๐ ไร่ หรือคิดแล้วลงทุนไปไร่ละ ๑ ล้านบาท!!! แพงพอๆ กับกองทุนหมู่บ้านเลยทีเดียว
บทเรียนเหล่านี้ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า “เขื่อนได้ไม่คุ้มเสีย” จนกระทั่งนักวิชาการบางท่านกล่าวว่า เขื่อนคือการจัดการน้ำที่หยาบคายที่สุดในโลก แต่เขื่อนก็ยังถูกผลักดันจากนักสร้างเขื่อนและนักการเมืองต่อไป นั่นก็เป็นเพราะความเชื่อทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับขนาดโครงการ (Economy of scale) ที่ว่า “โครงการยิ่งมีขนาดใหญ่เท่าใด ก็ยิ่งดีเท่านั้น” และมายาคตินี้ก็ทำให้นักสร้างเขื่อนมองข้ามแนวทางอื่นๆ ในการจัดการน้ำ
ด้วยบทเรียนดังกล่าวข้างต้นนี้เอง ชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชนจึงได้เสนอแนวทางการจัดการน้ำโดยไม่ต้องสร้างเขื่อนมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเขื่อนแก่งเสือเต้นที่กำลังเกิดความขัดแย้งในขณะนี้ แต่อธิบดีกรมชลประทานทุกยุคทุกสมัยก็ไม่เคยสนใจ
เพื่อย้ำอีกครั้งว่านักอนุรักษ์มิได้เอาแต่คัดค้านเขื่อน ดังนั้นจึงใคร่สรุปทางเลือกในการจัดการน้ำโดยยกกรณีลุ่มน้ำยมมาเสนอต่อสังคมไทยอีกครั้งว่า มีทางเลือกมากมายที่ไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ดังต่อไปนี้
๑.การฟื้นฟูพื้นที่ชุมน้ำ
แนวความคิดหลักในการจัดการลุ่มน้ำที่ควรนำมาพิจารณาก็คือ การจัดการโดยการคิดบนฐานของภูมินิเวศของแม่น้ำ หากคิดบนฐานนี้แล้ว ก็จะเข้าใจได้ว่า “น้ำแล้ง-น้ำท่วม” ในเขตลุ่มแม่น้ำยม สามารถจัดการได้เพราะธรรมชาติได้สร้างสมดุลตามธรรมชาติให้แล้วนั่นก็คือ แม่น้ำสายนี้มีระบบนิเวศน์ที่เรียกว่า “ที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงลุ่มน้ำยม” หรือ Yom River Flood-plain และพื้นที่ชุ่มน้ำอื่นๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วไปตลอดลุ่มน้ำ ตั้งแต่สุโขทัยลงไปจนถึงพิจิตร เฉพาะพิจิตรจังหวัดเดียวก็มีบึงมากกว่า ๓,๐๐๐ แห่ง
พื้นที่ชุ่มน้ำและที่ราบลุ่มน้ำยมนี้ได้หล่อเลี้ยงชีวิตคนลุ่มน้ำนี้มาช้านาน จากการทำหน้าที่กักเก็บน้ำในฤดูน้ำหลากและค่อยๆ ปล่อยออกมาคล้ายกับฟองน้ำ ในฤดูแล้งก็มีน้ำใช้ แหล่งน้ำธรรมชาติเหล่านี้ยังเป็นแหล่งหากิน วางไข่ และที่อยู่อาศัยของปลา ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของชาวบ้าน กล่าวได้ว่า สังคมแถบนี้พัฒนาขึ้นมาเป็นบ้านเป็นเมืองได้ดังปัจจุบันก็เพราะความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำยมนั่นเอง
แต่ปัจจุบัน ความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำยมลังถูกคุกคามอย่างหนักเนื่อง มาจากการใช้ที่ดินผิดประเภทและการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเขต พื้นที่ชุ่มน้ำและที่ราบลุ่มแม่น้ำยม ซึ่งรวมถึงถนน สถานที่ราชการ นิคมอุตสาหกรรม และหมู่บ้านจัดสรร บึงหลายแห่งถูกถมและยึดครองทั้งจากเอกชนและหน่วยงานราชการ ในบางพื้นที่ยังปรากฏว่ากรมชลประทานเองก็ได้เข้าไปทำลายพื้นที่เหล่านี้โดยการทำคันดินล้อมรอบ ทำให้ระบบของพื้นที่ชุ่มน้ำกลายสภาพเป็นบ่อน้ำที่ทำให้ระบบการไหลของน้ำตัดขาดออกจากระบบแม่น้ำ ผลที่ตามมาก็คือพื้นที่ชุ่มน้ำและที่ราบลุ่มแม่น้ำยมไม่สามารถทำหน้าที่ป้องกันน้ำท่วมได้เนื่องจากไม่มีที่พักน้ำ ทำให้น้ำไหลท่วมลงด้านล่างของลุ่มน้ำยมรวมทั้งลุ่มน้ำเจ้าพระยาอย่างรวดเร็วและทำให้ความเสียหายจากน้ำท่วมมีความรุนแรงมากขึ้น และเมื่อถึงฤดูแล้ง พื้นที่ชุ่มน้ำเหล่านี้จึงขาดแคลนน้ำ
การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยมสามารถทำได้โดยการขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง การหยุดยั้งการบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำรวมทั้งหยุดสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การกำหนดการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ การแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้นหรือพืชไม่หิวน้ำในฤดูแล้ง/และพันธุ์ข้าวขึ้นน้ำในฤดูฝนให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และฤดูกาล นอกจากนั้นยังต้องมีมาตรการอื่นเพื่อป้องกันน้ำท่วมด้วย เช่น การยกถนนให้สูงขึ้นหรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยที่สุดชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม เป็นต้น
การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำนี้จะเป็นประโยชน์ทั้งการบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งในลุ่มน้ำยมตอนล่างได้ไปพร้อมๆ กัน เฉพาะที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเพียงที่เดียวก็เป็นที่พักน้ำที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำเหล่าก็จะทำให้น้ำยมไหลตลอดปีให้ประชาชนสามารถใช้กัน ซึ่งคิดแล้วเป็นปริมาณที่มากกว่าที่เขื่อนแก่งเสือเต้นจะกักเก็บได้เสียอีก) นอกจากนั้นยังเกิดแหล่งอาหารตามธรรมชาติให้ชาวบ้านอีกด้วย
ตัวอย่างการใช้ที่ราบลุ่มแม่น้ำในการป้องกันน้ำท่วมและแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำก็คือ U.S.Army Corp. of Engineer ได้ใช้ที่ราบลุ่มแม่น้ำชาร์ลส์(Charles River Flood-plain) ในมลรัฐแมสซาซูเส็ทท์ในการป้องกันน้ำท่วมหลังจากการศึกษาพบว่า ที่ราบลุ่มแม่น้ำชาร์ลส์พื้นที่ 3,800 แฮคแตร์(23,750 ไร่ หรือเล็กกว่าที่ราบลุ่มแม่น้ำยม 15 เท่า)ช่วยป้องกันน้ำท่วมได้ จากการที่เมื่อมีการพัฒนาพื้นที่ 40% ได้เกิดความเสียหายจากน้ำท่วมเพิ่มขึ้นเสียหายถึงปีละ 3 ล้านเหรียญ และคาดว่าถ้าหากมีการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดแล้ว ความเสียหายจากน้ำท่วมจะเพิ่มขึ้นได้ถึงปีละ 17 ล้านเหรียญ ในการแก้ปัญหาน้ำท่วมนี้ U.S.Army Corp. of Engineer ได้ใช้งบประมาณเพียงปีละ 1.9 ล้านเหรียญในการฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำชาร์ลส์ การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำชาร์ลส์นอกจากแก้ปัญหาน้ำท่วมแล้ว ยังสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ โดยที่ราบลุ่มแห่งนี้สามารถเป็นแหล่งน้ำตื้นใต้ดินตอบสนองน้ำอุปโภคบริโภคในชุมชน 60 แห่งที่มีประชากรรวม 750,000 คน
ตัวอย่างข้างต้นนั้น สะท้อนให้เห็นได้ว่า การแก้ปัญหาบนพื้นฐานของภูมินิเวศน์นั้นเป็นทางออกที่ดี แม้แต่ประเทศที่เป็ฯเจ้าเทคโนโลยีเขื่อนก็ยังหันหลังให้กับเขื่อนมาดำเนินการในแนวทางนี้ แล้วทำไมประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่เขตร้อนและมีพื้นที่ชุ่มน้ำมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ห้วย หนอง คลอง บึง กุด ป่าพรุ ฯลฯ จึงไม่ลองคิดดูกัน เพราะหากจัดการให้ดีโดยไม่เข้าไปทำลายก็จะมีน้ำใช้ไปชั่วลูกชั่วหลาน
๒.การจัดการทางด้านความต้องการ(Demand Side Management)
สาเหตุประการหนึ่งของการขาดแคลนน้ำที่นักสร้างเขื่อนไม่เคยกล่าวถึงก็คือ การขาดแคลนน้ำเกิดจากการที่รัฐเข้าไปสร้างระบบ ชลประทานที่ไร้ประสิทธิภาพ ประกอบกับการส่งเสริมให้ชาวบ้านทำนาปรังในฤดูแล้งโดยไม่ได้พิจารณาศักยภาพของทรัพยากรน้ำ เมื่อสองสิ่งนี้มาบรรจบกันก็ทำให้เกิดปรากฏการณ์ของการขาดแคลนน้ำ ดังนั้นพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำและมีความขัดแย้งจนแย่งชิงน้ำกันนั้น ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นลุ่มน้ำที่มีการ สร้างเขื่อนหรือพื้นที่ที่ชลประทานที่รัฐเข้าไปดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำและสนับสนุนการเกษตรฤดูแล้ง จนน้ำไม่พอความต้องการ จนรัฐต้องห้ามปรามการทำนาปรัง แต่การจะห้ามนี้ก็ยากยิ่งเพราะรัฐเข้าไปสนับสนุนตั้งแต่แรก ข้อเท็จจริงนี้ดูได้จากลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่มีการส่งเสริมการชลประทานและการเกษตรแบบเข้มข้นได้เป็นอย่างดี หรือกรณีชาวบ้านลุ่มน้ำพรมที่ทางการได้สร้างเขื่อนใหญ่ถึง ๒ เขื่อนทางต้นน้ำคือเขื่อนจุฬาภรณ์และเขื่อนห้วยกุ่ม อีกทั้งยังมีฝายทางตอนล่างอีกหลายแห่ง ปรากฏว่าเมื่อมีโครงการเหล่านี้ น้ำในลำน้ำพรมก็หายไปจนทำให้ชาวบ้านต้องแย่งน้ำกัน และรวมกันเดินตามน้ำที่เรียกว่า “ขบวนการตามน้ำ” จนในที่สุดก็พบว่าน้ำไปเพราะอยู่ในเขื่อนหมดจนไม่เหลือลงมาเลี้ยงชีวิตชาวบ้าน
สำหรับในลุ่มแม่น้ำยม ปัจจุบันลุ่มน้ำนี้มีระบบชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ ระบบชลประทานเหล่านี้ล้วนแต่มีประสิทธิภาพต่ำ กล่าวคือ ประสิทธิภาพเฉลี่ยระบบชลประทานของกรมชลประทานมีเพียง 35% ขณะที่ประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วโลกเฉลี่ย 64% ส่วนระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้ามีประสิทธิภาพเฉลี่ย 57% เท่านั้น
การจัดการด้านความต้องการนี้หมายรวมถึงการซ่อมบำรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้ใช้น้ำ การให้ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำ รวมทั้งมาตรการอื่นๆ ซึ่งจะทำให้เหลือน้ำจำนวนมาก เฉพาะระบบของกรมชลประทานเพียงกรมเดียว ถ้าจัดการให้ดีก็จะเหลือน้ำถึง 101 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณในการอุปโภคบริโภคของคนในลุ่มแม่น้ำยมถึง 7.6 ล้านคน
ด้วยข้อมูลพื้นฐานนี้ จึงใคร่ขอเสนอว่า ก่อนที่นักสร้างเขื่อนจะดำเนินโครงการก่อสร้างอะไรก็ตาม รวมถึงเขื่อนแก่งเสือเต้นและฝายยักษ์อื่นๆ ในแม่น้ำยมที่ต้องใช้งบประมาณเป็นร้อยล้านพันล้านกัน ก็ควรที่จะต้องจัดการให้โครงการที่มีอยู่แล้วนี้มีประสิทธิภาพเสียก่อน กรณีง่ายๆ ของกรมชลประทานก็คือ การนำน้ำจากเขื่อนแม่มอกที่ลำปางที่ไหลไปลงสุโขทัยที่เพิ่งสร้างไม่นานให้ลงไปหล่อเลี้ยงชาวสุโขทัยให้ดูหน่อย ลองทำแค่นี้ให้ได้ก่อน ก่อนที่จะไปคิดถึงโครงการใหม่ๆ
๓.การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก
ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยมสามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย แผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหา การขาดแคลนน้ำได้โดย ใช้งบประมาณ เฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น แต่เป็นที่น่าเสียใจที่แผนดังกล่าวถูกแช่แข็งไว้ที่สภาพัฒน์
๔.การพัฒนาระบบประปา แก้ปัญหาน้ำในเมือง
เมื่อถึงฤดูแล้ง ชาวเมืองมักจะเป็นกลุ่มที่ได้ประสบกับปัญหาขาดแคลนน้ำเสมอ และนักสร้างเขื่อนมักจะเหมารวมว่าการขาดแคลนน้ำนี้มีสาเหตุจากไม่มีเขื่อน
แท้จริงแล้ว เมืองใหญ่หลายเมืองที่ประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภคในฤดูแล้งนั้น ไม่ได้เกิดจากการขาดน้ำดิบ แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาที่ไม่สามารถตอบสนองความต้องการน้ำได้
ในลุ่มน้ำยมนั้น ดูตัวอย่างได้จากเมืองสุโขทัยที่ขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้ง แต่การขาดแคลนนี้เป็นเพราะว่าระบบการผลิตน้ำประปามี ความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง มิใช่ขาดแคลนน้ำแต่อย่างใด
ทางออกต่อเรื่องนี้ ก็คือ การส่งเสริมให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้ง ขณะเดียวกันก็ควรพิจารณาพัฒนาให้ระบบการผลิตน้ำประปา ให้มีประสิทธิภาพสามารถตอบสนองต่อความต้องการน้ำอุปโภค-บริโภค
๕.การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ
ความแห้งแล้งและน้ำท่วม (ที่ไม่ใช่ธรรมชาติ) นั้น เป็นที่ชัดเจนว่าเกิดมาจากการทำลายสภาพแวดล้อมซึ่งเกิดขึ้นในแทบทุกลุ่มน้ำ การเสนอให้สร้างเขื่อนนอกจากไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้วยังมีผลต่อการทำลายสภาพแวดล้อมให้สาหัสไปอีกโดยเฉพาะการทำลายป่าที่ป็นแหล่งปล่อยน้ำ
มีหลักฐานการวิจัยมากมายที่ชี้ว่า ป่าที่ถูกทำลายจากเขื่อนนั้นมิใช่แค่พื้นที่อ่างเก็บน้ำแต่รวมถึงถนนเข้าสู่หัวงาน การสร้างหัวงาน บ้านพักคนงาน แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง การสัมปทานทำไม้ในอ่าง (โดยการทำไม้นอกอ่าง) ถนนเข้าสู่หัวงานเขื่อนยังเป็นสะพานอย่างดีที่ทำให้เกิดการบุกรุกถือครองพื้นที่ป่าตามมา บางที่อาจจะแถมสนอมกอล์ฟบริเวณหัวงานเขื่อนเข้าไปด้วย ดังตัวอย่างเช่น เขื่อนศรีนครินทร์ที่ป่าถูกทำลายมากกว่าบริเวณที่ถูกน้ำท่วมถึง ๒ เท่า หรือกรณีเขื่อนจุฬาภรณ์ที่ป่าถูกทำลายมากกว่าป่าที่กลายเป็นอ่างเก็บน้ำถึง ๒๐ เท่า
ข้อมูลเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า การนำพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายจากเฉพาะจากอ่างเก็บน้ำของเขื่อนมาทำการเทียบกับพื้นที่ป่าที่ถูกทำลายในแต่ละปีจึงเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง
ข้อเสนอที่ใคร่จะเสนอต่อสังคมไทยก็คือ แทนที่จะสร้างเขื่อนไปทำลายป่ากัน น่าจะหันมาอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าซึ่งจะเป็นการแก้ไขปัญหาระยะยาว เพราะเป็นการฟื้นฟูเสถียรภาพของสภาพแวดล้อมกลับคืนมา
ในกรณีลุ่มน้ำยม การฟื้นฟูป่าจะต้องทำตลอดทั้งลุ่มน้ำซึ่งรวมถึงต้นน้ำและป่าริมน้ำของแม่น้ำสาขาและห้วยต่างๆ ที่ไหลลงแม่น้ำยมตั้งแต่แพร่ สุโขทัย ไปจนถึงพิษณุโลกและพิจิตร
กรณีของชาวสะเอียบเป็นตัวอย่างได้ดี เพราะชุมชนสะเอียบได้ช่วยกันรักษาป่าแม่ยมซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำยมมานานนับสิบปีแล้ว และปรากฏว่าแม่น้ำยมบริเวณนี้ไหลไม่เคยขาดสาย แตกต่างกับพื้นที่ทางตอนล่างอย่างสิ้นเชิง การฟื้นฟูป่าในลุ่มน้ำนั้น หากทุ่มเทกันอย่างจริงจังให้ได้ซักครึ่งหนึ่งอย่างที่ชาวสะเอียบได้ทุ่มเทลงไปก็คงแก้ปัญหาของแม่น้ำยมได้พอสมควร
เชื่อแน่ว่า หากข้อเสนอดังกล่าวข้างต้นนี้ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ทุกแล้ง เราก็ไม่ต้องโหยหาเขื่อนแก่งเสือเต้นหรือเขื่อนอื่นๆ กันอีกต่อไป เว้นเสียแต่ว่าจริงๆ แล้วในใจนั้นคิดกันอยู่ว่า “แล้งนี้ (และทุกแล้ง)…. ฉันจะเอาเขื่อน ไม่ใช่เอาน้ำ”