แก่งเสือเต้น กับ ทางออกที่ยั่งยืน

fas fa-pencil-alt
ประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี - ศูนย์ฝึกอบรมสิ่งแวดล้อม กลุ่มเพื่อนประชาชน
fas fa-calendar

แอ่งที่ราบภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน : พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ที่รอการแก้ไข ปัญหาน้ำท่วมในเขตแอ่งที่ราบภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางตอนบน แถบจังหวัด สุโขทัย พิษณุโลก พิจิตร นครสวรรค์ ถือได้ว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงภัย ที่ต้องเผชิญกับอุทกภัย ที่มีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง น้ำที่ไหลบ่าเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินจำนวนมาก หากไม่แก้ไขอย่างถูกวิธี เหตุการณ์น้ำท่วมจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นทุกปี ลุ่มน้ำยม ครอบคลุมพื้นที่รับน้ำฝน 23,616 ตร.กม. มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยปีละ 2,957.37 ล้าน ลบ.ม. ลักษณะทั่วไปสภาพภูมิประเทศตอนบนเป็นเทือกเขา และมีที่ราบในหุบเขา พื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง เป็นที่ราบบริเวณจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลกและ พิจิตร มีปริมาณน้ำฝนรายปีเฉลี่ยทั้งลุ่มน้ำ 1,118.4 มม.


โครงการพัฒนาแหล่งน้ำในปัจจุบันในลุ่มแม่น้ำยม ประกอบด้วย โครงการชลประทานขนาดใหญ่และขนาดกลาง 24 โครงการ มีพื้นที่ส่งน้ำ 465,145 ไร่ โครงการชลประทานขนาดเล็ก 220 โครงการ มีพื้นที่ส่งน้ำ 487,290 ไร่ และโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้า 26 โครงการ มีพื้นที่ส่งน้ำ 41,770 ไร่ โดยมีความต้องการและปริมาณการใช้น้ำในด้าน ต่าง ๆ ประมาณ 913.08 ล้าน ลบ.ม. ในปี การสร้างเขื่อน และอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำยม มีขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น 1.อ่างเก็บน้ำแม่สอง จังหวัดแพร่ 2.อ่างเก็บน้ำแม่ถาง จังหวัดแพร่ 3.อ่างเก็บน้ำแม่สาย จังหวัดแพร่ 4.อ่างเก็บน้ำท่าแพ จังหวัดสุโขทัย 5.อ่างเก็บน้ำแม่สูง จังหวัดสุโขทัย 6.อ่างเก็บน้ำแม่มอก จังหวัดลำปาง 7. ประตูระบายน้ำคลองกระจง จังหวัดสุโขทัย 8.อ่างเก็บน้ำห้วยทรวง จังหวัดสุโขทัย 9.อ่างเก็บน้ำกองค่าย จังหวัดสุโขทัย 10.อ่างเก็บน้ำวังแดง จ.ลำปาง เป็นต้น 


 แก่งเสือเต้น ไม่ใช่คำตอบ


 จากการศึกษา และการวิจัยของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ออกมา ก็มีความชัดเจนแล้วว่าไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อาทิ 


-จากการศึกษาของ องค์การอนามัยโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม กรณีเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์ 


-จากการศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน 


-จากการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก 


-จากการศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทย และมวลมนุษยชาติ 


-จากการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 


 ทางออกที่ยั่งยืน โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 


แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยย่อ ดังนี้ 


1. การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมองภาพรวมการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ 


2. การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม (การประกาศป่าชุมชน ป่าอนุรักษ์ ปลูกป่า ฯลฯ) นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน 


3. การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน การสร้างเครือข่ายทางน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังนอกเขตชุมชน ฯลฯ 


4. การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม สามารถทำได้โดย ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมาตลอดจนถึงกรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำ ที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ซึ่งมากกว่าแก่งเสือเต้นเสียอีก) 


5. การจัดการทางด้านความต้องการ ในปัจจุบันลุ่มแม่น้ำยมมีระบบชลประทานขนาดใหญ่ และขนาดกลาง 24 แห่ง ระบบชลประทานขนาดเล็ก 220 แห่ง บ่อน้ำตื้น 240 บ่อ และระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าของกรมพัฒนา และส่งเสริมพลังงาน 26 แห่ง รวมพื้นที่ชลประทาน 1,117,465 ไร่ ระบบชลประทานเหล่านี้ล้วนแต่มีประสิทธิภาพต่ำ กล่าวคือ ประสิทธิภาพเฉลี่ยระบบชลประทานของกรมชลประทานมีเพียง 35% ส่วนระบบสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้ามีประสิทธิภาพเฉลี่ย 57% ขณะที่ประสิทธิภาพระบบชลประทานทั่วโลกเฉลี่ย 64% การจัดการด้วย DSM โดยการซ่อมบำรุงระบบชลประทานที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพ การสนับสนุนให้เกิดกลุ่มผู้ใช้น้ำ การให้ความรู้แก่ผู้ใช้น้ำจะสามารถทำให้เหลือน้ำจำนวนมาก เฉพาะระบบของกรมชลประทานถ้าใช้ระบบ DSM จะเหลือน้ำถึง 101 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบเท่ากับปริมาณในการอุปโภคบริโภคของคนในลุ่มแม่น้ำยมถึง 7.6 ล้านคน 


6. การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยมสามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาด เล็กตามที่มีรายละเอียดในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น 


7. การพัฒนาระบบประปา การขาดแคลนน้ำในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะในฤดูแล้งที่ความต้องการน้ำมีสูง ไม่ได้เกิดจาก การขาดน้ำดิบเท่านั้น แต่เกิดจากระบบการผลิตน้ำประปาของการประปาภูมิภาคไม่เพียงพอ ตัวอย่างเช่น เมืองสุโขทัยขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้ง เพราะระบบการผลิตน้ำประปามีความสามารถในการผลิตน้ำประปาเพียง 60 % ของความต้องการน้ำประปาสูงสุดในฤดูแล้ง การขยายระบบการผลิตน้ำประปาจะสามารถช่วยในการขาดแคลนน้ำอุปโภค–บริโภค ในเมืองใหญ่ได้อย่างไรก็ตามการรณรงค์ให้มีการประหยัดน้ำในฤดูแล้งก็ยังเป็นสิ่งจำเป็น 


 ทางเลือกอื่น ๆ ยังมีอีกมาก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก เสนอโครงการแก้ไขปัญหาภัยน้ำท่วมแบบเบ็ดเสร็จ 19 แบบ คือ 


1.ปลูกป่าป้องกันน้ำท่วม 


2. เกษตรแนวระดับป้องกันน้ำท่วม 


3.กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรและป้องกันน้ำท่วม 


4.ป้องกันไฟและแนวซับน้ำ 


5.พื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อป้องกันภัยน้ำท่วมบนที่สูง 


6.คลองเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน 


7.ชลประทานแนวระดับป้องกันน้ำท่วม 


8.ศูนย์อพยพเพื่อบรรเทาภัยน้ำท่วมหมู่บ้าน 


9.ตุ่มน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม 


10.ถนนเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วม 


11.สะพานและทางระบายน้ำเฉลิมพระเกียรติ 


12.อ่างเก็บน้ำหน้าเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม 


13.แนวคันดินป้องกันเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม 


14.พื้นที่กักเก็บน้ำชั่วคราวป้องกันน้ำท่วม 


15.ฝายพิเศษป้องภัยน้ำท่วม 


16.ระบบเตือนภัยธรรมชาติสู่ภูมิภาค 


17.โครงการศึกษาเพื่อการป้องภัยธรรมชาติ 


18.ความร่วมมือกองทัพบกในการขุดคลอง คู อ่างเก็บน้ำ แนวคันดิน 


19.ความร่วมมือตำรวจตระเวนชายแดน ให้ความรู้แก่ประชาชน 


 บทสรุป ทางเลือก และทางออก ที่ไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้นมีอยู่แล้ว หากพิจารณาด้วยเหตุและผลแล้ว จะเห็นได้ว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้น ไม่ได้มีความจำเป็น ดังที่ฝ่ายการเมืองต้องการเลย นอกจากผลประโยชน์ในงบประมาณการก่อสร้าง กว่า 12,000 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นสองพันล้านบาท) ที่เป็นตัวกระตุ้นให้นักการเมืองทุกยุคทุกสมัย หยิบยกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาผลักดัน อีกทั้งป่าสักทองธรรมชาติ กว่า 20,000 ไร่ (สองหมื่นไร่) ที่เป็นผลประโยชน์ล่อตาล่อใจ ทั้งนักการเมืองระดับชาติ นักการเมืองท้องถิ่น นายทุนที่หวังผลประโยชน์จากการสัมปทานไม้ รับเหมาก่อสร้างเขื่อน รับเหมาก่อสร้างถนน รับเหมาก่อสร้างบ้านพักเจ้าหน้าที่ และสนามกอล์ฟ


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง