แถลงการณ์การร่วมเครือข่ายภาคประชาชน
ปกป้องป่าสักทอง เพื่อรักษาแม่น้ำยม

fas fa-pencil-alt
fas fa-calendar
7 กันยายน 2554

จากสถานการณ์น้ำจากแม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่ง จนทำให้เกิดน้ำหลากเข้าสู่พื้นที่การเกษตรและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านแถบจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง จนทำให้เกิดกระแสการเรียกร้องให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อีกครั้ง โดยอาศัยสถานการณ์น้ำเป็นข้ออ้าง ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกปี ทั้งฤดูแล้ง และฤดูฝน ทั้งก่อนการเลือกตั้ง และหลังการเลือกตั้ง และหลายครั้งเมื่อนักการเมืองหายใจเข้าออก เป็นต้องน้ำลายหกด้วยผลประโยชน์ของไม่สักทองจำนวนมหาศาล ที่จะถูกตัดโค่นจากพื้นที่หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ต่อสถานการณ์ดังกล่าว พวกเรา เห็นว่า

ข้อเท็จจริง พื้นที่สะเอียบมีป่าสักทองที่สมบูรณ์และหนาแน่น ขนาดลำต้นใหญ่กว่า ๑ เมตรชุกชุมในพื้นที่มากกว่า ๒ หมื่นไร่ สัตว์ป่าที่มีไม่ต่ำกว่าหนึ่งร้อยชนิด และในจำนวนนี้มีสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น เสือไฟ นกยูง ส่วนในแม่น้ำซึ่งไหลผ่านป่าสัก ก็มีปลากว่า ๑๐๐ ชนิด นอกจากนั้นในป่ายังมีพืชผักสมุนไพรซึ่งทรัพยากรเหล่านี้เป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความสมบูรณ์ของลุ่มน้ำยมตอนบน ในลักษณะของป่าเบญจพรรณ(ป่าดิบแล้ง) โดยมีคนจากหลายหมู่บ้านทั้งใกล้และไกล เข้ามาใช้ประโยชน์จากป่า สำหรับเป็นอาหารและสร้างรายได้สืบทอดกันมาหลายร้อยปี จนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่รายรอบพื้นป่าแห่งนี้

ความอุดมสมบูรณ์ดังกล่าว กำลังถูกคุกคามจากพยายามผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ด้วยอ้างว่า จะสามารถชะลอ และแก้ปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่แม่น้ำยมตอนล่าง บริเวณจังหวัดพิษณุโลก สุโขทัย ได้ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวถูกทักท้วงและคัดค้านทั้งจากชาวบ้านในพื้นที่ นักสิ่งแวดล้อม นักวิชาการ ถึงความเป็นไปได้จริงทั้งประโยชน์และผลกระทบที่จะตามมา จนบรรดานักสร้างเขื่อนต่างถอยร่นและเสนอแผนปฏิบัติการใหม่ด้วยการสร้างเขื่อนยมบนและยมล่าง เพื่อลดกระแสการต่อต้านลง ในขณะที่ผู้ที่เสนอให้สร้างเขื่อนยมบน ยมล่างยังไม่รู้ว่าจะสร้างบริเวณใด ผลกระทบจะมากน้อยเพียงใด เป็นเพียงการคิดโครงการในห้องแอร์ โดยไม่รู้ข้อเท็จจริงของพื้นที่ และไม่ให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมของประชาชนทั้งในพื้นที่และในสังคม

จากการตรวจสอบข้อมูลของชุมชน เขื่อนยมบนและเขื่อนยมล่าง จะมีลักษณะแบบขั้นบันได คือน้ำจากเขื่อนยมล่างจะท่วมถึงท้ายเขื่อนยมบน ซึ่งบริเวณอ่างเก็บน้ำของเขื่อนก็จะท่วมป่าสักทองและพื้นที่การเกษตรของชุมชน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ชุมชนชาวสะเอียบก็จะได้รับผลกระทบไม่ต่างอะไรกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ดังนั้น เขื่อนยมบนและเขื่อนยมล่าง ก็คือ เขื่อนแก่งเสือเต้น เพียงแต่สร้างวาทะกรรมใหม่เพื่อคลายอารมณ์ของคนในสังคมใหม่ เท่านั้นเอง

พวกเรา องค์กรประชาชนจากทั่วประเทศ มีข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน สำหรับการบริหารจัดการลุ่มน้ำยมอย่างเป็นธรรม ดังนี้ 

๑.ให้มีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำให้มีความอุดมสมบูรณ์ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม ทั้ง 11 จังหวัด 

๒. ให้มีการจัดการลุ่มน้ำตามสภาพความต้องการของชุมชน และสอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่ โดยให้ชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ เช่น การทำอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กทั่วทั้งลุ่มน้ำยม ทั้ง 98 ตำบล 

๓. ให้มีการจัดทำแก้มลิงในพื้นที่น้ำท่วม และลุ่มน้ำสาขาทั้ง 77 ลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำยม

ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบ กลุ่มเยาวชนตะกอนยม องค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ กลุ่มอนุรักษ์ลุ่มน้ำสรอย จังหวัดแพร่ เครือข่าลุ่มน้ำภาคเหนือ สภาองค์กรชุมชน จังหวัดสุโขทัย กลุ่มรักษ์บ้านแหง จังหวัดลำปาง คณะกรรมการชาวบ้านเพื่อฟื้นฟูชีวิต และชุมชนลุ่มน้ำมูน สมัชชาคนจน เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (Pmove) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะจังหวัดลำปาง สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคเหนือ (คปน)


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง