แถลงการณ์
แม่ใหญ่ไฮ ระบายน้ำเขื่อนห้วยละห้าเอานาคืน
แม่ไฮ ขันจันทา อายุ ๗๓ ปี ชาวบ้านบ้านโนนตาล กิ่งอ.นาตาล จ.อุบลราชธานี เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยละห้า ทับที่นาจำนวน ๖๒ ไร่ ที่ใช้เลี้ยงลูก ๑๐ คน เมื่อ ๒๗ ปีที่แล้วโดยไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ
แม่ไฮ ขันจันทา กลายสภาพจากคนที่เคยพออยู่พอกิน(เมื่อเหลือกินก็ยังแจกจ่ายให้คนช่วยเหลือผู้อื่ นอยู่เสมอ) และเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัว ต้องยืนแช่น้ำในอ่างที่ท่วมทับนาของตน งมหอยเอาไปขายเลี้ยงลูกสิบคน ท่ามกลางปลิงดูดเลือดมากมาย แม่ไฮต้องเข้าทำงานรับจ้างในกรุงเทพฯและที่ต่างๆ ทั้งที่ตนเองก็อายุเกือบ ๕๐ ปี แม่ไฮ อดทนเลี้ยงลูกกัดก้อนเกลือกินจนลูกๆ เติบใหญ่ โดยที่ลูกทุกคนก็ต้องไปรับจ้าง ไม่มีโอกาสเข้ารับการศึกษา จนบัดนี้แม่ไฮมีลูกหลาน เหลน เกือบ ๗๐ คน ที่ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ทุกคนยังต้องออกรับจ้าง ระเหเร่ร่อน และเช่านาทำทุกปี
ตลอดเวลา ๒๗ ปี แม่ไฮ ได้เดินทางเข้าร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งทำเนียบรัฐบาล ทางการก็อ้างว่าเขื่อนขนาดเล็กไม่มีระเบียบจ่ายค่าชดเชย เพราะเป็นเขื่อนที่ชาวบ้านยอมยกที่ดินให้สร้างแม่ไฮก็โต้แย้งว่า ไม่เคยยินยอมยกที่ดินให้แต่อย่างใด และคงไม่มีคนปกติคนไหน จะยกที่ดินทั้งหมดที่มีอยู่ให้ทำอ่างเก็บน้ำดังกล่าว ภายหลังทางการจึงยอมรับว่ามีการปลอมลายเซ็นแม่ไฮ เพื่อให้เขื่อนดังกล่าว ย้ายจากจุดเดิมมาอยู่ที่ของแม่ไฮและยังยอมรับถึงการจ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายและค่ าเสียโอกาส ๒๗ ปี รวมทั้งจัดซื้อที่ดินทำกินให้ครบตามจำนวน แต่จนมาถึงปัจจุบันผ่านมา ๒ รัฐบาลก็ยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๗ แม่ไฮ ขันจันทา พร้อมด้วยลูกหลาน เหลนกว่า ๗๐ ชีวิต ได้เข้าไปตั้งเพิงอยู่บนสันเขื่อนห้วยละห้า ตัวแม่ไฮ ได้ใช้จอบขุดสันเขื่อนทีละเล็กละน้อยตามกำลัง เพื่อเปิดช่องทางระบายน้ำออกจากอ่าง ให้ที่ดินโผล่พ้นคืนมา โดยไม่ให้ลูกหลานร่วมขุดด้วย หน่วยราชการต่างๆ ได้รายงานว่า สมัชชาคนจนขุดเขื่อนอาจมีการดำเนินการจับกุม รวมทั้งการใส่ร้ายป้ายสีแม่ใหญ่ไฮ และลูกหลาน
สมัชชาคนจน ขอชี้แจงว่ากรณีแม่ไฮ ขันจันทา เป็นหนึ่งใน ๒๐๕ กรณีปัญหาที่เคยเจรจากับรัฐบาลจนได้รับการรับรอง เป็นมติคณะรัฐมนตรีในการแก้ไขปัญหา แต่จนปัจจุบันก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ทั้งสิ้น การกระทำของแม่ไฮ เป็นความจำเป็นเพื่อตนเองและลูกหลานจะได้มีนาทำในปีนี้ เป็นการดำเนินแนวทางพึ่งตนเองตามหลักพุทธศาสนา เพราะเมื่อระบายน้ำออกจากอ่างห้วยละห้าก็จะได้ผืนนาเดิมกลับมาทำกิน ที่ดินของแม่ไฮ ในอ่างเก็บน้ำก็มีเอกสารสิทธิ์ นส.๓ และใบรับรองการเสียภาษีทุกปีจนถึงปัจจุบัน
สมัชชาคนจนของเรียกร้องต่อพี่น้องประชาชนผู้รักความเป็นธรรม องค์กรพันธมิตร สื่อมวลชนทั้งหลาย ได้โปรดพิจารณาเรื่องดังกล่าวอย่างเป็นธรรม และช่วยเป็นปากเสียงให้ชาวบ้านตัวเล็กๆ ในยุคที่เรามีรัฐบาลเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับโลก แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาแม่ไฮ กับลูกหลานเหลน ๖๘ ชีวิต ที่รอคอยความเป็นธรรมมา ๒๗ ปี สมัชชาคนจน
๒๐ เมษายน ๒๕๔๗
.........................................
จดหมายถึงนายก ทักษิณ
วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๔๗
เรื่อง ขอความเป็นธรรม
เรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
ข้าพเจ้า นางเพชร ขันจันทา อายุ ๓๐ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๔๓ หมู่ ๑๐ ต.นาตาล กิ่งอ.นาตาล จ.อุบลราชธานี เป็นลูกสาวคนสุดท้องของนางไฮ ขันจันทา ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนห้วยละห้าซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านโนนตาล กิ่งอ.นาตาล จ.อุบลฯ เขื่อนสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี ๒๕๒๑ นับเป็นเวลากว่า ๒๗ ปีแล้ว
เขื่อนห้วยละห้า เป็นเขื่อนขนาดเล็ก อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท(รพช.) กระทรวงมหาดไทย ท่วมพื้นที่นาทั้งหมดประมาณ ๔๐๐ ไร่ การสร้างเขื่อนจะดำเนินการได้จะต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของที่ดินก่อนจึงจะสา มารถสร้างได้ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นไปตามนั้น เจ้าของที่ ได้แก่ นางไฮ ขันจันทา นายฟอง ขันจันทา และนายเสือ พันคำ ทั้งสามคน ไม่เคยได้มีการเซ็นยินยอมอนุญาตแต่อย่างใด แต่ทาง รพช.ก็ได้ดำเนินการการก่อสร้างบริเวณที่นาของทั้งสามคน จนแล้วเสร็จ หลังการสร้างเขื่อนห้วยละห้า น้ำได้ท่วมที่ดินของทั้งสามคน เป็นจำนวน ๖๒ ไร่ โดยที่ไม่มีการชดเชยใดๆ ทั้งสิ้น หลังน้ำท่วมเจ้าของที่ทั้งสามคนก็ยังคงเสียภาษีที่ดินของตนเองที่จมน้ำอยู่ตลอดเ วลากระทั่งปัจจุบัน โดยมีหลักฐานที่ดิน นส.๓ ก.และใบเสร็จที่พร้อมจะแสดงเป็นหลักฐานตลอดเวลา เขื่อนห้วยละห้าได้ทำให้ครอบครัวของข้าพเจ้าที่มีพี่น้องถึง ๑๐ คน ต้องประสบกับความทุกข์ยาก ไม่มีที่ดินทำกิน อดอยากหิวโหย ต้องเร่ร่อนหารับจ้าง จนเวลาผ่านไป ๒๗ ปี ตลอดเวลา นางไฮ ขันจันทา ได้เดินทางไปร้องเรียนต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ตั้งแต่ระดับจังหวัด จนถึงทำเนียบรัฐบาล และดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง ๒๗ ปี
รัฐบาลชวน และรัฐบาลปัจจุบันได้ยอมรับความผิดพลาดของหน่วยงานราชการที่ปลอมลายเซ็นของนางไฮ ในการก่อสร้างเขื่อนและรับรองการจ่ายค่าเสียหายและค่าเสียโอกาสตลอดระยะเวลา ๒๗ ปี รวมทั้งการจัดซื้อที่ดินคืนให้ครบตามจำนวนที่สูญเสีย แต่จนกระทั่งปัจจุบัน ไม่มีหน่วยงานใดดำเนินการเรื่องดังกล่าว นางไฮและข้าพเจ้า และลูกคนอื่นๆ ก็ยังได้เดินทางไปที่ศาลากลางจังหวัดอุบลฯ และที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อยื่นหนังสือขอให้ดำเนินการแต่ก็ไม่มีการตอบรับแต่อย่าง ใด
ดังนั้น เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๗ นางไฮ จึงลงมือขุดสันเขื่อนห้วยละห้า เพื่อระบายน้ำเอาที่นากลับคืน เพื่อปีนี้นางไฮ และลูกหลาน เหลนจะได้มีนาทำ มีข้าวกินไม่ต้องอดอยากยากจนอีกต่อไป การกระทำครั้งนี้ ถือว่าเป็นการทำตามสิทธิพลเมือง ช่วยเหลือตนเอง ไม่รอคอยความช่วยเหลือลมๆ แล้งๆ อีกต่อไป อนึ่ง อ่างเก็บน้ำห้วยละห้า ได้ถูกนำไปใช้ในการทำน้ำประปาหมู่บ้านในปี 2537 เป็นต้นมา หากมีการระบายน้ำออกข้าพเจ้ายืนยันว่ายังมีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่ถูกทับซ้อนโดย อ่างห้วยละห้าเหลืออยู่ ซึ่งจะพอใช้สำหรับการทำประปาใน 3 หมู่บ้านอย่างแน่นอน ดังนั้นประชาชนผู้ใช้น้ำจะไม่มีความเดือดร้อนแต่อย่างใด
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ และดำเนินการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับนางไฮ และลูกหลานเหลนทุกคนด้วย
ขอแสดงความนับถือ
(นางเพชร ขันจันทา)
ลูกสาวนางไฮ ขันจันทา ผู้เดือดร้อนจากเขื่อนห้วยละห้า
......................................................................
ชาวเขื่อนห้วยละห้าระบายน้ำเขื่อน “เอาที่นาคืน”
ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากเขื่อนห้วยละห้าปฏิบัติการใช้จอบระบายน้ำเขื่อนห้วยละห้า หลังจากต้องทนสู้ความลำบากมากว่า ๒๗ ปี
เมื่อเวลา ๑๔.๐๐ น.ของวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๗ ที่บ้านโนนตาล กิ่งอ.นาตาล จ.อุบลราชธานีนางไฮ ขันจันทา อายุ ๗๓ ปี ชาวบ้านผู้เดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนห้วยละห้า ท่วมทับที่นามา 27 ปี โดยได้ใช้จอบทุบคันกั้นน้ำ ที่เรียกว่า ตัวเขื่อนห้วยละห้า เพื่อระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำที่ได้ท่วมขังที่นาทั้งหมดที่เคยปลูกข้าวเลี้ยงล ูก 10 คน
“เขื่อนห้วยละห้า” เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กที่สร้างกั้นห้วยละห้า ก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๒๑โดยความรับผิดชอบของ รพช.ของกระทรวงมหาดไทย อ่างมีความจุน้ำประมาณ ๒๔๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร มีเนื้อที่ที่ถูกน้ำท่วมประมาณ ๔๐๐ ไร่ จำนวนเจ้าของที่นาทั้งหมด ๒๑ ราย
การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก จะดำเนินการสร้างได้จะต้องได้รับการยินยอมมอบที่ดินจากเจ้าของที่ จึงสามารถสร้างได้ แต่ในจำนวนผู้เดือดร้อนดังกล่าวนั้น มีจำนวน ๓ รายที่ไม่ได้มีการเซ็นยินยอม ได้แก่ นางไฮ ขันจันทา นายฟองขันจันทา และนายเสือ พันคำ ทั้งสามได้คัดค้านการก่อสร้างมาโดยตลอด ในทุกรูปแบบ แต่ก็ไม่เป็นผล กระทั่งการก่อสร้างแล้วเสร็จก็ได้มีการติดตามเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาจ่ายค่าชดเ ชย เนื่องจากทั้งสามรายไม่มีที่ดินทำกินเหลืออยู่เลย ประกอบกับลูกหลานก็มีอยู่เป็นจำนวนมาก
พื้นที่นาที่ถูกน้ำท่วมเกือบทั้งหมดเป็นที่นาที่อุดมสมบูรณ์ การครอบครองของชาวบ้าน มีเอกสาร นส.๓ ก.และสค.๑ ซึ่งเมื่อหลังการสร้างเขื่อนที่ดินที่ถูกน้ำท่วมนั้น เจ้าของที่ยังต้องเสียค่าบำรุงท้องที่อยู่ทุกปี แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่อย่างใด
ล่าสุดนางไฮ และลูกหลานได้มีการเข้าเรียกร้องขอความเป็นธรรมจากรัฐบาลร่วมกับสมัชชาคนจน และได้มีมติคณะรัฐมนตรีเพื่อจัดหาที่ดินทำกินเท่ากับจำนวนที่ที่ถูกน้ำท่วม(จำนว น ๖๒ ไร่) หากแต่ยังไม่มีความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรม ต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องเขื่อนห้วยละห้า
กระทั่งในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๔๗ นางไฮ พร้อมด้วยลูกหลานกว่า ๗๐ คน ได้เข้าปลูกเพิงพักที่บริเวณสันเขื่อนห้วยละห้า พร้อมทั้งขึ้นป้ายผ้าข้อความบอกกล่าวปัญหาที่ตนได้รับมานานถึง 27 ปี หน้าเพิงพัก บอกกล่าวต่อคนที่ผ่านไปมาบริเวณสันเขื่อน
จนวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๗ นางไฮ ได้ใช้จอบเข้าขุดบริเวณสันเขื่อนใกล้เพิงพัก โดยใช้จอบค่อยๆ คุ้ยดินที่อัดถมอยู่ใต้คอนกรีตออกทีละเล็กทีละน้อย โดยในช่วงของการขุดดินเขื่อนขึ้นมานั้นได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ ๑๐ นาย มาเฝ้าดู พร้อมทั้งบอกให้หยุด แต่ก็ไม่เป็นผลแต่อย่างใด
นางไฮ กล่าวว่า “แม่รอมา ๒๗ ปีแล้ว ที่จะได้รับความเป็นธรรม จะมีข้าวกินอย่างไม่อดอยาก ตอนนี้แม่ไม่รอแล้ว แม่จะพาลูกหลานเอานาคืน ปีนี้จะมีที่นาของตนเองทำ แม่ไปร้องเรียนรัฐบาลไหนๆ ก็บอกว่าจะดูแลให้ แต่ก็ไม่เคยเป็นผล วันนี้แม่จะเอานาคืน จะเรียกร้องสิทธิ์ที่เสียไป” นางไฮ กล่าว
ต่อกรณีการยกที่ดินให้ราชการสร้างอ่าง แม่ไฮกล่าวว่าตนพร้อมด้วยนายเสือพันคำ นายฟอง ขันจันทา ไม่เคยเซ็นยินยอมยกที่ให้สร้างอ่าง ถ้าตนยินยอมก็คงจะบ้าแล้วเพราะมีลูกตั้งสิบคน และที่ดินก็เป็นพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมดใครจะยอมสิ้นเนื้อประดาตัว โดยไม่มีหลักประกันให้กับครอบครัวขนาดนั้น นางไฮกล่าวในที่สุด
ทั้งนี้นางไฮ ได้ยืนยันว่า ตนจะขุดคันเขื่อนจนกว่าจะระบายน้ำออกจากที่นาทั้งหมด แม้ว่าจะถูกจับกุมก็ยอมเพราะไม่มีทางเลือกอี่นที่ดีกว่านี้แล้ว