ค่ายแรกที่สบเมย

fas fa-pencil-alt
สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต
fas fa-calendar
20 เมษายน 2552

สมกับที่ตั้งหน้าตั้งตารอน้องๆเยาวชนลุ่มน้ำสาละวินที่มาเข้าค่ายเยาวชนรักษ์สาละวินของทีมพี่เลี้ยงค่าย ในวันที่ 20 เมษายน 2552 รอเพื่อจะกินเข้าเที่ยงพร้อมกับน้องๆ ซึ่งพี่ๆเองก็ยังไม่ทราบมาก่อนว่าน้องจะมากันกี่คน เพราะเยาวชนแต่ละบ้านที่จะมาไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันทางโทรศัพท์ได้ แล้วเมื่อคืนที่ผ่านมามีทั้งลมและฝนตกหนัก บางหมู่บ้านมีแต่ทางรถมอเตอร์ไซด์อย่างเดียวที่เข้าถึง และสถานที่จัดค่ายคือหมู่บ้านสมเมยเดินทางมาได้เฉพาะทางเรือเท่านั้น

ช่วงที่กำลังกินข้าวเที่ยงกันอยู่น้องบางหมู่บ้านก็ทยอยมานั่งกินข้าว พวกที่กินเสร็จก่อนก็ไปลงทะเบียน รับสมุดประจำค่าย สมุดจด ปากกา และที่สำคัญคือป้ายชื่อ นานกว่าจะลงทะเบียนกันเสร็จเพราะน้องมากันเยอะเกินเป้าหมายที่วางไว้ที่ 50 คน รวมยอดจำนวนคนเข้าจริงมีตั้ง 85 คน เล่นเอาทีมพี่เลี้ยงงงไปตามๆกัน และกล่าวเปิดค่ายโดยผู้นำหมู่บ้าน้บานสบเมย

อย่างแรกขอให้น้องเข้าแถวตอนลึกเป็นหมู่บ้านเพื่อนับดูอีกทีว่าแต่ละหมู่บ้านมากันเท่าไหร่ ผลก็ออกมาตามนี้ บ้านเจ้าภาพเองสบเมยมา 14 คน บ้านโกงอคี 2 คน บ้านแม่สามแลบ 9 คน บ้านท่าตาฝัง 10 คน บ้านห้วยแห้ง 8 คน หมู่บ้านไกลกว่าเพื่อนบ้านจอซิเดอเหนือมา 4 คน บ้านแม่ก๋อน 2 คน บ้านห้วยโผ 8 คน บวกกับทีมพี่เลี้ยง 15  คน และมีเพื่อนที่มาจากอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่อีก 11 คน อำเภอแม่วาง 1 คน ซึ่งเป็นปกาเก่อญอที่สามารถสื่อสารภาษากะเหรี่ยงกับเยาวชนลุ่มน้ำสาละวินได้เป็นอย่างดี

ถึงคราวให้น้องจับมือล้อมวงกลมและนั่งลง แนะนำชื่อตัวเองเป็นใครมาจากไหนโดยการปรบมือเข้าจังหวะ(ปรบหน้าตัก 2 ครั้งและปรบมือ 1 ครั้ง หรือเรียกว่า “ตัก ตัก มือ”) พร้อมกับขานชื่อด้วยแล้ว คราวนี้ถ้าใครไม่ได้ตั้งสติให้ดีก็เป็นอันมึนปรบมือกับขานชื่อตนเองผิดๆถูกๆ สรุปว่ายังไม่รู้จักชื่อเพื่อนเกินห้าคนด้วยซ้ำเพราะมัวแต่รอว่าจะถึงทีเราบอกชื่อให้เพื่อนรู้ หลังจากนั้นให้น้องๆทุกคนเสนอความคาดหวังและข้อตกลงร่วมกันในการอยู่ค่ายครั้งนี้ ส่วนใหญ่อยากรู้จักเพื่อนใหม่ อยากมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ๆกับเพื่อนหมู่บ้านอื่น แล้วตกลงกันว่าจะตั้งใจทำกิจกรรมในค่าย จะเชื่อฟังสิ่งที่พี่สอน

เพื่อให้ง่ายกับการทำกิจกรรมร่วมกันและการจำชื่อเพื่อนได้เร็ว จึงแบ่งเป็นกลุ่มย่อย 5 กลุ่ม พร้อมกับตั้งชื่อกลุ่มและมีท่าประกอบ น้อยๆกระซิบกันใหญ่ว่าจะตั้งชื่อว่าอะไร เออ...แล้วท่าทางประกอบชื่ออีก “คิดสิ... ช่วยกันคิด...” น้องผู้ชายเร่งความคิดเพื่อน คิดออกมาเป็นชื่อกลุ่มสามแม่น้ำ กลุ่มนกน้อย กลุ่มหว่าโข่(กอไผ่) กลุ่มเป่อแด(กระต่าย) กลุ่มสาละวิน  

พี่เลี้ยงละลายพฤติกรรมน้องๆโดยเกมสองสามเกม เริ่มกิจกรรมแรกตอนค่ำวันนี้คือจับคู่วาดรูปกับคนที่คิดว่าเรารู้จักเค้าน้อยที่สุด สังเกตจุดเด่นบนใบหน้าเพื่อน หันหลังชนกันแล้ววาดรูปของเพื่อน รูปที่ออกมาทำให้อดหัวเราะไม่ได้ว่าเพื่อนตั้งใจวาดหน้าเราเป็นรูปการ์ตูน จากนี้เป็นการบอกความภูมิใจในตัวเอง ฝึกชื่นชมผู้อื่น มองความดีมากกว่าข้อเสีย รู้จักกันมากขึ้น ชื่อว่ากิจกรรมดอกไม้ในใจฉัน บอกความภาคภูมิใจและความดีของตนเองให้เพื่อนทราบ “ภูมิใจที่เกดมาเป็นคนปกาเก่อญอ มีวัฒนธรรมการทอผ้าและภาษาพูดเป็นของตนเอง” เด็กหญิงคนหนึ่งบอกกับเพื่อนในกลุ่มกระต่าย

เช้าวันใหม่อากาศดี ให้น้องออกกำลังกายยามเช้า เล่นเกม และทำกิจกรรมชุมชนของฉัน ให้รู้จักชุมชน/หมู่บ้านของตนเอง รัก ภูมิใจ หวงแหนชุมชนตนเองมากขึ้น บอกเล่ากับเพื่อนในกลุ่มย่อยในสิ่งที่เราชอบไม่ชอบหรือปัญหาในชุมชนของเรา พร้อมกับวาดรูปเพื่อนำเสนอกลุ่มใหญ่  ฟังน้องถ่ายทอดออกมาได้ดี อย่างเช่น ภูมิใจที่ชุมชนมีทรัพยากรธรรมชาติ ต้นไม้ สัตว์ป่า ภูมิใจที่หมู่บ้านอยู่ใกล้กับแม่น้ำสามสายคือแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำเมย แม่น้ำยวม และหาปลาตามแม่น้ำไว้กินเองได้

หลังพักกินข้าวเที่ยงดูเรื่องของ”ยายไฮ คนหวงแผ่นดิน” แล้วบอกเล่าความรู้สึกที่ได้ดูเรื่องนี้ “รู้สึกหวงแหนแผ่นดินเกิดของตนเองมากขึ้น รู้สึกซึ้ง คนกลุ่มน้อยต้องเสียสละให้คนส่วนใหญ่จริงหรือ” คำสรุปของกลุ่มนกน้อย ต่อด้วยกิจกรรมรู้เท่าทันสถานการณ์เขื่อน เพื่อเกิดความตระหนักในปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและชุมชน มีวิทยากรให้ข้อมูลและเปลี่ยนซักถามกับวิทยากร เนื่องจากจะมีโครงการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินที่ส่งผลกระทบกับชุมชนของเยาวชนที่มาในค่าย คือเขื่อนฮัตจีกับเขื่อนเว่ยจี แม้ทั้งสองเขื่อนจะตั้งอยู่ในเขตประเทศพม่าก็ตาม จะยังส่งผลกระทบโดยตรงอย่างมากต่อคนที่อาศัยอยู่ลุ่มน้ำสาละวิน ลุ่มน้ำเมย

ตอนค่ำต่อด้วยวงพูดคุย มองสังคมผ่านคนเฒ่าเล่าเรื่องเล่าปกาเก่อญอ เพื่อค้นหาทุนทางสังคมของชุมชนและชนเผ่าในการหาแนวทางต่อสู้และป้องกันปัญหา เชิญท่านผู้เฒ่าสองท่านของบ้านสบเมย เล่าเรื่องเรื่องประวัติศาสาตร์ปกาเก่อญอ การต่อสู้ แล้วให้เยาวชนได้แลกเปลี่ยนซักถาม ผู้เฒ่าเล่าเป็นภาษากะเหรี่ยง(ปกาเก่อญอ) ทำเอาน้องๆหัวเราะกันใหญ่ ประมาณว่าเป็นนิทาน ความเชื่อ เรื่องเล่าแปลกๆที่ไม่เคยได้ยินมาก่อน (สำหรับผู้เขียนต้องมีลามแปล) น้องแย่งกันถามผู้เฒ่าจนไม่รู้เสียงใครเป็นเสียงใคร ก่อนล้อมวงจับมือกันบอกความรู้สึกที่ได้เรียนรู้วันนี้ ทีละคนจนครบจึงให้น้องนอนหลับพักผ่อน

วันที่ยี่สิบสองหลังกินข้าวเช้าให้ทำเวรที่แบ่งไว้แต่ละกลุ่ม บ้างก็ทำความสะอาดโรงอาหาร ห้องทำกิจกรรม บ้างก็เตรียมนำเสนอข่าวจากหนังสื่อพิมพ์ค่าย ก่อนที่จะฟังข่าวจากเพื่อนได้ร้องเพลงปกาเก่อญอและเล่นเกม เริ่มกิจกรรมท้าทายกลุ่ม “ยืนขึ้นด้วยกัน” สร้างความเป็นทีม ฝึกการทำงานและแก้ไขปัญหาร่วมกัน สร้างความสัมพันธ์กันมากขึ้น วิธีการก็คือให้คนสองคนนั่งหันหลังชนกัน ก้นและฝ่าเท้าแนบกับพื้น หลังชิดกัน ยืนขึ้นโดยห้ามเอามือยันพื้น ถ้าทำได้เพิ่มเป็นสี่คน แปดคน แล้วทำทั้งหมดในกลุ่ม ใช้เวลาร่วมสองชั่งโมงถึงจะเสร็จทุกกลุ่ม ถามความรู้สำน้องๆตอบว่า “ทำให้รู้จักความสามัคคี สามัคคีคือพลัง ฝึกยอมรับฟังความคิดของเพื่อน ต้องตั้งใจถึงจะสำเร็จ” จึงจะได้พักกินข้าวเที่ยง

สร้างความพร้อมก่อนการเรียนรู้ภาคบ่ายด้วยเกมแมวไล่จับหนู ตามด้วยกิจกรรมให้ตัวเยาวชนเองคิดแผนงานที่จะทำร่วมกัน เพื่อเกิดกลไกและแนวทางที่ให้เกิดกลุ่มเยาวชนในการทำงานเพื่อชุมชน “มีการพาเยาวชนไปเรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับกลุ่มชาติพันธ์อื่น อยากให้มีการจัดค่ายครั้งต่อไปที่บ้านท่าตาฝัง เชิญเพื่อนต่างหมู่บ้านร่วมงานประเพณีของบ้านตนเอง เช่น งานแข่งเรือที่บ้านแม่สามแลบ” น้องๆเสนอ แล้วให้น้องปรึกษากันหาตัวแทนเยาวชนแต่ละบ้าน เพื่อนัดหมายมาประชุมกันครั้งต่อไปของกลุ่มเยาวชนลุ่มน้ำสาละวิน จากนั้นเป็นการสรุปค่าย ทบทวนการเรียนรู้ในค่ายทั้งหมดเพื่อสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ได้จริง ระดมกันเขียนกิจกรรมทั้งหมดตั้งแต่วันแระถึงวันสุดท้าย เขียนสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้จากค่าย สิ่งที่เขียนออกมาเยอะที่สุดคือ “ได้รู้จักเพื่อนใหม่ รู้จักกล้าแสดงออกไม่ใช่เรื่องน่าอาย ได้ความรู้เรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ได้มาเที่ยวบ้านสบเมยครั้งแรก”

พักเพื่อผ่อนคลาย กินข้าวเย็นเพิ่มพลังงานให้ร่างกาย ให้แต่ละกลุ่มคิดการแสดงนำไปสู่ตอนค่ำ คือ “เวทีวัฒนธรรม” บางกลุ่มร้องเพลงภาษาถิ่นตนเองมีท่าประกอบ บางกลุ่มแสดงสะท้อนภาพปัญหาที่จะเกิดขึ้นหากมีการสร้างเขื่อน น้ำจะท่วมบ้าน ไม่มีที่อยู่จะไปอยู่ไหนทำมาหากินอย่างไร คั่นการแสดงแต่ละกลุ่มของน้องด้วยโฆษณามุกตลกจากทีมพี่เลี้ยง น้องหลายคนบอกกับพี่ว่า “ยังไม่อยากนอน กำลังสนุกอยู่เลย และพรุ่งนี้เพื่อนที่เคยอยู่ค่ายด้วยกันก็ต้องกลับแล้ว” ทีมพี่เลี้ยงจึงให้น้องทำกิจกรรมอีกอย่างรวมกัน “พิธีเทียน” ปิดไปจุดเทียนต่อๆกันบอกความรู้สึกที่มีต่อกัน ในฐานะเพื่อนที่มาใช้ชีวิตอยู่ค่ายด้วยกันสามวันสามคืน บางคนบอกกับเพื่อนพร้อมน้ำตาแห่งความซึ้งใจ และหลายคนบอก “จากกันเพื่อพบกันใหม่”

รุ่งเช้าของวันที่ยี่สิบสาม สัมภาระของทุกคนมาร่วมกันกองไว้หน้าโรงอาหาร รอกินข้าวเช้าพร้อมกันอีกครั้ง เห็นการตักข้าวแบ่งปันกันหลายโต๊ะ ยิ่งทำให้ประทับใจไม่อยากกลับบ้าน กินข้าวล้างจานเสร็จ รวมกันถ่ายรูปหมู(หมู่)เป็นที่ระลึก แล้วทยอยแบกกระเป๋าของตนเองไปที่เรือโดยมีเจ้าภาพลงไปส่งถึงในเรือ บ้างจับมือกันแน่นเพราะยังไม่อยากให้เพื่อนกลับไป “เราต้องไปแล้ว ยังไงเราจะมาเที่ยวหาเธออีกนะ” เพื่อนผู้จะจากไปบอกกับเพื่อนบ้านสบเมย แล้วคนขับเรือก็สตาร์ทเครื่องยนต์ เพื่อนบ้านสบเมยตะโกนตามเสียงขับเร่งของเรือ ขอให้ทุกคนเดินทางกลับปลอดภัยนะ โชคดี.........

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง