ดงสักงาม ป่าสักทอง ป่าชุมชนคนสะเอียบ

fas fa-pencil-alt
ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี : ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำยม
fas fa-calendar
22 มิถุนายน 2553

ทำลายป่าเพื่อสร้างเขื่อน ฝนแล้งเพราะไม่มีป่า 


 สถานการณ์น้ำแล้งที่ผ่านมาทำให้เขื่อนแทบทุกเขื่อนทั่วประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤต แทบจะไม่มีน้ำ อีกทั้งฤดูฝนก็มาช้า ทำให้เกิดภาวะภัยแล้งตามมาทั่วหน้ากัน เขื่อนภูมิพลที่มีความจุนับหมื่นล้าน เขื่อนสิริกิจความจุเกือบหมื่นล้าน ยอมรับว่าไม่มีน้ำพอที่จะระบายให้กับเกษตรกร และขอให้เกษตรกรเลื่อนการทำนาไปอีกหนึ่งเดือน อีกทั้งยังต้องเร่งทำฝนหลวงเพื่อให้ฝนตกลงเขื่อนที่ว่างเปล่าอยู่ โดยมิได้สรุปบทเรียนเลยว่าฝนแล้งฝนไม่ตกนั้น เพราะไม่มีป่า มิหนำซ้ำยังคิดทำลายป่าสักทอง เพื่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอีก 


 ป่าสักทองเริ่มผลิใบ 


 ฝนที่ตกลงมาในช่วงต้นฤดูฝนที่ผ่านมา ทำให้ป่าสักทองเริ่มผลิใบเขียวอ่อน ดงสักงาม เขตป่าสักทองที่หนาแน่น ซึ่งชุมชนคนสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ร่วมกันปกป้องรักษาไว้ให้ลูกหลาน เป็นสมบัติอันล้ำค่าของคนไทยทั้งชาติ ต้นสักทอง เป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณ ไม้สักชอบขึ้นตามพื้นที่ที่เป็นภูเขา แต่ในพื้นที่ราบ พื้นที่ดินปนทรายที่น้ำไม่ขัง ไม้สักก็ขึ้นได้ดีเช่นกัน ไม้สักมักเป็นหมู่ไม้สักล้วนๆ และมีขนาดใหญ่และชอบขึ้นที่ที่มี ชั้นดินลึก การระบายน้ำดี ไม่ชอบดินแข็งและน้ำท่วมขัง


 ไม้สักเป็นไม้ผลัดใบ ขนาดใหญ่ ยอดกลมสูงเกินกว่า 20 เมตร เปลือกหนา สีเทาหรือน้ำตาลอ่อนแกมเทาแตกเป็นร่องตื้นๆ ไปตามทางยาวและหลุดออกเป็นแผ่นบางๆ เล็กๆ ใบใหญ่ ความกว้าง 25 - 30 เซนติเมตร ยาว 30 - 40 เซนติเมตร รูปใบรีมนหรือรูปไข่ แตกจากกิ่งเป็นคู่ๆ ท้องใบสากหลัง ใบสีเขียวแกมเทาเป็นขน ดอกเป็น สีขาวนวลออกเป็นช่อใหญ่ๆ ตามปลายกิ่ง เริ่มออกดอกเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ผลค่อนข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตร ผลหนึ่งๆ มีเมล็ดใน 1 - 4 เม็ด เปลือกแข็งมีขนสั้นๆ นุ่มๆ สีน้ำตาลหุ้มอยู่ ผลจะแก่ในราว เดือน พ.ย. - ม.ค. ลักษณะเนื้อไม้สีเหลืองทองถึงน้ำตาลแก่ มีลายเป็นเส้นสีน้ำตาลแก่แทรกเสี้ยนตรงเนื้อหยาบแข็งปานกลาง เลื่อนใสกบ ตบแต่งง่าย คุณสมบัติที่ดีบางประการ คือ ไม้สักปลวกมอดไม่ทำอันตราย เพราะในเนื้อไม้สักมีสารเคมีพิเศษ มีคุณสมบัติคงทนต่อ ปลวก แมลง เห็นราได้อย่างดียิ่ง มีความแข็งแรงสูง นอกจากนี้ไม้สักทองยังพบว่ามีทองคำปนอยู่ 0.5 ppm (ไม้สักทอง 26 ตัน มีทองคำหนัก 1 บาท) 


 ลักษณะของไม้สักมี 5 ชนิด คือ 


 1.สักทอง ขึ้นในป่าโปร่งชื้นไกลห้วยหรือแล้ง แต่ใกล้ห้วยดินค่อนข้างสมบูรณ์การแตกของเปลือกเช่นเดียวกับสักหยวก แต่อยู่ในที่ที่แห้งชื้นไปบ้างเท่านั้น เรือนยอดสมบูรณ์ใบมีขนาดปานกลาง เนื้อไม้จะเป็นเส้นตรงผ่าง่าย มีความแข็งกว่าสักหยวก สีเข้ม เป็นสีน้ำตาลเหลืองหรือที่เรียกกันว่า สีทอง 2.สักหยวก ขึ้นในป่าโปร่งชื้นริมห้วย ต้นตรงเปลือกแตกเป็นร่องแต่ยาวตรงร่องของเปลือกไม้สักหยวกจะกว้างกว่า ไม้สักทอง เรือนยอดสมบูรณ์ ใบขนาดกลาง เนื้อไม้หรือแก่นจะมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีจาง ถากหรือฟันง่าย 3.สักไข ขึ้นอยู่ในป่าโปร่งแล้งเป็นส่วนมาก ความเจริญเติบโตช้า ร่องของเปลือกลึกและตัวเปลือกเป็นสันกว้าง ระหว่างร่องลำต้นตรงเปลา แต่มีลักษณะแกร็นๆ พุ่มของเรือนยอดบอบบางแต่ก็มีใบเต็ม จะทราบว่าเป็นสักไขก็ต่อเมื่อถึงมือช่างไม้ เพราะเนื้อไม้จะมีไขปนยากแก่การขัด และการทาแชลแลคหรือแลกเกอร์ สีของไม้สักไขจะเป็นสีน้ำตาลเข้มปนเหลือง 4.สักหิน ไม้สักพวกนี้จะอยู่ในป่าโปร่งแล้งในระดับสูง การแตกของเปลือกเป็นร่องลึก และเรือนยอดดูไม่ค่อยแข็งแรง ใบเล็กกว่าปกติจะทราบได้แน่นอนเมื่อมีการโค่นล้มหรือตบแต่ง โดยพวกโค่นล้มเลื่อยและช่างไม้ เพราะเนื้อไม้จะแข็งกว่าไม้สัก ทั่วไปและเปราะสีของเนื้อไม้สักเป็นสีน้ำตาลเข้ม 5.สักขี้ควาย ไม้สักพวกนี้จะเกิดอยู่ในที่ค่อนข้างแล้ง ในป่าผลัดใบต่างๆ และมักจะอยู่ในบริเวณรอยต่อของป่าโปร่ง ผลัดใบและป่าแพะ ลักษณะของเรือนยอดมักจะไม่สมบูรณ์ลำต้นจะตายบ้าง กิ่งบนเรือนยอดแห้งตายไปบ้างกิ่งสองกิ่ง ลักษณะของ เปลือกแตกเป็นร่องไม่สม่ำเสมอ ขาดเป็นตอนๆ และร่องลึก จะทราบได้ชัดก็เมื่อโค่นลงมาเลื่อยดู จะเห็นได้ชัดว่าเนื้อไม้มีสีเขียวปน น้ำตาล น้ำตาลแก่ น้ำตาลอ่อน ปนกันดูเป็นสีเลอะๆ 


 ในบรรดาไม้สักทั้ง 5 ชนิด ไม้สักทองได้รับฉายานามในวงการป่าไม้ว่าเป็น "ราชินีแห่งไม้" หรือ Queen of Timbers" เป็นไม้ที่มีคุณภาพดีที่สุดของโลก ที่ธรรมชาติมอบให้แก่คนไทยและประเทศไทยโดยเฉพาะ อนาคตไม้สักกำลังจะหมดไป การปลูกไม้สักให้มีปริมาณมากขึ้น การปกป้องป่าสักทอง ดงสักงาม เพื่อเป็นมรดกของชาติและลูกหลาน จึงเป็นภารกิจที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ที่กลุ่มราษฎรรักป่า ชุมชนสะเอียบ ร่วมกันปกป้องรักษาไว้ให้ลูกหลานและคนไทยทั้งชาติ 


 ป่าสักทอง ซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชนคนสะเอียบ


 หลายชั่วอายุคนที่ผ่านมา ชุมชนสะเอียบได้ใช้ประโยชน์จากป่าสักทองอันอุดมสมบูรณ์ผืนนี้มาโดยตลอด จนกระทั่งปี 2529 กรมป่าไม้ได้ประกาศให้ป่าสักทองผืนนี้เป็นอุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ป่ากว่า 284,000 ไร่ แต่อุทยานแห่งชาติแม่ยมก็ผ่อนปรนให้ชาวบ้านเก็บผัก เห็ด หน่อไม้ รวมทั้งพืชสมุนไพร ไปใช้ได้ โดยชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือในการอนุรักษ์ ปกป้อง รักษา ป่าสักทองผืนนี้ร่วมกันอย่างเข้มแข็งตลอดมา จนชาวบ้านเปรียบเปรยว่าป่าสักทองผืนนี้เปรียบเสมือนซุปเปอร์มาเก็ตของชุมชน

เขื่อนแก่งเสือเต้นกับผละกระทบต่อป่าสักทอง หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับป่าสักทองผืนนี้คงหลีกหนีไม่พ้น พื้นที่อ่างเก็บน้ำประมาณ 50,000-60,000 ไร่ นอกจากจะท่วมชุมชนสะเอียบแล้ว ยังท่วมป่าสักทองกว่า 40,000 ไร่ผืนนี้ไปด้วย จึงเป็นข้อห่วงใยของคนทั้งสังคมว่า เราพร้อมที่จะทำลายป่าสักทองผืนนี้เพื่อสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมาไว้กักลม มันคุ้มค่าแล้วหรือ ป่าสักทอง กับ อนาคตของลูกหลาน หรือคนรุ่นเราจะสร้างตราบาป ไว้ให้กับสิ่งแวดล้อมและลูกหลาน ด้วยการปล่อยให้นักการเมืองขี้ฉ้อ โกงบ้านกินเมือง ผลาญงบประมาณแผ่นดินด้วยการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กว่า 12,000 ล้านบาท และผลาญป่าสักทองกว่า 40,000 ไร่ไปต่อหน้าต่อตา


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง