แถลงการณ์คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น

fas fa-pencil-alt
คณะกรรมการชาวบ้านคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น
fas fa-calendar
18 มิถุนายน 2547

จากสถานการน้ำท่วมจังหวัดแพร่ เมื่อสองวันที่ผ่านมา ได้มีการปลุกกระแสการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่น้ำป่าที่หลากเข้าท่วมจังหวัดแพร่นั้น ไหลมาจากทิศตะวันออกข้องจังหวัดแพร่ อันได้แก่ ห้วยแม่หล่าย ห้วยแม่คำมี และห้วยแคม ไหลท่วมผ่านถนนแพร่-ร้องกวาง เข้าสู่จังหวัดแพร่ ซึ่งไม่เกี่ยวกับแม่น้ำยมแต่อย่างใด 


 คณะกรรมการชาวบ้านได้ตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก เฝ้าดู บันทึกข้อเท็จจริงไว้เป็นหลักฐานอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งได้เข้าสำรวจที่แก่งเสือเต้น อุทยานแห่งชาติแม่ยม กลับพบว่าแม่น้ำยม ยังมีปริมาณที่น้อยมาก เหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดแพร่ จึงเป็นน้ำป่าไหลหลากจากลำห้วยสาขาดังกล่าวมา อันเนื่องมาจากพายุดีเปรสชั่น จันทร์ทรู 


 และการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ มีความพยายามที่จะผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยไม่รับฟังเหตุผลมาอย่างต่อเนื่องนั้น คณะกรรมการชาวบ้านเห็นว่า รัฐมนตรีควรจะใช้ปัญญา ใช้เหตุผลในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ ใช้แต่อำนาจ ใช้แต่อารมณ์ ไม่ยอมรับฟังเหตุผล ทั้งที่ลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม มีกว่า 70 สาย หากกั้นเพียงแก่งเสือเต้นก็ไม่อาจเยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ ดั่งที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติได้ศึกษาวิจัยไว้แล้ว


 อีกทั้งการให้หน่วยข่าวกองทับบก เข้าพื้นที่ที่จะสร้างโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อประเมินสถานการณ์และหาข่าว และขอกำลังทหารเพื่อเข้าปฏิบัติการทางด้านจิตวิทยา โดยใช้วิธีประกาศให้พื้นที่ ตำบลสะเอียบเป็นเขตภัยภิบัติ ประสบความแห้งแล้งเป็นข้ออ้างในการนำทหารเข้าพื้นที่ คณะกรรมการชาวบ้านขอประณามพฤติกรรมเผด็จการ ใช้อำนาจ ใช้กำลังทหาร ในการปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น ทั้งที่การศึกษาของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนา ประเทศไทย (TDRI.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเอง ได้ศึกษาด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน เป็นโครงการที่ไม่สมควรกับการลงทุน

อีกทั้ง การศึกษา การวิจัย ของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้มีการศึกษามากว่า 10 ปี ก็มีความชัดเจนแล้วว่าไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อาทิการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์อยู่ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทย และมวลมนุษยชาติ การศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 


 แนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น 


 1. การจัดการโดยใช้แนวทางทางภูมินิเวศวิทยา การจัดการน้ำแบบใหม่ และการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมองภาพรวมการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำทั้งระบบ


 2. การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า 


 3. การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ อันจะสามารถฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับมาทำหน้าที่แม่น้ำตามธรรมชาติได้ 


 4. การทำทางเบี่ยงน้ำเพื่อระบายออกนอกเขตชุมชน การสร้างเครือข่ายทางน้ำเพื่อกระจายน้ำไปยังนอกเขตชุมชน ฯลฯ 


 5. การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม สามารถทำได้โดย ขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง 


 6. การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ 


 7. การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด 


 8. การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ 


 9. การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำ 


 10. เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้เหมาะสม เช่น เป็นที่ท่องเที่ยว เป็นแหล่งประมง เขตอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ 


 สิ่งเหล่านี้นอกจากจะสอดคล้องกับระบบนิเวศน์ ยังสามารถป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ทางตอนล่างลงมาตลอดจนถึงกรุงเทพฯ ได้ เนื่องจากที่ราบลุ่มแม่น้ำยมเป็นที่พักน้ำ ที่สามารถพักน้ำไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันถึง 500-1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร (ซึ่งมากกว่าแก่งเสือเต้นเสียอีก) 


 นอกจากนี้ ยังมีวิธีการการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ในการแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มแม่น้ำยมสามารถดำเนินการได้โดยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กตามที่มีรายละเอียด ในแผนการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งจัดทำโดย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยแผนดังกล่าวสามารถแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้โดยใช้งบประมาณเฉลี่ยแล้วหมู่บ้านละประมาณ 3 ล้านบาทเท่านั้น 


 คณะกรรมการชาวบ้าน ขอให้พี่น้องประชาชนผู้รักความเป็นธรรมทุกท่าน ร่วมกันติดตาม ตรวจสอบ พฤติกรรมรัฐเผด็จการ ใช้อำนาจทหารฉ้อฉล และ ฉกฉวยสถานการณ์ ผลาญงบประมาณประเทศชาติ ทำลายชุมชน ทำลายป่าสักทองธรรมชาติ ทำลายสภาพแวดล้อม หาผลประโยชน์แก่ตนและพวกพ้อง พฤติกรรมเหล่านี้ต้องถูกหยุดยั้ง ตรวจสอบ และนำมาลงโทษในอนาคตต่อไป


 คณะกรรมการชาวบ้าน ขอยืนยันว่า เราจะร่วมกันปกป้อง พิทักษ์ รักษา ป่าสักทองและอุทยานแห่งชาติแม่ยมสืบไป มิยอมให้เขื่อนแก่งเสือเต้นมาทำลาย ไม่ยอมให้นักการเมืองโกงกินมาทำลายอย่างแน่นอน 18 มิถุนายน 2547 คณะกรรมการชาวบ้านคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง