เขื่อนคลองกลาย
ตัวอย่างจัดการ'ดิน-น้ำ-ป่า'ไม่เป็นธรรม

fas fa-pencil-alt
ไทยโพสท์
fas fa-calendar
9 พฤษภาคม 2547

โครงการสร้างเขื่อนคลองกลายและการประกาศอุทยานแห่งชาติเขานัน เป็นปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับชาวบ้านในเรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า มาหลายปีแล้ว


แม้ว่าที่ผ่านมาชาวบ้านจะยังไม่รวมตัว สร้างพลังการแสดงออกทางความคิดอย่างจริงจังและต่อเนื่องเท่าที่ควร แต่ปรากฏการณ์สดๆ ร้อนๆ ครั้งนี้บอกได้เลยว่าเป็นพลังประชาชนที่เริ่มเข้มแข็งและเข้มข้นมากขึ้นทุกขณะ

พิธีการสืบชะตาแม่น้ำคลองกลาย เป็นการสืบสานประเพณีเก่าแก่ของชุมชนที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาอาศัยป่ามาช้านาน และจัดเวทีเสวนาเพื่อทบทวนบทเรียนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของภาครัฐที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตชาวบ้านในผืนป่ากรุงชิงอันอุดมสมบูรณ์ และหาแนวทางการจัดการทรัพยากรของชุมชนร่วมกัน นับว่าเป็นความเคลื่อนไหว การต่อต้านเขื่อนคลองกลายครั้งล่าสุดของกลุ่มชาวบ้านในหมู่บ้านปากลง หมู่ 6 ตำบลกรุงชิง กิ่งอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยความร่วมมือของกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำคลองกลายและมูลนิธิกองทุนไทย

การสืบชะตาแม่น้ำคลองกลายในครั้งนี้ ไม่แตกต่างอะไรกับการต่ออายุให้มนุษย์ผู้ใกล้หมดลมหายใจเป็น เสมือนกุศโลบายสร้างขวัญกำลังใจให้กับชาวบ้านในชุมชนที่อาศัยผืนป่ากรุงชิงอันมีสายน้ำคลองกลายไหลหล่อเลี้ยงชีวิตมายาวนานกว่า 200 ปี และเป็นกระบอกเสียงที่คนจากต้นน้ำคลองกลายร่วมกันสร้างขึ้นได้มีโอกาสบอกคนภายนอกให้ได้รับรู้ว่า ชาวกรุงชิงอยู่กับธรรมชาติอย่างรู้จักรักษาและใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า ถึงวันนี้พวกเขาต้องการสิทธิดั้งเดิมกลับคืน สิทธิของคนที่อยู่ร่วมกับผืนป่าอย่างกลมกลืน และสิทธิที่จะปกปักษ์รักษาธรรมชาติให้คงอยู่กับกรุงชิงอย่างยั่งยืน

ลุงกล่อม ปานปลอด ชาวบ้านปากลง เล่าว่า พวกเขาอยู่ตั้งแต่ไม่มีไฟฟ้าใช้ แต่เมื่อความเจริญเข้ามารุกราน แม้ว่าจะช่วยอำนวยความสะดวกแต่เป็นความเจริญที่กีดกั้นเสรีภาพโดยภาครัฐ และมักจะเข้ามาจัดการทรัพยากรธรรมชาติจนเกิดความล้มเหลว สร้างเขื่อนก็ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ชาวบ้านต้องย้ายที่อยู่อาศัย และวิถีชีวิตที่เคยเก็บของป่าพวกสะตอ ลูกนาง ลูกเหรียง ระกำ ฯลฯ ก็ต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น เมื่อถามเจ้าหน้าที่ว่าหากสร้างเขื่อนจะย้ายชาวบ้านไปอยู่ที่ไหน ทำอาชีพอะไรก็ไม่มีคำตอบที่กระจ่างชัด

ทั้งนี้ หากลองพิจารณาข้อมูลจากเอกสารการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยรวมของกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเห็นว่าเน้นให้สร้างเขื่อนโดยระบุไว้ดังนี้ 1.ด้านน้ำ ปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ประมาณ 62.4 ล้านลูกบาศก์เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 1,750 ไร่ จะถูกนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมและชุมชน ทำให้มีผลกระทบต่อการใช้น้ำเพื่อการเกษตรของชาวบ้านใน 6 ตำบล คาดว่าจะเกิดปัญหาการแย่งชิงการใช้น้ำ แต่ได้จัดลำดับความสำคัญของการจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งให้เกษตรกรก่อน 2.ด้านท่องเที่ยว วางแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอ่างเก็บน้ำคลองกลาย เช่น แล่นเรือแคนู ล่องแก่ง ถ้ามีระบบการจัดการที่ดีก็จะไม่มีปัญหาต่อคุณภาพน้ำและระบบนิเวศได้

3.ด้านสังคม-เศรษฐกิจ เกิดการเปลี่ยนแปลงชีวิตความเป็นอยู่ที่คุ้นเคยและความเสียหายต่อที่อยู่อาศัยและพืชผลการเกษตร จึงจำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยในอัตราที่ชาวบ้านยอมรับได้ 4.ด้านสัตว์ป่า จะกระทบถิ่นที่อยู่อาศัยและระบบนิเวศสัตว์ป่า สัตว์ป่าที่สูญเสียสามารถปรับตัวได้หรืออพยพไปอยู่อาศัยในเขตอุทยานแห่งชาติเขานัน ฯลฯ นอกจากนี้ ไม่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ที่สำคัญในบริเวณพื้นที่อ่างเก็บน้ำคลองกลาย

ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษากว้างๆ ไม่ใช่การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมขั้นละเอียด (EIA) แต่อย่างใด ขณะที่ข้อมูลของกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำคลองกลาย มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่าและพรรณพืชแห่งประเทศไทย ที่เรียกร้องให้รัฐทบทวนวิธีการจัดการทรัพยากรดิน น้ำ ป่า กลับมีข้อสรุปว่าการจัดการน้ำของรัฐไม่เป็นธรรม กล่าวคือ ชาวบ้านกรุงชิงตั้งอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำคลองกลายมาเป็นเวลาช้านาน เคยเป็นแหล่งชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นสมบัติล้ำค่าของประชาชนที่ควรหวงแหนเอาไว้ เช่น การขุดพบหม้อสามขา ขวานหินและเครื่องใช้อื่นๆ ตามถ้ำ โดยกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเอาไว้ ดังนั้น ถือว่าชาวบ้านกรุงชิงมีวิถีชีวิตผูกพันกับการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ และสั่งสมภูมิปัญญาในการใช้และดูแลทรัพยากรอย่างเหมาะสม

หาญณรงค์ เยาวเลิศ มูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า กล่าวว่า มิติการจัดการน้ำของกรมชลประทานที่ดูแลเรื่องน้ำมา 100 กว่าปี ไม่ประสบความสำเร็จ ขณะนี้มีแนวโน้มว่าจะมีเขื่อนผุดขึ้นอีกประมาณ 30 แห่ง แต่ไม่ว่าจะมีความพยายามหาทางกักเก็บน้ำไว้มากแค่ไหน การใช้น้ำก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ หากไม่มีการปรับวิธีคิด

"ที่ผ่านมาชาวบ้านถูกรับเหมาโดยภาครัฐ ไม่มีหน่วยงานใดๆ เปิดเวทีให้ประชาชนมีส่วนร่วม ปล่อยให้ทำกันเองจนทำให้ชุมชนแตกแยก อีกมิติคือ การไหลของน้ำในภาคใต้แตกต่างจากภาคเหนือ จึงต้องมีวิธีการจัดการน้ำต่างกันด้วย" หาญณรงค์กล่าว

วิทยา แสงระวี จากกลุ่มอนุรักษ์ต้นน้ำคลองกลาย กล่าวด้วยว่า เหตุผลที่แท้จริงของการสร้างเขื่อนก็คือเพื่อส่งน้ำไปให้นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นไปตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมภาคใต้ชายฝั่งตะวันออก หรือโครงการเซาท์เทิร์นซีย์บอร์ดมากกว่าที่จะใช้ในการเกษตร เท่านั้นยังไม่พอ รัฐจะนำกฎหมายเก็บภาษีจากผู้ใช้น้ำ ผู้ที่ได้รับผลกระทบ คือ เกษตรกรผู้ใช้น้ำจำนวนมาก

"ทั้งที่ชาวกรุงชิงเป็นคนต้นน้ำ พยายามรักษาป่าต้นน้ำไม่ให้น้ำแห้งเพราะชาวบ้านใช้น้ำประปาภูเขา วันหนึ่งเขาจะเอาเขื่อนมากั้นแล้วเอาไปให้นายทุนใช้ นี่เป็นวิธีการแย่งชิงทรัพยากรน้ำและป่าไปจากชุมชนต้นน้ำและขูดรีดอย่างไม่เป็นธรรม"

จากการสำรวจล่าสุด 80% ของพื้นที่ทั้งหมดเป็นป่า อีก 20% เป็นที่ทำกิน ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารสิทธิ ชาวบ้านห้วยมีพื้นที่ทำกินน้อยที่สุด เนื่องจากพยายามรักษาป่าไม่ขยายที่ทำกินเหมือนหมู่บ้านอื่นๆ แต่สุดท้ายป่าชุมชนที่ชาวบ้านดูแล ก็กำลังจะตกเป็นของอุทยานแห่งชาติเขานัน ในพื้นที่ทำกินทั้งหมดมีคนภายนอกเข้ามายึดครองประมาณ 5 พันกว่าไร่ แสดงให้เห็นว่าที่ดินกำลังจะหลุดไปจากการครอบครองของชาวกรุงชิงเรื่อยๆ

คนภายนอกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นนายทุนหรือผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่ใกล้ชิดนักการเมือง ต่างเข้ามาจับจองที่ดินในป่ากรุงชิงไว้หมดแล้ว ทั้งเพื่อหวังกอบโกยเอาค่าชดเชยที่รัฐต้องจ่ายเป็นจำนวนมหาศาล (ขนาดมีข่าวว่าจะสร้างเขื่อนในป่ากรุงชิง แต่เวลานี้กลับเต็มไปด้วยต้นไม้เศรษฐกิจที่เพิ่งปลูกขึ้นใหม่อย่างหนาแน่น) และทำธุรกิจท่องเที่ยว โดยมีหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลด้านนี้โดยตรงพร้อมหลับหูหลับตาให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพราะป่ากรุงชิงมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามมากมายไว้ตักตวงผลประโยชน์

ท่ามกลางสงครามการแย่งชิงทรัพยากรที่ถาโถมเข้าสู่ชุมชนดั้งเดิมเช่นที่กรุงชิง คนในชุมชนจะจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรให้ยั่งยืน และทำอย่างไรที่เราจะต้านทานกระแสการจัดการทรัพยากรที่ไม่เป็นธรรมจากคนภายนอกได้ คำตอบคงมิได้อยู่ที่ใครคนหนึ่งเป็นผู้ตอบ แต่อยู่ที่ "คนในกรุงชิงทั้งหมด" เป็นผู้กำหนด

 

อ้างอิง : http://www.thaipost.net/index.asp?bk=sunday&post_date=9/May/2547&news_id=88109&cat_id=110400

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง