โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ
ทะเลสาบสูบกลับระดับฟ้า บนคราบน้ำตาของชาวบ้าน

fas fa-pencil-alt
สมัชชาคนจน
fas fa-calendar


โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ

ทะเลสาบสูบกลับระดับฟ้า  บนคราบน้ำตาของชาวบ้าน

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ ซึ่งก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๓๙-๒๕๔๔ โดยใช้งบประมาณกว่า ๒๐,๐๐๐ ล้านบาท ได้สร้างผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจมหาศาลแก่ชุมชนในพื้นที่ เวลาผ่านไปแล้วหลายปี แต่ความปัญหาเดือดร้อนของชาวบ้านยังไม่ได้รับการแก้ไข และจนบัดนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าโครงการได้ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจคุ้มค่าหรือไม่กับงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ไป และคุ้มค่าหรือกับไม่ต้นทุนทางสังคมที่ชาวบ้านต้องเป็นผู้แบกรับ

ลักษณะโครงการ

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับเป็นโครงการผลิตไฟฟ้า ตั้งอยู่ที่จ.นครราชสีมา เพื่อผลิตไฟฟ้าจำนวนรวม ๑,๐๐๐  เมกะวัตต์ ป้อนเข้าสู่ระบบ

ส่วนประกอบหลักของโครงการได้แก่ อ่างเก็บน้ำตอนบน โรงผลิตไฟฟ้าใต้ดิน อุโมงค์ส่งน้ำ ลานไกไฟฟ้า และสายส่ง  โดยใช้อ่างเก็บน้ำลำตะคองที่มีอยู่ เป็นอ่างล่าง โดยสร้างอ่างเก็บน้ำตอนบนบนภูเขาเพื่อสูบน้ำจากอ่างล่างขึ้นมาเพื่อเก็บไว้ และปล่อยลงเพื่อผลิตกระแสไฟในช่วงที่มีความต้องการไฟสูง

งบประมาณ ๒๑,๘๐๐  ล้านบาท โดยเป็นเงินกู้จากธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศญี่ปุ่น (ปัจจุบันคือ JBIC) และธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศ

ลำดับความเป็นมาของโครงการ

·        โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเมื่อปี ๒๕๓๗

·        เริ่มก่อสร้างโครงการในปี ๒๕๓๗

·        เริ่มการระเบิดหินในเดือนธันวาคม ๒๕๓๘ เสร็จสิ้นการระเบิดในเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๑ รวมระยะเวลา ๒ ปี ๗ เดือน

·        เสร็จสิ้นการก่อสร้างระยะที่ ๑ ในปี ๒๕๔๔

ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ

ชุมชนเขายายเที่ยง ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา ประกอบด้วย ๒ หมู่บ้าน คือหมู่ ๖ และหมู่ ๑๐ มีประชากรรวม  ๓๗๑ คน ๑๐๒ ครัวเรือน ชุมชนเขายายเที่ยงได้ก่อตั้งมาประมาณ ๕๐ ปี โดยมีชาวบ้านจากที่ต่างๆ เข้ามาบุกเบิกที่ดินและตั้งถิ่นฐานบนภูเขาแห่งนี้ ก่อนที่จะมีโครงการนั้นชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม เพาะปลูกพืชไร่ ทำสวนผลไม้ เลี้ยงสัตว์ เช่น โคนม  และเก็บหาของป่าต่างๆ เช่น บอน หน่อไม้ อึ่ง เขียด ซึ่งให้ผลผลิตดี เพียงพอต่อการดำรงชีวิตและเหลือขาย หรือแลกข้าว ชาวบ้านมีวิถีชีวิตพึ่งตนเอง และพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์บนพื้นที่แห่งนี้  ไม่ว่าจะเป็นตาน้ำที่ใสและให้น้ำเพียงพอตลอดปี ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่อุดมสมบูรณ์

ลำดับเหตุการณ์ การเข้ามาของกฟผ.

ช่วงแรก                   กฟผ.เข้ามาสำรวจพื้นที่บริเวณอ่าง โดยไม่บอกว่าจะทำอะไรที่ชัดเจน

2535                        กฟผ.ได้เข้ามาในชุมชนโดยพัฒนาถนน แจกผ้าห่ม ฯลฯ สร้างความแปลกใจแก่ชาวบ้านและได้จัดประชุมชี้แจงชาวบ้านว่าจะมีโครงการ สร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อการพัฒนาประเทศ โดยจะเวนคืนที่ทำกินของชาวบ้านส่วนหนึ่ง

2536                        กฟผ.ได้จัดสัมมาเรื่อง “ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและแผนแก้ไขของโครงการโรงไฟฟ้าฯ” โดยมีตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบเข้าร่วมรับฟัง โดยกฟผ.แจ้งถึงแผนพัฒนาและส่งเสริมรายได้ให้ชาวบ้าน อ้างว่าจะพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้าน

2538                        เริ่มก่อสร้างโครงการ และระเบิด พื้นที่สำหรับสร้างอ่างและท่อส่งน้ำ

2539                        กฟผ.ได้จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเพื่อให้เงินกู้สำหรับการประกอบอาชีพเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ แต่การลงทุนของชาวบ้านล้มเหลวเนื่องจากผลกระทบจากโครงการ ชาวบ้านไม่สามารถใช้หนี้ได้ สหกรณ์จึงต้องปิดตัวลงในปี ๒๕๔๓

การมีส่วนร่วมของประชาชนและการเปิดเผยข้อมูลโครงการ

“เขาเข้ามาประชุมกับชาวบ้านว่าจะสร้างอ่าง ชุมชนจะเจริญ ชาวบ้านจะสบาย”

โครงการนี้ดำเนินการโดยไม่มีส่วนร่วมของชาวบ้านตั้งแต่แรก กฟผ. เน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อลดการคัดค้านโดยสร้างทัศนะคติที่ดีต่อโครงการด้วยวีธีการต่างๆ เลือกบอกข้อมูลโครงการแก่ชาวบ้านเฉพาะด้านบวก และไม่บอกรายละเอียดที่สำคัญของโครงการ โดยเฉพาะการระเบิด ไม่บอกผลกระทบด้านลบที่จะเกิดขึ้น กระบวนการให้การยินยอมในการก่อสร้างโครงการของชาวบ้านไม่มีความโปร่งใส เช่น นำเอกสารมาให้ชาวบ้านเซ็นชื่อโดยไม่บอกว่าเป็นเอกสารอะไร และนำตัวแทนชาวบ้านเข้าร่วมประชุมโครงการเพื่ออ้างว่าชาวบ้านมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ

ผลกระทบที่เกิดขึ้น

ผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม และการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ

โครงการก่อสร้างอ่าเก็บน้ำ ได้สร้างบนที่ทำกินของชาวบ้าน ม.๖ ทำให้ชาวบ้านสูญสียที่ทำกิน  ๖๔ ราย โดยมีการชดเชยให้ชาวบ้านใช้ที่ดินได้ ๓.๕  ไร่ จากเดิมที่วางแผนไว้ว่าจะให้ ๕ ไร่ ชาวบ้านที่ได้รับที่ดินดังกล่าวต้องอยู่ในการควบคุมของกฟผ.  โดยได้รับเงินอุดหนุนรายละ  ๑,๔๐๐๐ บาท ต่อเดือน เมื่อผ่านไป ๒ ปีก็ไม่มีการจ่ายเงินดังกล่าวอีก

ชาวบ้านสูญเสียการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นความมั่นคงในชีวิตของชาวบ้าน

การก่อสร้างโครงการ โดยเฉพาะการระเบิดอ่างและท่อส่งน้ำใต้ดินเป็นเวลา  ๒  ปี ๗  เดือน วันละ ๒  ครั้งในเวลา เที่ยงและ  ๖ โมงเย็น ทำให้เกิดผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นเสียงดังสนั่น แรงสั่นสะเทือน ฝุ่นควันที่ปกคลุมทั่วบริเวณเป็นเวลาหลายชั่วโมง และตกลงในแหล่งน้ำ ต้นไม้ ทุ่งเลี้ยงสัตว์ สัตว์ป่า พืชพรรณธรรมชาติเช่น หน่อไม้ เห็ด และพืชผลทางการเกษตร ทำให้เกิดความเสียหายต่อการผลิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้าน  แหล่งน้ำที่ชาวบ้านเคยใช้ดื่มกินตลอดปีเกิดการอุดตัน  และน้ำถูกเจือปนด้วยฝุ่นพิษ  เกิดการท้องเสีย  อาเจียน ผื่นคันพุพอง  สัตว์เลี้ยงล้มตาย  ไม่ให้ผลผลิต

ผลกระทบด้าน เศรษฐกิจและสังคม

สูญเสียความสามารถในการการพึ่งตนเอง

“เลี้ยงเป็ดที่เขาส่งเสริม กู้เงินสหกรณ์มา พอเป็ดลงน้ำก็ขึ้นไม่ได้ หมดแรงตาย น้ำในบ่อคงเป็นพิษ

จากที่ชาวบ้านเคยพึ่งพาตนเองได้โดยพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในการดำรงชีวิต มีความมั่นคงทางด้านอาหาร หลังจากมีโครงการเข้ามา ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย ทำให้เกิดความขัดสน อาชีพเลี้ยงสัตว์และปลูกพืชไร่ ไม้ผล ล้มเหลว ชาวบ้านไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้อีกต่อไป

เกิดภาวะหนี้สินล้นพ้นตัว

 เนื่องจากการผลิตในช่วงที่มีการก่อสร้างในโครงการดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นการผลิตที่พึ่งพิงเงินกู้จากสหกรณ์การเกษตรที่ก่อตั้งโดยเงินงบประมาณจากกฟผ.  เมื่อการผลิตในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้ผลผลิต เกิดความล้มเหลวในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ อันเป็นผลกระทบจากโครงการ ผลจากการระเบิดคือฝุ่นควันและสารพิษที่กระจายไปทั่วบริเวณ รวมทั้งแหล่งน้ำ ทำให้วัวนมอั้นนม วัวเนื้อผอมโซ  หมู เป็ด ไก่ ตายจนหมด พืชไร่ไม่ให้ผลผลิต ข้าวโพดไม่ออกฝัก ไม้ผลเช่น มะม่วง ขนุน ไม่ติดผล  ทำให้ไม่สามารถนำเงินที่ควรจะได้จากการผลิตมาเพื่อเลี้ยงชีพและใช้หนี้คืนให้กับสหกรณ์ได้ จึงเกิดภาวะหนี้สินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

สูญเสียความมั่นคงทางด้านอาหาร

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับการผลิตและทรัพยากรธรรมชาติทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร ซึ่งชาวบ้านเคยปลูกและเก็บหาได้เอง โดยไม่ต้องซื้อหาจากตลาด  เช่น พืชผักสวนครัว ผลไม้ อาหารป่า เป็นต้น สิ่งเหล่านี้นอกจากใช้เป็นอาหารแล้วยังมีพอสำหรับการขายเป็นรายได้เสริมอีกด้วย  หลังจากที่มีโครงการเกิดขึ้น  ผลผลิตและทรัพยากรดังกล่าวหายไป เกิดความไม่มั่นคงทางด้านอาหาร ทำให้ต้องซื้อหาจากตลาด  รายจ่ายทางด้านอาหารเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว  หากไม่มีเงินก็ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้

ความแตกแยกในชุมชน

ชุมชนที่เคยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยกแม้ว่าจะอยู่ร่วมกันถึงสองศาสนา คือ พุทธ และอิสลามแต่เมื่อมีการดำเนินโครงการจึงเกิดความขัดแย้งเนื่องจากการแบ่งแยกกันเป็นฝ่ายกฟผ.และฝ่ายม็อบ  ซึ่งเกิดจากความไม่จริงใจของฝ่ายรัฐในการแก้ไขปัญหา และพยายามสร้างความสับสนให้เกิดขึ้นในชุมชน  ไม่ยอมรับในผลกระทบที่เกิดจากโครงการ  เมื่อชาวบ้านมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เกิดการแก้ปัญหาจึงพยายามแทรกแซงให้เกิดความแตกแยก บั่นทอนพลังของชาวบ้าน

ผลกระทบต่อสุขภาพ

“เมื่อก่อนแข็งแรง ทำไร่ไม่เหนื่อย พอมีระเบิดก็หายใจไม่อิ่ม หลานนอนในเปลก็รีบเอาผ้าคลุมให้หลาน ไม่รู้เลยว่าฝุ่นจะมีพิษ จนเป็นโรคปอด เข้าโรงพยาบาลจนหมอจำหน้าได้”

สุขภาพกาย

ฝุ่นควันจากการระเบิดต่อเนื่องกันเป็นเวลา ๒ ปี ๗ เดือน ทำให้ชาวบ้านแทบทั้งหมดล้มป่วย ทั้งจากการดื่มกิอาบน้ำที่ปนเปื้อนฝุ่นระเบิด และสูดอากาศที่ปนเปื้อน อาการเจ็บป่วยเช่น ผื่นคัน หายใจติดขัด ท้องเดิน อาเจียน เกิดโรคภูมิแพ้เรื้อรัง จนปัจจุบันแม้โครงการก่อสร้างเสร็จสิ้นไปแล้วประมาณ ๔ ปี แต่อาการเจ็บป่วยของชาวบ้านก็ยังไม่ทุเลาลง บางรายกลับเป็นหนักกว่าเดิม ชาวบ้านมีสภาพคล้ายคนพิการ ไม่สามารถใช้แรงทำงานได้เหมือนก่อน    

สุขภาพจิต

สุขภาพจิตระหว่างการก่อสร้าง

การระเบิดทำให้ชาวบ้านมีอาการตกใจง่าย ใจสั่น ผวากับเสียงดัง และวิตกกังวลถึงอาการเจ็บป่วยและผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นกับครอบครัวและชุมชน จนเกิดความเครียดเรื้อรัง หลายคนเป็นโรคประสาท ความดันโลหิตสูง

สุขภาพจิตหลังการก่อสร้าง และภาวะการถูกทอดทิ้งจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ

“พวกเราเหมือนถูกหลอก ถ้าไม่มีโครงการเราก็ไม่ต้องเป็นหนี้ ไม่ต้องเจ็บป่วยแบบนี้ ผมอายุ ๓๐ แต่ตอนนี้ไม่มีแรงทำงานแล้ว คนงานเจ็บกันเยอะ ไม่รู้กลับไปตายที่บ้านอีกเท่าไหร่  เห็นเขาพาทีวีเข้ามาถ่ายว่าชาวบ้านเลี้ยงเป็ดไก่ กินดีอยู่ดี ยิ่งเจ็บใจเขาหลอกพวกเราแล้วยังหลอกคนข้างนอกด้วย”

ชาวบ้านที่เคยทำงานก่อสร้างในโครงการ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่รับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น  ไม่มีการเยียวยารักษาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างจริงจังและจริงใจ ทำให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกวิตกกังวล และหมดหวังกับกระบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐ รู้สึกว่าตนถูกกระทำและถูกหลอกลวงมาโดยตลอด แต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้  ประกอบกับอาการเจ็บป่วยทางกายที่เรื้อรังที่คอยบั่นทอนกำลังใจ อีกทั้งปัญหาหนี้สินที่ยังไม่มีทางออกคอยทำให้เกิดความท้อแท้และหมดหวัง  จนทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิต  อันเป็นผลเนื่องจากผลกระทบของโครงการและความไม่จริงใจของภาครัฐ

ผลกระทบที่ตามมา

รายจ่ายที่เพิ่มมากขึ้น

ชาวบ้านมีรายได้ลดลงและต้องเผชิญกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากความล้มเหลวในการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่เคยพึ่งพิงถูกทำลาย หลายครอบครัวต้องเป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ต้องส่งดอกเบี้ยเงินกู้ทุกเดือน  ค่าอาหารที่เพิ่มขึ้นเพราะต้องซื้อทั้งหมด และค่าใช้จ่ายในการรักษาอาการเจ็บป่วย

การอพยพแรงงาน

เมื่อชาวบ้านอยู่ในภาวะขัดสน พึ่งพิงตนเองไม่ได้อีกต่อไป ชาวบ้านจำนวนมากต้องออกไปทำงานนอกต่างถิ่น เพื่อหาเงินมาใช่จ่ายรักษาตัว ส่งเสียครอบครัว และใช้หนี้สินอันเกิดจากผลกระทบของโครงการ ทำให้ครอบครัวต้องพลัดพราก หลายครอบครัวพ่อแม่ต้องทิ้งลูกน้อยไว้กับคนแก่ที่บ้าน ในชุมชนเหลือแต่เด็กและคนแก่ 

การแก้ไขปัญหา

“ไฟฟ้าบอกว่าถ้ามีปัญหาให้บอกไฟฟ้า ไม่ให้ไปบอกคนข้างนอก ชาวบ้านก็ไปบอกไฟฟ้า แต่ก็เงียบไป เวลาหมูตายไปบอกเขา เขามาถ่ายรูปไว้ แล้วก็ไป”

“ตอนที่มีคนมาสำรวจน้ำ เขาพกน้ำขวดของเขามากันทุกคน เขาตรวจน้ำในบ่อแล้วก็ถามว่าชาวบ้านกินน้ำอะไรกัน ชาวบ้านก็กินน้ำบ่อนี่แหละจะให้กินน้ำอะไร เขาก็ตกใจ”

กลุ่มที่ถูกเวนคืนที่ดิน

ชาวบ้าน ม.๖ ซึ่งเป็นบริเวณสร้างอ่าง จำนวน๖๔ราย ได้รับค่าชดเชยการเวนคืนที่ทำกิน โดยกฟผ.ได้สัญญาว่าจะจัดสรรที่ดินทำกินคืนให้เพื่อทำสวนวนเกษตรรายละ ๕ ไร่พร้อมเงินอุดหนุนในช่วง ๕ ปีแรกซึ่งยังไม่มีผลผลิตแต่ในทางปฏิบัติกฟฝ.จัดที่ดินให้เพียง ๓
.๕ ไร่ และเงินอุดหนุนเดือนละ ๑,๔๐๐  เป็นเวลาเพียง ๒ ปี โดยชาวบ้านไม่มีสิทธิในที่ดิน ต้องปลูกพืชตามที่กฟผ.กำหนด เช่น มะม่วง ขนุน ซึ่งไม่สอดคล้องกับการทำมาหากินของชาวบ้าน   

ชาวบ้านทั้ง ๒หมู่

ช่วงเริ่มโครงการ     กฟผ. ได้บอกชาวบ้านตั้งแต่เริ่มโครงการว่าหากมีปัญหาใดๆเกิดขึ้นให้บอกกับกฟผ. แล้วกฟผ.จะช่วยแก้ไข  ห้ามไม่ให้ไปบอกกับคนภายนอกชุมชน

ปลายปี ๒๕๓๙      ชาวบ้านได้ถามเจ้าหน้าที่กฟผ.ถึงปัญหาจากฝุ่นละอองจากการระเบิด เนื่องจากมีชาวบ้านหลายรายเริ่มมีอาการเจ็บป่วย แน่นหน้าอก วิงเวียน โดยขอให้กฟผ.หาวิธีป้องกันฝุ่นละออง แต่ไม่ได้รับการแก้ไข

ปี ๒๕๔๐-๒๕๔๑ ชาวบ้านได้ร้องเรียนมากขึ้นเรื่องสุขภาพเนื่องฝุ่นจากการระเบิด แต่เจ้าหน้าที่กฟผ. บอกชาวบ้านว่าไม่อยู่ในอำนาจที่จะแก้ไขได้ โดยระหว่างนี้กฟผ.ได้จัดหน่วยแพทย์มารักษาชาวบ้านตามอาการ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ ชาวบ้านบางส่วนที่พอมีเงินจึงลงไปหาหมอที่ตัวอำเภอและจังหวัด แต่เมื่อหมอรู้ว่ามาจากพื้นที่โครงการก็ไม่บอกว่าเป็นโรคอะไรไม่วินิจฉัยโรคว่าเกิดจาก สาเหตุอะไร

ปี ๒๕๔๑               ชาวบ้าน ๒ หมู่ได้เข้าพบรองผู้ว่าฯนครราชสีมา และผอ.โครงการเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น  จากนั้นมีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของจังหวัดโดยมีข้าราชการฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง แต่ผลสรุปคือ ไม่มีหน่วยงานใดชี้ชัดว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการ

ปี ๒๕๔๔               ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือกับผู้ว่ากฟผ. แต่ก็ไม่มีการแก้ไขปัญหาใดๆ จึงได้เข้าร่วมกับสมัชชาคนจน

ปี ๒๕๔๔               หลังจากเรียกร้องมาหลายปี รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหา แต่ไม่มีงบประมาณในการดำเนินการ จึงยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง

ปี ๒๕๔๕               ชาวบ้านได้ยื่นหนังสือต่อธนาคารโลก และ JBIC ในฐานะผู้ให้เงินกู้แก่โครงการ แต่ก็ไม่มีคำตอบหรือการแสดงความรับผิดชอบในการแก่ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมจาก ธนาคารทั้ง ๒ แห่ง โดยธนาคารโลกให้คำตอบว่าต้องรอผลการศึกษาของคณะทำงานฯ ที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น

ปี ๒๕๔๖               จนเดือนกุมภาพันธ์ คณะทำงานฯ ยังคงรองบประมาณเพื่อดำเนินการศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้น

ข้อเรียกร้องของชาวบ้าน เพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหา

            จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสุขภาพ และหนี้สินที่เกิดจากการก่อสร้างโครงการ

            จัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภคให้แก่ชุมชนอย่างพอเพียง

            จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูอาชีพเแก่ชุมชน เนื่องจากปัจุบันสิ่งแวดล้อมหลังการระเบิดหินได้ฟื้นตัวขึ้นมาก  และสามารถประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ตามเดิม เช่น เลี้ยงโคนม ปลูกพืชไร่ ทำสวนผลไม้ แต่ชาวบ้านไม่มีเงินทุนเพียงพอในการลงทุน เนื่องจากปัญหาสุขภาพและหนี้สินที่เกิดจากโครงการ

สำหรับกรณีลำตะคอง ควรมีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อติดตามการแก้ไขปัญหา โดยมีผู้แทนจากแหล่งทุน คือ  ธนาคารโลกและ JBIC ผู้แทนจากชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ นักวิชาการ องค์การพัฒนาเอกชน ทั้งนี้คณะทำงานต้องได้รับการยอมรับจากทั้งชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ และรัฐบาล

บทเรียนสำหรับอนาคต

โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ เป็นตัวอย่างของโครงการที่ล้มเหลวในการหลีกเลี่ยงและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลร้ายแรงต่อวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ซึ่งพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการดำรงชีวิต เป็นบทเรียนแก่โครงการพัฒนาอื่นๆ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งอาจทำได้โดยปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการเขื่อนโลก และหลักปฎิบัติของธนาคารเพื่อการพัฒนา โดยสรุปได้ดังนี้

·       ประเมินความจำเป็นของโครงการ และประเมินทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อสนองความต้องการพลังงาน

·       โครงการต้องได้รับการยินยอมจากประชาชนในพื้นที่ผู้ซึ่งจะได้รับผลกระทบ โดยมีการให้ข้อมูลล่วงหน้าเพื่อประกอบการตัดสินใจ

·       ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบให้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจใน ทุกขั้นตอนของโครงการ

·       ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน

·       มีการติดตามประเมินโครงการในทุกขั้นตอน เพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

เอกสารอ้างอิง

เอกสารประกอบงานเสวนาผลกระทบกรณีโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ, โครงการฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ

Dams and Development, The Report of the World Commission on Dams, November 2000 

จัดพิมพ์โดย

สมัชชาคนจนกรณีโรงไฟฟ้าพลังน้ำลำตะคองแบบสูบกลับ

เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย (Southeast Asia Rivers Network-SEARIN)
๗๘ ม. ๑๐ ถ.สุเทพ ต. สุเทพ อ. เมือง เชียงใหม่ ๕๐๒๐๐ โทร. ๐๕๓ ๒๗๘ ๓๓๔
www.searin.org


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง